eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
เปิดหลังฉากบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของจีน เบื้องหลังเขื่อนคือผลประโยชน์ 

อาทิตย์ ธาราคำ
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

เมื่อนักพัฒนาและกลุ่มทุนวางแผนโครงการพัฒนา ชีวิตและลมหายใจของคนท้องถิ่นมักจะถูกละเลย

 

๒ เขื่อนเซี่ยวหวาน กำลังก่อสร้างบนน้ำโขงในยูนนาน ประเทศจีน ต้องอพยพประชาชนถึงกว่า ๓ หมื่นคน

 

จากต้นกำเนิดที่เทือกเขาหิมาลัย ทิเบต สามแม่น้ำสายหลักตามที่ชาวจีนเรียก คือ นู (สาละวิน) ลานชาง (โขง) และจิงสา (แยงซี)  ไหลคู่ขนานกันในเขตยูนนาน ประเทศจีน โดยกั้นด้วยเทือกเขาที่ห่างกันเพียงร้อยกว่ากิโลเมตร ก่อนที่จะแยกออกสู่ทะเลไปตามทิศต่างๆ

ชาวยูนนานมีนิทานเกี่ยวกับแม่น้ำสามสายนี้ว่า
ในอดีตสามสาวเป็นพี่น้องกัน มีจิงสา ลานชาง และนู ตามลำดับ แม่บอกให้ลูกสาวทั้งสามเดินทางไปสู่ทะเลทางทิศตะวันออก แต่นู น้องสุดท้องดื้อรั้น จะเดินทางไปทางทิศใต้ เพราะเธอตกหลุมรักเจ้าชายที่พม่า เธอจึงมุ่งหน้าลงใต้ไปหาคนรักของเธอ ลานชาง พี่สาวคนกลางเป็นห่วงน้องจอมดื้อ อยากจะไปดูแลน้องจึงชวนจิงสาไปด้วย แต่จิงสาเชื่อฟังแม่ เธอออกเดินทางไปทางทิศตะวันออกตามที่แม่บอกไว้ ลานชางตัดสินใจไม่ถูกจึงเลือกไปตรงกลางระหว่างพี่และน้อง และกลายเป็นแม่น้ำสามสายในปัจจุบัน

บริเวณที่แม่น้ำสามสายไหลคู่ขนานกันนี้ ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก จากยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งคุ้มครองให้คงสภาพความเป็นธรรมชาติในบริเวณนี้ ขณะที่หลังจากแยกออกจากกันแล้ว ทั้งสามแม่น้ำต้องเผชิญการคุมคามอย่างหนักไม่ต่างกันจากนักสร้างเขื่อนของจีน

การแปรรูปกิจการพลังงานจีน ได้มอบอำนาจ “สิทธิในการพัฒนาแม่น้ำ” ให้แก่บริษัทพลังงานเพื่อผลิตพลังงานจากแม่น้ำทั้งสามสายในยูนนาน ที่อาจเรียกได้ว่า “๑ บริษัท ๑ แม่น้ำ” โดยบริษัทที่ได้รับสิทธิดังกล่าวมีอิทธิพลและสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนักการเมืองจีน
ปัจจุบัน แม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ ตกอยู่ใต้อำนาจการพัฒนาของบริษัท ไชน่า หัวนึง กรุ๊ป โดยถูกมองเฉพาะผลกำไรด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวว่า เป็นแม่น้ำที่ไหลไปเปล่าประโยชน์  จึงมีแผนสร้างเขื่อนบนน้ำโขงในเขตยูนนานทั้งหมด ๘ แห่ง สร้างแล้วเสร็จ ๑ แห่ง คือ เขื่อนมานวาน อีก ๒ แห่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเขื่อนจิงหง ที่เมืองเชียงรุ้ง แคว้นสิบสองปันนา กำลังจะก่อสร้างปลายปีนี้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ไทย หลังจากการก่อสร้างเขื่อนน้ำโขงตอนบน ชาวบ้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำโขงช่วงพรมแดน ไทย-ลาว ที่จังหวัดเชียงราย เห็นการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำได้อย่างชัดเจน อาทิ การขึ้นลงของระดับน้ำที่ผิดธรรมชาติ ส่งผลต่อการจับปลาของชาวบ้าน และตลิ่งพัง แต่โครงการเขื่อนน้ำโขงตอนบนก็ยังคงดำเนินต่อไป
ส่วนน้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสุดท้ายของภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระ หากไม่นับอภิมหาโครงการเขื่อนท่าซางในรัฐฉาน ประเทศพม่า และเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่า ๓ แสนล้านบาท แม่น้ำสาละวินในเขตจีน ตกเป็นของบริษัทพลังงานจีนที่มีชื่อว่า หัวเดียน เสนอสร้างเขื่อนทั้งหมด ๑๓ แห่ง และเริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้แล้ว
น้ำแยงซีนั้นก็ถูกกั้นด้วยเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือเขื่อนทรีกอร์เจส
ดูเหมือนว่าเราไม่ได้รู้มากนักถึงเบื้องหลังของธุรกิจพลังงานที่สลับซับซ้อน และเกี่ยวโยงอย่างแน่นหนากับการเมืองภายในจีน แต่จากกรณีล่าสุด คือ แผนการสร้างเขื่อนในทิเบต ก็ได้ทำให้เราเห็นภาพของความสลับซับซ้อนดังกล่าวมากขึ้น

การถกเถียงเรื่องสายสัมพันธ์ธุรกิจการเมืองในจีนปะทุขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีอนุมัติแผนสร้างเขื่อนกั้นทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ในทิเบต ที่ซึ่งยังคงความเป็นป่าที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ
เขื่อนพลังงานไฟฟ้าแห่งนี้มีมูลค่าก่อสร้างราว ๓๑๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้คัดค้านกล่าวว่าการสร้างเขื่อนจะทำลายทะเลสาบ   รวมทั้งพืชและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด บริษัทผู้สร้างเขื่อนคือ ไชน่า หัวนึง กรุ๊ป บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนตอนนี้ บริษัทไชน่า หัวนึง กรุ๊ป เป็นของ Li Xiappeng ลูกชายของหลี่เผิง อดีตนายกรัฐมนตรีจีน ผู้ซึ่งร่ำรวยและทรงอิทธิพลขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการสะสมทุนภายใต้สายสัมพันธ์เชิงครอบครัว อดีตนายกรัฐมนตรีหลี่เผิงมีส่วนในการผลักดันเขื่อนสามผา (ทรีกอร์เจส) กั้นแม่น้ำแยงซี ซึ่งเป็นอภิมหาเขื่อนที่การทำลายล้างสิ่งแวดล้อมและอพยพประชาชนกว่า ๒ ล้านคน
ผู้ที่ต้องการปฏิรูปภายในพรรคคอมมิวนิสต์มองเห็นว่าเขื่อนนี้เป็นบททดสอบว่าผู้นำใหม่ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะจัดการอย่างไรกับการใช้เส้นสายของนักการเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ แต่หลังจาก ๒ ปีผ่านไป บริษัทหัวนึงก็ได้รับการอนุมัติให้สร้างเขื่อนกั้นทะเสลาบซึ่งชาวทิเบตเรียกว่าทะเลสาบเยติ บริเวณสร้างเขื่อนเป็นที่อยู่อาศับของหมีแพนด้า เสือหิมะ และพืชหายากอื่นๆ อีกหลายชนิด
นักสิ่งแวดล้อมแนวหน้าของจีนกล่าวว่า “พวกเราใช้เวลา ๒ ปี เพื่อล็อบบี้รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น แต่กลับไม่เกิดอะไรขึ้นเลย” เขากล่าวเสริมว่า “เมื่อพวกเรารู้ว่าโครงการจะดำเนินต่อไป พวกเราได้รับคำเตือนให้หยุดคัดค้าน และห้ามตีพิมพ์บทความรณรงค์ นี่คือประเด็นอำนาจทางการเมือง ความจริงก็คือ นี่เป็นเรื่องของลูกชายหลี่เผิง”
ทะเลสาบเยติตั้งอยู่ ณ ใจกลางของเขตกาซีในทิเบต ซึ่งเป็นที่ได้รับการยอมรับจากนักวิทยาศาตร์และนักนิเวศวิทยาในฐานะที่เป็นเขตซึ่งมีภูมิประเทศสวยงามและมีพืชพรรณและสัตว์เฉพาะถิ่น แต่ก็เป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตแผ่นดินไหว
ขณะที่บริษัทหัวนึง อ้างว่าเขื่อนจะสร้างความมั่งคั่งให้แก่พื้นที่ซึ่งยากจนแห่งนี้ แต่ชาวบ้านทิเบตซึ่งอาจถูกจับกุมหรือประหารได้ทุกเมื่อหากคัดค้าน กลับลุกขึ้นมาร้องขอให้ผู้นำที่ปักกิ่งหยุดโครงการ
ช่วงที่ผ่านมาผลประโยชน์ทางธุรกิจของราชวงศ์การเมืองจีนได้ถูกคัดค้านมากขึ้นเรื่อยๆ   จะเห็นได้ว่าญาติของอดีตประธานาธิปดีเจียง เจ๋อ หมิง คุมธุรกิจการสื่อสาร ส่วนหลี่เผิงก็มีบทบาทสำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมพลังงาน
แม้ว่าหลี่เผิงจะเกษียณอายุในปีนี้ แต่ยังคงทรงอิทธิพลในธุรกิจโครงข่ายพลังงานของประเทศอันเป็นแหล่งรายได้มหาศาล ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงระเบียบและการแปรรูปกิจการพลังงานของจีน เชื่อว่าภรรยาของหลี่เผิงเป็นผู้คุมสาขาต่างๆ ของบริษัทหัวนึง ขณะที่ลูกสาวเป็นรองประธานแผนกการลงทุนต่างประเทศและการเงินของบริษัทไชน่า พาวเวอร์ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานอีกแห่งของจีน ส่วน Gao Yan ซึ่งเป็นผู้ติดตามของหลี่เผิง เป็นผู้นำบริษัทสเตท พาวเวอร์ คอร์ป ปัจจุบันเชื่อว่าหนีออกนอกประเทศเมื่อปีก่อนเพื่อเลี่ยงการสืบสวนคดีทุจริต
แผนสร้างเขื่อนแห่งนี้ของบริษัทหัวนึงได้รับอนุมัติจากหน่วยคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐเมื่อปี ๒๕๔๔ หลังจากถูกปฏิเสธมาแล้วถึงสองรัฐบาล
เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า “บริษัทหัวนึงมีอำนาจมาก บารมีทางการเมืองล้นเหลือ ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนกล้าออกมาปฏิเสธ”
แม้ว่ารายละเอียดโครงการจะถูกปิดเป็นความลับ แต่คาดว่าพื้นที่ซึ่งจะต้องจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ชั้นหนึ่ง นอกจากนี้เป็นไปได้ว่าบริษัทหัวนึงมีแผนจะสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งเชื่อมต่อกัน
ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการไม่มีเวทีปรึกษาหารือใดๆ กับชาวบ้านผู้จะต้องเดือดร้อนจากเขื่อน

คณะกรรมการเขื่อนโลก ซึ่งศึกษาเขื่อนทั่วโลกในทุกแง่มุม ระบุในรายงาน “เขื่อนกับการพัฒนา” ว่า “ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจมีแนวโน้มที่จะเลือกโครงการก่อสร้าง ขนาดใหญ่เพราะเป็นช่องทางที่จะหาผลประโยชน์เข้าสู่ตัวเองตัวเองมากกว่าที่ละเลือกโครงการขนาดเล็ก หรือทางเลือกในการจัดการพลังงานและน้ำต่างๆ ที่หลากหลาย” และคณะกรรมการฯ พบว่า “พลังอิทธิพลของผลประโยชน์และความขัดแย้งในด้านผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ยังผลให้เขื่อนจำนวนมากไม่ได้สร้างจากข้อมูลและการประเมินที่เป็นกลาง”

ข้อมูลทั้งหมดนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า เหตุผลในการดำเนินโครงการต่างๆ ด้านพลังงาน ไม่ได้เป็นเรื่องของความจำเป็นทางด้านพลังงานหรือสวัสดิการทางสังคมเพื่อความผาสุกของ ประชาชนอย่างที่เข้าใจกัน แต่คือเรื่องการเมืองของผลประโยชน์ธุรกิจ และกรณีนี้ทำให้สังคมไทยต้องจับตามองโครงการด้านพลังงานในอาเซียน ซึ่งดูเหมือนจะอยู่ใต้อิทธิพลของยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งโครงการเหล่านี้ยังคำนึงถึงเฉพาะผลตอบแทนและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น โดยไม่เคยเอ่ยถึงประชาชนรากหญ้านับล้านคนที่พึ่งพิงลำน้ำตลอดสาย
นับแต่นี้ต่อไป สังคมไทยจะต้องติดตามบทบาทและเบื้องหลังของนโยบายพลังงานและ โครงการยักษ์ต่างๆ ว่าที่แท้จริงแล้วโครงการเหล่านี้ เป็นไปเพื่อประชาชน หรือเพื่อกำไรและอำนาจของคนเพียงบางกลุ่ม

บรรยายภาพ
๑ เมื่อนักพัฒนาและกลุ่มทุนวางแผนโครงการพัฒนา ชีวิตและลมหายใจของคนท้องถิ่นมักจะถูกละเลย
๒ เขื่อนเซี่ยวหวาน กำลังก่อสร้างบนน้ำโขงในยูนนาน ประเทศจีน ต้องอพยพประชาชนถึงกว่า ๓ หมื่นคน

หมายเหตุ: ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก Plan for Tibet dam sets off protest โดย Adam Luck ตีพิมพ์ใน London Sunday Telegraph วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๖

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา