eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

การเปลี่ยนแปลงทางครอบครัวของชาวปากมูน

กัญญาลักษณ์ รวยสูงเนิน   โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต

ภาพคนในครอบครัวล้อมวงกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตาและพูดคุยกันอย่างสนุกสนานดูจะเป็นเรื่องที่เหลือเพียงในความทรงจำของชาวบ้านปากมูน หลังจากที่โครงการเขื่อนปากมูนได้เริ่มดำเนินการเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ววิถีชีวิตของชาวบ้านก็ดูเหมือนจะถูก “เขื่อน” เป็นตัวผลักดันให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยที่ทุกคนต่างรู้ดีว่าตนเองนั้นได้สูญเสียอะไรไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นอาชีพหาปลา เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก วัฒนธรรมที่หายไป หรือแม้กระทั่งการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย แต่ปัญหาที่ดูจะยิ่งใหญ่ ใกล้ตัวและไม่สามารถที่จะมีอะไรมาทดแทนได้ก็คือ “การเปลี่ยนแปลงทางครอบครัว” ซึ่งแต่เดิมครอบครัวของชาวปากมูนคือครอบครัวขยาย และปัจจุบันกลับกลายเป็นครอบครัวที่มีแต่ผู้สูงอายุกับเด็ก หรือรูปแบบของครอบครัวดาวกระจายที่พ่อแม่ทำงานอยู่ที่หนึ่ง ลูกทำงานหรือเรียนอยู่ที่หนึ่งและปู่ย่าตายายก็อยู่อีกที่หนึ่ง ลักษณะครอบครัวแบบนี้มีให้เห็นโดยทั่วไปในชุมชนของชาวปากมูน เช่นเดียวกันกับครอบครัวของพ่อถวิล ดาราช ที่ลูกๆต้องไปทำงานที่กรุงเทพฯ ตัวพ่อถวิลและภรรยาไปหาปลาที่เขื้อนป่าสักและคุณตากับหลานตัวเล็ก2คนอยู่ที่บ้านในหมู่บ้านสุวรรณวารี อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี

“แม่น้ำมูน” ในนิยามของชาวปากมูนหมายถึง “มูนมังสังขยา” ซึ่งชาวบ้านหมายถึงการเป็นสมบัติตกทอดไปจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นแม่น้ำมูนจึงเป็นสมบัติของทุกคนตั้งแต่บรรพบุรุษจนสืบทอดมาถึงลูกหลานที่ยังคงหาอยู่หากินกับแม่น้ำ และไม่ได้นิยามว่า “แม่น้ำมูล” ที่อาจจะมีความหมายของคำว่ามูนที่แตกต่างออกไปอย่างที่เพี้ยนไปในปัจจุบัน

 ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติของชาวชนบทไทยได้สูญสลายไปพร้อมๆกับการเกิดขึ้นของเขื่อน ถึงแม้ว่าหลายคนจะรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางครอบครัวที่เกิดขึ้นนั้นหาใช่เพียงเกิดขึ้นกับชาวปากมูนแห่งเดียวแต่ยังเกิดขึ้นกันชนบททั่วประเทศ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูที่แรงผลักดันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ ในพื้นที่อื่นๆสาเหตุที่ประชาชนที่อยู่ในวัยใช้แรงงานหลั่งไหลเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อหางานทำนั้นเป็นผลมาจากการขาดแคลนที่ดินทำกิน หรือที่ดินทำกินไม่มีคุณภาพ ซึ่งชาวบ้านปากมูนแต่เดิมนั้นไม่ได้เป็นผู้ขาดแคลนพื้นที่ทำกินเลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำที่แม่น้ำมูนสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชาวบ้านอย่างล้นเหลือ ในระหว่างที่แม่น้ำมูนยังคงไหลเป็นอิสระชาวบ้านทุกเพศทุกวัยล้วนมีรายได้จากการหาปลา เก็บหอย ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ แต่ละครอบครัวจึงมีรายได้ที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีและดำรงชีวิตแบบพอเพียงตามอัตภาพโดยไม่เป็นหนี้สินดังเช่นปัจจุบันนี้

การเปลี่ยนแปลงทางสถาบันครอบครัวเริ่มจากการระเบิดแก่งเพื่อสร้างเขื่อน บริเวณบ้านหัวเห่วเป็นบริเวณที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ชัดเจนที่สุด เนื่องจากการระเบิดแก่งทำให้ก้อนหินที่เกิดจากการระเบิดกระเด็นไปโดนหลังคาบ้านและข้าวของชาวบ้านได้รับความเสียหาย อีกทั้งชาวบ้านเกรงจะได้รับอันตรายจากก้อนหินเหล่านั้นจนไม่เป็นอันหลับอันนอน จึงเกิดการอพยพย้ายที่อยู่อาศัยออกจากบริเวณใกล้เคียงประตูเขื่อนกับแทบหมด ผลที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจก็คือเพื่อนบ้านที่เคยอยู่ติดกันก็แยกย้ายกันไป ญาติพี่น้องที่เคยอยู่ใกล้ชิดกันก็สร้างบ้านอยู่ห่างกันออกไปอีก เป็นผลให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความใกล้ชิดสนิทสนมกับคนบ้านใกล้เรือนเคียงหายไป ประกอบกับอาชีพหลักของชาวบ้านคือการหาปลา เมื่อเขื่อนเกิดขึ้นมาปลาที่เคยมีก็หายไปถึงแม้ราคาปลาจะแพงขึ้นแต่ปริมาณที่จับได้น้อยมากก็ทำให้รายได้ไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงดูครอบครัวอยู่ดี ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านที่เคยแบ่งปันปลาที่ได้มาให้แก่ญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านก็เลิกที่จะแบ่งปันแก่ผู้อื่น เพราะปลาที่หาได้แต่ละวันนั้นหาได้แค่เพียงพอต่อการบริโภคในครอบครัวแล้วก็ขายได้เพียงนิดหน่อยเท่านั้น และด้วยเหตุนี้เองที่เป็นผลให้ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่หาไม่ได้ในสังคมเมืองเกิดขึ้นกับชาวบ้านปากมูนโดยที่ไม่มีใครตั้งใจให้เกิด จนมารู้สึกตัวอีกทีก็สายเกินจะแก้ไขอะไรได้เสียแล้ว

บรรยากาศภายในหมู่บ้านของชาวปากมูนเป็นไปอย่างเงียบเหงาและไร้ซึ่งคนวัยหนุ่มสาว ในช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอมภายในหมู่บ้านก็จะเหลือแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพด้วยการหันไปทำไม้กวาด ทำฆ้อง เก็บไม้ในลำโดมขายหรือทำการเกษตรเล็กๆแค่พออยู่พอกิน แต่เดิมนั้นคนในวัยหนุ่มสาวจะออกจากพื้นที่ก็เพียงเพื่อไปเรียนหนังสือในตอนเช้า และจะกลับเข้ามาในตอนเย็น เมื่อกลับจากโรงเรียนแล้วหนุ่มสาวเหล่านั้นก็จะมาจับปลาขายเพื่อเอาเงินไว้ไปโรงเรียนในวันถัดไปโดยไม่ต้องพึ่งพิงพ่อแม่มากนัก ซึ่งแตกต่างกับคนวัยหนุ่มสาวในปัจจุบันโดยสิ้นเชิงที่ละทิ้งอาชีพหาปลาเข้าไปขายแรงงานในเมืองที่เจริญแล้วกันเสียหมดสิ้น แม้แต่เด็กที่ติดตามผู้เป็นพ่อไปหาปลาเพื่อเรียนรู้และสืบต่ออาชีพของบรรพบุรุษก็ลดน้อยลงจนแทบนับคนได้ เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากที่เด็กที่เติบโตมากับแม่น้ำมูนแต่กลับว่ายน้ำไม่เป็น พายเรือไม่เป็นและหาปลาไม่เป็น

คำกล่าวที่ว่า “สมัยเด็กน้อยเอากัน ผู้เฒ่าได้ลูก” หมายความถึงหนุ่มสาวที่มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกัน แต่คนที่มีลูกกลับกลายเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ คำกล่าวนี้ดูจะเป็นคำอธิบายลักษณะความเป็นไปของครอบครัวในปัจจุบันได้อย่างดีที่สุด คนที่เข้าไปใช้แรงงานในเมืองกรุงสุดท้ายมักไม่ย้อนกลับมาทำมาหากินที่ชุมชนอีก แต่สิ่งที่เอากลับมาที่บ้านเกิดกลับเป็นลูกที่เกิดจากการพบรักในระหว่างที่ทำงานในเมืองกรุง สิ่งที่คนทำงานในเมืองคิดเหมือนกันแทบทุกคนก็คือเมืองกรุงไม่เหมาะสำหรับการเลี้ยงเด็ก อาจจะด้วยสาเหตุเรื่องเวลาที่ไม่มีของพ่อแม่หรือสภาพสังคมที่ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดจึงทำให้พ่อแม่ของเด็กฝากเด็กที่เกิดมาให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูที่ชนบท เพราะเชื่อว่าการที่มีคนดูแลเด็กตลอดเวลาจะทำให้เด็กเติบโตได้ดี ดังนั้นการให้ญาติพี่น้องเลี้ยงดูลูกอาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วสำหรับพ่อแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านทั้งคู่ แต่ผลที่ตามมาในระยะยาวก็มากเสียจนยากจะแก้ไข

การเลี้ยงดูบุตรหลานของผู้สูงอายุมักจะตรงกับคำผญาที่ว่า “ฮักลูกเท่าบักตาล ฮักหลานเท่าบักพร้าว” ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบความรักว่ารักลูกเท่าไหร่ก็มักจะรักหลานมากกว่า เป็นผลให้ผู้สูงอายุเลี้ยงหลานแบบตามอกตามใจ เพราะเห็นว่าไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ก็เลี้ยงหลานด้วยเงินเพราะไม่สามารถทดแทนความอบอุ่นของพ่อแม่ได้ทำให้เด็กส่วนใหญ่มักจะเสียคน บางคนครอบครัวรู้เพียงว่าไปโรงเรียนตอนเช้าและจะกลับบ้านในตอนเย็น โดยที่ไม่รู้เลยว่าระหว่างที่เด็กไปโรงเรียนนั้นเด็กได้แอบไปทำอย่างอื่นหรือไม่ จนบางคนมารู้อีกทีก็ตอนที่หลานติดยาและเสียคนไปเสียแล้ว

หน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของสถาบันครอบครัวก็คือ หน้าที่ในการให้ความอบอุ่นแก่เด็ก และการอบรมสั่งสอนให้คนเป็นคนดี ครอบครัวดาวกระจายไม่สามารถที่จะให้สิ่งเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน ในขณะที่การเลี้ยงดูให้ความอบอุ่นแก่เด็กมีผลให้เด็กเติบโตมามีพัฒนาการที่ดี การอบรมสั่งสอนการขัดเกลาทางสังคมมีผลให้เด็กสามารถจัดการกับปัญหาของตัวเองได้ดี เป็นคนดีในสังคมและเป็นกำลังสำคัญให้แก่ประเทศชาติ แต่กับเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วนี้ก็จะเห็นว่ามีปัญหาในด้านนี้กันทุกคน เพราะเด็ก “ขาด” ในสิ่งที่พ่อแม่คิดว่าทดแทนได้ด้วยญาติพี่น้องนั่นเอง

การหาข้อยุติของการตอบแทนความ “สูญเสีย” ของชาวบ้านปากมูนอาจจะยังไม่สิ้นสุด หลายคนอาจจะตีค่าความสุญเสียต่างๆเหล่านั้นว่าแลกได้กับที่ดิน 15 ไร่ บางคนอาจจะตีค่าเป็นเงิน 520,000 บาท แต่จะมีใครที่สามารถตีค่าความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติที่ถูกทำลายลงโดยไม่เหลือชิ้นดีนั้นได้ และทุกคนก็ยังเจ็บปวดกับความจริงในปัจจุบันที่ว่า “คนไม่มีเงินไม่นับเป็นญาติ” ปฏิเสธไม่ได้เลยทีเดียวว่า “เขื่อนปากมูน” เป็นตัวผลักดันให้เกิดปัญหาตามมาเป็นทอดๆโดยที่อาจจะไม่ได้ตั้งใจให้เกิด แต่กระบวนการสร้างเขื่อนไปจนถึงการดำเนินการของเขื่อนล้วนมีผลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง และก็ได้แต่หวังว่าความเดือดร้อนที่แท้จริงของชาวบ้านจะได้รับการเยียวยาอย่างตรงจุด เพื่อให้แม่มูนที่เปรียบได้กับคนขาขาดสามารถยืนหยัดขึ้นมาได้อีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงขาเทียมที่เดินได้อย่างไม่สมบูรณ์ก็ตาม
 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา