eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

สะเอียบ ไล่ตะเพิด ตัวแทนบริษัทปัญญาฯ และตัวแทนกรมชลประทานออกจากพื้นที่

ไม่ยอมให้ทำการเจาะดิน  เพื่อศึกษาโครงการยมล่าง ซึ่งกรมชลอ้างว่าเป็นทางเลือกแทนแก่งเสือเต้น ชาวบ้านโห่ไล่พร้อมกับขู่ซ้ำหากยังดึงดันเข้ามาศึกษาอีกจะไม่รับรองความปลอดภัย

 รายงานข่าวจากพื้นที่ 28 กันยายน 2552

                ที่ศาลาวัดดอนชัย บ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เวลาประมาณ 9.00 น. นายชูสด สายกาญจนไพบูรณ์  ที่ปรึกษาบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด และนายถาวร บุญราศี ตัวแทนกรมชลประทาน ได้ร่วมกันชี้แจงกรณีการเข้ามาสำรวจขุดเจาะดินบริเวณสวนป่าแม่แฮด ใกล้กับอุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนยมล่าง ซึ่งห่างจากจุดที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นลงมาตามลำน้ำยมประมาณ 10 กิโลเมตร โดยนายชูสด ตัวแทนบริษัทปัญญาฯ ได้ชี้แจงว่าทางบริษัทได้รับมอบหมายจากทางกรมชลประทานให้ทำการศึกษาการพัฒนาลุ่มน้ำยม โดยมีงบประมาณ 80 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณประจำปี 2552 - 2553 ซึ่งทางกรมชลประทานได้รับมา และทางบริษัทปัญญาฯ มีความจำเป็นต้องเข้ามาสำรวจขุดเจาะดิน หิน ในบริเวณป่าแม่แฮด 3 หลุม หลุมละ 20 เมตร เพื่อดูว่ารากฐานการสร้างเขื่อนยมล่าง จะต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างจำนวนเท่าใด เพื่อเป็นทางเลือกในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำยม “เปรียบเสมือนเราจะสร้างบ้านก็ต้องมีการศึกษาดูว่าจะวางเสาเข็มลึกเท่าไหร่ คำนวณออกมาแล้วเป็นเงินเท่าไหร่ เราจะได้ตัดสินใจได้ว่าบ้านที่จะสร้างคุ้มค่าหรือไม่ เขื่อนยมล่างนี้ก็เหมือนกัน หากเราไม่ทำการศึกษา ไม่ได้ขุดเจาะดินไปวิเคราะห์ เราก็จะไม่สามารถคำนวณได้ว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างเท่าใด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างเพียงแต่ศึกษาดูความเหมาะสมเบื้องต้นก่อนเท่านั้น” นายชูสดกล่าว

                แผนที่ 1:50,000 ที่นำมาชี้แจงกับชาวบ้าน ได้มีการระบุจุดที่จะทำการขุดเจาะอยู่ 3 หลุม ซึ่งทางบริษัทได้ให้ตัวแทนชาวบ้านดูว่าหากสร้างเขื่อนยมล่างนี้จะไม่กระทบถึงชุมชนชาวสะเอียบ จะท่วมเพียงที่ทำกินเท่านั้น และอีกจุดคือยมบน ซึ่งจะอยู่ใกล้กับบ้านแม่เต้น ระบุระดับกักเก็บ 258 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเท่ากับระดับกักเก็บของเขื่อนแก่งเสือเต้นเดิม ก็จะไม่กระทบกับชุมชนสะเอียบ แต่จะไปกระทบกับหมู่บ้านใกล้กับแม่น้ำยมใน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ซึ่งทางบริษัทปัญญาฯ และทางกรมชลประทานได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาแล้วครั้งหนึ่งที่อำเภอเชียงม่วน จ.พะเยา ขณะที่ชาวบ้านได้นำแผนที่แผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ ซึ่งมีอยู่ในเอกสารของกรมชลประทาน ขึ้นมาซักถามว่าหากไม่กระทบแล้วทำไมมีการศึกษาพื้นที่อพยพราษฎรไว้ 4-5 แปลง ทั้งที่ ต.สะเอียบ และที่ อ.เชียงม่วน ซึ่งมีทั้งผังบ้าน โรงเรียน วัด สถานีอนามัย สถานีจอดรถ ซึ่งทั้งหมดเขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษ ชาวบ้านเห็นว่าต่อแต่นี้จะมาหลอกกันไม่ได้อีกแล้ว “ที่นี่พูดต่อหน้าพระประธาน หากใครพูดเท็จก็ขอให้มีอันเป็นไป” นายอุดม กล่าว จากนั้นชาวบ้านต่างวิภาควิจารณ์ถึงการเข้ามาหลอกเอาข้อมูลแล้วไปสรุปว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน เหมือนกับที่เกิดขึ้นในหลายเขื่อนหลายพื้นที่ที่ผ่านมา

                เมื่อการชี้แจงเสร็จสิ้นชาวบ้านได้ซักถามว่าเขื่อนยมบน จะกระทบกับป่าสักทอง และกระทบกับชุมชนหรือไม่อย่างไร ตัวแทนบริษัทปัญญาฯ และ ผู้แทนกรมชลประทาน ได้ร่วมกันชี้แจงว่า เขื่อนยมบน จะลดระดับน้ำลงมาอยู่ที่ 230 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งถือว่าลดลงจากเขื่อนแก่งเสือเต้น 28 เมตร เพราะเดิมแก่งเสือเต้นจะกักเก็บที่ 258 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งคาดว่าจะจุน้ำได้ประมาณ 500 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะไม่ท่วมถึงหมู่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้านใน ต.สะเอียบ แต่อาจท่วมที่ทำกินบ้างบางส่วน เพราะจากการประเมินเบื้องต้นพบว่าสะพานข้ามห้วยแม่สะกึ๋นที่ชาวบ้านเห็นอยู่นั้นอยู่ในระดับ 235 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ท่วมมาถึงชุมชนซึ่งอยู่สูงกว่าอย่างแน่นอน

                เมื่อชาวบ้านถามถึงผลกระทบต่อป่าสักทอง ตัวแทนบริษัทปัญญาฯ บอกว่าจะท่วมเพียง 3,000 – 4,000 ไร่ ซึ่งลดลงมาจากเดิมที่จะท่วมเป็นหมื่นไร่ “ทั้งนี้ทางบริษัทฯ ไม่ได้ศึกษาแต่เพียงเท่านี้ เราจะศึกษาถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางสังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ด้วย ไม่เพียงแต่ที่นี่เท่านั้น เราศึกษาจากพะเยา แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ไปจนถึงนครสวรรค์” นายชูสด กล่าว

                จากนั้นชาวบ้านได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น วิภาควิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยนายอุดม ศรีคำภา แกนนำชาวบ้านคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมาบริษัทปัญญาได้ทำการศึกษาเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นมาครั้งหนึ่งแล้ว จนสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบัน มาคราวนี้จะมาขอศึกษาเรื่อเขื่อนยมล่าง และอนาคตถ้าเขื่อนยมล่างแก้ไขปัญหาไม่ได้ก็คงต้องมาขอศึกษาเขื่อนยมบน ซึ่งจะอยู่ใกล้ๆ กับบ้านแม่เต้นอีก ชาวบ้านมีบทเรียนมามากพอแล้วกับการศึกษาต่างๆ ซึ่งเมื่อศึกษาไปแล้วไปตัดสินใจกันที่กรุงเทพฯ แต่กลับมาสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ “เราเห็นว่าการศึกษาทางเลือกต่างๆ มีมากพอแล้ว โดยเฉพาะชาวบ้านได้เสนอให้ใช้มาตรการอื่นๆ แทนเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น การปลูกป่ารักษาต้นน้ำ การกักเก็บน้ำตามลำห้วยสาขาของแม่น้ำยม การสร้างอ่างขนาดเล็ก ขนาดกลางในแต่ละท้องที่ ในลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าเขื่อนขนาดใหญ่แต่ทำไมไม่ดำเนินการ กลับมาศึกษาเขื่อนขนาดใหญ่อีก ซึ่งทางชาวบ้านไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน” นายอุดมกล่าว

                นายศรชัย อยู่สุข ชาวบ้านบ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 กล่าวว่า “นับต่อแต่นี้ชาวบ้านสะเอียบจะไม่ยอมให้ความร่วมมือในการศึกษาเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำยมอีกต่อไป และขอให้หยุดพูดถึงโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น และเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แล้ว รวมทั้งเขื่อนยมล่าง ยมบน ก็ไม่ต้องมาศึกษา ให้ไปศึกษาที่อื่น หาทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกับป่าสักทองและชาวบ้านสะเอียบ” นายศรชัย กล่าว

                เมื่อทางตัวแทนของบริษัทปัญญาฯ และตัวแทนของกรมชน ได้ฟังความเห็นของชาวบ้านแล้วจึงกล่าวยอมรับว่า หากชาวบ้านไม่ให้เข้ามาขุดเจาะและทำการศึกษา ทางเราก็คงไม่ขุดเจาะ และไม่ทำการศึกษา และต้องแจ้งไปยังหน่วยงานที่ว่าจ้างเรามาว่าชาวบ้านที่นี่ไม่ต้องการให้ศึกษา ทางกรมชลประทานคงต้องไปศึกษาที่อื่นๆ ต่อไป

                จนถึงเวลาประมาณ 11.30 น. นายเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ ได้สรุปประเด็นการชี้แจงและถามความคิดเห็นของชาวบ้านว่าจะให้ทางบริษัทปัญญาฯ กับ ทางกรมชลประทาน ทำการศึกษาและเจาะสำรวจดินกรณีเขื่อนยมล่างหรือไม่ ชาวบ้านทั้งหมดมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ให้สำรวจ และเริ่มมีเสียงโห่ไล่ตัวแทนบริษัทปัญญาและตัวแทนของกรมชลประทานให้ออกไปจากพื้นที่และอย่าเข้ามาอีก กำนันตำบลสะเอียบจึงได้ขอปิดประชุม

                จากการสอบถามตัวแทนของบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด เห็นว่าเมื่อชาวบ้านไม่ยอมให้ขุดเจาะและไม่ให้ทำการศึกษาเขื่อนยมล่างนี้ การศึกษาทางเลือกในการจัดการลุ่มน้ำยมก็คงจะไม่สมบูรณ์ และทางบริษัทคงต้องขอคืนงานในส่วนนี้ไป หรือทางกรมชลประทานจะว่าอย่างไรเราก็พร้อมที่จะศึกษาตามนั้น ขณะที่ตัวแทนกรมชลประทาน เห็นว่าเมื่อชาวบ้านไม่ให้ศึกษากรมชลก็คงไม่ดึงดัน เราคงต้องหาทางเลือกอื่นๆ ต่อไป โดยจะได้นำข้อเสนอของชาวบ้านที่เราได้รับฟังในวันนี้ไปเสนอต่อฝ่ายนโยบายที่มีอำนาจในการตัดสินใจต่อไป

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา