eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

"จาวบ้านสะเอียบ"วิจัย น้ำยม-สักทองผืนสุดท้าย

ข่าวสด   04 มิย 49     โดย.. มนตรี จิรพรพนิต

งานวิจัยจาว (ชาว) บ้าน แม่น้ำยม ป่าสักทอง วิถีชีวิตของคนสะเอียบ เกิดจากชาวบ้านดอนชัย บ้านดอนชัยสักทอง บ้านดอนแก้ว และบ้านแม่เต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งตั้งชุมชนอยู่ใกล้ผืนป่า และแม่น้ำในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม

เป็นที่ตั้งของป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 60,000 ไร่

แต่หากก่อสร้าง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" เมื่อไหร่ ป่าสักทองกว่า 40,000 ไร่ จะต้องจมอยู่ใต้ผืนน้ำเหนือเขื่อน

"แก่งเสือเต้น" เขื่อนที่ถูกพูดถึงทุกครั้งเมื่อเกิดน้ำท่วมในภาคเหนือตอนกลางและตอนล่าง แต่อุทกภัยเมื่อกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่เกี่ยวกับลุ่มน้ำยมตอนบน เพราะขณะนั้นแห้งขอด จนแทบจะเดินข้ามได้ตลอดสาย

"การแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ต้องเริ่มจากป่าก่อน ไม่ใช่เอะอะก็สร้างแต่เขื่อน ต้องอนุรักษ์ และใช้ทรัพยากรอย่างฉลาด เพื่อให้เป็นป่าต้นน้ำ เป็นพื้นที่ซับน้ำ เราออกสำรวจและวิจัย เพื่อให้คนภายนอกรับรู้ว่า จะมีอะไรบ้างที่ต้องลงไปอยู่ก้นเขื่อน" นายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านดอนชัยสักทอง กล่าวถึงที่มาของงานวิจัย

งานวิจัยจาวบ้านฉบับนี้ ใช้ผลงานวิจัยชาวบ้านของลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำเชียงของ และลุ่มน้ำสาละวิน มาเป็นต้นแบบการทำวิจัยในครั้งนี้ ใช้เวลาทั้งสิ้น 1 ปี 10 เดือน ตั้งแต่เดือนม.ค.2547 ถึงเดือนพ.ย.2548

ที่มาของคณะผู้วิจัย คัดเลือกจากชาวบ้านผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในแต่ละด้าน จากทั้ง 4 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 30 คน มีเยาวชน หรือเด็กๆ ในหมู่บ้าน เป็นผู้ช่วยนักวิจัย และมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งเป็นที่ปรึกษา รวมแล้วกว่า 200 คน

การวิจัยเริ่มจากรวมกลุ่มพูดคุย และตั้งประเด็นหัวข้อ ที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องสำคัญ ออกสำรวจภาคสนาม เก็บตัวอย่าง สัมภาษณ์ผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์เฉพาะส่วน ก่อนนำมาตรวจสอบความถูกต้อง

ผลการศึกษาพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ พบพืชผัก 91 ชนิด แยกเป็นพืชผักจากป่า 49 ชนิด พืชผักที่ชาวบ้านปลูก 42 ชนิด เห็ด 26 ชนิด และหน่อไม้ 7 ชนิด โดยทั้งหมดจะสลับการให้ผลผลิตตามฤดูกาล จนเป็นแหล่งรายได้ของชาวบ้านแห่งนี้ตลอดทั้งปี

ด้านสมุนไพร พบมากถึง 190 ชนิด แบ่งเป็นประเภทไม้ยืนต้น 54 ชนิด ไม้พุ่ม 40 ชนิด ไม้ที่มีลักษณะเป็นกอ 57 ชนิด ไม้เครือหรือไม้เลื้อย 38 ชนิด และเห็ด 1 ชนิด ทั้งหมดเป็นคลังยาพื้นบ้านของชาวบ้าน

เรื่องสัตว์ป่า ทางคณะวิจัยชาวบ้านไม่ได้ศึกษาด้านปริมาณ แต่เน้นเรื่องความเชื่อของชุมชนในการอนุรักษ์สัตว์ป่า

โดยพบความเชื่อดั้งเดิมว่า "โป่ง" ซึ่งเป็นแหล่งแร่ธาตุของสัตว์ป่า จะมีผีโป่ง ผีป่า ดูแลรักษาอยู่ ชาวบ้านจะไม่ดักซุ่มยิงสัตว์ เนื่องจากกลัวผีโป่งจะทำร้าย

ไม่เท่านั้น ยังมีสัตว์ป่าที่ห้ามทำร้ายอย่างเด็ดขาด คือ "นกยูง" ชาวบ้านถือว่าเป็นสัตว์สวรรค์ หากใครทำร้ายหรือฆ่าจะเป็น "ขึด" หมายความว่าจะนำความโชคร้ายมาให้แก่ตัวเองและครอบครัว พบแต่ความฉิบหาย เจ็บป่วยจนถึงตาย

ส่วนพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำ พบหอย 4 ชนิด ปู 4 ชนิด กุ้ง 2 ชนิด กบ 2 ชนิด เขียด 3 ชนิด และปลา 83 ชนิด แยกเป็นปลาท้องถิ่น 77 ชนิด และปลาต่างถิ่น 6 ชนิด โดยปลาที่ชาวบ้านจับเป็นประจำมี 53 ชนิด แบ่งเป็นปลาหนัง 17 ชนิด และปลาเกล็ด 36 ชนิด

สำหรับป่าไม้ แบ่งออกเป็น 4 ช่วง คือ 1.ก่อนปีพ.ศ.2480 เป็นช่วงการใช้ป่าอย่างยั่งยืน พึ่งพาป่าในการดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ เก็บของป่า หาสมุนไพร หาไม้ฟืน และสร้างบ้านเรือน

2.หลังปีพ.ศ.2480 เป็นช่วงการสัมปทานป่า มีผลกระทบความเป็นอยู่ของชาวสะเอียบเป็นอย่างมาก วิถีชาวบ้านเปลี่ยนจากการเพาะปลูก และหาของป่า เป็นเข้าไปรับจ้างตัดไม้ ปล่อยให้ผู้หญิงและคนแก่ทำนาทำไร่

3.หลังหมดยุคสัมปทานป่า ชาวบ้านเรียนรู้การตัดไม้ด้วยเครื่องมือทันสมัย เริ่มออกจากการทำไม้ให้บริษัท มาทำไม้ขายเอง

และ 4.ตั้งแต่ปีพ.ศ.2534 เป็นต้นมา เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของชาวสะเอียบ โดยประกาศเลิกตัดไม้อย่างสิ้นเชิง มอบเครื่องมือตัดไม้ทั้งหมดให้ทางราชการ ตั้งกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า รักษ์ชุมชน ร่วมกันออกกฎเกณฑ์ชุมชนอย่างเคร่งครัด และมีบทลงโทษชัดเจน

รวมทั้งดำเนินการอนุรักษ์ป่าแม่ยมอย่างจริงจัง มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การปลูกป่า บวชป่า สืบชะตาต้นน้ำ รณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม

ที่สำคัญพร้อมใจกันคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ผลการวิจัยด้านสุดท้าย คือเรื่องทางสังคมวัฒธรรม พบว่าชาวสะเอียบล้วนเป็นเครือญาติกันทั้งสิ้น สืบเชื้อสายเดียวกันมาตั้งแต่ครั้งอดีต โดยอพยพมาจากบ้านทุ่งวัวแดง เขตเมืองสา ปัจจุบันอยู่ใน อ.เวียงสา จ.น่าน เมื่อกว่า 200 ปีก่อน

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายวิชาการและนโยบาย มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายประสิทธิ์พร กาฬอ่อนศรี ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยชุมชน 2 ที่ปรึกษางานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า

งานวิจัยจาวบ้าน แม่น้ำยม ป่าสักทอง วิถีชีวิตของคนสะเอียบ คือสิ่งชาวสะเอียบทุกคนทุ่มเทร่างกาย จิตใจ และเวลา ออกสำรวจและสัมผัสอย่างแท้จริง

มิใช่เพียงการคาดเดาทางวิชาการ

พร้อมทั้งอยากให้เป็นหนึ่งในเอกสาร สำหรับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย นำไปศึกษาควบคู่กับข้อมูลด้านอื่นๆ หากมีความคิดเกี่ยวกับโครงการใหญ่ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อส่วนรวม

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา