eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

รายงานสถานการณ์
กรณี กฟผ.นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ารื้อถอนบ้านและตัดฟันต้นไม้
ของ นาง ทองแดง กันหา  จ.ร้อยเอ็ด

17 ธ.ค.51
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพภาคอีสาน

           
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 51 นางทองแดง แสงสวัสดิ์  อายุ 56 ปี บ้านเลขที่ 109 หมู่ 4 บ้านดอนแดง  ต.เชียงขวัญ        อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด เจ้าของบ้านซึ่งติดกับแปลงนา จำนวนกว่า 10 ไร่   ได้รับหนังสือจากไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สั่งให้รื้อถอนบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง และตัดต้นไม้ ออกจากแนวของการวางสายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลโวลต์ ชายแดน(มุกดาหาร-ร้อยเอ็ด 2) โดยรายละเอียดในหนังสือได้ระบุว่า “ขอให้ท่านทำการรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้าง และตัดฟันต้นไม้ ดังกล่าวให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2551 หากท่านไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด กฟผ.มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าทำการรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้าง และตัดฟันต้นไม้ในที่ดินของท่านต่อไป” นายภาณุ  อุทยารัตน์ หัวหน้าหน่วยประสานงานก่อสร้าง ทำการแทนผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนามในหนังสือ

            วันที่ 15 ธ.ค.51 เวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 2 คน  ได้มาสังเกตการณ์ก่อนการนำกำลังเข้ารื้นถอน แต่เนื่องจากนางทองแดงมีญาติๆกว่า 20 คน ที่เดินทางมาให้กำลังใจและเฝ้าระวังขัดขวางไม่ให้ เจ้าหน้าที่ กฟผ.เข้ามาทำการรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้าง และตัดฟันต้นไม้ได้     ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจล่าถอยกลับไป   โดยมีรายงานข่าวแจ้งว่า กฟผ.ได้ประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภอ.เชียงขวัญ และสภอ.เมือง   จ.ร้อยเอ็ด  รวมกว่า 60 นาย เพื่อจะเข้าไปทำการรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้าง และตัดฟันต้นไม้ ดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17ธ.ค.51(วันนี้)

            วันนี้(17ธ.ค.51)  เวลา  8.00 น.  เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าและลูกจ้างกว่า 30 คน พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดยนายตำรวจระดับผกก. และหน่วยปฏิบัติการพิเศษรวมกว่า 60 นาย  ได้เข้าตรึงกำลังอยู่รอบนอกบริเวณบ้านของนางทองแดง   ซึ่งนางจันทรเพ็ญ ประสงค์สุข บุตรสาวของนางทองแดงพร้อมกับญาติๆได้พากันขัดขวางแต่ไม่เป็นผล โดยนายตำรวจระดับผู้กำกับ ได้เข้าประกบนางจันทร์เพ็ญเพื่อขอให้ยินยอม มิเช่นนั้นทางเจ้าหน้าที่จะใช้กำลัง  ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้ายึดพื้นที่บริเวณบ้านในเวลาประมาณ  10.00 น.  แต่ทั้งนี้นางทองแดง นางจันทร์เพ็ญ  และญาติๆยังยืนกรานไม่ยินยอม   จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น.   ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่าให้เวลานางทองแดงและญาติๆอีก 2 ชั่วโมง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะทำการตัดฟันต้นไม้ทั้งหมดที่อยู่ในแนวแขต ซึ่งประกอบด้วย ต้นมะพร้าว ต้นมะม่วง ต้นยูคาฯลฯ ที่ นางทองแดงและครอบครัวปลูกไว้โดยเฉพาะต้นมะม่วง และไม้ยืนต้นอื่นๆ ที่นางทองแดงและสามีได้ร่วมกันปลูกไว้ตั้งแต่มาลงหลักปักฐานในที่ดินผืนนี้

            เวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ตัดฟันต้นไม้ทั้งหมดที่อยู่ในแนวเขต  โดยมีรายงานข่าวแจ้งว่า ทั้งนางทองแดงและนางจันทร์เพ็ญ บุตรสาว ต่างร่ำไห้และวิ่งเข้ากอดต้นไม้เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตัดฟันทิ้ง  แต่ก็ไม่เป็นผล   จนกระทั่ง เวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าได้ตัดฟันต้นไม้ทั้งหมดแล้วเสร็จ  และแจ้งกับชาวบ้านว่า  จะนำกำลังเจ้าหน้าที่มารื้อถอนบ้านที่เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวนางทองแดง ให้แล้วเสร็จภายในวันพรุ่งนี้ (18 ธ.ค. 2551) 

            ทั้งนี้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่พาดผ่านบ้านซึ่งติดกับแปลงนาของทองแดง เป็นโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ขนาด 500 กิโลโวลต์ ชายแดนมุกดาหาร-ร้อยเอ็ด 2(น้ำเทิน) โดยทำความตกลงซื้อกำลังไฟฟ้า จากประเทศลาว และได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2543 จนถึงปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการวางแนวสายไฟฟ้า และจวนใกล้เสร็จทั้งหมดแล้ว แต่ต้องหยุดชะงักในช่วงระหว่างเสาที่ 136/1 ถึง 136/2 ที่ผ่ากลางหลังคาบ้านและแปลงนาของนางทองแดง ซึ่งนางทองแดง และครอบครัวไม่ยินยอมให้ผ่าน กฟผ.  จึงส่งหนังสือยื่นคำขาดมาแจ้ง เพื่อเข้าทำการรื้อถอน และนำกำลังเจ้าหน้าที่มาตัดฟันต้นไม้และรื้อถอนบ้านดังกล่าว 

            นางสุนีย์  ไชยรส      คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ให้ความเห็นในกรณีนี้ว่า  กรณีของนางทองแดงนี้ ได้มีการปรึกษาหารือกันมาเป็นระยะอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงส่วนกลางในกรุงเทพ ซึ่งการไฟฟ้าฯควรจะใช้กระบวนการเจรจามากว่าการใช้กำลังเข้าบังคับซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากกว่าที่ควรจะเป็น  โดยในเรื่องการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้านั้นพื้นฐานเป็นเรื่องของการรอนสิทธิซึ่งคนที่ถูกรอนสิทธิมักได้ค่าชดเชย ที่ไม่เป็นธรรมกับความสูญเสียและต้องจำยอมเพราะไม่มีทางเลือก  ถือเป็นการละเมิดสิทธิ   ซึ่งเรื่องของนางทองแดง ที่ต้องลุกขึ้นมาสู้เพราะที่ดินผ่านกลางบ้าน สวนผลไม้และบ่อเลี้ยงปลาซึ่งเป็นอาชีพหลัก  

            ทั้งนี้คณะอนุกรรมการสิทธิในที่ดินฯ ได้สรุปผลการตรวจสอบกรณีดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว โดยให้การไฟฟ้าฯ  พิจารณาการจ่ายค่าทดแทนอย่างมีส่วนร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ  และให้คณะกรรมการกิจการพลังงานเร่งออกพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน 2550  เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าแทนที่เป็นธรรม  หรือกรณีที่ไม่มีการเวนคืนที่ดิน ให้ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ให้ผู้มีครองครองที่ดินมีสิทธิเลือกหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าทดแทนที่ดินที่แนวสายส่งไฟฟ้าพาดผ่าน  ข้อเสนอของอนุกรรมการฯในเชิงนโยบาย ให้คณะกรรมการกับกำกิจการพลังงานศึกษาการจ่ายค่าทดแทนที่เป็นการรอนสิทธิของชาวบ้านต้องคำนวณต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะการไฟฟ้าฯ ได้เป็นบริษัทมหาชนไปแล้ว และการไฟฟ้าฯใช้สิทธิพิเศษในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของสังคมสูงกว่าหน่วยงานรัฐอื่นๆ  และให้รัฐบาลกำหนดมาตราจูงใจการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าของที่ดิน  แบะให้การไฟฟ้าสนับสนุนสถาบันทางวิชาการจัดการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพจากโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านชุมชน

            นายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์   ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพภาคอีสาน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า  สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในวันนี้เป็นเรื่องที่การไฟฟ้ายอมไม่ได้เพราะเป็นเรื่องศักดิ์ศรีขององค์กร  ทั้งๆที่การกระทำของการไฟฟ้าในวันนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเพราะต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพนักงานการไฟฟ้า และจ้างนักข่าวมาทำข่าวเพื่อสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร   แม้ว่าการไฟฟ้าฯจะอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฯพ.ศ. 2511 เพื่อเข้ารอนสิทธิในที่ดินของชาวบ้าน  อย่างกรณีของแม่ทองแดง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช้แค่ต้นไม้ที่ถูกตัดฟัน หรือบ้านที่ถูกรื้อแต่หมายถึงครอบครัวที่ต้องแตกสลาย และการสูญเสียอื่นๆที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้  ดังนั้นชาวบ้านควรได้ผลประโยชน์มากกว่าค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้า แม้ว่าการไฟฟ้าจะอ้างว่าชาวบ้านคนอื่นๆที่ถูกแนวเขตเหมือนกัน ได้ยินยอมหมดแล้วเหลือเพียงแม่ทองแดงรายเดียว  แต่ข้อเท็จจริงที่การไฟฟ้าไม่ได้พูดถึงกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง เช่น ไม่มีการแจ้งให้เจ้าของที่ดินรับทราบมาก่อนดำเนินการ  และขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน กว่าเจ้าของที่ดินจะรู้กระบวนการขั้นตอน หรือระเบียบ ก็ไม่สามารถค้านได้แล้ว

            เช่นเดียวกับกรณีกับกลุ่มคณะกรรมการชาวบ้านผู้คัดค้านแนวสายส่งไฟฟ้า จ. อุดรธานี ที่กำลังคัดค้านแนวสายส่งไฟฟ้าอยู่เช่นเดียวกัน และในกรณีแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ ทั้งสองแนวที่เข้ามาทางมุกดาหาร(น้ำเทิน)และหนองคาย(น้ำงึม)   การไฟฟ้าได้ให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันปัญหาไฟฟ้าขาดแคลนในภาคอีสานโดยอ้างตัวเลขปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง   ซึ่งเป็นการสร้างภาระเกินควรให้แก่ประชาชน การไฟฟ้าต้องทบทวนค่าตอบแทนให้ชาวบ้านมากกว่าปัจจุบันเพราะเขาเป็นคนที่เสียสละเพื่อประเทศ เช่นการไฟฟ้าควรเช่าที่ดิน หรือซื้อที่ดินตรงที่ปักเสา  และควรให้สวัสดิการอื่นๆมากกว่าปัจจุบัน

ศุภดี   วนประภาเวช   ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพภาคอีสาน
ตู้ปณ.14 อ.เมือง  จ.อุดรธานี 41000  โทรศัพท์ 081-3696266  E-mail: abba_2528@hotmail.com

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา