eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“งานวิจัยไทบ้าน งานวิจัยชุมชน เพื่อชุมชน”

โดย ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ภูมิภาคสังคมศาสตร์และการจัดการทรัพยากร  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เวทีถอดบทเรียนงานวิจัยไทบ้าน : สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำ สู่ข้อเสนอจากภาคประชาชน
วันที่ 6-7 สิงหาคม 2553    ณ โรงเรียนบ้านหัวเวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตเป็นโครงการที่เติบโตมาจากโครงการเครือข่ายแม่น้ำแห่งตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหน่วยงานที่ริเริ่มงานวิจัยไทบ้านที่เขื่อนปากมูน ประมาณปี 2541 ถือได้ว่าเป็นเวทีแรกที่สามารถรวบรวมชุมชน คนที่ทำงานวิจัยไทบ้านในเครือข่ายลุ่มน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมาร่วมกัน

งานวิจัยไทบ้าน เป็นการศึกษาวิจัยโดยคนในชุมชน โดยพี่น้องชาวบ้านสามารถทำการวิจัยเอง เช่นที่จังหวัดปัตตานี เรียกว่างานวิจัยกำปง (งานวิจัยหมู่บ้าน)  ความเป็นมาของงานวิจัยไทบ้านนั้น เป็นความพยายามที่จะรวบรวมเก็บข้อมูลความรู้ท้องถิ่น โดยชาวบ้านเอง เพื่อเอาความรู้ไปแก้ไขปัญหา บางครั้งการพัฒนาที่มีการทำข้อมูลจากนักวิชาการอาจไม่เพียงพอ หรือไม่มีข้อมูล ขาดมุมมองและความรู้จากชาวบ้าน จึงส่งผลให้เกิดปัญหาการพัฒนาที่ไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน

จากคำถามที่ว่า ทำไมเราสนใจเรื่องงานวิจัยไทบ้าน ย้อนไปดูท้องถิ่น ท้องถิ่นมีความรู้ของตนเองที่ได้สั่งสมมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ความรู้ท้องถิ่นจึงแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะดังนี้

  1. ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีความสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตที่ทำให้สามารถดัดแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของตนเอง เช่นความรู้เกี่ยวกับน้ำ ปลา ป่า เพราะอยู่มานาน เรียนรู้จากการปฏิบัติ ถ่ายทอดจากพ่อแม่บรรพบุรุษ เป็นไปอย่างละเอียดอ่อน แต่ขาดการเก็บรวบรวมเนื้อหา
  2. ความรู้เกี่ยวกับการจัดการสังคม ใครเป็นผู้ใช้ การเข้าถึง การแบ่งปัน เป็นการตกลงแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน การจัดความสัมพันธ์ มีการตั้งกฎเกณฑ์ระเบียบ ว่าใครมีสิทธิใช้อย่างไร มากน้อยเท่าไร
  3. ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ ท้องถิ่นแสดงผ่านพิธีกรรม ความเชื่อ ตำนาน เช่น ตำนานพระธาตุ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีเดปอถู่ของปกาเกอะญอ เป็นการแสดงความเคารพ  ความผูกพันกับธรรมชาติ คนจะอยู่ได้เมื่อคนด้วยกันเองมีอาหารพอเพียงไม่เอารัดเอาเปรียบกัน และไม่เบียดเบียนธรรมชาติจนเกินไป

การพัฒนาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อระบบคิดของการพัฒนาที่มองว่าความรู้ชาวบ้านล้าสมัย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ การพัฒนาเข้ามาพร้อมกับความรู้แบบทันสมัย สามารถจำแนก มีชื่อวิทยาศาสตร์ มีเหตุผล คิดออกมาเป็นคุณค่าทางเศรษฐกิจได้  ชุมชนต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติจากส่วนกลาง ชุมชนท้องถิ่นถูกลดความหมายว่าไม่มีความสำคัญ ประเทศไทยมองว่าสิ่งที่มาจากตะวันตกเป็นสิ่งเจริญ คนกรุงเทพฯ ทันสมัยกว่าคนชนบท คนป่า คนดอย รัฐพยายามใช้ระบบการศึกษายกระดับให้คนชนบทมีอารยธรรมมากขึ้น เรียนรู้ให้เหมือนคนส่วนกลาง อะไรก็ตามที่เป็นความรู้ชนบทไม่มีความสำคัญ เช่น เรื่องพันธุ์ปลา การจัดการป่า เป็นความคิดที่อยู่ในแผนพัฒนาทั้งหมด

ช่วงปี 2510 กว่าๆ รัฐบาลมีโครงการจัดทำข้อมูล จปฐ. เป็นข้อมูลหยาบๆ ที่บอกว่าในแต่ละหมู่บ้าน มีการทำมาหากิน มีคน มีทรัพยากรอะไรบ้าง เพื่อกรมพัฒนาชุมชนและกระทรวงมหาดไทยจะใช้ในการวางแผนการพัฒนา ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นข้อมูลที่รัฐออกแบบแล้วให้ผู้นำกรอก ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม ทำให้ง่าย เพราะรัฐต้องการให้ข้อมูลเกี่ยวกับชนบทเป็นเรื่องง่ายๆ ต่อการจัดการ ไม่ต้องการความสลับซับซ้อน ไม่ต้องการฟังว่าแท้จริงแล้วระบบนิเวศน์ของลุ่มน้ำโขงเป็นอย่างไรในรายละเอียด

ดังนั้น รัฐไม่สนใจความรู้ชาวบ้าน เอาความรู้จากตะวันตกมาใช้ และทำให้ง่ายเข้าไว้ ฉะนั้น  เวลารัฐตัดสินใจวางแผนพัฒนา จะให้นักวิชาการจากข้างนอกมาเก็บข้อมูล โดยไม่สนใจว่าการพัฒนาเหล่านั้นจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนที่ดำรงชีวิตกันมาอย่างยาวนานอย่างไร

ยกตัวอย่าง เขื่อนปากมูนเป็นการตัดสินใจที่ไม่อิงกับระบบนิเวศวิทยา ไม่สนใจวิถีชีวิตของปลา ต่างกับชาวบ้านที่รู้ว่าปลาไหนจะขึ้นมาก่อน สิ่งที่สั่งสมของชาวบ้าน หายไปพร้อมกับเขื่อน

ความรู้ท้องถิ่นเป็นแบบนี้ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ความรู้ทั้ง 3 ลักษณะ จะถูกกลืนและลืมไปในที่สุด เป็นสิ่งที่นักพัฒนาและนักวิชาการมองเห็นปัญหา เราคิดว่าถ้าความรู้ท้องถิ่นถูกกดทับไว้ในกระบวนการพัฒนา เป็นการพัฒนาที่ปราศจากความรู้ ความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เหมือนหลายกรณีที่เราเห็นได้ในปัจจุบัน 

การที่ชาวบ้านไม่ต้องการเขื่อน อยากที่จะยกเลิกเขื่อน  ถ้าเป็นเช่นนั้นเราสามารถเปิดประตูเขื่อนเพื่อให้ปลาอพยพเข้ามาได้หรือไม่ ชาวบ้านเลยขอให้ทำงานวิจัย เพื่อตอบคำถามว่าควรจะเปิดประตูระบายน้ำปีละกี่เดือน เป็นข้อเสนอที่ใช้ความรู้เพื่อการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่มีส่วนร่วมในการทำวิจัย ชาวบ้านเป็นผู้ให้ข้อมูลตามที่นักวิจัยอยากถาม เลยอยากทำงานวิจัยเอง เป็นที่มาของงานวิจัยไทบ้าน นักวิชาการและนักพัฒนาการมีความเห็นตรงกันว่า ทำอย่างไรที่จะให้ชาวบ้านนำความรู้ให้ชาวบ้านนำความรู้ออกมาให้เป็นระบบ เรียกว่า งานวิจัยไทบ้าน ชาวบ้านทำวิจัยเอง งานวิจัยจึงเกิดขึ้นมา เพราะจำเป็นที่ชาวบ้านจำเป็นต้องมีความรู้ชุดหนึ่งในการต่อรอง เพราะระบบนิเวศน์มีความซับซ้อนที่คนที่เข้ามาทำงานพัฒนาต้องมีความเข้าใจ เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านได้เป็นเจ้าของงานวิจัยของตนเอง

ผลที่เกิด

  1. ชาวบ้านรู้จักตนเอง รู้จักสิ่งแวดล้อมที่ตนเองพึ่งพาอาศัยมาตลอด เกิดความภาคภูมิใจ หวงแหน
  2. สามารถนำไปอธิบาย ให้เหตุผลกับคนข้างนอกต่อการวางแผนพัฒนาว่าต้องอาศัยความรู้จากชุมชน ชุมชนมีส่วนร่วม หรือทำด้วยตนเอง

วิจัยไทบ้านเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องพยายามผลักดัน เพื่อตัวตนของเราเพราะถ้าเราไม่นำสิ่งเหล่านี้ออกมาจะไม่มีคนรู้ แล้วชุมชนของเราจะถูกกลืนไปกับกระแสการพัฒนา ทุนจากที่ต่างๆ สามารถมาลงที่นั่นที่นี่ คนจากที่อื่นข้างนอกจะเข้ามาดึงเอาทรัพยากรของเราไปใช้ประโยชน์ เช่น การขุดเหมืองทองที่พิจิตร กระระเบิดแก่งเพื่อเดินเรือสินค้าจีน การสร้างท่าเรือน้ำลึก ปัจจุบันทุนที่มาจากจีน กำลังเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก รัฐจะชื่นชมการลงทุนแบบนี้ โดยไม่สนใจว่าชุมชนท้องถิ่นจะดำรงอยู่ได้อย่างไร

ในกระบวนการโลกาภิวัตน์ มีการรวมศูนย์ของการตัดสินใจ ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม รวมศูนย์เรื่องข้อมูลข่าวสาร เราจะถูกอธิบายว่าประเทศต้องการความเจริญก้าวหน้า ต้องการไฟฟ้า ชุมชนเล็กๆ ที่จับปลาไม่สำคัญ สามารถเอาคนเหล่านี้ไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้ ฉะนั้น ชุมชน ความรู้ ผู้คนท้องถิ่น จะถูกกลืนหายไป นี่คือความน่าเป็นห่วง

ดังนั้น งานวิจัยไทบ้านจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคนี้ เป็นเรื่องการปกป้องสิทธิชุมชนของเราเอง ในอนาคตก้าวต่อไป เครือข่าย เวทีแลกเปลี่ยนมีความจำเป็น ต้องมีการปรับปรุงให้ละเอียดมากขึ้น และผลักดันให้ผ่านสื่อมวลชน ผ่านสภาบันการศึกษา ให้ได้รับการยอมรับในวงการวิชาการ นอกจากนี้ต้องอาศัยพัฒนามิตรจากองค์กรพัฒนาต่างประเทศให้หนุนช่วย งานวิจัยไทบ้านให้ก้าวหน้ามากขึ้น ที่สำคัญเราต้องการคนรุ่นหนุ่มสาวเข้ามาร่วมศึกษา สืบทอดวิธีการวิจัยให้มากขึ้น อบรม เผยแพร่ จัดระบบความรู้ให้มากขึ้น ถ้าเรามีความรู้ระบบนิเวศน์น้ำโขง สาละวินทั้งสาย จะมีพลังในการอธิบาย ว่ามีความหลากหลาย มีระบบนิเวศน์ มีชุมชน การพัฒนาต้องคำนึงถึงสิทธิชุมชนของคนที่อาศัยและดำรงชีวิตในลุ่มน้ำด้วย

          วันนี้เป็นก้าวย่างที่สำคัญ เป็นการก้าวไปสู่การพัฒนาวิธีการวิจัยที่ละเอียดขึ้น ต้องอาศัยเวลาที่จะมาเจอช่วยกันคิด พัฒนา และเผยแพร่งานวิจัยให้สาธารณะได้รับรู้ และเป็นที่ยอมรับ          สิ่งเหล่านี้จะมีพลังในการเผชิญการพัฒนาภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่เข้ามาถึงพวกเรา

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา