eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แผนที่นิเวศวัฒนธรรมกับขบวนการจัดการน้ำภาคประชาชน

ธีระพงศ์ โพธิ์มั่น
โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
พฤศจิกายน 2553

แผนที่และเครื่องมือทางอำนาจ
ในอดีตแผนที่ถือภาษาชั้นสูงเป็นศาสตร์ของเจ้าชายหรือผู้ปกครองเมือง มันเป็นเครื่องมือของผู้ปกครองที่จะใช้แสดงขอบเขตทางอำนาจของตนในการจัดการและควบคุมคนและทรัพยากร และเครื่องมือของจอมทัพในการออกศึกเพื่อยึดครองหรือรักษาอาณาเขต แผนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของความมั่นคงแห่งชาติสืบมาจนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นว่าแผนที่ที่มีความละเอียดสูงโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนจะสามารถครอบครองได้เฉพาะทหารหรือหน่วยงานความมั่นคง   

รัฐได้ใช้แผนที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมคนและทรัพยากร โดยเริ่มจากกระบวนการลดทอนความซับซ้อนของความจริงลงไม่ว่าจะเป็นความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และระบบนิเวศ โดยการแบ่งหมวดหมู่ สร้างลำดับชั้น สร้างเขต ตั้งชื่อ ฯลฯ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ เช่น การแบ่งคนและพื้นที่ออกเป็นหมู่บ้านๆไปจนถึงจังหวัด หรือการจัดประเภทของป่าไม้หรือที่ดิน เป็นต้น จากนั้นสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาแทนความจริงเหล่านี้จะถูกนำไปแสดงไว้ในแผนที่พร้อมกับการแช่แข็งความจริงเหล่านั้นไว้ในแผ่นภาพ   ความจริงหลายอย่างที่ซับซ้อนหรือไม่สำคัญกับรัฐหรือผู้มีอำนาจก็จะถูกละเลยไม่ถูกแสดงไว้ ความจริงบางอย่างยังถูกแสดงอย่างบิดเบือนหรือบิดเบี้ยวตามไปตามความต้องการหรือความเข้าใจของผู้มีอำนาจ   สัญลักษณ์ต่างๆในแผนที่แม้แต่ลายเส้นจึงล้วนแล้วแต่แฝงไว้ซึ่งความหมายเชิงอำนาจในการควบคุมและจัดการ   โดยปกติแล้วแผนที่เป็นภาษาชั้นสูงในการสร้างแผนที่จะต้องใช้ความรู้ทางภูมิศาสตร์หรือความรู้ด้านการทำแผนที่ ชาวบ้านจะไม่มีการทำแผนที่ของตนเองขึ้นมาส่วนมากแผนที่ของชาวบ้านจะถูกสร้างขึ้นในรูปแผนที่ทางความคิดหรือความทรงจำและมันถูกถ่ายทอดกันด้วยการพูดหรือบอกต่อ   ดังนั้นแผนที่จึงเป็นเครื่องเชิงอำนาจของรัฐและผู้มีอำนาจเท่านั้น

แผนที่และแนวคิดในการจัดการน้ำแบบแยกส่วน
ในด้านการจัดการทรัพยากรของรัฐจะเห็นว่ามีการเลือกแสดงเฉพาะทรัพยากรสำคัญๆในแผนที่ หรือการเลือกที่จะไม่แสดงทรัพยากรหรือเครื่องหมายบางอย่างที่ไม่อยู่ในอำนาจการจัดการของรัฐ ในกรณีของป่าไม้แผนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของกรมป่าไม้ในการประกาศอ้างอำนาจเหนือผืนป่าและสิ่งต่างๆทั้งหมดที่อยู่ในเขตที่กำหนด โดยการทำแผนที่ป่าไม้ที่มีการขีดเส้นแบ่งพื้นที่และป่าไม้ออกเป็นป่าประเภทต่างๆตั้งแต่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ ไปจนถึงป่าสงวน มีการสร้างนิยามความหมายพร้อมกับการตั้งกฏหมายและระเบียบขึ้นมาใช้กับป่าไม่แต่ละประเภทโดยละเลยความซับซ้อนของความเป็นจริงทางสังคมที่มีอยู่   เมื่อมีการลากเส้นแผนที่มันได้กลายเป็นเส้นแบ่งความจริงและความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆออกไป เช่น ชาวบ้านที่อยู่กับป่า หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆที่อยู่นอกเขตแผนที่

ในเรื่องการจัดการน้ำก็เช่นกัน แผนที่แม่น้ำและลุ่มน้ำถูกสร้างขึ้นโดยใช้ลายเส้นแทนความเป็นจริงของระบบนิเวศของสายน้ำที่มีความซับซ้อนเชื่อมโยงอยู่กับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น ป่าไม้ และผืนดิน และที่สำคัญคือความเชื่อมโยงกับคนและสังคม   แม่น้ำถูกมองเป็นเพียงคลองหรือร่องที่มีน้ำไหลดังลายเส้นสีฟ้าในแผนที่   เมื่อนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจวางแผนหรือนโยบายในการจัดการจึงมองไม่เห็นคน ป่าไม้ สัตว์ป่า และดินที่เชื่อมกันอยู่

แผนที่นิเวศวัฒนธรรม
แผนที่นิเวศวัฒนธรรมเป็นแผนที่แสดงระบบนิเวศตามหลักภูมิปัญญาพื้นบ้านซึ่งมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และระบบนิเวศกำกับอยู่  เป็นแนวคิดของการสร้างแผนที่ของภาคประชาชนที่มีการแสดงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความซับซ้อนและสัมพันธ์กันอยู่ของระบบนิเวศ วัฒนธรรมและสังคม เพื่อกล่าวอ้างสิทธิในการเป็นเจ้าของและการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นที่รัฐละเลยมาโดยตลอด    แผนที่นี้จะช่วยสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และภูมิใจในนิเวศวัฒนธรรมของตนเองให้กับคนในชุมชนได้ง่ายกว่าองค์ความรู้ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์หรือการเล่าปากต่อปาก

นิเวศวัฒนธรรมเป็นแนวคิดของการมองคนและระบบนิเวศอย่างเป็นองค์รวม ไม่ได้มองสิ่งต่างๆแยกออกเป็นส่วนๆเพื่อการง่ายต่อการจัดการ อาจารย์ ศรีศักร  วัลลิโภดมได้กล่าวถึงแนวคิดนี้ว่าเป็นการมองถึงความสัมพันธ์ทั้ง 3 มิติคือ ความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติ ความสัมพันธ์ของคนกับคน และความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ผีรวง ผีป่า ผีหนองน้ำ

นอกจากนี้ การสร้างแผนที่นิเวศวัฒนธรรมยังแฝงไว้ด้วยแนวคิด “การเมืองเรื่องความรู้” หรือการต่อสู้ของภาคประชาชนโดยการใช้องค์ความรู้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอำนาจรัฐหรือผู้มีอำนาจทางสังคมที่แฝงมาในรูปของความรู้ดังคำกล่าวที่ว่า “ความรู้คืออำนาจ และ อำนาจคือความรู้”   ความรู้ท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้านได้ถูกความรู้ของนักวิชาการหรือผู้มีอำนาจที่อยู่ส่วนกลางกดทับและกีดกั้นออกไปจากความเป็น “วิชาการ” ที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของสังคม   ตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำแนวคิดการเมืองเรื่องความรู้ไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมในขบวนการภาคประชาชนคือ กรณีของงานวิจัยไทบ้านที่มีตัวชาวบ้านเองเป็นนักวิจัย เพื่อต่อสู้กับความรู้ที่รัฐผลิตขึ้น โดยเป็นงานวิจัยที่มีหัวข้อครอบคลุมความเป็นจริงต่างๆที่สัมพันธ์กันอยู่อย่างซับซ้อน เช่น พันธุ์ปลาท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ชุมชน พืชสมุนไพร   วันนี้ความรู้ของตาสีตาสาได้ถูกสร้างขึ้นมาเป็นวาทกรรมของคนจนในการตอบโต้อำนาจที่กดทับ   ความรู้ท้องถิ่นเรื่องปลาจากงานวิจัยไทบ้านทั้ง 6 พื้นที่ได้ถูกผลิตขึ้นซ้ำๆจน “ปลา” ได้กลายเป็นวาทกรรมของคนจนลุ่มน้ำ

แผนที่ระบบนิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำฉบับแรก
แผนที่นิเวศวัฒนธรรมกำเนิดขึ้นจากจากฐานแนวความคิดที่ต่อยอดมาจากงานวิจัยไทบ้านและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นองค์รวม โดยแผนที่ฉบับแรกที่จัดทำขึ้นคือ “แผนที่ระบบนิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงช่วงอำเภอเชียงแสน เชียงของและเวียงแก่น จ.เชียงราย” ซึ่งมีทั้ง ฉบับ GPS และ ฉบับภาพวาด มันถูกสร้างขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต นักวิจัยไทบ้าน และกลุ่มรักษ์เชียงของ 

 “แผนที่ระบบนิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงช่วงอำเภอเชียงแสน เชียงของและเวียงแก่น จ.เชียงราย” (ฉบับ GPS หรือพิกัดที่ตั้งตามระบบภูมิศาสตร์) ที่โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตและกลุ่มรักเชียงของร่วมมือกันผลิตขึ้นมา เป็นการผสมผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความรู้ท้องถิ่นเข้าด้วยกัน ในแผนที่แสดงให้เห็นระบบนิเวศพื้นบ้านกว่า 438 จุดตลอดความยาว 85 กิโลเมตรตามลำน้ำโขงที่ได้จากการลงสำรวจพิกัดอย่างชัดเจนด้วยเครื่องวัดค่าพิกัดที่ตั้งตามระบบภูมิศาสตร์หรือเครื่องจีพีเอส (GPS) แล้วนำมากำหนดจุดลงบนแผนที่ดาวเทียม Landsat ปี 2548 ผสมสีแบบสีธรรมชาติ 345: RGB ขนาดมาตรส่วน 1:40,000 ตำแหน่งนิเวศ 438 จุดดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็น 11 ระบบนิเวศพื้นบ้านตามที่ได้เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ใน “แม่น้ำโขงแม่น้ำแห่งชีวิตวัฒนธรรม: งานวิจัยจาวบ้าน” ซึ่งประกอบด้วย ผา คก ดอน หาด ร้อง หลง หนอง แจ๋ม น้ำห้วย ริมฝั่ง และกว๊าน นอกจากนี้ยังมีอีก 4 ประเภทที่เพิ่มเติมเข้าไปคือ ก้อง พื้นที่กลางแม่น้ำ ลั้งหาปลา และเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา โดยระบบนิเวศทุกจุดมีความรู้พื้นบ้านจากการวิจัยประกอบอยู่ไม่ว่าด้านประวัติศาสตร์ ความเชื่อ ระบบนิเวศ สังคมและเศรษฐกิจ

แผนที่นี้เป็นหลักฐานยืนยันถึงความไร้พรมแดนของวัฒนธรรม สังคมและระบบนิเวศที่มีอยู่มายาวนาน เป็นสิ่งชี้ว่าเขตพรมแดนที่ฝรั่งเศสได้ขีดกั้นไว้นั้นเป็นมรดกของความขัดแย้งที่แบ่งกั้นเราออกให้เป็น “คนอื่น” ตามแนวคิดรัฐ-ชาติสมัยใหม่    ในกรณีของลุ่มน้ำโขงตอนล่างหากใช้แนวคิดทางประวัติศาสตร์มาประกอบในการสร้างแผนที่ของภาคประชาชนให้ครบทั้งลุ่มน้ำจะแบ่งออกได้เป็น 7 เขตตามเขตอารยธรรมในอดีต เช่น เขตสุวรรณโคมคำ เขตศรีโคตรบูน และเขตเจนละ เป็นต้น

แผนที่นิเวศวัฒนธรรมกับการจัดการน้ำภาคประชาชน
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้นำกลุ่มรักษ์เชียงของได้เสนอให้เครือข่ายที่ทำงานเรื่องแม่น้ำโขงทำแผนที่ร่วมกันทั้งลุ่มน้ำ เพราะเมื่อทำสำเร็จประชาชนในพื้นที่ต่างๆ จะได้เห็นความเชื่อมโยงกันทั้งลุ่มน้ำของทั้งคนและระบบนิเวศ มองเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้นรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนและสัมพันธ์กันอย่างไร จะมีการจัดการน้ำอย่างไรให้สอดคล้องกับความซับซ้อนของระบบต่างๆทั้งระบบนิเวศ ระบบสังคม และอื่นๆ พร้อมกับการสอดคล้องกับพื้นที่อื่นๆที่เชื่อมกันอยู่   ทั้งนี้การทำแผนที่ร่วมกันจะทำให้ชาวบ้านเกิดกำลังใจและพลังในการทำงาน 

การเชื่อมร้อยกันเป็นเครือข่ายของนิเวศวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่เมื่อขยายตัวใหญ่ขึ้นในระดับภูมิภาคก็จะกลายเป็นความสัมพันธ์แบบ “ภูมินิเวศวัฒนธรรม” ซึ่งจะมีพลังในการเคลื่อนไหว ดังที่มีความพยายามในการเชื่อมกันของเครือข่ายภาคประชาชนในลุ่มน้ำโขงโดยใช้แนวคิดดังกล่าวในการขับเคลื่อน   ที่สำคัญประชาชนผู้ถูกมองว่าอยู่ตาม “ชายขอบ” ของประเทศและสังคมจะได้มีการเชื่อมร้อยอย่างเป็นขบวน นิเวศวัฒนธรรมจะเป็นจุดร่วมที่สำคัญในการเชื่อมร้อยเพื่อการเคลื่อนไหว และสร้างความร่วมมือเพราะมันสามารถทะลุผ่านเส้นแบ่งเขตแดนของประเทศและความแตกต่างทางระบบการเมืองของแต่ละประเทศในลุ่มน้ำได้   ต่างไปจากการใช้ยุทธศาสตร์การรณรงค์เชิงการเมืองเป็นจุดร่วมซึ่งยากที่จะประสบผลสำเร็จได้เพราะประชาชนในประเทศที่ปกครองในระบบคอมมิวนิสต์อย่างเวียดนาม หรือประเทศที่การเมืองภาคประชาชนยังไม่เปิดกว้างอย่างลาวและเขมร คงไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมอย่างในประเทศไทยได้

นอกจากนี้แนวคิดเรื่องนิเวศวัฒนธรรมและการเมืองเรื่องความรู้ในรูปของงานวิจัยไทบ้านและแผนที่นิเวศวัฒนธรรมมีความสำคัญต่อขบวนการต่อสู้ของภาคประชาชนประการหนึ่งคือ การหลุดพ้นจากความตีบตันทางความคิด หรือกับดักของความเป็นคู่ตรงกันข้าม กล่าวคือทุกครั้งเมื่อเกิดโครงการขนาดใหญ่คำถามสำคัญที่ตามเสมอก็คือ จะเลือกเอาการพัฒนาหรือการอนุรักษ์ จะเอาป่าหรือจะเอาถนน จะเอาปลาหรือจะเอาไฟฟ้า และคนก็จะถูกผลักให้คิดหรือเลือกเอาแค่สองอย่างนี้อันถือเป็นความตีบตันทางปัญญาหรือกับดักทางความคิด    การเข้าใจในนิเวศวัฒนธรรมของตนจะทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเลือกแค่สองตัวเลือกนั้น การความรู้และเข้าใจดังกล่าวจะช่วยสร้างปัญญาและการหาทางออกของปัญหาได้ดีกว่าเพราะจะไม่ติดอยู่กับมายาคติหรือการโฆษณาชวนเชื่อที่ผิดๆ ในการปกป้องแม่น้ำจากโครงการขนาดใหญ่คนท้องถิ่นอาจไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องการค้านเขื่อนซึ่งสร้างความแตกแยกในชุมชน แต่พูดคุยกันเรื่องการที่จะมีปลากินอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับการรักษาวัฒนธรรมได้อย่างไร   การเข้าใจและยอมรับของคนในเมืองจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ขบวนการภาคประชาชนบรรลุสำเร็จไปได้ด้วยดี   และการเข้าใจและยอมรับของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจจะช่วยให้เกิดการวางแผนและนโยบายที่หลุดพ้นไปจากสองทางเลือกนั้น

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา