eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เขื่อนปากชม : อีกหนึ่งแท่งปูนยักษ์ค้ำสองฝั่งโขง ไทย – ลาว  

ประสาร มฤคพิทักษ์
ลงพิมพ์ใน สารวุฒิสภา  The Senate Newsletter
ปีที่ ๑๘  ฉบับ ธันวาคม ๒๕๕๓

 “ ตลิ่งของสองข้างทางน้ำของ     แม้ยืนมองดูยังคอตั้งบ่า
เขาหาบน้ำตามขั้นบันไดมา     แต่ตีนท่าลื่นลู่ดังถูเทียน
เหงื่อที่กายไหลโลมลงโซมร่าง    แต่ละย่างตีนยันสั่นถึงเศียร
อันความทุกข์มากมายหลายเล่มเกวียน    ก็วนเวียนอยู่กับของสองฝั่งเอย ”
บทกวีของ “นายผี” (อัศนี  พลจันทร์)

เป็นคำกล่าวเปิดประชุมของผู้เขียนในฐานะประธานอนุกรรมาธิการศึกษาคุณค่าการพัฒนาและผลกระทบในลุ่มน้ำโขง วุฒิสภา เมื่อ ๙.๓๐ น. ของวันอังคารที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓  ณ  ศาลาประชาคม  อ.ปากชม  จ.เลย   ในเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็นประชาชนลุ่มน้ำโขง กรณีโครงการ “เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากชม”  ซึ่งมีผู้ร่วมรับฟังทั้งชาวบ้าน  ภาคราชการ  นักวิชาการ  สื่อมวลชน  มากกว่า ๒๐๐ คน

บทกวี “น้ำของ” ย้ำคุณค่าแห่งการดำรงอยู่ของแม่น้ำโขงที่แนบแน่นกับวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งโขงมายาวนาน  ชวนให้น่าคิดว่า หากวันหนึ่งวันใดในอนาคตมีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงออกเป็นท่อนๆ  อะไรจะเกิดขึ้นกับวิถีชุมชนของชาวบ้านสองฝั่งโขง

“เขื่อนปากชม” เป็นโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงบริเวณเขตชายแดนไทย-ลาว ซึ่งล่าสุด  กระทรวงการต่างประเทศ และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)  มอบหมายให้บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวลลอปเมนท์ และเอเซีย คอร์ป จำกัด ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ “เขื่อนปากชม” ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิต ๑,๐๗๙ เมกะวัตต์ จะตั้งอยู่ระหว่างแนวพรมแดนไทย-ลาว ห่างจากปากแม่น้ำโขง ตรงบ้านห้วยขอบ หมู่ ๓ ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย  และบ้านห้วยหาง เมืองสังทอง แขวงนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว  มีประเด็นที่ควรพิจารณา คือ ความคุ้มค่าของโครงการ  การลงทุน ๖๙,๖๔๑ ล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง ๒๑๐.๑๔ เมกะวัตต์  หลังจากสร้างเขื่อนแล้ว จะมีพื้นที่น้ำท่วมถึง ๓,๗๐๐ ตารางกิโลเมตร กินพื้นที่กว่า ๕๐,๒๑๗ ไร่  จะมีพื้นที่น้ำท่วม ตั้งแต่บ้านคกเว้าหมู่ ๒  บ้านหาดคัมภีร์ หมู่ ๑  บ้านปากมั่ง หมู่ ๕ ต.หาดคัมภีร์   บ้านสงาว หมู่ ๔  บ้านปากเนียม หมู่ ๕ ต.ห้วยพิชัย  และบ้านศรีภูธร หมู่ ๓ ต.ปากชม  และบางส่วนของอำเภอเชียงคาน  ตลอดจน “แก่งคุดคู้” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเลย น้ำจะท่วมทั้งปีจนไม่สามารถเห็น “แก่งคุดคู้” ในฤดูแล้งอีกต่อไป   “ปลาบึก” จะไม่สามารถว่ายผ่านได้อีก  การสร้างบันไดปลาโจนจะไม่เกิดประโยชน์กับการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง  เกิดการสูญเสียอาชีพประมงพื้นบ้านทั้งสองฝั่งโขง

เวทีสาธารณะดังกล่าว ได้รับฟังทัศนะหลากหลายที่ควรค่าแก่การพิจารณา 
ครูตี๋ หรือ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว แห่งกลุ่มรักษ์เชียงของ ชี้ให้เห็นถึงเขื่อนจีน ๓ แห่งที่สร้างขึ้นแล้วในช่วงต้นน้ำโขงว่า

“ตอนที่เขื่อนต้าเฉาชานเกิดขึ้น  คนเชียงของแปลกใจ เพราะเขาพบว่าขณะนี้น้ำขึ้นนั้น อีก ๓ ชั่วโมงต่อมาน้ำลดลงแบบฉับพลัน  ชาวบ้านไปปักเบ็ดดักปลาไว้ กลับมาดูอีกที เหยื่อห้อยต่องแต่งเลย  คิดว่าจะได้ปลา กลับได้นก   ธรรมชาติของปลา เมื่อน้ำใหม่ไหลมา มันจะสวนทางว่ายขึ้นไปวางไข่  พอน้ำขึ้นมาหนึ่งวัน แล้วน้ำลดหายไปสามวัน ปลามันคงสงสัยมากว่ามันจะไปยังไงต่อ  นี่คือวิถีชีวิตของปลาที่เปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากการมีเขื่อน”

อ.สันติภาพ สิริวัฒนไพบูลย์ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ตัวแทนกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม มีความเห็นว่า   “เขี่อนบ้านกุ่ม และเขื่อนปากชม จะผลิตไฟฟ้ารวมกันได้ ๓,๐๐๐ เมกะวัตต์  อิสานทั้งภาคใช้ไฟฟ้าเพียง ๒,๐๐๐ กว่าเมกะวัตต์  เขาผลิตไฟเพื่อคนอื่นใช้ ไม่ใช่เพื่อคนอิสาน”

อ.สันติภาพ ส่งสำเนียงภาษาอิสานบอกกับชาวบ้านว่า   “จีนสร้างเขื่อนไปแล้ว ๔ เขื่อน  จะมีเขื่อนท้ายน้ำ รวมทั้งเขื่อนสองฝั่งไทยอีก ๘ แห่ง  มันกระด้อกระเดี้ยแท้  บั้งไฟพญานาคสิไปขึ้นอยู่หม่องใด๋  ปลาบึกโตซำคน ขึ้นบันไดปลาโจนได้จังได๋”  เป็นคำพูดที่สร้างบรรยากาศครึกครื้นในที่ประชุมได้มาก

ส่วน คุณสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ใน กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา  อธิบายระบบนิเวศแม่น้ำโขงว่า   “น้ำเป็นเพศแม่  ผู้มีคุณทุกอย่างเราเรียกแม่หมด  เช่น แม่น้ำ  แม่ธรณี  แม่คงคา  แม่โพสพ  ต้องปฏิบัติต่อด้วยความคารวะ   เมื่อมีเขื่อน  แม่น้ำจะไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป  เมื่อหิมะละลาย ครูดเอากรวดหินดินทรายไหลมาเป็นระยะทาง ๒,๑๙๘ กิโลเมตรในช่วงต้นน้ำโขงในจีน  ไหลเรื่อยมาถึงชายแดนพม่า ไทย ลาว  มีกิ่งแขนงแม่น้ำสายย่อยๆ มาบรรจบ   มนุษย์ไม่เข้าใจในความพอดีของธรรมชาติ  น้ำต้องบางใส แสงแดดส่องทะลุ จึงเกิดไกสาหร่ายได้  ตะกอนน้ำหลากหลายจากทุกสายน้ำไหลเข้าโขงออกสู่ทะเล  ปากอ่าวตะกอนตก ทำให้กุ้งฝอยเต็มทะเลเพราะสารอาหารอุดม  นี่คือนิเวศลำน้ำโขงที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตตลอดมา”

คุณสุเทพ  เหลี่ยมศิริเจริญ  รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า  “ถ้าจะทำโครงการขนาดใหญ่อย่างเขื่อนปากชมนี้ จะต้องบรรจุไว้ในแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศ (PDP)  ท่านสามารถสอบได้เลยว่า ตอนนี้มีแผนของเขื่อนปากชมไหม  ที่มาวันนี้ ก็เพื่อมารับฟังความคิดเห้นของชาวบ้านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเบื้องต้น  ส่วนถ้าจะถามว่า จะสร้างไหม  ผมตอบตรงนี้เลยครับว่า ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงเกษียณในอีก ๕ ปีข้างหน้า  ไม่สร้างหรอกครับ”

คำชี้แจงของคุณสุเทพ อาจทำให้ชาวบ้านหายใจโล่งขึ้นมาบ้าง  แต่ไม่ได้แปลว่าโครงการนี้จะยุติไปเลย  MOU เซ็นกันไปแล้ว  ภาคเอกชนไทยตั้งท่าดำเนินการแล้ว

นายสมัคร  สุนทรเวช  ในขณะเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี ๒๕๕๑  ได้ประกาศย้ำแล้วย้ำอีกว่า ได้ตกลงกับทางการลาวไปแล้วว่า เขื่อนบ้านกุ่มและเขื่อนปากชมจะต้องสร้างให้ได้

รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรค ๒  ที่บัญญัติถึงสิทธิชุมชนไว้อย่างรัดกุม ว่าโครงการใดที่มีผลกระทบต่อชุมชนจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด ทั้งการทำ EIA/HIA  การเปิดรับฟังความเห็นประชาชน  และการให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นร่วม  ใช้กับโครงการในประเทศไทย  แต่โครงการที่มีลักษณะข้ามพรมแดนเช่นนี้  รัฐบาลจะทำฉันใด  ในเมื่อประชาชนไม่ต้องการเอาวิถีชีวิตชุมชนที่หาอยู่หากินกันได้แบบ “กินอิ่มนอนอุ่น” ไปแลกกับพลังงานไฟฟ้าที่ก่อปัญหาตามมามากมาย

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา