eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

วิจัยไทบ้าน 5ลุ่มน้ำจี้รัฐปฏิรูป

จิรพงศ์ เกิดเรณู   ข่าวสด  22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความเดือดร้อนของชาวบ้านในลุ่มน้ำต่างๆ เป็นผลสืบเนื่องโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐบาล ที่มองวิถีของชาวบ้านว่า สามารถชดเชยด้วยเงินได้ แต่ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นชุมชน วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี ที่สั่งสมส่งต่อจากบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน และอาจจะล่มสลายไปในไม่ช้า

ชาวบ้านหลายลุ่มน้ำจึงรวมตัวกันจัดทำ "งานวิจัยไทบ้าน" เพื่อสืบทอดวิถีชีวิต ภูมิปัญญาต่างๆ มรดกล้ำค่าจากบรรพบุรุษ ทั้งยังเป็นข้อมูล ข้อเท็จจริงจากพื้นที่ เป็นอาวุธต่อสู้กับทุนนิยมสามานย์ ที่ผลาญทรัพยากรอย่างไม่บันยะบันยัง

แรกเริ่ม "งานวิจัยไทบ้าน" เกิดจากปัญหาในการก่อสร้าง "เขื่อนปากมูล" จ.อุบลราชธานี ที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน และไม่เป็นธรรมจากการสร้างเขื่อนแห่งนี้ เป็นงานวิจัยคู่ขนานกับการวิจัยของภาครัฐ ที่สรรเสริญข้อดีของเขื่อน

แต่ความเป็นจริง กลับนำมาซึ่งความหายนะของวิถีชุมชน โดยชาวบ้านเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูล และนำเผยแพร่ประจานความอัปยศสู่สาธารณะ

คำว่า "ไทบ้าน" เป็นภาษาอีสาน หมายถึง ชาวบ้าน "วิจัยไทบ้าน" จึงหมายถึง กระบวนการทำวิจัยที่ทำขึ้นโดยชาวบ้านในพื้นที่ ที่ใช้ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านต่างๆ มาร่วมกันทำวิจัย ทั้งยังถ่ายทอดสู่เยาวชนรุ่นใหม่ในหมู่บ้าน ผ่านการเป็นผู้ช่วยบันทึกข้อมูล จากคำบอกเล่าของนักวิจัยไทบ้าน

แล้วจึงมาเรียบเรียง ตรวจสอบ และเผยแพร่ตามกระบวนการของงานวิจัย หลังจากนั้นจึงนำวิจัยไทบ้านเป็นต้นแบบในการวิจัยในลุ่มน้ำอื่นๆ กลายเป็นวิจัยจาวบ้าน และวิจัยปกาเกอญอ ขึ้น ตามภาษาในท้องถิ่นนั้นๆ

วิจัยไทบ้านเสมือนเป็นเครื่องมือของชาวบ้าน ทำให้ชุมชนรู้สิทธิของตนเองในการมีส่วนร่วมที่จะปกป้องแม่น้ำและวิถีชีวิต

ล่าสุดแต่ละกลุ่มลุ่มน้ำ รวมตัวกันจัดประชุม "สิทธิชุมชนในการจัดการลุ่มน้ำ สู่ข้อเสนอจากภาคประชาชน" ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีชาวบ้านเครือข่ายภาคประชาชนใน 5 ลุ่มน้ำ ทั้งภาคเหนือและอีสาน ประกอบด้วย ลุ่มน้ำมูน, ลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำยม, และราษีไศล รวมทั้งนักวิชาการ กรรมการปฏิรูป และกรรม การสมัชชาปฏิรูป เพื่อช่วยกันคิดแลกเปลี่ยน และหาทางออกในปัญหาลุ่มน้ำต่างๆ ร่วมกัน

โดยวิจัยไทบ้านของลุ่มน้ำมูน ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2534 หลังการมาของเขื่อนปากมูล ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม จากงานวิจัยไทบ้านพบว่า การปิดกั้นแม่น้ำมูนด้วยเขื่อน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำมูน และวิถีชีวิตชุมชนอย่างรุนแรง โดยงานวิจัยของชาวปากมูน พบว่าการเปิดประตูเขื่อน 4 เดือน ส่งผลให้พันธุ์ปลากลับมาสู่แม่น้ำมูนถึง 148 ชนิด หรือครึ่งหนึ่งก่อนจะมีการสร้างเขื่อน

ด้านชาวราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ก็ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเช่นกัน จากการวิจัยของชาวบ้านเกี่ยวกับความสำคัญของป่าทาม ที่จะมีน้ำท่วมในฤดูฝน ส่วนหน้าแล้งกลายเป็นผืนป่า โดยป่าทามมีทั้งพืชที่เป็นอาหาร สมุนไพร และพืชที่สำหรับปลูกสร้างบ้านเรือน จากงานวิจัยยังพบว่าหลังการสร้างเขื่อน ปรากฏว่าพันธุ์ปลาหายไป 15 ชนิด กระทบต่อวิถีประมงของชาวราษีไศล

ขณะที่ชาวสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ผ่านงานวิจัยจาวบ้านลุ่มน้ำยม ก็ชี้ว่าหากก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะส่งผลกระทบตามมามากมาย

ผลการวิจัยยืนยันว่า แม่น้ำยมตอนบนมีระบบนิเวศซับซ้อน ทั้งทางบกและทางน้ำ และยังมีป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะ "ป่าสักทองตามธรรมชาติผืนสุดท้ายของประเทศ" สิ่งเหล่านี้ล้วนแตกต่างจากงานวิจัยของภาครัฐมาตลอดว่า ป่าลุ่มน้ำยมสื่อมโทรม

ส่วนงานวิจัยจาวบ้าน "ลุ่มน้ำโขง" ที่ อ.เชียงใหม่ ที่วิถีชีวิตของชาวบ้านกำลังถูกคุกคามโดยเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน ที่ขณะนี้เริ่มกระทบต่อความแห้งแล้ง และจำนวนของปลา

และงานวิจัยปกาเกอญอ "ลุ่มแม่น้ำสาละวิน" ที่กำลังจะมีปัญหาจากโครงการก่อสร้างเขื่อน 4 แห่ง กั้นแม่น้ำสาละวิน นอกจากทำลายลุ่มน้ำแล้ว ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงตามรอยตะเข็บชายแดนไทย-พม่า

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการชื่อดัง และเป็นหนึ่งในกรรมการปฏิรูป ชี้ว่าการทำวิจัยไทบ้าน เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เป็นความรู้ที่ใช้ต่อรองกับอำนาจที่มาจากข้างนอก เป็นเรื่องของคนในโดยใช้ระบบนิเวศ และวัฒน ธรรม ที่คนในชุมชนมองพื้นที่ที่อยู่ ทั้งแม่น้ำ ป่าเขา พื้นที่อาศัยเป็นอย่างไร คือการปรับตัวเข้ากับตรงนั้น จัดการภายในชุมชนเอง ด้าน ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผอ.ศูนย์พัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมยืนยันว่า เป็นการรักษาสิทธิของชุมชน รักษาสิทธิของตัวเอง เป็นการถ่วงดุลอำนาจรัฐ เพราะเป็นการทำวิจัย เพื่อรักษาทรัพยากรท้องถิ่นที่เป็นสมบัติส่วนรวมเอาไว้ ซึ่งแตกต่างจากการทำวิจัยโดยรัฐ ที่เน้นแต่ความเจริญ โดยไม่ดูผลกระทบในด้านอื่นๆ ทั้งวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชน

"การทำวิจัยไทบ้าน จะทำให้การจัดการภายในชุมชนเอง เกิดการมีสิทธิร่วมใช้ในทรัพยากรท้องถิ่น แต่ไม่ได้หมายความว่าใครจะเข้าไปใช้ก็ได้ ต้องมีกฎเกณฑ์ระเบียบปฏิบัติในการใช้ ต้องเคารพ ไม่เบียดบังธรรมชาติ การต่อสู้กับทุนและอำนาจรัฐ จำเป็นต้องอาศัยคนส่วนใหญ่ของสังคม ให้คนเหล่านี้รู้สึกเป็นเจ้าของด้วย การต่อสู้ของชาวบ้านถึงจะมีพลังและยั่งยืน" ดร.ชยันต์ กล่าว

จากการประชุมของกลุ่มวิจัยไทบ้าน 5 ลุ่มน้ำ ได้ข้อสรุปและข้อเสนอ ยื่นผ่านนางเตือนใจ ดีเทศน์ และนางปรีดา คงแป้น กรรมการสมัชชาปฏิรูป มีทั้งหมด 10 ข้อ

1.ยกเลิกโครงการเขื่อนต่างๆ บนแม่น้ำสายหลัก และแม่น้ำสาขา 2.ทบทวนและจัดทำแผนพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ 3.ผลักดันให้เกิดการเจรจากับจีน เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบท้ายน้ำจากเขื่อนแม่น้ำโขงในจีนอย่างเป็นรูปธรรม 4.ยุติการสนับสนุนการสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน 5.เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลตามข้อตกลง 6.เปิดเผยข้อมูลโครงการผันน้ำทั้งในภาคเหนือและอีสานแก่สาธารณะ 7.แก้ปัญหาที่ทำกินอย่างเป็นระบบ 8.แก้ไขปัญหาสัญชาติ 9.ชำระประวัติศาสตร์ใหม่ 10.ส่งเสริมการใช้ความรู้ท้องถิ่น และงานวิจัยไทบ้าน

"วิจัยไทบ้าน" ที่อาศัยความรู้และภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้นๆ จึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ต่อสู้และคานกับทุนนิยมสามานย์ โดยผ่านโครงการพัฒนาของรัฐ เพื่อปกป้องรักษาทรัพยากร ชุมชน และวิถีชีวิตของชาวบ้าน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา