eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

 


ความอุดมสมบูรณ์ของป่าสักทอง กับภูมิปัญหาการบวชป่าชาวบ้าน


ป่าสักทองในมุมสูง พื้นที่หุบด้านล่าง ต.สะเอียบ คือบริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น


ชาวบ้านต.สะเอียบ พาคณะสื่อมวลชนล่องเรือข้ามแม่น้ำยม ลงสำรวจพื้นที่ป่าสักทอง


พื้นที่ 11 ตำบล อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนฯ แต่ไม่มีในรายงาน


คณะสื่อมวลชน


บรรยากาศในหมู่บ้าน พื้นที่ได้รับผลกระทบฯ


อ่านแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อน


ชาวบ้านผูกผ้าเหลืองบวชป่าสักทอง ปกป้องผืนป่า

 

เปิดป่าสักทองท้าพิสูจน์...รวมพลสื่อฯ บุก "แก่งเสือเต้น"

ทีมงาน ThaiNGO มูลนิธิกองทุนไทย  25 มิถุนายน 2551
http://www.thaingo.org/story/thidamon_dam.htm
webmaster@thaingo.org

เมื่อโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง พ่วงกระแสโลกร้อนที่กำลังตื่นตัวไปทั่วโลก

ในครั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี ออกโรงสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยกล่าวให้การสนับสนุนการสร้างเขื่อนตอนหนึ่งในวันสิ่งแวดล้อมโลก (5 มิถุนายน 2551) ที่ผ่านมาี่ว่า การสร้างเขื่อนจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ สถานที่ท่องเที่ยว ช่วยเหลือเกษตกร และที่สำคัญมันจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในแถบภาคเหนือตอนล่าง เขตจังหวัดแพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตรได้อีกด้วย

กล่าวโดยสรุปคือ เขื่อนให้ประโยชน์มากกว่าโทษ ยิ่งสร้างเร็วเท่าไหร่ ปัญหาก็จะหมดไปเร็วเท่านั้น

เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ออกมาประกาศเช่นนี้ ก็ย่อมร้อนรนถึงคนตัวเล็กตัวน้อยในพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนโดยตรง เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ว่าโครงการขนาดใหญ่หรือขนาดย่อมของภาครัฐ ก็ล้วนแต่มีเหตุผล ข้ออ้าง "เพื่อประชาชนแทบทั้งสิ้น" แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีโครงการใดเลย ที่จะผ่านความเห็นชอบจากประชาชน แท้จริงแล้วคนในพื้นที่ต้องการหรือไม่? มีเขื่อนแล้วพวกเขาจะได้อะไร? สูญเสียอะไร? ไม่เคยมีส่วนร่วม หรือ มีสิทธิ์มีเสียงที่จะแสดงความคิดเห็น หรือ ลงมติ ว่า "ควรสร้าง" หรือ "ไม่ควรสร้าง" หรือคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ ไม่ใช่ประชาชนในความหมายของผู้กำหนดนโยบาย

โครงการพาสื่อมวลชนลงพื้นที่แก่งเสือเต้น โดยความร่วมมือของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และโครงการแม่น้ำเพื่ำอชีวิต จึงเกิดขึ้น นำทีมโดย นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่เรื่องราว และพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ในระหว่างวันที่ 21 - 22 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา โดยมีสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก
โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น นับเป็นประเด็นเดือด และฟาดฟันกันมายาวนานร่วม 18 ปี ระหว่าง กลุ่มชาวบ้านผู้คัดค้านกับรัฐบาลเรียกได้ว่าทุกยุคสมัย เรื้อรัง จนกระทั่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นแต่อย่างใด

ฝั่งรัฐบาล ต้องการเก็บกักน้ำเพื่อการชลประทาน โดยอ้างการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และป่าเสื่อมโทรม เป็นตัวผลักดันให้เกิดโครงการและอีกฝั่งชาวบ้านที่ต้องการเพียงผืนป่า และวิถีชีวิตชุมชนที่ยั่งยืน โดยแย้งว่า ผืนป่าดังกล่าวนอกจากจะไม่เสื่อมโทรมแล้ว ยังเป็นป่าสักทองที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศอีกด้วย พร้อมกับท้าทายให้คนในรัฐบาลลงมาตรวจเยี่ยมพื้นที่ มาเห็นของจริงด้วยตา ว่าอะไร เป็นอะไร ก่อนจะตัดสินพิจารณาโครงการ เพียงอาศัยข้อมูลที่ไม่เป็นจริง เพราะที่ผ่านมามีรายงานวิจัย จากหน่วยงานต่างๆ ว่าเขื่อนเสือเต้น อาจไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพราะยังมีหนทางอื่นอีกมากมาย เช่น การขุดลอกคูคลอง และหาทางระบายน้ำออกจากพื้นที่ นอกจากนี้การสร้างเขื่อนดังกล่าวก็ไม่คุ้มทุน แต่ระบบนิเวศน์ และวิถีชีวิตระหว่าง คน กับป่า ในพื้นที่อาจเสียหายไปทั้งระบบ แต่โครงการดังกล่าวก็ถูกนำมาพิจารณาครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยเหตุผลนานัปการ

ภายหลังจากคณะสื่อมวลชนได้สำรวจพื้นที่ป่าสักทอง ในเขตพื้นที่ตำบลสะเอียบ ชมความสมบูรณ์ และสวยงามของสายน้ำยมที่คอยหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตทั้งสองฝั่งน้ำ และภาพมุมสูงจากอุทยานแห่งชาติแม่ยม ทำให้เห็นที่ราบลุ่มบริเวณกว้างที่จะถูกสร้างเป็นสถานที่เก็บกักน้ำอันกว้างใหญ่ และหากโครงการดังกล่าวผ่านการพิจารณา บริเวณแห่งนี้ก็จะกลายเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่จมมีวิถีชิวิตของชุมชนชาวสะเอียบ อยู่ในนั้น
"สิ่งที่ได้เห็นจากการลงพื้นที่ นอกจากต้นสักที่มีเป็นจำนวนมากแล้ว ยังทำให้เข้าใจว่า วิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับป่าของชาวบ้านเป็นอย่างไร ความเรียบง่ายใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ใช้ทรัพยากรจากในป่าบ้าง แต่ก็รู้จักอนุรักษ์ นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นภาพที่ว่า หากเกิดโครงการแก่งเสือเต้น จะทำให้เกิดผลกระทบใดกับทั้งป่าสัก และวิถีชีวิตชาวบ้าน" พีรวัส วิจิตรพรกุล สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

"เป็นการตอกย้ำความจริงถึงผลกระทบทั้งธรรมชาติ และวิถีชีวิต สอดรับกับงานวิจัย และการศึกษาจากหลายสถาบันก่อนหน้านี้ ถึงความเหมาะสม คุ้มค่า กับโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพียงแต่ผู้นำประเทศ หรือภาครัฐยอมรับความจริง หรือเลือกที่จะเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง" ทิพย์สุดา แก้วศรีราวงษ์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

"เพื่อการมีส่วนร่วม เพียงจะรักษาผืนป่า คุณให้ได้มากกว่าเห็นใจ" เอกลักษณ์ ชนะศัตรู มูลนิธิสืบนาคะสเถียร

"ข้อ 1.ป่านั้นมีค่าอนันต์ โปรดช่วยกันรักษาป่า- เค้าบอกกับหนูอย่างนั้น ข้อ 2. 'สร้างเขื่อน ... ช่วยลดภาวะโลกร้อน' - เค้าโกหกหนู กับเพื่อนๆ หนู ข้อ 3. 'สร้างเขื่อน... ไม่ใช่คำตอบ' ชาวบ้านบอกหนูค่ะ หนูเชื่อ ข้อ 3. เพราะหนูเกิดจากต้นน้ำ เม็ดดิน และความรัก นี่นา" สุดารัตน์ ทัดระเบียบ รายการมหัศจรรย์ ธรรมชาติ ช่อง 9 (Modern9 TV)

"กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น ทำข่าวมาหลายสมัย เห็นหลายรัฐบาลผลักดันมาทุกครั้งที่มีปัญหาน้ำท่วม และหน้าแล้ง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีโอกาสมาลงพื้นที่ พิสูจน์ประเด็นร้อนที่มักถูกเอามาเป้นข้ออ้าง ทั้งป่าสักทอง ที่เหลือน้อย นกยูงโง่ๆ 3 ตัว วาทกรรมของสมัคร ทำให้เราต้องมาตามหาข้อเท็จจริง

เดินป่าแค่เล็กน้อย ก็เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าสัก และต้นไม้น้อยใหญ่ที่อยู่ในป่าแห่งนี้ ถ้าคนที่มีอำนาจตัดสินโครงการยังไม่เคยมาเห็นสิ่งเหล่านี้ด้วยตา แต่ตัดสินจากข้อมูลที่ถูกอุปโลกขึ้นมา คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ยิ่งฟังคำยืนยันของพี่ศุภชัย ในฐานะคนทำงานตรงกลาง คงหนักใจพอดู แต่เราจะต่อต้านและทำหน้าที่ แทนคนสะเอียบ" จันทร์จิรา พงษ์ราย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (ข่าวสิ่งแวดล้อม)

"ปริมาณของไม้สักขนาดใหญ่ ที่พบจำนวนมากในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หากธรรมชาติความเป็นป่าที่สมบูรณ์ด้วยชีวิตของพืชและสัตว์ ที่เหลือน้อยเต็มที ซึ่งไม่ควรถูกทำลายไปอีก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลจากเขื่อน หรือจากการทำลายด้วยวิธีอื่นๆ 'ขอให้ทุกฝ่ายมาดูของจริง และพูดความจริง' " นายสุรินทร์ มุขศรี หนังสือพิมพ์มติชน

"สิ่งที่ได้พบ คือธรรมชาติของป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดป่าหนึ่งที่เคยได้พบเห็นมา ต้นสักเป็นจำนวนมาก ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี แม่น้ำยมก็เป็นแม่น้ำที่มีความงดงาม และสิ่งสำคัญที่สุด คือชาวบ้านมีความสามัคคีในการรักษาป่าผืนนี้" วรรณฉัตร วณิชพันธุ์ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

นั่นคงเป็นเพียงเสียงสะท้อนของคนที่ได้ลงสัมผัสพื้นที่เพียงไม่กี่วัน แต่กับชาวบ้านที่ผูกพันกับผืนป่า และสายน้ำ แห่งนี้มาแต่สมัยบรรพกาล คงมีเรื่องราวความจริงที่จะบอกเล่าสู่คนภายนอกได้รับฟังมากกว่านี้ ร้อยแท่าพันเท่า

"ต้นไม้" กับ "ป่าไม้" ย่อมเป็นคนละเรื่องกัน

ชาวบ้านไม่ได้เสียดายแค่คำว่า ต้นสักกว่า 50,000 ไร่ ที่ต้องถูกทำลายจากการสร้างเขื่อนในแง่มุมของนักอนุรักษ์ สร้างเขื่อนแล้วโลกจะหายร้อนหรือไม่ ไม่สำคัญเท่า "วิถีชีวิตพวกเขาจะดำรงอยู่อย่างไร และลูกหลานจะมีอนาคตเช่นไร" มากกว่า เพราะผืนป่าแห่งนี้่ไม่ไ้ด้เป็นแค่ไม้สักทองในความหมายของคนทั่วไป ชาวบ้านบอกว่า ที่นี่ไม่มีบ้านไหนมีรายได้จากการขายไม้สักแม้แต่หลังคาเรือนเดียว ไม่มีการขนย้ายออกจากพื้นที่ ไม่มีการซื้อขาย ซ้ำยังอาสาเป็นหน่วยเฝ้าระวังการตัดไม้ทำลายป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยาน และยังมีการจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยชุมชน ผ่านคณะกรรมการชุมชนอีกด้วย ชาวบ้านจึงไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสักทองในแง่ไม้เศรษฐกิจสักแดงเดียว

หากแต่ มันคือการสูญเสียผืนป่า สูญเสียแหล่งทรัพยากรอาหารที่เคยหล่อเลี้ยงชุมชนมาแต่สมัยปู่ย่าตายาย เห็ด หน่อไม้ พืชพรรณ และวิถีชีวิตดั้งเดิม มันหมายถึงประชากรราว 1,000 ครอบครัวต้องอพยพโยกย้าย เริ่มต้นสร้างรากฐานวัฒนธรรมชุมชนใหม่ บนที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ แม้แต่เงินชดเชยจำนวนมหาศาลก็มิอาจชดเชยความสูญเสียเหล่านี้ เพราะบางสิ่งบางอย่างมิอาจประเมินค่าได้ ด้วยเงินตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีปัญหาผลกระทบอื่นๆ จากการสร้างเขื่อนตามมาไม่รู้จบแล้วล่ะก็ มันคุ้มแล้วหรือกับการทำลายรากฐานความเป็นวิถีมนุษย์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

เมื่อเสียงเล็กๆ จากชาวบ้าน ไม่ดังพอที่จะทำให้คนใหญ่ๆ โตๆ เงี่ยหูลงมาฟังได้เลย ชาวสะเอียบก็เพียงแต่หวังว่า เสียงที่ฝากผ่านกระบอกเสียงเหล่านี้ คงจะดังไปถึงท่านผู้นำ หรือผู้กำหนดนโยบายของประเทศบ้าง ว่า ขอให้ท่านพูดความจริงอย่าปิดบังประชาชน "พวกเขา เกิดที่นี่ ก็จะตายที่นี่ ไม่ขอไปไหน เติบโตมาได้เพราะผืนป่า ก็จะปกป้องผืนป่าตราบชีวิต"

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา