eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เมื่อน้ำมีราคา เมื่อนามีมิเตอร์ หาก ‘พ.ร.บ.น้ำ’ ผ่าน

โดย : ประชาไท   วันที่ : 5/3/2551
http://www.prachatai.com/05web/th/home/11390

 

เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมา นายสายัณน์ ข้ามหนึ่ง เจ้าหน้าที่โครงการแม่น้ำเพื่อที่ชีวิต ได้บันทึกเทปให้สัมภาษณ์ในรายการมองคนละมุม ดำเนินรายการโดยนายมานพ คีรีภูวดล ออกอากาศทางสถานีวิทยุ FM 100 เสียงสื่อสารมวลชน ในประเด็น พ.ร.บ.น้ำ ซึ่งขณะนี้กลับมาอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่ยังไม่ผ่านในสมัย สนช.

พรบ.น้ำ มรดกยุคกู้เงินเอดีบี
นายสายัณน์ กล่าวว่า พ.ร.บ.น้ำที่มีการผลักดันกันอยู่ในปัจจุบันนั้น มีการริเริ่มตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว เพราะเป็นเงื่อนไขของการกู้เงินธนาคารโลกกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) โดยหลังกู้เงินมาแล้วต้องมีการออกกฎหมายเพื่อที่จะเก็บค่าน้ำในภาคของการเกษตกร ซึ่งในยุคของรัฐบาลที่ผ่านมาก็มีการผลักดันเรื่องนี้ และมีการพยายามรวบรัดที่จะออกมาเป็นกฏหมายให้ได้

หลักสำคัญของ พ.ร.บ.น้ำ ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร คือ 1.ความโปร่งใสในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่ง พ.ร.บ.ที่เกิดขึ้นมีการรวบรัดออกกฎหมายในสมัยของ สนช. 2.พ.ร.บ.น้ำจะทำให้น้ำในแม่น้ำ แหล่งน้ำทุกประเภท กลายเป็นของรัฐโดยสมบูรณ์ ใน มาตรา 6 ตาม พ.ร.บ. 3.ร่าง พ.ร.บ.น้ำแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ หนึ่ง แหล่งน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภค บริโภค ในครัวเรือน สอง การใช้น้ำจากแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เลี้ยงสัตว์ เพื่อการพาณิชย์ การท่องเที่ยว สาม การใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งจะใช้น้ำในปริมาณที่มาก

 

ในน้ำมีราคา ในนามีมิเตอร์
ซึ่งถ้า พ.ร.บ.น้ำประกาศใช้ก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย เพราะถ้ามี พ.ร.บ.ก็จะต้องมีการยื่นคำขออนุญาต การเสียค่าธรรมเนียมน้ำ การติดตั้งมิเตอร์ในที่นาของชาวบ้าน ซึ่งในการขออนุญาตจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงสุดคือ 10,000 บาท ตามที่ พ.ร.บ.กำหนด หมายถึงว่าชาวบ้านจะต้องแบกภาระและจะทำให้องค์กรชาวบ้านถูกลบล้างโดยสิ้นเชิง

ในอนาคตเกษตรกรจะต้องมีใบอนุญาตเพื่อทำการติดตั้งมาตรวัดน้ำ ซึ่งเป็นการกีดกันเกษตรกรรายย่อยออกจากภาคการเกษตรโดยสิ้นเชิง เพราะการแบกภาระในเรื่องการขออนุญาตนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับเกษตรกร เพราะการขออนุญาตจะต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงถึง 10,000 บาท อีกทั้งยังต้องเสียค่าน้ำลูกบาศก์เมตรตามหน่วยกิจในการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรม

นอกจากนี้นายสายัณน์ กล่าวว่า “พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นการลิดรอนสิทธิของชุมชนและเกษตร เพื่อที่จะให้รัฐสามารถจัดการน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะว่าแนวคิดหลักที่บอกว่าการใช้น้ำในภาคการเกษตรนั้นสูญเปล่าไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็จะทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้สามารถเก็บค่าน้ำจากภาคการเกษตรให้เป็นมูลค่าได้

อีกด้านหนึ่งที่น่าคิดก็คือการจัดการในปัจจุบันในภาครัฐไม่ว่าจะเป็นเขื่อนหรืออ่างขนาดใหญ่ ในการพิจารณาให้น้ำกับภาคการเกษตรนี้จะมาทีหลัง ดูจากภาคกลาง กลุ่มหลักที่จะได้ประโยชน์และถูกพิจารณาเป็นอันดับแรกก็คือภาคอุตสาหกรรม ซึ่งภาคการเกษตรจะถูกพิจารณาเป็นอันดับสุดท้ายอยู่แล้ว”

 

รัฐกับการจัดการน้ำเบ็ดเสร็จ
สาระสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.น้ำ ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเกษตรกรก็คือว่า สถานะของน้ำจะเปลี่ยนเป็นของรัฐบาลโดยสมบูรณ์ทั้งจากดิน แหล่งน้ำ อากาศ ใต้ดิน ทั้งหมดเหล่านี้รัฐบาลจะเป็นผู้ดูเวลาโดยสมบูรณ์ และยังจะทำลายรูปแบบของประเพณี อย่างเช่น ประเพณีท้องถิ่นของภาคเหนือที่มีระบบเหมืองฝาย สิ่งนี้จะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง อีกทั้ง พ.ร.บ.น้ำทำให้รัฐมีอำนาจบริหารจัดการน้ำโดยเบ็ดเสร็จ โดยแบ่งออกเป็น 3 อย่างคือ

1.รัฐมีอำนาจในการพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างฝาย สร้างเขื่อน การผันน้ำ หรือทำลายสิ่งกีดขวางในช่วงน้ำท่วม 2.รัฐสามารถกำหนดรูปแบบการบริหารการจัดการน้ำ หรือการใช้น้ำโดยจำแนกประเภทของการใช้น้ำ โดยต้องขออนุญาตและเสียค่าน้ำ และ 3.รัฐสามารถประกาศแหล่งต้นน้ำลำธารได้ โดยรวมถึงการกำหนดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์จากที่ดินด้วย

และสิ่งที่ภาคเกษตรกรกังวลอีกด้านหนึ่งก็คือว่า หาก พ.ร.บ.น้ำ ประกาศใช้ กรมทรัพยากรน้ำก็จะสามารถกำหนดให้การเพาะปลูกของเกษตรกรได้ ตัวอย่างเช่น เกษตรกรที่ปลูกข้าวในช่วงนี้ปริมาณน้ำอาจจะไม่เพียงพอ ทางกรมทรัพยากรก็สามารถกำหนดให้เปลี่ยนเป็นการปลูกถั่วเหลืองได้ โดยอาจจะอ้างในเรื่องของการใช้ปริมาณน้ำที่น้อยกว่าการปลูกข้าว เป็นต้น อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของภาระทางการเงินของผู้ใช้น้ำจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือ ภาระทางการเงินทั้งหมดไม่เคยถูกเปิดเผยในกรมทรัพยากรน้ำในการเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นของชาวบ้าน ซึ่งไม่มีการเปิดเผย

 

คณะกรรมการนโยบายน้ำ ตัวแทนใคร
ใน พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้ ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีคณะกรรมการนโยบายน้ำ ซึ่งกำหนดให้มีทั้งสิ้น 19 คน โดยมาจากภาครัฐ 10 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกแต่งตั้ง 3 คน และตัวแทนจากลุ่มอื่นๆ อีก 6 คน แต่หากดูจากมาตรา 20 ตาม พ.ร.บ.น้ำ กำหนดให้ตัวแทนจากคนในลุ่มน้ำเป็นคณะกรรมการ 2 คนเท่านั้น ซึ่งก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่าจะไปถ่วงดุลอำนาจในคณะกรรมการได้เลย

นายสายัณน์ ยังกล่าวถึงผลเสียที่จะเกิดกับเกษตรกรโดยยกตัวอย่าง การประปานครหลวงที่ผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาทำน้ำประปา โดยจ่ายค่าน้ำให้กับกรมชลประทาน ลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์ พอการประปาผลิตเป็นน้ำประปาก็สามารถบวกเพิ่มค่าน้ำดิบในบิลค่าน้ำประปาของผู้ใช้ แต่ถ้ากลับมาดูภาคการเกษตร ถ้าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการที่ต้องจ่ายค่าน้ำ แล้วส่งผลผลิตออกขายนั้นไม่สามารถบวกต้นทุนเรื่องของค่าน้ำได้ เพราะในปัจจุบันเองก็ไม่มีหลักประกันเรื่องของสินค้าทางการเกษตรได้ ซึ่งการที่เกษตรกรจะผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปในสินค้าเกษตร เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก ไม่เหมือนการใช้น้ำขนาดใหญ่อย่างเช่นการประปานครหลวง ดังนั้นจึงเป็นการทำลายภาคการเกษตรอีกทางหนึ่ง

 

โอนใบอนุญาตใช้น้ำ แนวโน้มเกษตรขนาดใหญ่ผูกขาด
สิ่งที่น่าวิตกอีกด้านหนึ่งก็คือ พ.ร.บ.นี้สามารถโอนใบอนุญาตให้กันได้ ตัวอย่างเช่น เกษตรกรไปจดทะเบียนขออนุญาตใช้น้ำแล้ว พอทำการเกษตรไปได้สักระยะก็ไม่สามารถผลิตต่อได้ก็อาจจะขายสิทธิให้กับเกษตรกรรมขนาดใหญ่ที่ทำการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาการผูกขาดการใช้น้ำของเกษตรกรรมขนาดใหญ่และภาคอุตสาหกรรมจากการโอนขายการใช้น้ำของเกษตรกรรายย่อย

เนื้อหาภายใน พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ยังเกิดการถ่วงติงจากภาคประชาชนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเริ่มมีการจัดเวทีชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ.น้ำ มากยิ่งขึ้น ซึ่งชาวบ้านในภาคเกษตรกรก็ค่อนข้างที่จะตื่นตัวในแนวทางที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นี้ เพราะว่าไปลิดรอนสิทธิเรื่องของการจัดการน้ำในภาคประชาชน

 

แนวโน้มชาวบ้านไม่เอา พรบ.น้ำผูกขาด เรียกร้องขอยกร่างเอง
ปัจจุบันท่าทีของพี่น้องเกษตรกรได้มีแนวทางคัดค้านไม่เอา พ.ร.บ.นี้แน่นอน ซึ่งก็มีการคิดที่จะยกร่าง พ.ร.บ.น้ำภาคประชาชน และมีการรวบรวมรายชื่อเสนอกันเอง คือความเคลื่อนไหวของเกษตรกรหลายพื้นที่เห็นด้วย โดยที่จะต้องหยุด พ.ร.บ.นี้ให้ได้ และร่าง พ.ร.บ.น้ำภาคประชาชนที่จะทำให้เกษตรกรรายย่อย หรืออำนาจการจัดการน้ำยังคงอยู่กับประชาชน และสามารถให้ดำรงชีพอยู่ได้ รวมไปถึงยังคงรักษาจารีตประเพณีอย่างเช่น เหมืองฝายในภาคเหนือ

โดยความคืบหน้าของการร่าง พ.ร.บ.น้ำภาคประชาชนนั้น ปัจจุบันภาคประชาชนได้ทำการปรึกษานายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีความถนัดในเรื่องการจัดการน้ำ ได้อาสาจะมาเป็นผู้ยกร่าง และเมื่อทำการบกร่างแล้วเสร็จก็จะเชิญแกนนำชาวบ้านมาร่วมกันพิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับภาคเกษตรและชาวบ้าน

ถึงอย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยกร่าง โดยยังอยู่ในขั้นของกรรมาธิการ ซึ่งตอนนี้ถูกฟ้องที่ศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายฉบับนี้ออกมาด้วยความไม่ชอบธรรม เพราะว่าในช่วงของการผ่านญัตติของ สนช. นั้นเกิดปัญหาเนื่องจาก สนช.ที่ร่วมพิจารณากฎหมายฉบับนี้ไม่ครบองค์ประชุม

นายสายัณน์ ได้ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่นี้ว่า “หากมีการผลักดัน พ.ร.บ.น้ำฉบับนี้ต่อก็ควรจะต้องมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อที่จะให้ภาคประชาชน ซึ่งในภาคประชาชนก็ต้องแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และต้องร่าง พ.ร.บ.น้ำภาคประชาชนขึ้นมาเพื่อเสนอให้พิจารณา”

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา