eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“แม่น้ำโขงหลากท่วมกับความจริงหลังน้ำลด”

สุมาตร ภูลายยาว โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
ตีพิพม์ครั้งแรกหนังสือพิมพ์มติชนวันอาทิตย์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๑

ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคนไทยจำนวนไม่น้อยคงได้ดีใจกับเหรียญทองเหรียญแรกในกีฬาโอลิมปิก แต่ในความดีใจนั้นก็มีความเศร้าใจปะปนมาด้วย และความเศร้าใจก็เดินทางมาพร้อมกับความสูญเสียจำนวนมหาศาลที่คิดเป็นมูลค่าของเงินแล้วไม่ตำกว่า ๑๐๐ ล้านบาท

            ความเศร้าใจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน และที่สวนไร่นาจำนวนมหาศาล ที่บอกว่าเหตุการณ์อันกำลังเกิดขึ้นเป็นความเศร้าใจนั้น เพราะพืชผลทางการเกษตรจำนวนไม่น้อยกำลังอยู่ในช่วงรอการเก็บเกี่ยวผลิต บ้างก็กำลังเริ่มให้ผลผลิต ในจำนวนผู้คนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ดูเหมือนว่าในส่วนของประเทศไทยพื้นที่ที่ความเสียหายเป็นแห่งแรกคืออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และพื้นที่สุดท้ายคืออำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ บางคนคงเกิดคำถามขึ้นมาว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำโขงท่วมครั้งนี้ก่อความเสียหายเป็นวงกว้างมากมายขนาดนี้

            หากมองย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ปรากฏการณ์น้ำโขงหลากท่วมในทุกพื้นที่ริมฝั่งโขงเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนริมฝั่งโขงคือน้ำท่วมใหญ่ในปี ๒๕๐๙ กับปี ๒๕๑๔ และมีอีกหลายครั้งที่เหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ตามริมน้ำโขงทั้งหมด แต่ทุกครั้งที่น้ำโขงหลากท่วมมักจะเกิดขึ้นจากฝนตกลงมาอย่างหนักทั้งในประเทศต้นน้ำ และประเทศท้ายน้ำ

            จากความทรงจำของผู้คนริมฝั่งโขงหลายคนโดยเฉพาะที่อำเภอเชียงคาน อำเภอปากชม จังหวัดเลย และอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย คำบอกเล่าของชาวบ้านต่างเป็นคำบอกเล่าเดียวกันคือ น้ำท่วมในปี ๒๕๐๙ และในปีอื่นๆ จะมาจากฝนตกหนัก ที่สำคัญคือน้ำจะท่วมมาจากต้นน้ำของแม่น้ำสาขา ก่อนจะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำโขงที่หนุนสูงขึ้น จากนั้นน้ำก็เอ่อท่วมเป็นรัศมีวงกว้างออกไป

พ่อสงคราม อินทะปัญญา ชาวบ้านปากเนียม อำเภอปากชม จังหวัดเลยได้บอกเล่าเรื่องน้ำท่วมในปี ๒๕๐๙ ให้ฟังว่า “ในปี ๐๙ นี่น้ำมันจะท่วมมาจากห้วยก่อน เพราะฝนตกหลายวัน อย่างน้ำเลยก็มาจากภูหลวงแล้วท่วมเมืองเลยก่อน ต้นน้ำมันท่วมก่อน จากน้ำก็ไหลออกมาท่วมหมู่บ้านตรงปากน้ำที่ติดแม่น้ำโขง น้ำจากแม่น้ำโขงเริ่มหนุนสูงก็กลายเป็นว่าน้ำท่วมใหญ่เลย”

แล้วน้ำที่ท่วมในอีก ๔๒ ปีต่อมา (ปี ๒๕๕๑) หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปี ๒๕๐๙ แตกต่างกันอย่างไร?จากการประมวลบทสรุปของหลายพื้นที่พบข้อสังเกตบางประการถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะข้อสรุปของนายบูรฉัตร บัวสุวรรณ เจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ระบุว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากฝนตกหนักที่ส่งผลมาจากร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านหลายประเทศโดยเฉพาะทางตอนใต้ของจีน ลาว เวียดนาม รวมทั้งภาคเหนือของไทย

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา พบฝนสะสมในปริมาณมากจนเสี่ยงต่อสภาวะน้ำท่วมกระจายในตอนบนของแม่น้ำโขง ซึ่งยืนยันว่าระดับน้ำโขงที่สูงผิดปกติในครั้งนี้ มาจากปริมาณฝนที่มีมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพบว่าระดับน้ำที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะลดระดับต่ำลงอย่างรวดเร็ว แต่หากเป็นการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน ระดับน้ำต้องทรงตัวอยู่หลายวัน ไม่ใช่ลดแบบฮวบฮาบแบบที่เกิดขึ้น (สำนักข่าวไทย ๑๙ ส.ค. ๕๑) และจากแถลงการณ์ของ MRC เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคมระบุว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากพายุเขตร้อนคามูริ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และน้ำโขงที่เวียงจัน ๕๐ % มาจากจีน ที่เหลือมาจากน้ำสาขา และระบุอย่างชัดเจนว่าระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นมิได้เกิดจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน ซึ่งมีปริมาณกักเก็บน้ำน้อยเกินกว่าจะสร้างผลกระทบต่ออุทกวิทยาในแม่น้ำโขง

แต่ดูเหมือนว่าข้อมูลต่างๆ ที่มีออกมาจาก MRC นั้นจะสวนทางกับข้อเท็จจริงหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของปริมาณน้ำฝน เพราะชาวบ้านที่อยู่ในริมฝั่งโขงหลายพื้นที่ได้ให้ข้อมูลตรงกันว่า ฝนที่ตกนั้นไม่ได้ตกลงมากแม้จะมีพายุ และฝนตกขนาดนี้ไม่สวามารถทำให้น้ำท่วมได้ แต่น้ำท่วมในครั้งนี้เกิดจากน้ำในแม่น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่ง และไหลเข้าท่วมไปตามพื้นที่ต่างๆ ตามริมแม่น้ำโขง และไหลเข้าไปในแม่น้ำสาขา ลำห้วยสาขาทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง

นอกจากชาวบ้านในหลายพื้นที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันเกี่ยวเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้มาจากแม่น้ำโขงเอ่อท่วมเป็นสำคัญ เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงยังได้ออกแถลงการณ์โต้แย้งพร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตบางประการถึงเหตุผลที่ MRC ให้มาเกี่ยวกับปริมาณน้ำ และระบบเตือนภัยเรื่องน้ำท่วมที่ใช้ไม่ได้จริง โดยในแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงได้ระบุว่า MRC เป็นตัวแทนของหน่วยงานรัฐบาล ๔ ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ไม่มีหน้าที่แก้ตัวแทนเขื่อนจีน แต่ควรประสานงานกับเครือข่ายสถานีวัดน้ำ โดยเฉพาะสถานีจิ่งหง และแจ้งเตือนภัยแก่สาธารณะทันที ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา MRC ทำเพียงประกาศเตือนภัยทางเว็บไซต์ จึงกล่าวได้ว่า MRC มีข้อมูลระดับน้ำและตระหนักดีว่า น้ำจากแม่น้ำโขงตอนบนในจีนจะหลากท่วมพื้นที่ตอนล่าง แต่กลับไม่ประกาศต่อสาธารณะผ่านสื่อต่างๆ ให้ประชาชนทั่วไปได้เตรียมตัวป้องกันความเสียหาย นับตั้งแต่มีเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงในปี ๒๕๓๙ จีนได้กล่าวอ้างมาโดยตลอดว่า เขื่อนในจีนจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน แต่อุทกภัยที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำโขงสายหลัก มิได้มาจากน้ำสาขาในไทยหรือลาว ตรงกับที่หนังสือพิมพ์เซียงไฮ้เดลี่ วันที่ ๑๓ สิงหาคม รายงานข่าวความเสียหายจากพายุในมณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำโขง รายงานข่าวระบุว่าประชาชนกว่า ๑, ๒๕๐, ๐๐๐ คน ใน ๑๑ เมือง ได้รับความเดือดร้อน มีผู้เสียชีวิต ๔๐ คน แม้แต่ในประเทศตัวเองแท้ๆ คำพูดที่จีนกล่าวอ้างต่อสาธารณะว่า เขื่อนจะช่วยป้องกันน้ำท่วมก็ไม่ได้เป็นความจริงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

นี่คือความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของระบบเตือนภัย...

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงชี้ให้เห็นว่า ปริมาณน้ำจากตอนบนในจีน มีนัยยะสำคัญต่อปริมาณน้ำและอุทกวิทยาในแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย แต่ระบบเตือนภัยที่มีอยู่นั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

นอกจากออกแถลงการณ์ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้แล้วทางเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงยังได้มีข้อเรียกร้องเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง จึงขอเรียกร้องให้ MRC ตอบคำถามของสาธารณะ ว่าปริมาณน้ำจากทางตอนบน โดยเฉพาะจากเขื่อน ๓ แห่งในจีน จะสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ใดบ้าง รวมถึงข้อมูลระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำตั้งแต่เขื่อนม่านวาน เขื่อนต้าเฉาซาน และเขื่อนจิ่งหง ทั้งนี้เพื่อให้มีการเตรียมการป้องกันภัยได้อย่างทันท่วงที และเพื่อเป็นการพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของ MRC เรื่องมีการแจ้งเตือนจากจีนมาก่อนหน้า มิเช่นนั้นจะเป็นเพียงการกล่าวอ้างที่ปราศจากหลักฐานข้อเท็จจริงรองรับ

แถลงการณ์ของ MRC หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามว่าเขื่อนในจีนได้มีบทบาทอย่างไรต่อสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ การกล่าวเพียงว่า อ่างเก็บน้ำของเขื่อนในจีนมีความจุน้อยเกินไปที่จะควบคุมอุทกวิทยาของน้ำโขงตอนล่าง เป็นการพูดที่น่าอับอายมากที่สุด บนความพิบัติและความเดือดร้อนของประชาชนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างในขณะนี้

เหตุการณ์น้ำโขงท่วมในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๑ คงจะเป็นบทเรียนให้ผู้คนในประเทศลุ่มน้ำโขงได้เรียนรู้ร่วมกันว่า ความจริงหลังน้ำลดที่ต้องรีบทำคือ ทุกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต้องแสวงหาแนวทางในการจัดการน้ำ การบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งการแจ้งเตือนภัยเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดฝนตกหนัก และนำไปสู่สภาวะน้ำท่วม การแก้ไขปัญหาต้องไปภาระของประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหมดไม่ใช่เป็นภาระของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป

 การแสวงหาแนวทางในการทำงานร่วมกันในระยะยาวจะเกิดขึ้นได้ก็คงต้องพึ่งพิงการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ทั้งในระดับนโยบาย และประชาชน เพื่อก้าวไปสู่การวางรากฐานแนวทางในการที่จะให้ผู้คนในประเทศลุ่มน้ำโขงได้อยู่ร่วมกัน และใช้แม่น้ำโขงร่วมกันอย่างสันติอันตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน เพราะไม่ว่าเราจะเป็นพลเมืองของประเทศใดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เราล้วนต้องได้ร่วมชะตากรรมที่เกิดขึ้นอันเดียวกัน เพราะเหตุการณ์น้ำโขงท่วมครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น...

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา