eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

กรมชลฯอืด แก้ตลิ่งทรุด ยืดถึงสิงหาฯ
กรุงเทพธุรกิจ ๓๐ มค.๔๕

ชาวบางปะกงซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ
กรมชลฯ อืดแก้ปัญหาส่อเค้าไม่ทันเส้นตายนายกฯ ยืดเวลาแก้ปัญหา ตลิ่งท้ายเขื่อนบางปะกงทรุด ถึงสิ้นสิงหาคม ผู้เลี้ยงหมูขานรับโซนนิ่ง ชี้ดีกว่าทำแก้มลิง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ เชื่อ หลังจากในหลวง แสดงความห่วงใย ปัญหาทุกอย่าง จะคลี่คลายไปในทางที่ดี และแก้ไขอย่างถูกจุด

นายชนะ รุ่งแสง ประธานคณะทำงานศึกษาและติดตามการดำเนินงาน โครงการเขื่อนทดน้ำบางปะกง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมคณะได้เดินทางเข้าตรวจพื้นที่การก่อสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกง เมื่อสายวานนี้ โดยได้หารือร่วมกับนายพิสิฐ เกตุผาสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายชลิต ดำรงศักดิ์ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาแหล่งน้ำ 4 กรมชลประทาน นายจิรศักดิ์ พัฒนศักดิ์ศิริ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ พร้อมเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร

ทั้งนี้ หลายหน่วยงานได้ให้ความสนใจโครงการเขื่อนทดน้ำบางปะกงมากขึ้น หลังจากพบว่า เขื่อนมูลค่าหลายพันล้านบาท แต่เมื่อสร้างแล้วกลับทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่มากกว่าจะสร้างประโยชน์

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจพื้นที่ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้เข้าไปดูแลความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กรมชลประทานแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จก่อนเดือนพฤษภาคม ที่จะถึงนี้

โดยกรมชลประทาน ได้เสนอมาตรการแก้ปัญหา 5 ข้อ คือ 1.ปรับการปิด-เปิดบานประตู เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของระบบน้ำ 2.สร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม 3.ทำแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำ 4.ก่อสร้างทำนบกั้นน้ำท่วมและกำแพงป้องกันตลิ่งท้ายเขื่อน 5.ทำแนวทางผสมผสานโดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน

นายชนะ กล่าวว่า ความสนพระทัยต่อปัญหาเขื่อนบางปะกงของในหลวง โดยมีรับสั่งให้นายกรัฐมนตรีลงมารับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า ต่อไปปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง และมีแนวทางที่จัดเจนมากขึ้น ชุมชนที่อยู่ทางด้านเหนือเขื่อนบางปะกง ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรมคงจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ส่วนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม หรือตลิ่งพัง ก็คงต้องตั้งสติ การประชุมหารือเพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการกัดเซาะตลิ่ง จากการสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวทางการบริหารจัดการในปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับเขื่อนบางปะกงในฤดูน้ำเค็มหนุน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2544-เมษายน 2545 ทราบว่า ทางกรมชลฯ จะยังไม่มีการปิดบานประตูระบายน้ำ แต่จะปล่อยให้น้ำคงสภาพธรรมชาติไว้ก่อน คาดว่า หลังจากผลการศึกษาแล้วเสร็จ คงจะทราบแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับข้อเสนอของเกษตรกรชาวแปดริ้วที่เสนอให้จัดโซนนิ่งพื้นที่เลี้ยงหมู เพื่อจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียรวม นายชนะ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ารับไว้พิจารณา หากมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพียงพอที่จะทำได้ แต่ทั้งนี้ ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ว่า จะมีผู้เข้าร่วมโครงการมากน้อยใด มีพื้นที่รองรับหรือไม่ เพราะหากทำได้เชื่อว่าแนวทางนี้น่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียด้านเหนือเขื่อนได้ระดับหนึ่ง

นายพิสิฐ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเขื่อนบางปะกงในช่วงฤดูแล้งนี้ จะยังไม่มีการปิดบานประตูระบายน้ำ แต่จะปล่อยให้น้ำไหลเวียนตามสภาพธรรมชาติ จนกว่าผลการศึกษาจากกรมชลประทานจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ตามที่นายกรัฐมนตรีเร่งรัดมา

ส่วนข้อเสนอให้มีการทุบเขื่อนนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเขื่อนยังมีประโยชน์อยู่ เพียงแต่ว่ายังติดขัดที่ระบบการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมชลฯ ที่จะต้องพิจารณา สำหรับการจัดพื้นที่โซนนิ่งเลี้ยงหมู ยอมรับว่าน่าสนใจมาก หากสามารถย้ายฟาร์มหมูกว่า 200,000 ตัวไปอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่า ควรจะทำหรือไม่ เพราะยังเป็นแค่ข้อเสนอเท่านั้น

นายชลิต กล่าวว่า กรมชลฯ ได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาเขื่อนบางปะกงต่อนายกรัฐมนตรี 5 แนวทาง และนายกฯ ขอให้เร่งรัดให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หรือประมาณเดือนเมษายน แต่ที่ผ่านมา กรมชลฯ ก็พยายามเร่งอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะต้องพิจารณาถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้รัดกุม และรอบคอบที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมาในภายหลัง

เขากล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขปัญหาโดยให้ทุกแนวทางร่วมกันในลักษณะผสมผสาน โดยทั้งหมดนี้ คาดว่า จะชัดเจนภายในเดือนพฤษภาคม 2545 แต่ระหว่างนี้กรมชลฯ จะไม่ปิดประตูระบายน้ำ แต่จะปล่อยให้น้ำเค็มเข้ามาเหมือนกับธรรมชาติเดิม เพื่อไม่ตัดวงจรระบบนิเวศให้เปลี่ยนแปลงในทันที ซึ่งผลการศึกษาของกระทรวงวิทย์ พบว่า ขณะนี้ พืชท้ายน้ำไม่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเขื่อน ส่วนพืชเหนือน้ำมีสภาพดีขึ้น

นายชลิต ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาตลิ่งพังว่า ในสิ้นเดือนสิงหาคม กรมชลฯ คงจะมีแนวทางชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนการสร้างแก้มลิงเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียหรือตลิ่งพังนั้น ในหลักวิชาการแล้วหากศึกษารายละเอียดจริงๆ อาจทำไม่ได้เพราะต้องใช้พื้นที่มาก และชาวบ้านคงไม่ยอม ประเด็นนี้คงตัดทิ้งได้เลย

"นอกจากจะต้องดูผลดีและเสียของสภาพพื้นที่รวมทั้งความเป็นไปได้ และจุดคุ้มทุนแล้ว ต้องดูด้วยว่าในเชิงวิชาวิศวกรด้วยว่าทำได้หรือไม่ ปกติกรมชลก็เร่งผลการศึกษาอยู่แล้ว แต่นายกฯขอให้ทำให้เสร็จภายใน 3 เดือน ก็จะพยายาม" ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาแหล่งน้ำ 4 กล่าว

นายจิรศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำเสียบริเวณเหนือเขื่อนบางปะกงนั้น ไม่ควรที่จะให้เกษตรกรแต่ละรายทำระบบบำบัดน้ำเสียเอง เนื่องจากเกรงว่าบางรายอาจจะไม่มีที่ดินเพียงพอ และไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ถ้ารัฐลงทุนด้วยการให้เงินกู้สหกรณ์ไปจัดหาที่ดินเพื่อทำฟาร์มเลี้ยงหมูรวมจะช่วยแก้ปัญหาได้

"ขณะนี้มีพื้นที่พร้อมอยู่แล้วในเขต อ.พนัสนิคม อยู่ห่างจากพื้นที่เหนือเขื่อน 30 กิโลเมตร และก็มีเกษตรกรในโครงการกว่า 100 ราย หรือ 90% ของผู้เลี้ยงหมูทั้งรายใหญ่รายย่อยยินยอมที่จะย้ายฟาร์มไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเกษตรกรเคยเสนอเรื่องไปยังกรมปศุสัตว์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แล้ว โดยเฉพาะกระทรวงวิทย์ รัฐมนตรี ยืนยันว่า มีเงินให้ 18 ล้านบาท ปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้นกับเขื่อนบางปะกง มาจากฟาร์มหมูเป็นหลัก ถ้าไม่แก้ตรงนี้ ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร" ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร จ.ฉะเชิงเทรา กล่าว

ส่วนโครงการแก้มลิงเพื่อแก้ปัญหาน้ำเสียนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน เพราะรัฐอาจต้องเวนคืนที่ดินถึง 5,000 ไร่ ซึ่งอาจสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านและก็ไม่คุ้มกับเงินงบประมาณที่จะลงทุน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา