eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เปิดแฟ้ม     “โรงไฟฟ้าลำตะคอง “  อีกโครงการอื้อฉาวของ  “กฟผ.”

       โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ เป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ ตั้งอยู่บริเวณสันแบ่งเขตระหว่าง อ.สีคิ้ว และ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ห่างจาก อ.เมืองสระบุรี 82 ก.ม.

       ในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการนี้ กฟผ. ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency หรือ JICA)  โดยศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น แล้วเสร็จในปี 2534

       ระยะแรกกำหนดให้โรงไฟฟ้าติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 250 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวมกำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ ระยะที่สองติดตั้งเพิ่มอีกเท่ากับกำลังผลิตรวมในระยะแรก  ซึ่งเมื่อรวมกำลังผลิตในโครงการแล้วจะได้กำลังผลิตทั้งหมด 1,000 เมกะวัตต์

-          วัตถุประสงค์  เป็นโครงการสะสมพลังงานไฟฟ้าของประเทศช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ  โดยวิธีสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองขึ้นไปเก็บไว้บนภูเขา แล้วปล่อยกลับลงมาผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง (peak)

โครงการนี้การก่อสร้างประกอบด้วย

     อ่างเก็บน้ำตอนบน สร้างขึ้นใหม่บนยอดเขาเขื่อนลั่น พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 0.4 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 212 ไร่  มีความจุของอ่าง 9.9 ล้านลูกบาศก์เมตร

     อ่างล่าง คืออ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองเดิม มีความจุของอ่างประมาณ 290 ล้านลูกบาศก์เมตร

     โรงไฟฟ้าใต้ดิน อยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 300 เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์ จำนวน 4 ชุด รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์

     อุโมงค์ส่งน้ำ เชื่อมระหว่างอ่างเก็บน้ำบนภูเขาและโรงไฟฟ้าใต้ดิน จำนวน 2 แนว ยาวประมาณ 1,470 เมตร

     ระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ระยะแรกเชื่อมโยงกับแนวสายส่งขนาด 230 เควี สระบุรี 2 – นครราชสีมา 2 ที่มีอยู่เดิม

     ลานไกไฟฟ้า และอาคารควบคุม รับไฟฟ้าจากอุโมงค์ ส่งเข้าระบบสายส่งแรงสูง 230 เควี

 

ลำดับเหตุการณ์

     ปี 2528 ศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดสูบกลับ

      ปี 2531 กฟผ.เสนอขอความช่วยเหลือทางวิชาการจากรัฐบาลญี่ปุ่น

      ปี 2532 กฟผ.และองค์การร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงนามในสัญญา “ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ” โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนด้านการเงิน และผลการศึกษาแล้วเสร็จเมื่อ ต.ค.2534

      ปี 2533 มอบหมายให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาาและสำรวจรายละเอียดวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้น

      ปี 2534 กฟผ.เสนอขอผ่อนผันใช้พื้นที่ใต้ลุ่มน้ำ 1 เอ เป็นกรณีพิเศษจาก ครม. เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าใต้ดิน และได้รับอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2535

      ปี 2535 เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ กฟผ. ประชุมชี้แจงกับชาวบ้านหมู่ 6 เขายายเที่ยงเหนือ เรื่องการขอใช้พื้นที่ทำกินชาวบ้านสร้างอ่างเก็บน้ำตอนบน กฟผ. ระบุจะจ่ายค่าชดเชยเวนคืนที่ดินให้ชาวบ้าน 82 ราย รวม 1,364 ไร่  ใช้ประโยชน์เป็นอ่าง 228 ไร่

       เมื่อเสร็จงานจะปลูกสวนป่าคืนให้รัฐบาล 430 ไร่  ปลูกพืชคลุมดินบริเวณลาดชันของอ่าง 125 ไร่ ส่วนพื้นที่ทิ้งดินระหว่างก่อสร้างจะปรับปรุงเป็นวนเกษตรคืนให้เจ้าของที่ดินเดิม  โดยชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดินรายละ 5 ไร่

       ปี 2536 กฟผ. จัดสัมมนาเรื่อง “ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนแก้ไขของโครงการโรงไฟฟ้าฯ” ที่โรงแรมรอยัล พลาซ่า จ.นครราชสีมา เชิญผู้สนใจและชาวบ้านเขายายเที่ยงเหนือหมู่ 6 และใต้ หมู่ 10 เข้าร่วมประชุม กำหนดแผนงานพัฒนาและส่งเสริมชาวบ้านให้มีรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิต

     ปี 2537 กฟผ. เริ่มสำรวจทางธรณีวิทยา หาข้อมูลการขุดเจาะอุโมงค์ และสร้างอ่าง

       ปี 2538 วันที่ 1 พ.ย. เครื่องจักรทยอยมาลงพื้นที่ มีการเปิดหน้าดิน เริ่มระเบิดเมื่อ ธ.ค. และระเบิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปี 7 เดือน

       หมายเหตุ  จากการจัดประชุมที่โรงแรมรอยัล พลาซ่า และอีกหลายครั้ง กฟผ. ยืนยันว่าการก่อสร้างอ่างจะใช้เพียงรถแทรกเตอร์และแบ็คโฮเป็นส่วนใหญ่ จะมีการระเบิดเพียงส่วนน้อย

       แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ตั้งแต่กลางปี 2539 เป็นต้นมา มีการระเบิดทุกวัน วันละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งเจาะรู 100-200 รู  มีการติดป้ายประกาศว่าจะระเบิดวันละ 2 ครั้ง

         ในส่วนของการเจาะอุโมงค์ใต้ดินนั้น มีการระเบิดอย่างไม่ต่อเนื่องในระยะ 4 ปี ทำการระเบิดวันละ 2 ครั้งเช่นกัน

         ปี 2539 ช่วงปลายปี ชาวบ้านซักถามเจ้าหน้าที่ กฟผ.ที่เข้าดูแลควบคุมงานก่อสร้างอ่างบนยอดเขา ถึงปัญหาจากฝุ่นละอองที่เกิดจากการระเบิด เนื่องจากราษฎรหลายรายมีอาการแน่นหน้าอก หายใจติดขัดไม่สะดวก เกิดผื่นคัน ท้องเดินผิดปกติ วิงเวียน อาเจียน

         ปี 2540 กฟผ. แจ้งกับชาวบ้านว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นละอองและแรงสั่นสะเทือนต้องลงทุนสูงมาก แพทย์ได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านหาผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดปิดจมูกเวลาเกิดฝุ่นละอองจากการระเบิด

         ช่วงกลางปี ชาวบ้านหมู่ 6 ยื่นหนังสือต่อ ผอ.โครงการโรงไฟฟ้า และนายจำลอง  ครุฑขุนทด ส.ส.นครราชสีมา  ให้จัดที่ดินชดเชยครอบครัวละ 15 ไร่ พร้อมกับจัดถนนและแหล่งน้ำ ภายหลังทราบว่า กฟผ. จะไม่จัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 5 ไร่ตามที่เคยสัญญาไว้

         ปี 2541 กฟผ. เลิกระเบิดบริเวณอ่าง แต่ผลกระทบด้านสุขภาพของราษฎร 2 หมู่บ้าน ยังคงมีอยู่ ขณะที่ชาวบ้านเขาน้อย ใกล้กับอ่างเก็บน้ำลำตะคองข้างล่างของกรมชลประทานซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ 3 มีอาการป่วยคล้ายกับ 2 หมู่บ้านข้างต้น

        เดือน ธ.ค. มีการประชุมจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นผลกระทบต่าง ๆ ภายหลังราษฎร 2 หมู่บ้านเข้าพบรอง ผวจ.นครราชสีมา อย่างไรก็ตาม จากผลสรุปของนักวิชาการของหน่วยราชการที่ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง  ไม่พบว่ามีหน่วยงานใดชี้ชัดว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ ก่อนเรื่องจะเงียบหายไปในที่สุด

       ปี 2542 ราษฎร 2 หมู่บ้านเดินทางเข้าพบ นายสาวิตต์  โพธิวิหค  รมต.สำนักนายกฯ ขณะนั้น และนายอดิศร  เพียงเกษ  ส.ส. ในฐานะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และผู้ว่าฯ  กฟผ. เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนให้ช่วยแก้ไขปัญหาผลกระทบต่าง ๆ

       กระทั่ง 2 พ.ค. ปีเดียวกัน ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน ตัดสินใจชุมนุมเรียกร้องร่วมกับพี่น้องภาคอีสาน ที่ จ. ขอนแก่น เป็นเวลา 8 วัน  โดยมีนายอำนวย  ปะติเส รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง ขณะนั้น เป็นตัวแทนรัฐบาลเจรจากับเกษตรกรที่มาเรียกร้องหลายกลุ่มปัญหา  แต่การหารือไม่บรรลุข้อตกลง

       ปัญหายังคุกรุ่นมาถึงทุกวันนี้

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา