eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

บุญประเพณีผีขนน้ำบ้านนาซ่าว

โดย จันทรา ใจคำมี
โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต

            บ้านนาซ่าว ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขงตอนล่างของไทย มีวัฒนธรรมประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธุ์กับน้ำโดยเฉพาะแม่น้ำโขงที่เปรียบดังเส้นเลือดใหญ่ของคนลุ่มน้ำโขง

            ประเพณีผีขนน้ำ ได้ถือกำเนิดขึ้นที่บ้านนาซ่าวแห่งนี้ ซึ่งเป็นการละเล่นที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ในเทศกาลบุญเดือน ๖  (พฤษภาคม) ของทุกปี จัดขึ้นหลังวันวิสาขบูชาระหว่างวันแรม ๑-๓ ค่ำ ในเดือน ๖ ของชาวอีสาน

            จากการได้พูดคุยกับคุณยายจันดี คำบุญยอ ร่างทรงของเจ้าพ่อแสนเมือง ซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ โดยเรียกว่า “เจ้าปู่” และมีความเชื่อว่าเจ้าพ่อแสนเมืองเป็นผีที่คอยปกปักรักษาชาวบ้านทั้งวิถีการดำเนินชีวิต วิถีการทำมาหากิน หากชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องใดก็จะมาขอความช่วยเหลือจากเจ้าพ่อแสนเมืองโดยผ่านร่างของคุณยายจันดี คำบุญยอ แม่เฒ่าวัย ๘๕ ปี อยู่เสมอ

            คุณยายจันดี เล่าให้ฟังว่า “การละเล่นผีขนน้ำ แต่ก่อนเรียก “นางหน้างาม” เป็นคำเรียกประชดประชัน หน้ากากที่ชาวบ้านทำขึ้นที่มีลักษณะน่าเกลียดน่ากลัว และแต่งตัวรุ่มร่าม เพื่อให้ผู้พบเห็นหรือเด็ก ๆ เกิดความกลัว และแต่งตัวใส่หน้ากากให้มีลักษณะคล้ายกับวัว ควาย ซึ่งถือเป็นตัวแทนของวิญญาณ “ผีขนน้ำ” หรือผีของ วัว ควาย ต่อมาอีกช่วงเวลาหนึ่งชาวบ้านก็ได้ผันมาเรียกชื่อ “ผีขน” ซึ่งมาจากความเชื่อที่เล่าสืบต่อกันมาว่า “ผีขน” เป็นวิญญาณของสัตว์จำพวก วัว ควาย ที่ตายไปแล้ว แต่วิญญาณล่องลอยวนเวียนอยู่ตามบริเวณที่เคยอาศัยกินหญ้าเมื่อตอนมีชีวิตอยู่ เช่น ห้วย หนอง แม่น้ำ เมื่อชาวบ้านไปตักน้ำมาใช้ หรือลงอาบน้ำบริเวณนั้น วิญญาณของสัตว์เหล่านั้นจึงตามคนเข้ามาในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านจะได้ยินแต่เสียงกระดึงหรือกระดิ่ง แต่ไม่เห็นตัวตน จึงเรียกว่า “ผีขนวัว” บ้างก็เรียก “ผีขนควาย” ซึ่งชาวบ้านได้ใช้จินตนาการในการจัดแต่งเครื่องแต่งกายที่ใช้เศษผ้ามาตัดเย็บคล้ายขนวัว ควาย และทำหน้ากากคล้ายวัว ควาย มีเขาและนำเศษผ้ามาติดประดับให้แลดูน่าสนใจอีกด้วย

            ความเชื่ออีกนัยยะหนึ่ง ชาวบ้านเชื่อว่า “ การละเล่นผีขนน้ำเป็นประจำทุกเดือน ๖ ของทุกปี ช่วยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จึงเรียกว่า “ผีขนน้ำ” เพราะได้ขนน้ำจากฟ้ามาให้ชาวบ้านได้ใช้เพาะปลูกข้าวและพืชผลทางการเกษตร

            จากความเชื่อทั้งสองนัยยะดังกล่าวข้างต้น ชาวบ้านจึงได้คิดค้นการละเล่นพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของคนนาซ่าวขึ้น คือ การละเล่นผีขนน้ำ ที่ได้สืยทอดกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นการละเล่นประกอบในพิธีกรรม “เลี้ยงบ้าน” หรือ”เลี้ยงผีปู่ตา”           การเลี้ยงบ้านหรือเลี้ยงผีปู่ตา เป็นพิธีกรรมที่ทำเพื่อบอกกล่าวปู่ตา หรือเจ้าปู่ ผีผู้รักษาภูมิบ้าน ให้ดูแลชาวบ้านเมื่อลงทำนา ทำไร่ และเพื่อแสดงความเคารพนับถือและตอบแทนบุญคุณที่ผีเจ้าปู่หรือผีปู่ตา ซึ่งก็คือเจ้าพ่อแสนเมือง  ที่คอยดูแลคุ้มครองให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุขมาโดยตลอด อีกทั้งยังช่วยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชผลในไร่นาอุดมสมบูรณืให้ผลผลิตดี

            พิธีเลี้ยงบ้านหรือเลี้ยงผีปู่ตานั้น ชาวบ้านจะประกอบพิธีกรรมสองช่วงเวลาคือ ประกอบพิธี “”เลี้ยงเข้า” คือ การเซ่นไหว้บูชา หรือบวงสรวงในวันพฤหัสบดี ของเดือน ๖ ก่อนฤดูการทำนา ทำไร่ ซึ่งถือเป็นการบอกกล่าวหรือบนบานให้ปู่ตา ช่วยคุ้มครองดูแลชาวบ้าน และรักษาพืชสวนไร่นา ให้มีความอุดมบูรณ์ ได้ผลผลิตดี

อีกช่วงเวลาหนึ่งคือ “การเลี้ยงออก” ชาวบ้านจะประกอบพิธีกรรมในวันพฤหัสบดีของเดือนอ้ายหรือเดือน ๑ หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรเรียบร้อยแล้ว เป็นการเลี้ยงเพื่อระลึกถึงบุญคุณ ของผีปู่ตา ที่ช่วยปกป้องดูแลพืชสวนไร่นาตลอดฤดูกาลในปีนั้น ๆ

            ของเซ่นไหว้หรือของที่ใช้เลี้ยงนั้นชาวบ้านจะนำ วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ สลับสับเปลี่ยนกันไปทุกปี โดยมี “ขจ้ำ” หรือ “ปัวนาง”  คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีเซ่นไหว้ เป็นผู้คอยควบคุมดูและการประกอบพิธีกรรม

            ในวันเลี้ยงยังมีการเชิญเจ้าปู่ลงทรง โดยผ่านร่างทรง มาอวยพรลูกหลานและรับคำของความช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ที่ชาวบ้านเดือดร้อน โดยเมื่อเจ้าปู่รับปากว่าจะช่วยเหลือแล้วชาวได้รับผลตามที่เจ้าปู่ช่วยนั้น หลังจากสมความุ่งมาดปรารถนาแล้วชาวบ้านก็จะนำของมาเซ่นไหว้อีกครั้งหนึ่งเป็นการแก้บน ตามที่ร่างทรงกำหนดวันให้

            ประเพณี “ผีขนน้ำ” เป็นการละเล่นที่ผู้เล่นแต่งกายคล้าย วัว ควาย โดยจัดหาของมาประดับตกแต่งตามร่างกายให้คล้ายกับ ขน วัว ควาย และมีกระดึงหรือกระดิ่งผูกที่คอหรือเอวทางด้านหลังเมื่อขยับเต้นตามจังหวะ ฆ้อง กลอง ฉิ่งฉาบ เป็นจังหวะเพลง ก็จะเกิดเสียงดังเหมือนกับที่ห้อยอยู่บนคอวัว ควาย ที่ชาวบ้าน ผูกไว้เพื่อให้หาเจอวัว ควาย เวลานำออกไปปล่อยกินหญ้าตามทุ่งหรือกลางป่า

            นอกจากนั้นยังเป็นการเสดงออกถึงการให้ความเคารพต่อวัว ควาย ซึ่งถือเป็นสัตว์ที่ทำประโยชน์ให้กับชาวบ้าน โดยใช้ไถ่นาและเทียมเกวียนขนข้าวและผลผลิตทางการเกษตรหลังฤดูเก็บเกี่ยวเข้ามาเก็บไว้ในบ้านเรือน ตลอดไปจนถึงยังเป็นสัตว์ที่ชาวบ้านใช้ในพิธีเซ่นไหว้หรือบวงสรวง เจ้าปู่ ในวันเลี้ยงเข้า เลี้ยงออก อีกด้วย

            การละเล่นผีขนน้ำถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้านนาซ่าว ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ตราบเท่าถึงทุกวันนี้

            ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันจัดตั้งสภาวัฒนธรรมบ้านนาซ่าวขึ้น เพื่ออนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้านผีขนน้ำ ให้เป็นประเพณีเฉพาะของชาวบ้านนาซ่าว โดยมีศูนย์วัฒนธรรมตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านนาซ่าว เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ซึ่งได้นำการละเล่นผีขนน้ำออกแสดงเผยแพร่ตามงานต่าง ๆ เช่น งานออกพรรษา และปัจจุบันได้จัดขึ้นให้ทุกหมู่บ้านในตำบลนาซ่าวได้มีการประกวดขบวนแห่ผีขนน้ำในงานบุญเดือน ๖ ของทุกปีของบ้านนาซ่าว เพื่อให้ชาวบ้านได้มีกิจกรรมร่วมกันและเป็นงานประเพณีที่ให้ผู้สนใจ นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชมทุกปีอีกด้วย

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา