eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

สืบชะตาแม่น้ำโขง ต่อชีวิตลำน้ำเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

มติชนรายวัน 21 มกราคม พ.ศ. 2550
โดย สุมาตร ภูลายยาว โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่จีนเริ่มสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบน และระเบิดแก่งปรับปรุงร่องเพื่อเปลี่ยนทิศทางของแม่น้ำรองรับเรือขนสินค้าขนาดใหญ่ โดยหวังว่าจะควบคุมแม่น้ำให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของมนุษย์ แม่น้ำโขงก็เริ่มเดินทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ท่ามกลางความเยือกเย็นของฤดูหนาวต้นปี 2550 แม่น้ำโขงได้เผชิญความเปลี่ยนแปลงอันแสนสาหัส ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ระดับน้ำขึ้น-ลงไม่เป็นปกติ น้ำขึ้น 3 วันลง 2 วัน ซึ่งความจริงในฤดูหนาวน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงฤดูแล้ง หลังจากนั้นพอเข้าสู่ฤดูฝน น้ำในแม่น้ำโขงก็จะกลับมาปริ่มฝั่งเหมือนเดิม การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำภายใต้เงื่อนไขที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศอย่างปฏิเสธไม่ได้ เมื่อระบบนิเวศปลี่ยนแปลง ปลาที่คนหาปลาเคยหาได้จำนวนมากก็ลดจำนวนลง ปลาบางชนิด เช่น ปลาเลิมก็จับไม่ได้มาหลายปี

อาศัยความเป็นจริงในเรื่องนี้ ชาวบ้านห้วยลึก อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย หมู่บ้านสุดท้ายทางภาคเหนือของประเทศไทยที่แม่น้ำโขงไหลผ่านก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลเข้าสู่ประเทศลาว จึงได้ร่วมกันจัดตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาความยาวกว่า 300 เมตร ขึ้นในปี 2549 เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งปลาจะกลับมาให้พอเพียงต่อความต้องการอีกครั้ง การจัดตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาไม่ได้เป็นกิจกรรมเดียวที่ชุมชนห้วยลึกได้ร่วมกันกระทำ เพราะในวันที่ 1 มกราคม 2550 อันเป็นวันเริ่มต้นของปี พ.ศ.ใหม่ ชาวห้วยลึกยังได้ร่วมกันจัดพิธีสืบชะตาแม่น้ำโขงขึ้นตรงท่าเรือบริเวณจุดผ่านแดนชั่วคราวท้ายหมู่บ้าน

ตะวันสายเริ่มทอแสงลอดสายหมอกลงมา อากาศหนาวเหน็บ แต่คนมาร่วมพิธีทั้งผู้เฒ่า เด็ก คนหนุ่มคนสาวที่เดินทางมาร่วงงานก็มากหน้าหลายตา โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านที่ดูจะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะหลังจากเสร็จพิธีแล้วจะมีการขับทุ้ม โดยการขับทุ้มในครั้งนี้เป็นการล่องน้ำไปทางเรือจนถึงแก่งผาได พ่อหลวงหุมเพ็ง ผลดีบอกเล่าให้ฟังถึงชาวบ้านที่มาร่วมพิธีครั้งนี้ว่า "ถ้าชาวบ้านไม่ติดธุระก็จะมากมากกว่านี้ ส่วนหนึ่งก็มาช่วยทำอาหาร ก็แบ่งกันทำ ช่วยกันทำ คิดว่าการจัดพิธีครั้งนี้ มันก็มีผลดีทั้งสองส่วนคือ เราได้สืบชะตาแม่น้ำโขงด้วย ได้ร่วมกันทำบุญในวันขึ้นปีใหม่ด้วย"

ก่อนกำหนดเวลาในการประกอบพิธีกรรมมาถึง พ่อเฒ่าพันธ์ กันยาเดช แก่วัดผู้นำพิธีกรรมทางศาสนาได้เล่าให้ฟังถึงการทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำในครั้งนี้ว่า "ตามความเชื่อของคนล้านนาบอกไว้ว่าการกระทำใดๆ ก็ตามจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจอันก่อให้เกิดความทุกข์แก่สรรพชีวิตต่างๆ หากฝ่าฝืนกระทำจะกลายเป็นความขึดต่อผู้กระทำ "ขึด" หมายถึงการเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงอันนำไปสู่ความวิบัติ ฉิบหาย หายนะ ขึดมีหลายอย่าง เช่น ขุดขยายแม่น้ำออกเป็นสองสาย เปลี่ยนเส้นทางเดินของแม่น้ำใหม่อันนี้ก็ขึด ผู้เฒ่าผู้แก่ห้ามไม่ให้ทำ เพราะมันไม่ดี อย่างตอนนี้จีนทำเขื่อนกับระเบิดหินผาขุดลอกน้ำของ-โขง เปลี่ยนเส้นทางน้ำ อันนี้ก็ขึด พอมันขึด ปลามันก็ไม่ค่อยมี แต่ขึดมันก็มีวิธีแก้ คือแก้ด้วยการถอนขึด อย่างแม่น้ำนี่เราก็มาสืบชะตาแม่น้ำให้ความขึดหายไป เอาไว้แต่ความดี สืบชะตาแม่น้ำเราไม่ได้สืบชะตาน้ำอย่างเดียวเราสืบชะตาปู ปลา ที่มันอยู่ในน้ำด้วย"

หลังจากเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีกรมเสร็จพ่อเฒ่าพันธ์ก็ขอตัวเข้าไปในเต๊นท์พิธี เพื่อนำชาวบ้านสวดมนต์ไหว้พระ และทำพิธีกรรมที่เตรียมการมาตั้งแต่เมื่อวาน...

ตามคติความเชื่อแล้ว ชาวบ้านเชื่อว่าการสืบชะตาแม่น้ำเป็นการแสดงความศรัทธาต่อแม่น้ำกระทำขึ้นเพื่อให้แม่น้ำได้หลุดพ้นการถูกทำลายด้านต่าง โดยเฉพาะจากโครงการพัฒนาอย่างไร้เดียงสา การสืบชะตาแม่น้ำก็เพื่อหวังให้แม่น้ำได้พ้นจากความวิบัติ ฉิบหาย

ในส่วนของพิธีกรรมนั้นนอกจากชาวบ้านจะนำปลา และไก เข้าร่วมในพิธีแล้ว ชาวบ้านยังได้นำไม้ไผ่ที่เป็นไม้ขอและไม้ง่ามเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมด้วย เพราะชาวบ้านมีความเชื่อว่า "ไม้ยาวที่เป็นไม้ขอเป็นไม้ไผ่ยาวขนาดวาพ่อหลวงบ้าน ส่วนไม้ยาวที่เป็นไม้ง่ามเป็นไม้ไผ่ยาวขนาดวาของผู้เฒ่าในหมู่บ้านที่ชาวบ้านให้ความนับถือ ที่ต้องใช้ไม้สองชนิด เพราะไม้ง่ามจะเป็นง่ามที่ยาวขึ้นไปอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีไม้ขอคอยดึงไว้ หากไม้ขอยาวขึ้นไปอย่างเดียวก็ไม่ได้ต้องมีไม้ง่ามคอยดึงไว้เช่นกัน เพื่อให้ไม้ทั้งสองอยู่ระหว่างกึ่งกลางไม่โน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อนำไม้ทั้งสองมาร่วมพิธี ไม้ทั้งสองจะถูกนำมาตั้งค้ำกันไว้ ไม่ให้ล้มไปด้านใดด้านหนึ่ง"

การนำไม้มาค้ำกันไว้มีนัยยะของมันคือ เพื่อไม่ให้ล้ม เช่นกันในพิธีกรรมสืบชะตาแม่น้ำโขงในครั้งนี้ ชาวบ้านก็นำไม้ไผ่มาค้ำกันไว้ เพื่อป้องกัน และร้องขอต่อแถนผู้คุ้มครองแม่น้ำสายนี้ไม่ให้แม่น้ำเกิดความวิบัติ ฉิบหายเหมือนที่แม่น้ำโขงกำลังเผชิญอยู่

เมื่อเสร็จสิ้นพธีกรรมแล้ว พ่อเฒ่าพันธ์ก็นำชาวบ้าน 2 คน เดินลงไปปล่อยปลาที่ท่าน้ำ เพื่อคืนปลาสู่แม่น้ำให้ปลาได้ออกลูกออกหลานสืบต่อเผ่าพันธุ์ของมันต่อไป นอกจากจะปล่อยปลาแล้วพ่อเฒ่าพันธ์ยังเอาจอกไปร่วมปล่อยลงน้ำด้วย พ่อเฒ่าเล่าว่า "ที่ต้องปล่อยจอกไปด้วย เพราะปลามันจะได้มีที่อาศัยหากิน จอกมันจะไปอยู่ตามริมฝั่ง เวลาน้ำพัดมาน้ำก็พัดเอากุ้งตัวเล็กๆ มดปลวกมาด้วย ทั้งกุ้งและมดปลวกที่มากับน้ำนี่เป็นอาหารปลา พอน้ำพัดมามันก็จะมาเกาะตามรากจอกที่อยู่ใต้น้ำ มันเกาะได้ไม่นานหรอก ปลาก็มากิน"

แม้ว่าพิธีกรรมความเชื่อที่ชาวบ้านร่วมกันกระทำขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถ พิสูจน์ทางวิทยาศสาตร์ได้ว่าความสมฤทธิผลของมันมีจริงหรือไม่ แต่การได้ทำกิจกรรมร่วมกันความสามมัคคีของคนในชุมชนก็แน่นแฟ้นอยู่เช่นเดิม

ในปัจจุบันโครงการการพัฒนาต่างๆ ได้ถาโถมลงมาสู่แม่น้ำโขงอย่างหลากหลายต่อเนื่อง ไม่มีใครรู้ได้แน่ชัดว่าคำอธิฐาน และความหวังจากการสืบชะตาให้กับแม่น้ำสายนนี้ได้อุดมสมบูรณ์เป็น แหล่งความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้คน ได้พึ่งพาอาศัยต่อไปจะเป็นจริงเพียงใด แต่ความเชื่อและคำอธิษฐานของผู้คนก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป

ในความเป็นจริง ไม่มีใครได้ปฏิเสธการพัฒนาจนสุดขั้ว แต่หากว่าความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง การพัฒนาควรมีสำนึกบนพื้นฐานของความเคารพต่อธรรมชาติ และศรัทธาในความเชื่อของคนท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย เพราะหากว่ามนุษย์ผู้แสวงหาผลประโยชน์จากการพัฒนาคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ความฉิบหายหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าขึดก็จะเกิดกับบุคคลผู้นั้นอย่างปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา