eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

คณาจารย์มหาวิทยาลัยจี้นายกฯทบทวนปิดเขื่อนปากมูนถาวร

ผู้จัดการออนไลน์     22 มิย 50

ผู้จัดการออนไลน์ – กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยและอดีตข้าราชการระดับสูงที่เคยร่วมกระบวนการแก้ไขปัญหา ศึกษาวิจัยผลกระทบเขื่อนปากมูน เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนมติครม. 12 มิ.ย. 2550 ปิดเขื่อนปากมูนถาวร เชื่อมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง
       

        วันนี้ (22 มิ.ย. 2550) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “มติครม. 12 มิ.ย. 2550 ปิดเขื่อนปากมูนถาวรเพื่ออะไร” โดยองค์กรร่วมจัด คือ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ
       
        งานสัมมนาครั้งนี้มีคณาจารย์มหาวิทยาลัยและอดีตข้าราชการที่เคยอยู่ในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูน และศึกษาวิจัยผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน เช่น ศ.ดร. ประกอบ วิโรจน์กูฎ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, อาจารย์ศุภวิทย์ เปี่ยมพงษ์ศานต์ อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ผศ.บัณฑร อ่อนดำ อดีตประธานคณะกรรมการกลางแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน, ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ดร.สุธีร์ ประศาสน์เศรษฐ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ฯลฯ อดีตอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนที่เกี่ยวข้องกับกฟผ. ฯลฯ
       
        คณาจารย์ นักวิชาการ ข้าราชการ ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน และชาวบ้านเขื่อนปากมูน ร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อมติครม.เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2550 ว่า ไม่มีความโปร่งใส ไม่เปิดเผยให้สังคมรับรู้ว่าเหตุผลคืออะไร และที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้รับปากกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนว่าจะดำเนินการให้มีการเปิดเขื่อนปากมูนตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2550 ให้เริ่มระบายน้ำในวันที่ 7 มิ.ย. 2550 และยกสุดบานในวันที่ 17 มิ.ย. 2550 โดยมีระยะเวลาการเปิด 4 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 2550
       
        แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีมติครม.ดังกล่าวออกมาได้เพียงสองสัปดาห์ ครม.ก็มีมติเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2550 ออกมาว่า ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รักษาระดับน้ำในเขื่อนปากมูนไว้ที่ประมาณ +106 – 108 เมตร/ระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) โดยไม่มีกำหนดว่าจะต้องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเมื่อใด และการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำให้เป็นไปตามธรรมชาติและสภาพความเป็นจริงของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่งระดับน้ำดังกล่าวเป็นระดับน้ำที่เก็บกักในช่วงปิดเขื่อน มติครม.ล่าสุดที่ออกมาจึงเท่ากับเป็นการปิดเขื่อนปากมูนถาวร
       
        นอกจากนั้น มติครม. 12 มิ.ย. 2550 ยังให้กระทรวงมหาดไทยประสานและเร่งรัดการจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อดำเนินการรักษาระดับน้ำเขื่อนปากมูนและพิจารณาแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานชุดใดที่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับชุดที่ตั้งขึ้นนี้ให้ยุบเลิกและให้ใช้คณะกรรมการระดับจังหวัดนี้แทน
       
        มติ ครม. ดังกล่าว จึงเท่ากับล้มเลิกคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูล ที่มีนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานฯ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายต้องถูกยกเลิกไปด้วย
       
        ในการสัมมนายังอภิปรายกันอย่างกว้างขวางว่า มติครม. 12 มิ.ย. ที่ผ่านมานั้น เป็นการตัดสินใจระดับนโยบายตามที่หน่วยงานด้านความมั่นคงคือ กอ.รมน. โดยผู้อำนวยการ กอ.รอน. คือ พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ขจัดความยากจนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เป็นผู้เสนอ ซึ่ง กอ.รมน. ทำหน้าที่ควบคุม ติดตามการเคลื่อนไหวของประชาชนในสภาวะที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ
       
        นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลสนับสนุนการปิดประตูระบายน้ำ กอ.รมน.อ้างว่ามีผู้ลงชื่อสนับสนุนถึงร้อยละ 98 นั้น ตัวแทนสมัชชาคนจน ชี้ว่า เป็นการล่ารายชื่อจากกลุ่มมวลชนจัดตั้งของ กฟผ.ผ่านทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และการแลกเปลี่ยนความเห็นในที่ประชุมต่างเห็นพ้องว่า เป็นการสำรวจความเห็นที่ฟังความจากกลุ่มสนับสนุนให้ปิดเขื่อนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ฟังความรอบข้างและไม่ศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยศึกษาผลกระทบที่มีอยู่จำนวนมากมายในช่วง 10 กว่าปีตั้งแต่ก่อนและหลังสร้างเขื่อนปากมูน
       
        โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานศึกษาที่มหาวิทยาลัยอุบลฯ ได้รับมอบมายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดทำโครงการศึกษาวิจัยแนวทางฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิตและชุมชนที่ไดรับผลกระทบจากเขื่อนปากมูน ที่เสนอให้เปิดประตูน้ำเขื่อนตลอดปี เพราะปัญหาผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนสามารถมีทางออกทางเทคนิกได้หลายทาง แต่ปัญหาเศรษฐกิจชุมชนไม่มีทางออกและไม่สามารถแก้ไขด้วยเทคนิก เขื่อนปากมูนส่งผลด้านลบต่อความยากจน ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ซึ่งความจำเป็นต่อการผลิตไฟฟ้า
        ล่าสุดกระทรวงพลังงานยืนยันว่า ไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีใช้อย่างทั่วถึงแม้จะไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูน
       
        รศ.ดร.สุธี ประศาสน์เศรษฐ์ ตั้งข้อสังเกตว่า มติครม.ให้ปิดเขื่อนปากมูนถาวร เป็นเรื่องของการเมือง เรื่องความมั่นคงที่มีกอ.รมน.เข้ามาเกี่ยว และเป็นการแย่งชิงมวลชน ซึ่งเวลานี้มีการควบคุมมวลชนผ่านโครงการต่างๆ และแย่งชิงมวลชนที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลที่ออกนโยบายประชานิยม
       
        กลุ่มคณาจารย์ มีข้อเสนอเร่งด่วนต่อนายกรัฐมนตรีว่า ให้ยกเลิกมติครม. 12 มิ.ย. 2550 และให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูนทั้ง 8 บานแบบสุดบาน ตามมติครม. 29 พ.ค. 2550 เพื่อให้ปลาจากแม่น้ำโขงอพยพเข้าสู่แม่น้ำมูนตามธรรมชาติ โดยจะเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า
        
        สำหรับคณาจารย์ นักวิชาการ อดีตข้าราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน ที่เคยร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาและศึกษาวิจัยผลกระทบจากเขื่อนปากมูน ที่ลงนามในจดหมายที่จะยื่นเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในเบื้องต้น ประกอบด้วย ศ.ดร.ประกอบ วิโรจน์กูฎ, อาจารย์ศุภวิทย์ เปี่ยมพงษ์สานต์, รศ.ดร.สุธีร์ ประศาสน์เศรษฐ์, รศ.สุริชัย หวันแก้ว ผอ.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ, รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล,
       
        ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, ดร.นฤมล ทับจุมพล ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง, อาจารย์เบญรัตน์ แซ่ฉั่ว สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา