eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แถลงการณ์ เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน (ฉบับที่ 4)

การจัดการทรัพยากรน้ำต้องมีส่วนร่วม เคารพสิทธิชุมชน
สร้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมภูมิภาค

19 พฤษภาคม 2556

ในวาระที่มีการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2556 นั้น แม้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้นำจากหลายประเทศ แต่พบว่าการประชุมกลับมิได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และปัญหาผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีความพยายามข่มขู่ คุกคาม ไม่ให้มีการจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล เป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิมุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นหลักปฏิบัติของประเทศประชาธิปไตย

เครือข่ายภาคประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน มีข้อกังวลและข้อเสนอต่อปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค ดังนี้

กรณีโครงการแก้ปัญหาอุทกภัย ภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน เป็นโครงการที่รัฐบาลเป็นผู้วางแผนและตัดสินใจเองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากการปรึกษาหารือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดความคิดและข้อมูลที่หลากหลาย ขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมา เป็นไปอย่างเร่งรีบ ไม่มีขั้นตอนและมาตรการที่รับรองว่าจะสามารถดำเนินโครงการไปจนสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้จริง และมีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า นอกจากโอกาสในการคอรัปชั่นแล้ว โครงการ 3.5 แสนล้าน อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด

โครงการเขื่อนภายใต้ชุดโครงการ 3.5 แสนล้านบาท  อาทิ เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่ขาน เขื่อนโป่งอาง เขื่อนแก่งเสือเต้น (หรือเขื่อนยมบน ยมล่าง) เขื่อนคลองชมพู และเขื่อนแม่วงก์ ถูกนำมาบรรจุในแผน โดยยังไม่มีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ ที่ชี้ชัดว่าสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้จริง ที่สำคัญ รัฐบาลไม่สร้างกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านในพื้นที่ต่างไม่ได้รับข้อมูลโครงการ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

กรณีแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติของ 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานมานับตั้งแต่เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกในประเทศจีนสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2542 ผลกระทบข้ามพรมแดนต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว การขึ้นลงของน้ำผิดธรรมชาติเนื่องจากการใช้งานเขื่อนทางตอนบนส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อพันธุ์ปลาธรรมชาติแม่น้ำโขงทางท้ายน้ำ โดยเฉพาะพรมแดนไทย-ลาว ที่ จ.เชียงราย สร้างความเสียหายต่อการประมง การเก็บไก การปลูกผักริมน้ำ และวีถีชีวิตพึ่งพาแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในปี 2551 และเหตุการณ์แม่น้ำโขงแห้งขอดในรอบ 60 ปีในปี  2553 จวบจนปัจจุบัน ยังไม่มีการเจรจาการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนดังกล่าวระหว่างรัฐบาลประเทศท้ายน้ำและรัฐบาลจีนแต่อย่างใด คนหาปลาและชาวบ้านริมโขงจำนวนมากต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง

แม่น้ำโขงทางตอนล่างยังมีโครงการเขื่อนไซยะบุรี ในประเทศลาว และอีก 11 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขง เขื่อนไซยะบุรีเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2555 ท่ามกลางเสียงคัดค้านมากมาย จนกลายเป็นกรณีความขัดแย้งในระดับนานาชาติ โครงการเขื่อนแห่งนี้ก่อสร้างโดยบริษัทไทย เงินกู้จากธนาคารไทย 6 แห่ง ไฟฟ้าส่งขายประเทศไทย เป็นเขื่อนสัญชาติไทยในดินแดนลาว ที่จะส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและพันธุ์ปลาธรรมชาติ ซึ่งข้อมูลระบุว่าร้อยละ 70 ของพันธ์ปลาแม่น้ำโขงเป็นปลาอพยพทางไกลเพื่อวางไข่และหากิน

เขื่อนไซยะบุรี เดินหน้าอย่างรวดเร็วทั้งๆ ที่ยังไม่ผ่านข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ที่ 4 ประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างลงนามไว้ คณะมนตรีแม่น้ำโขงยังไม่ให้ความเห็นชอบ ขณะที่เขื่อนอื่นๆ อาทิ เขื่อนปากแบง เขื่อนสานะคาม เขื่อนปากลาย กำลังจะเริ่มกระบวนการเร็วๆ นี้

แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำนานาชาติระหว่างจีน พม่า ไทย ก็เกิดโครงการเขื่อนขนาดใหญ่กว่า 30 โครงการตลอดลุ่มน้ำ ทั้งในเขตทิเบตและยูนนานของจีน ในรัฐชาติพันธุ์ของพม่า อาทิ เขื่อนกุ๋นโหลง เขื่อนท่าซางในรัฐฉาน เขื่อนยวาติ๊ดในรัฐคะเรนนี และเขื่อนฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งทั้งหมดนี้ลงทุนโดยบริษัทและรัฐวิสาหกิจจากไทยและจีน เพื่อส่งออกไฟฟ้า

สถานการณ์ในพม่า พบว่าทุกเขื่อนที่วางแผนบนแม่น้ำสาละวิน เป็นเขื่อนกลางสนามรบ ที่ยังคงมีความขัดแย้งและการปะทะกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะที่ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ ทั้งชาวไทใหญ่ คะยา กะเหรี่ยง ต้องหนีภัยความตายมายังชายแดนไทย ไม่มีสิทธิที่จะออกเสียงเพื่อปกป้องทรัพยากรของตน

การเปิดเสรีการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักธรรมภิบาล มีกฎหมายสิ่งแวดล้อม สิทธิมุษยชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนข้ามพรมแดน โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชน ดังเช่นโครงการเขื่อนต่างๆดังกล่าวข้างต้น

เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน ขอแสดงจุดยืนคัดค้าน การพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ไม่เคารพสิทธิของชุมชน  และระบบ Single-command หรือ ระบบสั่งการแบบรวมศูนย์ ไม่ใช่คำตอบของการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญ

เพื่อความยั่งยืนและความเป็นธรรม เพื่อทรัพยากรน้ำที่เราจะรักษาให้ลูกหลาน

เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน

รายชื่อผู้ลงนามแถลงการณ์

  1. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ)
  2. สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
  3. เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
  4. เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
  5. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)
  6. เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ
  7. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
  8. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
  9. เครือข่ายทรัพยากรและสิ่่งแวดล้อมภาคอีสาน
  10. มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)
  11. สมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ
  12. ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)
  13. ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง
  14. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
  15. คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kv.จ.อุดรธานี
  16. กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง
  17. กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย
  18. กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
  19. มูลนิธิฮักเมืองแจ่ม จ.เชียงใหม่
  20. เครือข่ายลุ่มน้ำแม่แจ่ม 19 สาขา  จ.เชียงใหม่
  21. สถาบันอ้อผะหญา
  22. คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จ.แพร่
  23. กลุ่มคัดค้านเขื่อนโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
  24. กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน ต.ออบขาน จ.เชียงใหม่
  25. กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน หมู่บ้านแม่ขนินใต้ ต.บ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
  26. เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอิง จ.พะเยา และ เชียงใหม่
  27. เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
  28. สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล
  29. สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.)
  30. สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
  31. เครือข่ายสลัม 4 ภาค
  32. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
  33. เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)
  34. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.)
  35. เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา
  36. เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล
  37. กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 
  38. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
  39. กลุ่มตะกอนยม ต.สะเอียบ จ.แพร่
  40. โครงการเสริมศักยภาพองค์กรชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า
  41. เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า จ.ขอนแก่น
  42. กลุ่มพิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง
  43. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว
  44. เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลฯ
  45. เครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน
  46. สถาบันปัญญาปีติ
  47. กลุ่มเยาวชนจิตอาสาหญ้าแพรกสาละวิน
 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา