eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
 

เขื่อนมานวาน เขื่อนแห่งแรกบน แม่น้ำโขง หลังการกักเก็บน้ำทำให้ กระแสน้ำโขงขึ้นลงไม่เป็น ธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อประชาชน หลายล้านท้ายน้ำ

ประชาชนในจีนเองต้องอพยพ จากเขื่อนแห่งนี้อย่างเป็น ทางการ ๓,๕๐๐ คน และอีกจำนวนมาก ต้องสูญเสีย ที่ทำกินจมอยู่ได้อ่างเก็บน้ำ โดยไม่ถูกนับรวมว่าเป็น ผู้ได้รับผลกระทบ 

 

แม่น้ำโขงตอนบนใกล้จุดสร้าง เขื่อนเซี่ยวหวาน

 

เขื่อนมานวาน เขื่อนแห่งแรกบน แม่น้ำโขง

 

หมู่บ้านเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อน มานวานที่ไม่ต้องอพยพ แต่ทำกินแทบทั้งหมดจม อยู่ใต้เขื่อน

 

  แม่เฒ่าที่ถูกย้ายจากเขื่อนในจีน ยังปรับตัวไม่ได้กับแปลงอพยพ ซึ่งเป็นบ้านใหม่

 

ป้ายโฆษณาถึงประโยชน์และ ความสำคัญของโครงการเขื่อน หลานชางเห็นได้ทั่วไป ในยูนนาน

 

เมื่อเขื่อนทำร้ายโขง

เรื่องและภาพ โดย อาทิตย์ ธาราคำ   เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บริษัทสร้างเขื่อนยักษ์ใหญ่ของจีนกำลังสร้างเขื่อน ๘ แห่งบนแม่น้ำโขงโดยไม่ปรึกษาประชาชนที่มีชีวิตพึ่งพาสายน้ำ แม้แต่ชาวบ้านในจีนเองก็ไม่มีแม้แต่โอกาสปฏิเสธหรือขอมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ น้ำโขงที่ยาวกว่า ๔,๘๐๐ กิโลเมตร หล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนกว่า ๖๐ ล้านคนตลอดลำน้ำ และลำน้ำสาขา ตั้งแต่ที่ราบสูงทิเบต ลงไปจนถึงปากแม่น้ำที่เวียดนาม แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ปัจจุบันแม่น้ำโขงตอนบนในเขตประเทศจีน ที่ชาวจีนเรียกกันว่า แม่น้ำหลานชาง (Lancang) ในเขตยูนนานกำลังกลายเป็น “แม่น้ำส่วนตัว” ของบริษัทจีน ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทพลังงานของจีนชื่อ China Huaneng Group (ไชน่า หัวนึง กรุ๊ป) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) ได้รับ “สิทธิในการพัฒนา” แม่น้ำหลานชาง โครงการประกอบด้วยเขื่อน ๘ แห่ง เขื่อนมานวาน (Manwan) สร้างแล้วเสร็จเป็นแห่งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ เขื่อนอีก ๒ แห่งคือเขื่อนเซี่ยวหวาน (Xiaowan) และเขื่อนด้าเฉาชาน (Dachaoshan) กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนเขื่อนอีก ๕ แห่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษา เขื่อนทั้งหมดนี้สร้างเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแก่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และประเทศไทย เขื่อนจิงหง (Jinghong) กำลังผลิตติดตั้ง ๑,๕๐๐ เมกกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มสร้างเร็วๆ นี้จะผลิตไฟฟ้าขายแก่ประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยและจีนได้ลงนามอย่างเป็นทางการในการพัฒนาเขื่อนแห่งนี้ และรัฐบาลไทยกำลังเจรจากับรัฐบาลยูนนานเพื่อซื้อไฟฟ้าบางส่วนเพิ่มเติมจากเขื่อนนอชาดู (Nuozhadu) ทั้งที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรายงานว่าปัจจุบันประเทศไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองสูงถึงเกือบ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ เงินทุนหลักของอภิมหาโครงการนี้คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาประเทศจีน (Chinese Development Bank) ส่วนธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ซึ่งอ้างว่าจะไม่ให้เงินทุนสนับสนุนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก กลับให้เงินกู้แก่รัฐบาลยูนนานเพื่อสร้างสายส่งไฟฟ้าสำหรับเขื่อนด้าเฉาชาน “เราต้องยอมอพยพ เพราะประเทศต้องพัฒนา” เขื่อนมานวาน สร้างโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านชาวจีนจำนวนมากต้องถูกอพยพโยกย้าย ไร้ที่ทำกิน สูญเสียทรัพยากรส่วนรวมไม่ว่าจะเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ หรือป่าชุมชน หมู่บ้านและครอบครัวต้องพลัดพราก และเผชิญกับความลำบากมากมายโดยไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ใดๆ มีรายงานว่าผู้สูงอายุจำนวนมากที่ถูกอพยพไม่สามารถปรับตัวได้กับแปลงอพยพที่ตนต้องย้ายไปอยู่ ชายชราที่ถูกอพยพคนหนึ่งพยายามหนีออกจากแปลงอพยพกลับบ้านเดิมหลายครั้ง แต่ก็หาไม่พบเพราะบ้านเดิมจมหายอยู่ใต้เขื่อนไปแล้ว แม้แต่คนที่ไม่ต้องอพยพก็ใช่ว่าจะไม่พบกับปัญหา ชาวบ้านคนหนึ่งจากหมู่บ้านริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนมานวาน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำนาขั้นบันไดไล่ตามไหล่เขาสองฝั่งน้ำ เล่าถึงประสบการณ์อันขมขื่นว่า “พวกเราไม่ต้องย้ายเพราะน้ำท่วมไม่ถึงหมู่บ้าน แต่ไร่นาริมฝั่งน้ำของชาวบ้านเกือบทั้งหมดต้องจมอยู่ใต้อ่าง คนที่พอมีที่เหลืออยู่บ้างก็แบ่งๆ ให้คนที่ไม่มี แต่ก็ไม่พอกิน เราไม่เคยต้องซื้อข้าว ตอนนี้ต้องชื้อข้าวกิน” ส่วนชาวบ้านจากอีกหมู่บ้านซึ่งอยู่อีกฝั่งของอ่างเก็บน้ำเล่าว่า “น้ำใช้ปลูกข้าวก็ไม่มี น้ำจะใช้ก็ยังไม่มี ตาน้ำที่อยู่ใกล้แม่น้ำที่ชาวบ้านเคยใช้จมหายไปหมดแล้ว เขาสร้างท่อประปาให้ แต่ไม่มีน้ำ ชาวบ้านอีกหมู่บ้านหนึ่งเอาน้ำไปหมด เพราะเขาก็ต้องการน้ำเหมือนเรา”  ในงานสัมมนาเกี่ยวกับการนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลกมาปฏิบัติ ซึ่งจัดขึ้นที่คุนหมิง เมืองหลวงของยูนนาน เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าจากที่บริษัทไชน่า หัวนึง กรุ๊ป ยอมรับว่าการอพยพประชาชนของโครงการเขื่อนมานวานยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่สำหรับเขื่อนอื่นๆ ที่กำลังสร้างตามมานั้น บริษัทพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ชาวบ้านที่ถูกอพยพมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพิ่มงบประมาณในการดูแลการอพยพชาวบ้าน แต่ความจริงที่ชาวบ้านเผชิญกลับไม่เป็นเช่นนั้น ชาวบ้านในแปลงอพยพของเขื่อนด้าเฉาชาน ซึ่งกำหนดจะสร้างเสร็จปลายปีนี้ ต้องอพยพจากบ้านเดิมมาไกลถึง ๑๒๐ กิโลเมตรโดยไม่สามารถเลือกได้ว่าจะไปอยู่ที่ใด ชาวบ้านในหมู่บ้านต้องกระจัดกระจายไปอยู่ตามแปลงอพยพต่างๆ รวมกับชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่น ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า “บ้านใหม่ก็สวยดี แต่สร้างบนดินอ่อน ไม่รู้จะพังลงมาวันไหน เราต้องยอมอพยพเพราะประเทศต้องพัฒนา เรารู้ก่อนย้ายแค่เดือนเดียว ตอนนั้นเชื่อว่าจะได้บ้านและที่ทำกินใหม่ตามที่สัญญา แต่มาถึงหมู่บ้านใหม่ก็ได้ที่ดินคนละนิดเดียว ไม่พอปลูกข้าวกิน ดินก็ไม่ดี ปลูกข้าวโพดก็น้ำไม่พอ เราไม่มีเงินซื้อปั้มน้ำ”  เมื่อผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอ ชาวบ้านที่เคยเป็นเกษตรกร เพาะปลูกบนผืนแผ่นดินที่กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ ต้องดิ้นรนออกไปทำงานในเมืองด้วยค่าแรงอันน้อยนิด เด็กๆ ต้องออกจากโรงเรียนเมื่อจบหลักสูตรภาคบังคับเพราะไม่มีเงิน แต่ชาวบ้านก็ต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะนั่นคือ “การพัฒนาประเทศ”  เจ้าหน้าที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมชาวจีนคนหนึ่ง ซึ่งไม่อาจเปิดเผยชื่อได้ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แสดงความเห็นว่า “สำหรับชาวบ้านในจีน ถ้ารัฐมีนโยบายว่าจะสร้างเขื่อน ก็คือต้องสร้าง ชาวบ้านก็ต้องย้ายตามคำสั่งเท่านั้น ไม่มีทางปฏิเสธ เราก็ช่วยได้เพียงแต่ว่าจะย้ายอย่างไรให้ชาวบ้านไม่ลำบากกว่าเดิม และพยายามผลักดันให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการวางแผนอพยพมากที่สุด” ชาวบ้านร่วมสายน้ำเดียวกันที่ท้ายเขื่อนต้องเดือดร้อนอีกนับล้าน สำหรับชาวยูนนาน สิ่งที่รับรู้ตลอดมาคือ เขื่อนบนแม่น้ำหลานชางนอกจากจะผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังมีประโยชน์ช่วยควบคุมกระแสน้ำและป้องกันน้ำท่วมให้กับประเทศท้ายน้ำอีกด้วย แต่สิ่งที่ชาวบ้านริมโขงที่บ้านสมสบ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เผชิญกลับตรงกันข้าม ชาวบ้านเล่าว่าปัจจุบันน้ำโขงขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาติ แปลงผักริมน้ำยามฤดูน้ำลดถูกน้ำท่วมไปหลายหนเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะน้ำโขงขึ้นกะทันหัน ชาวบ้านบางคนถึงกับร้องไห้เพราะลงปลูกพืชและถูกน้ำท่วมถึง ๓ ครั้งในเดือนเดียว หากอภิมหารโครงการเขื่อนหลานซางแล้วเสร็จ เขื่อนในจีนจะสามารถควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงได้เกือบทั้งหมด เขื่อนในยูนนานจะกักเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนและปล่อยน้ำในหน้าแล้ง สามารถทำให้ระดับน้ำโขงในหน้าแล้งสูงกว่าปกติได้ถึง ๒ เท่า ปริมาณกระแสน้ำทั้งปีในแม่น้ำโขงช่วงก่อนถึงทะเลที่เวียตนามมาจากเขตประเทศจีนประมาณ ๑๕-๒๐ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่น้ำโขงช่วงประเทศกัมพูชาในเดือนเมษายนเป็นน้ำที่มาจากเขตจีนถึง ๔๕ เปอร์เซ็นต์ และปริมาณน้ำจากพื้นที่รับน้ำในเขตประเทศจีนมีส่วนสำคัญมากต่อกระแสน้ำในช่วงหน้าแล้ง ของแม่น้ำโขงส่วนที่ไหลผ่านประเทศไทยและลาว คณะกรรมการเขื่อนโลก ซึ่งทำการศึกษาเขื่อนทั่วโลกในทุกแง่มุม ระบุในรายงาน “เขื่อนกับการพัฒนา” ว่า ผลกระทบกระทบด้านท้ายเขื่อนอาจมีไปไกลถึงหลายร้อยกิโลเมตร หรือกินของเขตกว้างกว่าตัวลำน้ำ ทำให้ผู้คนนับล้านที่อาศัยอยู่ด้านท้ายเขื่อน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในที่ราบน้ำท่วมถึงเป็นที่เพาะปลูกและทำการประมงต้อง “ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในการดำเนินชีวิต และผลผลิตจากทรัพยากรก็อยู่ในภาวะเสี่ยง และประสิทธิผลของการใช้ทรัพยากรในอนาคตก็ไม่แน่นอน” ซก เสียง อิม นักอุทกวิทยาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เคยให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่าการพัฒนาน้ำโขงตอนบนส่งผลกระทบต่อประเทศท้ายน้ำอย่างมหาศาล เมื่อปี ๒๕๔๓ เกิดน้ำท่วมผิดธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ ๒ ทศวรรษ ตั้งแต่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เรื่อยตลอดลำน้ำลงมาจนถึงกัมพูชาและเวียดนาม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงประมาณการณ์ว่ามีผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วมครั้งดังกล่าวถึง ๘ ล้านคน และเมื่อจีนเริ่มกักเก็บน้ำเขื่อนมานวาน ปริมาณน้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศกัมพูชาลดลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตรภายในวันเดียว เช่นเดียวกับสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เคยแสดงความวิตกเกี่ยวกับเขื่อนน้ำโขงตอนบนว่าอาจทำให้ทะเลสาบเขมรแห้งลงได้ เพราะทะเลสาบเขมรเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน หากน้ำในทะเลสาบแห้งลง ย่อมหมายถึงการสูญเสียวิถีชีวิตของคนหาปลานับล้านรอบทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ และหมายถึงการสูญเสียรายได้หลักของประเทศกัมพูชาจากการประมงน้ำจืด สมเด็จฮุนเซ็น กล่าวเพิ่มเติมระหว่างการประชุมการจัดการแม่น้ำระหว่างประเทศซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นปีว่า หากทะเลสาบเขมรแห้งลง ไม่ใช้เพียงเขมรเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่หมายถึงทั่วทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเลยทีเดียว เพราะระดับน้ำในแม่น้ำโขงเป็นปัจจัยหลักที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตผู้คนและระบบนิเวศในภูมิภาคนี้ การสร้างเขื่อนตอนบนของแม่น้ำจะทำให้วัฏจักรน้ำท่วม-น้ำแล้ง ของแม่น้ำตามฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำ ปลา และสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงผู้คนที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาทรัพยากรเหล่านี้ เอียน ฟอกซ์ นักอุทกวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำท่วมของเอดีบี ให้สัมภาษณ์แก่สื่มมวลชนว่า “โครงการที่สร้างโดยมนุษย์อย่างเช่นเขื่อน อาจเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านและแม่น้ำตลอดไป” เขื่อนเซี่ยวหวาน ซึ่งมีความสูงเกือบ ๓๐๐ เมตร กำลังผลิต ๔,๒๐๐ เมกะวัตต์ กำหนดสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๕ และจะเป็นหนึ่งในเขื่อนที่สูงที่สุดในโลก ดร. เหอ ต้าหมิง จาก ศูนย์แม่น้ำระหว่างประเทศเอเชีย (Asian International River Center) มหาวิทยาลัยยูนนานกล่าวว่า หากเขื่อนแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการ ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลง ๑๗ เปอร์เซ็นต์ในหน้าฝน และเพิ่มขึ้น ๔๐ เปอร์เซ็นต์ในหน้าแล้ง และจะปิดกั้นการไหลของตะกอนในแม่น้ำลง ๓๕ เปอร์เซ็นต์ ตะกอนเหล่านี้คือปุ๋ยธรรมชาติที่แม่น้ำพัดพาลงสู่ที่ราบน้ำท่วมถึงสองฝั่งน้ำ ลงไปจนถึงปากแม่น้ำซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกอันอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านในจีนปฏิเสธไม่ได้ แต่เราต้องทำให้ได้ เพื่อพวกเขา และตัวเราเอง เงื่อนไขทางการปกครองในประเทศทำให้ชาวจีนไม่สามารถปฏิเสธโครงการพัฒนาต่างๆ รวมทั้งการสร้างเขื่อนของรัฐบาลได้ เจ้าหน้าที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของจีนยอมรับในข้อนี้ว่า อย่างมากที่สุดก็คือ นำเสนอผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อมจากเขื่อน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบดังกล่าวให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และเรียกร้องให้มีแผนการอพยพที่ไม่แย่จนเกินไปสำหรับชาวบ้าน ส่วนการประเมินทางเลือกเพื่อหาทางอื่นทดแทนการสร้างเขื่อน หรือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนและตัดสินใจโครงการนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยในภาวะปัจจุบัน  จะเห็นได้ว่าการพัฒนาของจีนในปัจจุบัน คนทั่วไปเห็นว่าจีนได้รับผลประโยชน์มากมาย แต่หากมองลึกลงไปจะพบว่าต้นทุนการพัฒนาเหล่านี้ก็เกิดขึ้นในประเทศจีนเองด้วยเช่นกัน ชาวบ้านในจีนจำนวนมากต้องยอมจำนนรับภาระทั้งทางวิถีชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และปัญหาอื่นๆ อีกมหาศาล  ซึ่งการพัฒนาลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก แม้จะสร้างเขื่อนไกลออกไปนับพันกิโลเมตร แต่สายน้ำเดียวกันย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกประเทศท้ายน้ำมีสิทธิที่จะทวงถามถึงข้อมูลโครงการที่จะสร้างผลกระทบต่อประชาชนของตนเอง เรามีสิทธิที่ เรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านตั้งแต่เหนือเขื่อนลงไปจนจรดปากแม่น้ำ ตลอดจนเรียกร้องให้มีการประเมินทางเลือกอย่างรอบด้าน และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทุกขั้นตอนของ โครงการตั้งแต่การวางแผน เพื่อหลีกเลี่ยงโครงการที่จะทำร้ายแม่น้ำและปกป้องวิถีชีวิตของประชาชนตลอดสองฝั่ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีส่วนร่วม และโปร่งใส เพื่อประชาชนในประเทศของตนเอง และเพื่อชาวบ้านในจีนที่ไม่มีโอกาสได้พูดเหมือนกับเรา 

ขณะนี้ รัฐบาลบางประเทศคำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและผลกระทบต่อประชาชนของตนเอง คำถามคือ จะมีรัฐบาลใดในลุ่มน้ำโขงที่จะลุกขึ้นมาเจรจาปัญหานี้กับรัฐบาลจีนอย่างจริงจัง

สถานะภาพของเขื่อนต่างๆ ในโครงการ

เขื่อน

ความสูง (เมตร)

กำลังการ ผลิตไฟฟ้า (เมกะวัตต์)

จำนวนประชาชน ที่จะถูกอพยพ

สถานภาพ ปัจจุบัน

ปี่ที่แล้วเสร็จ

มานวาน

๑๒๖

๑,๕๐๐

๓,๕๐๓

แล้วเสร็จ

๒๕๓๙

ด้าเฉาชาน

๑๑๐

๑,๓๕๐

๖,๐๕๐

กำลังก่อสร้าง

๒๕๔๖

เซี่ยวหวาน

๓๐๐

๔,๒๐๐

๓๒,๗๓๗

กำลังก่อสร้าง

๒๕๕๕

จิงหง

๑๑๘

๑,๕๐๐

๒,๒๖๔

ช่วงการศึกษา ความเป็นไปได้

๒๕๕๓

นอซาดู

๒๕๔

๕,๐๐๐

๒๓,๘๒๖

ช่วงการศึกษา ความเป็นไปได้

๒๕๖๐

กอนเกาเคียว

๑๓๐

๗๕๐

?

?

?

กันลันบา

?

๑๕๐

?

?

?

เมงซอง

?

๖๐๐

?

?

?

   (ที่มา: Plinston & Daming, 2000)

 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา