eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แถลงการณ์ร่วมภาคประชาชนภาคเหนือ

ยุติการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

 

ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ทำแผนแม่บทเพื่อการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ โดยใช้เงินกู้ 3.5 แสน ล้านบาท และว่าจ้างบริษัทเอกชนโดยเฉพาะจากต่างประเทศมาออกแบบและจัดการน้ำของคนไทย ทั้งประเทศ แผนงานดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของแม่น้ำในพื้นที่ ลุ่มน้ำต่างๆ ดังรายชื่อที่แนบมาตอนท้ายเป็นอย่างมาก พวกเรามีความเห็นร่วมกันอย่างชัดเจนว่าแผนงานดังกล่าวสร้างขึ้นโดยขาดการมี ส่วนร่วมของประชาชน และจะสร้างผลกระทบอย่างมากต่อชาวบ้าน พวกเราขอเรียกร้องให้มีการยุติโครงการที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนใน แผนโครงการงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทดังกล่าว

พวกเราไม่เห็นด้วยในหลายเรื่อง ดังนี้

ประการแรก การดำเนินโครงการของกบอ.ผิดขั้นตอนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 การดำเนินงานตามโครงการของกบอ. มีความเร่งรีบ รวบรัดขั้นตอนไม่ได้ทำตามกระบวนการของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบด้านสุขภาพ (EHIA) โดยละเลยขั้นตอนการวิเคราะห์โครงการ การจัดทำยุทธศาสตร์ การจัดทำแผนแม่บท การวิเคราะห์การลงทุน เป็นต้น

ประการที่สอง ภายใต้แผนทั้ง 9 โมดูล ตามข้อเสนอและขอบเขตของงาน บางโครงการขาดรายละเอียดของโครงการ และไม่มีกรอบเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน

ประการที่สาม ความไม่ชัดเจนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ  องค์กรใดหรือองค์กรเอกชนผู้รับจ้าง(บริษัท) จะเป็นองค์กรหลักรับผิดชอบภายใต้แผนทั้ง 9 โมดูล ตามข้อเสนอและขอบเขตของงาน

ประการที่สี่ การละเลยกระบวนการมีส่วนร่วม และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบอย่างรอบด้าน รวมถึงการละเลยที่จะรับฟังเสียงของทุกฝ่ายถึงข้อกังวล ข้อห่วงใยตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น

ประการที่ห้า ภายใต้แผนงานทั้ง 9 โม ดูล บางโมดูลไม่มีความจำเป็นและเร่งรีบดำเนินโครงการ นอกจากนี้โครงการยังใช้งบประมาณที่สูง ไม่มีความคุ้มทุน และมีความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณในหลายหน่วยงาน ซึ่งมีแผนงานอยู่แล้ว และเห็นควรใช้งบประมาณประจำปีที่มีอยู่แทน  

ประการที่หก ตามข้อเสนอและขอบเขตของงาน (TOR) ทั้ง 9 โมดูล ที่ได้มีการจ้างบริษัทจากต่างประเทศมาออกแบบก่อสร้างระบบบริหารการจัดการน้ำ และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัย กบอ.ได้ปรับเปลี่ยนระบบการทำงานจากเดิมที่ให้หน่วยงานภาครัฐรับผิดชอบ มาเป็นให้บริษัทที่ได้รับสัมปทานเป็นฝ่ายจัดการเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจนถึงการออกแบบ และก่อสร้าง  รวมไปถึงให้บริษัทรับผิดชอบการเวนคืนที่ดิน การหาพื้นที่อพยพ ซึ่งจะกระทบต่อชุมชนและวิถีชีวิตอย่างรุนแรงยากแก่การเยียวยา

พวกเราขอย้ำอย่างชัดเจนว่า ขอให้รัฐบาลยุติโครงการที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน โดยแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว เรามีมติร่วมกันอย่างชัดเจนว่า

  1. จะทำหนังสือคัดค้านอย่างเป็นทางการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  2. ไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการของภาครัฐ
  3. จะดำเนินการตามมาตรการอื่นๆตามมติของเครือข่ายต่อไป

 

ภาคประชาชนภาคเหนือ

20 เมษายน 2556

ริมกว๊านพะเยา

ลงชื่อ

  1. กลุ่มคัดค้านเขื่อนโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
  2. กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
  3. กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการแม่ขาน ต.ออบขาน จ.เชียงใหม่
  4. กลุ่มรักบ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง
  5. เครือข่ายลุ่มน้ำอิงตอนบน จ.พะเยา
  6. เครือข่ายลุ่มน้ำอิงตอนปลาย จ.เชียงราย
  7. คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จ.แพร่
  8. เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ
 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา