eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

รัฐบาลลาวระงับเขื่อนไซยะบุรี
ภาคประชาชนลุ่มน้ำโขงยังไม่หยุดเคลื่อนไหว

อาทิตย์ ธาราคำ
เนชั้นสุดสัปดาห์ 20 พค. 2554

โครงการเขื่อนไซยะบุรีมูลค่ากว่าแสนล้านมีอันต้องชะงัก เมื่อสัปดาห์ก่อนรัฐบาลลาวประกาศระงับโครงการ “ชั่วคราว” เพื่อทำการศึกษาเพิ่มเติมในข้อกังวลต่างๆ ที่ถูกทักท้วงโดยประเทศเพื่อนบ้าน

หลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงจาร์กาตาร์ อินโดนีเซีย สื่อหลายแขนงของเวียดนาม รวมทั้งสื่อของรัฐบาล ต่างออกข่าวว่านายกรัฐมนตรีเวียดนามได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีของลาวและทางลาวแจ้งว่าได้ระงับโครงการเขื่อนไซยะบุรี โดยจะว่าจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศเพื่อศึกษาข้อมูลโดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือนถึง1 ปี
           
            เขื่อนไซยะบุรีซึ่งเป็นโครงการกั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตไฟฟ้า ลงทุนโดยโดยบริษัท ช. การช่าง มีบริษัท ปตท. ร่วมถือหุ้น ซึ่งพลังงานกว่า 90 % วางแผนส่งขายให้แก่ไทย กลายเป็นประเด็นร้อนระดับภูมิภาคและนานาชาติ เนื่องจากผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงนั้นจะรุนแรงและส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายล้านคนตลอดทั้งลุ่มน้ำ ตั้งแต่ลาว ภาคเหนือและอีสานของไทย เขมร เรื่อยไปจนถึงปากแม่น้ำที่เวียดนาม

            ก่อนหน้านี้รัฐบาล 3 ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือเอ็มอาร์ซี ต่างทักท้วงการเดินหน้าโครงการของรัฐบาลลาว โดยรัฐบาลเวียดนามมีท่าทีแข็งกร้าวที่สุดเสนอให้หยุดโครงการอย่างน้อย 10 ปีจนที่ประชุมหาข้อยุติไม่ได้และต้องนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกันอีกครั้งในระดับรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะจัดประชุมหารือเรื่องนี้อีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคม

            ทางด้านชาวบ้านก็มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การยื่นหนังสือถึงรัฐบาลไทยให้หยุดรับซื้อไฟฟ้า ได้ยื่นจดหมายให้รัฐบาลลาวให้ระงับโครงการ และประท้วงที่สำนักงานใหญ่บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน)จนกระทั่งธนาคารไทยพาณิชย์ 1ใน 4 ธนาคารไทยที่จะให้เงินกู้แก่โครงการเขื่อนไซยะบุรีมีท่าทีจะระงับการให้เงินกู้ดังกล่าวแก่บริษัท ช.การช่าง

            เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเครือข่ายชาวบ้าน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง นับตั้งแต่เชียงราย เลย หนองคาย ไปจนถึงอุบลราชธานี ได้จัดเวทีประชุมเครือข่ายที่อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อวางแนวทางรณรงค์ปกป้องแม่น้ำโขงและคัดค้านโครงการเขื่อนไซยะบุรีและโครงการเขื่อนอื่นๆ บนแม่น้ำโขง

ในเวทีดังกล่าว นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว แกนนำเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดกล่าวว่า จะมีการติดป้ายหยุดเขื่อนแม่น้ำโขงทั้ง 8 จังหวัดโดยติดทุกท่าน้ำบนแม่น้ำโขงพรมแดนไทย-ลาวจากเชียงรายไปถึงอุบลราชธานี เพื่อให้ประชาชนลาวได้รับรู้ถึงเจตณารมณ์และร่วมพลัง ซึ่งจากการไปรณรงค์ที่หน้าสถานทูตลาวและบริษัทช.การช่าง ทำให้เห็นช่องทางว่าสามารถรณรงค์ให้หยุดเขื่อนไซยะบุรีได้ โดยเฉพาะรัฐบาลเวียดนามก็ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ดังนั้นเครือข่ายจะทำหนังสือชมเชยรัฐบาลเวียดนามผ่านสถานทูต นอกจากนี้จะทำหนังสือชมเชยธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งจะถอนตัวจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี นอกจากนี้เครือข่ายยังเตรียมรวบรวมรายชื่อชาวบ้านเพื่อร่วมกันฟ้องศาลปกครอง หากรัฐบาลไทยโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี

นายนิวัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้ชี้ให้เห็นว่าขบวนการชาวบ้านลุ่มน้ำโขงมีพลังพอในการคัดค้านการสร้างเขื่อน ซึ่งหากเขื่อนไซยะบุรีล้ม โครงการสร้างเขื่อนอื่นๆก็ต้องล้ม

ทางเครือข่ายยังได้ปรึกษากับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยเห็นตรงกันว่า จะมีการจัดประชุมภาคประชาชนในลุ่มน้ำโขงของประเทศต่างๆ ทั้ง 6 ประเทศ เพื่อนำเสียงของประชาชนขึ้นมาให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจได้รับฟัง

ในเวทีเดียวกัน นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า การที่โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีมีแรงต้านจากรัฐบาลเวียดนาม ไทยและกัมพูชา เหตุผลสำคัญคือเกิดจากความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ซึ่งแรกที่เดียวรัฐบาลไทยก็ทำท่าสนับสนุนเพราะได้ไฟฟ้า

ต่อมาในวันที่ 15  พฤษภาคม ที่บริเวณคอนผีหลง ริมแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ชาวบ้าน 8 จังหวัดภาคเหนือและอีสาน รวมทั้งชาวบ้านจากฝั่งลาว ได้ร่วมกันจัดพิธีสืบชะตาแม่น้ำโขงและบวชวังสงวน เพื่อประกาศเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาบนแม่น้ำโขง โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 200 คน ซึ่งเป็นสัญลักษ์แสดงถึงเจตจำนงค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรแม่น้ำโขงของชุมชน

นอกจากความเคลื่อนไหวของชาวบ้านแล้ว องค์กรสิ่งแวดล้อมหลายแห่งก็ได้ตั้งข้อสังเกตต่อรัฐบาลลาว ว่าจะทำการศึกษาเพื่อทบทวนโครงการไปในทิศทางใด International Rivers หรือองค์กรแม่น้ำนานาชาติ ได้ระบุในแถลงการณ์ว่าการศึกษาหลายชิ้นที่มีอยู่รวมทั้งรายงานของเอ็มอาร์ซีต่างระบุตรงกันว่าเขื่อนไซยะบุรีจะทำลายระบบนิเวศแม่น้ำโขง พันธุ์ปลา และการประมง โดยไม่มีทางใดที่จะบรรเทาหรือเยียวยาความเสียหายได้ ทั้งนี้การระงับโครงการของรัฐบาลลาวครั้งนี้ควรเป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลทั้ง  4 ประเทศจะร่วมกันทบทวนการพัฒนาและรักษาทรัพยากรแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม

กลไกความร่วมมือของ 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตามข้อตกลงแม่น้ำโขง (1995 Mekong Agreement) กำลังถูกทดสอบในภาคปฏิบัติ หากภาครัฐและทุนยังมุ่งแสวงหากำไรจากทรัพยากรร่วมของภูมิภาคอย่างสามานย์ ย่อมต้องเกิดการเผชิญหน้ากับภาคประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะนี้การก่อตัวของชุมชนลุ่มน้ำโขงกำลังขยายตัวอย่างมีพลังเพิ่มขึ้นทุกวัน และกำลังข้ามพรมแดนเลียบเรื่อยไปตามสายน้ำโขง

การออกมาต่อต้านโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ขณะที่สารพัดเขื่อนที่กำลังเกิดขึ้นในลำน้ำโขง จะกลายเป็นแทบทดสอบให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ร่วมกันท่ามกลางสถานการณ์อันท้าทาย

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา