eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

สมัชชาคนจน ไม่เข้าร่วมคณะ กก. เขื่อนปากมูล

ผู้จัดการออนไลน์ 21 กันยายน 2550
http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9500000112106&Keyword=%e0%a2%d7%e8%cd%b9


ตัวแทนชาวปากมูล เข้ายื่นหนังสือไม่เข้าร่วมคณะกรรมการฯ ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลฯ

สมัชชาคนจน ปฏิเสธเข้าร่วมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลขที่ใช้วิธีการแก้ปัญหาชาวบ้านปากมูนแบบรัฐ พูดเอง เออเอง ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งไม่สิ้นสุด

วันนี้ (21 ก.ย.) กลุ่มสมัชชาคนจน ในนามคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน ประมาณ 100 คน เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล โดยปฏิเสธที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว และหากมีตัวแทนที่ทางอำเภอเสนอเข้ามา ก็ให้ถือว่าไม่ใช่ตัวแทนของสมัชชาคนจน

สำหรับหนังสือที่ตัวแทนกลุ่มสมัชชาคนจน ลงนามโดยนายสมเกียรติ พ้นภัย และนางลำดวน เสระทอง มีรายละเอียด ดังนี้

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 ให้รักษาระดับน้ำเขื่อนปากมูลไว้ที่ ระดับ 106-108 เมตร.รทก.และให้ยุบเลิกคณะทำงานทุกชุดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนปากมูลและแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นแทน

โดยในภายหลังได้มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 เกี่ยวกับเรื่องการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน มีผู้แทนจากหน่วยงานส่วนกลางเป็นที่ปรึกษา ในมติครม.ดังกล่าวยังให้ยกเลิกคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนปากมูล

สมัชชาคนจน เห็นว่ากรณีเขื่อนปากมูลเป็นปัญหาในเชิงนโยบาย ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบได้เรียกร้องต่อรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การคัดค้านโครงการ และภายหลังที่เขื่อนสร้างแล้วเสร็จก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเสียหายอันเกิดจากโครงการเขื่อน เนื่องจากการปิดกั้นปากแม่น้ำมูนได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งลุ่มน้ำ โดยเฉพาะกรณีการสูญเสียพันธุ์ปลา เนื่องจากปลาไม่สามารถอพยพจากแม่น้ำโขงเข้ามาในแม่น้ำมูนได้

การดำเนินการแก้ไขปัญหาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลนั้นในรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีมติครม.ให้เปิดประตูระบายน้ำ 4 เดือนและปิดอีก 8 เดือน แม้ว่าทางออกนี้จะยังไม่สามารถฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำมูน และวิถีชีวิตคนล่มน้ำมูนได้ทั้งหมด แต่ก็ได้บรรเทาความเดือดร้อน ให้ทุเลาลงไปได้บ้างจากรายได้จากการหาปลาที่อพยพเข้ามาในแม่น้ำมูนในช่วงของการเปิดประตูระบายน้ำ

กระทั่งในปี 2550ได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการแก้ไขปัญหาจากเดิม มีการตั้งกลไกใหม่ขึ้นมา สมัชชาคนจนเห็นว่า กลไกการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดที่มีคำสั่งแต่งตั้งในวันที่ 2 สิงหาคม 2550 เป็นกลไกที่ขาดการมีส่วนร่วม อย่างสิ้นเชิง

แม้ในองค์ประกอบของกรรมการจะมีรายชื่อตัวแทนชาวบ้านอยู่ด้วย แต่ตัวแทนดังกล่าวก็เป็นการสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยให้นายอำเภอแต่ละอำเภอเป็นผู้เลือก จึงถือว่าการตั้งกรรมการชุดนี้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

พวกเราเห็นว่างการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนปากมูลควรมีข้อตกลงร่วมกันในทางรูปธรรมไว้เป็นพื้นฐานในการแก้ไขปัญหา ก่อนจะมีการตั้งกลไกใดๆ ขึ้นมารองรับการปฏิบัติการ ไม่ใช่กำหนดจากส่วนกลาง ทั้งโครงสร้าง องค์ประกอบ รวมถึงอำนาจหน้าที่

ดังนั้น ในแนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติครม.12 มิถุนายน และ 17 กรกฎาคม 2550 เป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล จึงขอเรียนว่าสมัชชาคนจนไม่ขอเข้าร่วมกับคณะกรรมการนี้ เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นกรรมการที่ไม่มีความชอบธรรมต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูล และในวันนี้หากมีตัวแทนที่ทางอำเภอส่งชื่อและมีผู้เข้าร่วมให้ถือว่าไม่ใช่ตัวแทนของสมัชชาคนจน

นอกจากนั้น สมัชชาคนจน ยังได้ออกแถลงการณ์ ไม่ขอรับวิธีการแก้ปัญหาชาวบ้านปากมูนแบบรัฐ พูดเอง เออเอง โดยชี้ว่า มติครม.ที่ให้ให้รักษาระดับน้ำ 106-108 ม.รทก.นั่นหมายถึง รัฐบาลนี้ได้ทำสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้เลวร้ายลง

คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นโดยการกำหนดทุกขึ้นตอนกระบวนการจากกระทรวงมหาดไทยก็ยิ่งจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างไม่สิ้นสุด เนื่องจากเป็นกลไกที่เกิดจากการสั่งการ ไม่ใช่การร่วมกันคิดร่วมทำของผู้ได้รับผลกระทบ นับเป็นกระบวนการที่รัฐทำแบบคิดเองเออเองแทบทั้งสิ้น

และในคณะกรรมการชุดนี้ รัฐจะอ้างไม่ได้ว่าชาวบ้านมีส่วนร่วม เพราะแม้แต่การเลือกตัวแทนของตัวเองชาวบ้านยังไม่มีโอกาส เป็นตัวแทนที่นายอำเภอแต่ละอำเภอเป็นผู้เลือกขึ้นมาจากพื้นที่ นอกจากนั้นองค์ประกอบอื่นก็จะเป็นตัวแทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี กว่า 30 คน

สมัชชาคนจน เสนอความเดือดร้อนต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา และหากจะมีการตั้งกลไกใดๆ ขึ้นจะต้องอยู่ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันทั้งฝ่ายรัฐและประชาชน ซึ่งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้ง ควรเริ่มต้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่กำหนดจากส่วนกลาง ทั้งโครงสร้าง องค์ประกอบ รวมถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเป็นการสั่งการจากกระทรวงมหาดไทย ทำให้ชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

พวกเราเห็นว่า การแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนปากมูลควรตั้งอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาจะต้องมีปัญหาเป็นตัวตั้ง และแนวทางต้องตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริงในผลกระทบที่เกิดขึ้น การแก้ปัญหาแบบพูดเองเออเองของรัฐไม่ใช่แนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล ซ้ำร้ายจะยิ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง และปัญหาความขัดแย้งก็จะดำรงอยู่อย่างไม่สิ้นสุด

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา