eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แถลงการณ์สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล

เปิดประตูเขื่อนปากมูลเส้นทางสู่การสร้างเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นฐานการพึ่งตนเอง
วันที่ ๖  สิงหาคม ๒๕๕๐ ณ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี

ด้วยความโลเลไร้หลักการรองรับการตัดสินใจของรัฐบาล ทำให้ปีนี้เขื่อนปากมูลไม่ได้เปิดประตูน้ำ เพื่อรับการอพยพของปลาจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำมูนดังเช่นหลายปีที่ผ่านมา โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ พ.ค.๕๐ ครม.เห็นชอบให้เปิดประตูน้ำเขื่อนฯสุดบานในวันที่ ๑๗ มิ.ย ๕๐ และเปิดต่อไปเป็นเวลา ๔ เดือน แต่ต่อมาในวันที่ ๑๒ มิ.ย.๕๐ ครม.ได้ทบทวนมติเดิม และให้รักษาระดับน้ำไว้ที่ ๑๐๖ – ๑๐๘ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ก็คือการปิดประตูน้ำตลอดปีนั่นเอง

                ความจริงการที่รัฐบาลที่ผ่านมา เห็นชอบให้เปิดประตูน้ำเขื่อนฯ ปีละ ๔ เดือน ก็เพื่อลดความขัดแย้งและรักษาหน้า กฟผ. อย่างที่สุดแล้ว ทั้งที่รายงานการศึกษาของรัฐบาล ที่มอบให้ ม.อุบลฯศึกษา ในปี ๒๕๔๔ – ๒๕๔๕ ก็ระบุชัดเจนว่า  ให้พักการใช้เขื่อนฯโดยการเปิดประตูน้ำตลอดปี เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของชุมชน

แต่ด้วยความไม่ใส่ใจปัญหาชาวบ้าน รัฐบาลปัจจุบันจึงต้องเสียโง่ให้ กฟผ. ที่ใช้กลไกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นเครื่องมือ เสนอให้ ครม.ทบทวนมติเดิม โดยอ้างว่ามีผู้เสียผลประโยชน์จากการเปิดประตูน้ำเขื่อนฯ กว่า ๒ หมื่นคน ต้องการให้ปิดเขื่อนฯ แต่เมื่อวิพากษ์วิจารณ์จาก นักวิชาการ สื่อมวลชน อย่างหนักในช่วงเวลาที่ผ่านมา เมื่อวันที่  ๑๗ ก.ค.๕๐  ครม.จึงต้องรีบกลับลำ ออกมติใหม่แบบครึ่งๆกลางๆอีกครั้งโดยให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ เป็นประธาน  เพื่อบริหารจัดการน้ำเขื่อนฯ รวมถึงกำหนดระยะเวลาการเปิด – ปิด ประตูระบายน้ำและการรักษาระดับน้ำให้คำนึงถึงสภาพธรรมชาติและข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายทั้งด้านเกษตรกรรม ประมง และปศุสัตว์

แต่ปัจจุบันเขื่อนฯ ยังปิดประตูน้ำเหมือนเดิม แม้ว่าเมื่อวันที่ ๒๖ ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ นายสุธี มากบุญ จะไปทำพิธีเปิดเขื่อนปากมูล แต่ก็เป็นเพียงการสร้างภาพแหกตาประชาชนผ่านสื่อมวลชนเพื่อลดแรงกดดันเท่านั้น วันนี้ประตูน้ำยังปิดสนิท และไม่มีทีท่าว่าจะเปิดสุดบานเมื่อใด

                วันนี้พวกเราจึงต้องมาทวงถามต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ว่าจะเปิดประตูน้ำเขื่อนฯ เมื่อใด เพราะตามมติ ครม.ล่าสุดไม่มีช่วงเวลาใดเหมาะสมกับการปิดประตูน้ำเขื่อนฯ  กล่าวคือ ด้านเกษตรกรรม พื้นที่บริเวณปากมูน ส่วนใหญ่ไม่เหมาะสมกับการเกษตรที่ดินมีสภาพสูงๆต่ำๆ ดินไม่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจะทำนาน้ำฝนเป็นหลัก ส่วนพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตรที่แท้จริงคือพื้นที่ริมมูนที่ชาวบ้านจะทำสวนในช่วงฤดูแล้ง แต่ปัจจุบันน้ำเขื่อนฯท่วมหมดแล้ว
การเปิดประตูน้ำเขื่อนฯ พื้นที่ริมมูลจะกลับคืนมา เป็นพื้นทีเกษตรกรรมและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ที่ทุกวันนี้อัตคัดเพราะเป็นฤดูทำนา หาที่เลี้ยงไม่ได้ สำหรับด้านการประมงเวลานี้คือนาทีทองหลังจากปีนี้เสียเวลาปลาอพยพมาหลายเดือนแล้ว ปัจจุบันเป็นช่วงสุดท้ายของฤดูกาลที่ลูกแม่มูนทั้งหลายรู้กันว่า เป็นช่วงปลาใหญ่อพยพที่จะสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ และนี่คือรากฐานของการสร้างเศรษฐกิจพอเพียง ที่พวกเราสามารถยืนบนลำแข้งของตนเอง ไม่ใช่การ แจกปุ๋ย ๑๐ กิโล ไผ่ตรง ๔ กอ และเมล็ดพันธุ์ผักสองสามอย่างและอ้างว่าเป็นการสร้างเศรษฐกิจพอเพียงเช่นที่ กฟผ.กำลังทำอยู่และใช้เป็นข้ออ้างในการระดมคนมาสนับสนุนการปิดประตูน้ำเขื่อนฯ

นอกจากนั้นพวกเรายังต้องการให้ทางจังหวัดเปิดเผยรายชื่อจำนวน ๒ หมื่นกว่ารายชื่อ ที่กอ.รมน. อ้างต่อ ครม.ว่าต้องการให้ปิดประตูน้ำเขื่อนฯ ด้วยความกังวลว่า รายชื่อของพวกเราจะถูกนำไปแอบอ้างด้วย ดังที่ กฟผ.เคยทำมาตั้งแต่ก่อนการสร้างเขื่อน และที่สำคัญที่สุดคือเราต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจาก ครม.ตอบให้ชัดว่าจะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพวกเราอย่างไร หรือจะต้องให้เดินขบวนเรียกร้องกันทุกปีจนกว่าใครจะตายไปข้างหนึ่ง
 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา