eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เขื่อนไซยะบุรี
จุดความขัดแย้งใหม่ในลุ่มน้ำโขง

อาทิตย์ ธาราคำ
เนชั่นสุดสัปดาห์ 22 เมย. 54

นับเป็นครั้งแรกที่ลาวยอมงัดข้อกับประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดอย่างเวียดนาม กัมพูชา และไทย โดยยืนยันเดินหน้าก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งแรกบนแม่น้ำโขงทางตอนล่างในลาว ขนาด 1,260 เมกกะวัตต์ มูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 19 เมษายน มีการประชุมคณะกรรมการร่วมของคณะกรรมการแม่น้ำโขง หรือ เอ็มอาร์ซี เพื่อพิจารณากรณีโครงการเขื่อนไซยะบุรี ในกลุ่มประเทศสมาชิก อันได้แก่ลาว ไทย กัมพูชา การประชุมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และการตกลง (PNPCA) อันตามข้อตกลงแม่น้ำโขง (1995 Mekong Agreement) ที่ ใช้กับโครงการพัฒนาบนแม่น้ำโขงสายหลักที่อาจส่งผลกระทบข้ามพรมแดน และมีโครงการเขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงการแรกที่ใช้กระบวนการนี้เพื่อแสวงหา ข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มประเทศสมาชิก ที่ใช้แม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรร่วมกัน

ขั้นตอนกระบวนการแจ้งและปรึกษาหารือ กินระยะเวลา 6 เดือน ระหว่างเดือนกันยายน 2553-เมษายน 2554 เริ่มที่ลาวซึ่งเป็นประเทศเจ้าของโครงการยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น รายงานการศึกษาความเป็นไปได้ รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้แก่เอ็มอาร์ซี เพื่อเสนอให้แก่ประเทศสมาชิกพิจารณา ระหว่างนั้นประเทศสมาชิกก็นำข้อมูลไปรับฟังความคิดเห็น (consultations) ของภาคส่วนต่างๆ เพื่อพิจารณา และจัดทำความคิดเห็นของประเทศมาเสนอในที่ประชุมครั้งสุดท้ายเพื่อบรรลุความเห็นชอบร่วมกันว่าจะเดินหน้าดำเนินโครงการตามข้อเสนอหรือไม่ หากจะดำเนินการต้องมีเงื่อนไขอย่างไร

ในที่ประชุมวันที่ 19 เมษายน ที่กรุงเวียงจันทน์ ผู้แทนประเทศทั้งสามต่างแสดงข้อเสนอให้ลาวยืดระยะเวลาพิจารณาตัดสินใจโครงการ และเรียกร้องให้มีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดน เนื่องจากงานศึกษาของผู้เชี่ยวชาญหลายชิ้น รวมถึงรายงานของเอ็มอาร์ซี ต่างระบุตรงกันว่าข้อมูลโครงการไซยะบุรีที่มีอยู่นั้นยังไม่เพียงพอ ทั้งองค์ความรู้ด้านอุทกวิทยาแม่น้ำ พันธุ์ปลา แผ่นดินไหวและความปลอดภัยของเขื่อน และมาตรการบรรเทาผลกระทบ

เวียดนาม ซึ่งนับได้ว่าเป็นมิตรประเทศใกล้ชิดและทรงอิทธิพลกับลาวมากที่สุดได้แสดงท่า ทีกังวลต่อโครงการอย่างยิ่งในประเด็นการขาดข้อมูลและการประเมินผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศท้ายน้ำโดยเฉพาะ ผลกระทบต่อพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ และเรียกร้องให้ชะลอโครงการเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนอื่นๆ บนแม่น้ำโขงออกไปอีก 10 ปี

แม้ประเทศสมาชิกทั้ง 3 จะ ท้วงติงอย่างหนัก แต่ลาวยืนยันว่ากระบวนการนั้นสิ้นสุดลงแล้ว จะไม่มีการขยายเวลา และลาวยังมองว่าผลกระทบข้ามพรมแดนนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น

สุดท้ายการประชุมนัดสำคัญก็ตกลงกันไม่ได้ เอ็มอาร์ซีในฐานะผู้ดำเนินรายการจึงสรุปว่าจำเป็นต้องมีการประชุมกันอีกครั้งในระดับรัฐมนตรี

สำหรับการเคลื่อนไหวของชาวบ้านและภาคประชาสังคม ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการส่งจดหมายหลายฉบับถึงรัฐบาลที่เกี่ยวข้องให้ทบทวน โครงการ โดยเฉพาะรัฐบาลไทย ในฐานะประเทศผู้ลงทุน ซึ่งมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงทุนหลัก ไฟฟ้ากว่าร้อยละ 95 วางแผนส่งขายให้แก่ไทยผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และมีข่าวว่าธนาคารไทย 4 แห่ง จะเป็นผู้ให้เงินกู้ แต่ทางรัฐบาลไทยก็ยังไม่เคยแสดงท่าทีว่าจะสนับสนุนหรือระงับโครงการ มีเพียงมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 เห็นชอบในร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการไซยะบุรี และให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรีกับผู้ลงทุนต่อไป

หนึ่งวันก่อนการประชุมคณะกรรมการร่วมเอ็มอาร์ซี ชาวบ้านจากสภาองค์กรชุมชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง นับตั้งแต่เชียงราย เลย หนองคาย ลงมาจนถึงอุบลราชธานี ได้รวบรวมรายชื่อชาวบ้านกว่า 10,000 ราย ชื่อ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการให้แก่รัฐบาลลาว ที่สถานฑูตลาว และรัฐบาลไทย ผ่านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รวมทั้งบริษัท ช.การช่าง โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า “ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงต่างรู้สึกกังวลใจในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาพวกเราได้รับรู้ถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อน 4 แห่งในประเทศจีนซึ่งกั้นแม่น้ำโขง ที่แม้จะอยู่ห่างไกล แต่ได้สร้างผลกระทบต่อคนลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างชัดเจน   และหากมีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีสำเร็จ เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบกับพี่น้องชาวลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย รวมถึงคนริมฝั่งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง อีกจำนวนมาก 

“ผลกระทบสำคัญคือ การปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลานานาชนิดรวมทั้งปลาบึก   การทำลายระบบนิเวศทั้งระบบของแม่น้ำโขง   การสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมริมฝั่งโขงซึ่งจะกลายเป็นการทำลายความมั่นคงทางอาหารของชุมชน เกิดเป็นภาพใหญ่ในผลกระทบทางเศรษกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ อันเป็นการทำลายวิถีชีวิตของคนริมฝั่งโขงโดยตรง

“จึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนและกลายเป็นประเด็นสร้างความขัดแย้งในภูมิภาค พวกเราคาดหวังว่าท่านจะไม่คำนึงถึงผลประโยชน์เชิงธุรกิจของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยทำลายวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงกว่า 60 ล้านคน ที่สำคัญคือควรเคารพภูมินิเวศ-วัฒนธรรมของชุมชน เพื่อให้สังคมสุวรรณภูมิอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขต่อไป”

นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้ยื่นหนังสือต่อดร.ศรีประภา เพชรมีศรี กรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน เพื่อให้พิจารณากรณีเขื่อนไซยะบุรีในฐานะโครงการที่อาจละเมิดสิทธิชุมชนใน ระดับภูมิภาค โดยดร.ศรีประภา กล่าวว่าตนจะนำเรื่องนี้ไปหารือกันซึ่งเชื่อว่าผู้แทนเวียดนามเองก็ไม่สบาย ใจในเรื่องนี้เพราะได้รับผลกระทบเนื่องจากอยู่ท้ายน้ำ และเรื่องนี้ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิไปแล้วอย่างน้อย 3 ประการคือสิทธิในการดำรงชีวิตซึ่งทั้ง 4 ประเทศ มีกติการ่วมกัน สิทธิในข้อมูลข่าวสารแม้ประเทศไทยจะได้รับข้อมูลข่าวสารมากกว่าประเทศอื่น แต่ก็ไม่ได้ทำให้มีส่วนร่วมมากนัก และเรื่องนี้เป็นเรื่องข้ามพรมแดน

การเคลื่อนไหวออกมาคัดค้านของชาวบ้านริมน้ำโขงในครั้งนี้โดยการตีกลองสะบัดชัย หน้าสถานทูตลาวและหน้าบริษัทช.การช่างครั้งนี้ ถือว่าน่าสนใจมาก แม้การยื่นหนังสือหน้าบริเวณสถานทูตลาวจะเต็มไปด้วยท่าทีประนีประนอมและ “ยั้งไมตรี” ในฐานะคนสายเลือดเดียวกัน แต่ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการยกพลแสดงความกังวลใจในนโยบายของรัฐบาลต่อกรณีแม่น้ำโขงอย่างโจ่งแจ้ง เช่นเดียวกับการประท้วงบริเวณตึกสูงใหญ่หน้าที่ทำการของบริษัท ช. การช่าง ซึ่งถือว่าเป็นสะท้อนความไม่พอใจต่อทุนขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลของประเทศเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 4 แห่งที่สนับสนุนเงินลงทุนในโครงการก่อสร้างเขื่อนครั้งนี้ก็ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ไม่น้อย ชาวบ้านถึงขนาดขู่ว่าหากผู้บริหารธนาคารยังคงสนับสนุนให้เงินกู้ครั้งนี้ จะมีการรณรงค์ให้ประชาชนคว่ำบาตรการใช้บริการธนาคารทั้ง 4 แห่ง เพราะถือว่าให้การสนับสนุนโครงการที่ทำลายวิถีชีวิต วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

ที่น่าสนใจคือโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีครั้งนี้ ถือว่าเป็น 1 ในหลายร้อยโครงการ ที่ทุนจากประเทศไทยเข้าไปตักตวงทรัพยากรจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีการพูดกันมากถึงจริยธรรมและคุณธรรมของนักลงทุน ดังนั้นการที่ภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญ ที่ส่งไปยังนักลงทุนข้ามชาติ ว่าจะใช้วิธีการเดิมๆในสมคบคิดระหว่างผู้บริหารประเทศและนักลงทุนอย่างเดียว ไม่ได้อีกแล้ว

ยิ่งทรัพยากรธรรมชาติแหล่งนั้นเป็นของคนในหลายประเทศ การจะคิดและทำอะไร จึงมิใช่แค่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

 --- ล้อมกรอบ ---

ท่าทีประเทศลุ่มน้ำโขงต่อกรณีเขื่อนไซยะบุรี

ลาว     กระบวนการปรึกษาหารือสิ้นสุดลงแล้ว หากขยายเวลาเพื่อทำการศึกษาเพิ่มเติมก็จะใช้เวลาอีกนาน 6 เดือนก็ไม่พอ และคงไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพอใจได้ทั้งหมด

ไทย      ควร มีมาตรการเตือนภัยและการบรรเทาผลกระทบ เพื่อป้องกันปัญหาทั้งสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะวิถีชีวิตของชาวบ้านที่พึ่งพาแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังมีคำถามต่อความยั่งยืนของโครงการเขื่อน และพบว่าระยะเวลาของกระบวนการปรึกษาหารือยังไม่เพียงพอ ข้อกังวลต่างๆ ที่เสนอมาโดยสาธารณะควรนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบ

กัมพูชา ควร ขยายเวลาเพื่อให้ประเทศเจ้าของโครงการและผู้พัฒนาโครงการตอบประเด็นคำถาม ต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน และเพื่อให้การปรึกษาหารือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในกลุ่มประเทศสมาชิก และสาธารณะ  ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างรอบด้านโดย เฉพาะประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดน ต้องมีการวางมาตรการบรรเทาผลกระทบ ตลอดจนการแบ่งปันผลกระโยชน์ให้แก่ประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ตั้งกองทุน 

เวียดนาม กังวลอย่างยิ่งต่อการศึกษาที่ไม่รอบด้านเพียงพอ โดยเฉพาะผลกระทบระยะยาวต่อท้ายน้ำและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เสนอให้ชะลอโครงการเขื่อนทั้งหมดอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีให้ประเทศสมาชิกสามารถทำการศึกษาเพิ่มเติมอย่างรอบด้าน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา