eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

อวสาน “ปลาแดก”

          “แม่มูน” หรือ “แม่น้ำมูน” คือเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนในเขตอีสานตอนล่างมาช้านาน คนอีสานเรียกแม่น้ำ “มูน” ที่มาจากคำว่ามูนมังสังขยา คือ มรดกที่ตกทอดจากบรรพบุรุษ

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนอีสานตอนล่างก็คือ ปลา ซึ่งไม่เพียงแต่ชาวปากมูนเท่านั้นที่พึ่งพาปลาจากแม่น้ำมูน แต่รวมถึงชุมชนลุ่มน้ำมูนตลอดสายน้ำนับแต่โคราชลงไป ชุมชนริมแม่น้ำชี และห้วยสาขา แม้แต่คนบ้านโคกซึ่งทำนาเป็นหลักและตั้งชุมชนห่างไกลน้ำชี-น้ำมูนก็ต้องพึ่งพาปลาจากแม่น้ำมูนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น เดินทางลงมาเป็นกลุ่มเพื่อจับปลายามหน้าน้ำลด (หากใครต้องการทราบว่าคนบ้านโคกพึ่งพาแม่น้ำมูนอย่างไร สามารถหาอ่านได้จากงานเขียนเรื่องลูกอีสานและงานวิจัยไทบ้านกรณีปากมูน) 

ผลผลิตปลาจากแม่น้ำมูนที่มีอยู่คู่คนอีสานมาแต่บรรพชนก็คือ “ปลาแดก” และ “ปลาส้ม” และปลาแดกปลาส้มนี่เองที่เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของคนอีสาน

หากมองทั้งลุ่มน้ำ ชุมชนอีสานไม่ได้มีเพียงการทำนาเท่านั้น แต่ประกอบด้วยคนหาปลา (ริมมูนและแม่น้ำหรือห้วยสาขา) คนทำนา รวมไปถึงคนทำเกลือ กลุ่มคนเหล่านี้จะแลกเปลี่ยนผลผลิตกันในหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างข้าวกับปลา ปลากับเกลือ เกลือกับข้าว ทั้งการแลกเปลี่ยนโดยตรง และผ่านพ่อค้าคนกลาง

ในอดีตไม่นานมานี้ (ก่อนหน้าแค่มีเขื่อนปากมูลหรือประมาณ ๑๐ ปีที่ผ่านมา) ชุมชนริมมูนแต่ละชุมชนแถบปากมูนที่ประกอบอาชีพจากการหาปลาเป็นหลักจะมีการสร้างศาลากลางบ้านไว้สำหรับต้อนรับคนบ้านโคก ที่นำข้าวบรรทุกเกวียนมาแล้วกับปลาทั้งปลาสดและปลาแดกปลาส้ม มากันปีละ ๒ ครั้ง คือ เดือนอ้ายกับเดือนหก (ลาว) คนหาปลาจึงมีข้าวกิน และคนทำนาก็มีปลากิน

วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนระหว่างข้าวกับปลานี้ชาวปากมูนเรียกว่า “วัฒนธรรมข้าวแลกปลา-ปลาแลกข้าว”

คนทำนาบ้านโคก รู้ดีว่า อาหารรสแซบที่กินแล้วมีแรงก็คือปลาจากแม่น้ำมูน

ไม่เพียงแต่การแลกเปลี่ยนในระดับชุมชนเท่านั้นที่ทำให้ปลากระจายไปหล่อเลี้ยงคนจำนวนมาก แต่การกระจายของปลายังมาจาก “ของฝากแนวต้อน” ภายในระบบความสัมพันธ์แบบ “ฮักแพง-เสี่ยวเหยเกยฮัก” ในยามจับปลาได้หรือยามมีปลาแดกมาก คนในชุมชนหาปลาก็มักจะนำปลาหรือปลาแดกปลาส้มไปฝากเสี่ยวที่เป็นคนบ้านโคก

ยิ่งไปกว่านั้น ปลายังเป็นปัจจัยสำคัญในงานบุญประเพณีอีกด้วย เป้าหมายของการจับปลาจึงไม่ได้เป็นแค่จับแล้วขายหรืออีกความหมายหนึ่งคือเป็นแค่เรื่องทางเศรษฐกิจล้วนๆ เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม

เมื่อมีการสร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนอื่นๆ ในโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูลขวางกั้นแม่น้ำมูนและแม่น้ำสาขาโดยไม่ได้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะประเด็นผลกระทบต่อพันธุ์ปลาและคนหาปลา นับว่าเป็นการริบเอาทรัพยากรทั้งแม่น้ำมูนและสาขาไปจากชุมชนอีสานครั้งใหญ่

หากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การสร้างเขื่อนเท่ากับเป็นการทำลายรากฐานของวัฒนธรรมปลาแดก

ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น?

นั่นก็เพราะว่า เขื่อนได้ทำลายพันธุ์ปลาที่หลากหลายในแม่น้ำมูนจนสิ้น

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา