eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เสียงเพรียกเล็กๆ ของคนท้ายน้ำ

สุมาตร ภูลายยาว

หากถามคนริมฝั่งแม่น้ำโขงว่า สิ่งที่พวกเขากังวลในตอนนี้คืออะไร บางคนที่ได้ติดตามข่าวสารจะบอกว่า ระดับน้ำที่ขึ้นลงไม่เป็นปกติ บางคนก็จะบอกว่าจำนวนปลาที่ลดลงอย่างน่าใจหาย จนคนหาปลาบางคนต้องเลิกหาปลาไปทำอาชีพอื่น สำหรับบางคนที่ทำเกษตรริมฝั่งโขงก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พื้นที่ในการทำเกษตรริมโขงลดลง เพราะการพังทลายของตลิ่งริมฝั่งโขง รวมทั้งดอนทรายที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้งไม่มีสารอาหารสำหรับปลูกพืชบนดอนทรายอีกต่อไป คนที่ปลูกพืชบนดอนทรายจำต้องใช้สารเคมีในจำนวนมาก เพื่อให้พืชที่ปลูกนั้นงอกงาม และมีราคาดี ผลกระทบที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ชาวบ้านริมฝั่งโขงบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เกิดจากเขื่อนในจีน สิ่งที่พวกเขากังวลต่อมาคือหากมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในประเทศลาวอย่างเขื่อนไชยบุรี แน่นอนว่าผลกระทบต้องมากกว่าเขื่อนในจีน และนี่คือเสียงที่พวกเขาจะส่งสารไปถึงผู้คนในประเทศ เพื่อให้ได้เข้าใจร่วมกันถึงสิ่งที่พวกเขากำลังทำการรณรงค์ให้ผู้คนเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งแม่น้ำโขงมากขึ้น ทำไมพวกเขาถึงอยากให้สังคมรับรู้ปัญหาที่พวกเขากำลังพบเจอ และนี่คือเสียงเพรียกที่พวกเขาอยากสื่อสารกับคนในสังคมผ่านเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานสืบชะตาแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เสียงที่ส่งออกมานี้เป็นเพียงเสียงเล็กๆ ของผู้คนตัวเล็กๆ ที่มีวิถีชีวิตผูกผันอยู่กับแม่น้ำสายใหญ่สายนี้

            สมเกรียติ เขื่อนเชียงสา ผู้เดินทางไกลมาจากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงประเทศจีนได้บอกเล่าถึงประสบการณ์และมุมมองของเขาให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า แม่น้ำโขงเป็นสายน้ำแห่งวิถีชีวิต และวัฒนธรรม การจะจัดทำโครงการพัฒนาอะไรก็ตามควรคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งโขงด้วย โดยเฉพาะตอนนี้ประเทศไทยกำลังจะเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเชี่ยน ในกรณีของประชาคมอาเชี่ยนนั้นต้องไม่คิดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียว เพราะอย่างน้อยเศรษฐกิจในแต่ละประเทศจะดีได้ก็ต้องมาจากฐานทรัพยากรในประเทศนั้นเป็นปัจจัยการผลิตหลัก ฉะนั้นหากการเป็นประชาคมอาเชี่ยนแล้วเราไม่คำนึงถึงเรื่องพวกนี้ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะถูกทำลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองเศรษฐกิจ อย่างกรณีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงก็เช่นเดียวกัน เราต้องไม่คิดว่า แม่น้ำโขงมีศักยภาพสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงอย่างเดียว แต่ประชาคมอาเชี่ยนต้องมองให้เห็นว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแห่งวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนไม่น้อยกว่า ๖๐ ล้านคน หากเราจะเป็นประชาคมอาเชี่ยนอย่างแท้จริง เราต้องมองเรื่องการฟื้นฟูแม่น้ำโขง และทรัพยากรในลุ่มแม่น้ำโขงที่ถูกนำไปตอบสนองในเรื่องเศรษฐกิจด้วย ประชาคมเอาเชี่ยนต้องร่วมกันคิดว่า เราจะดูแล และฟื้นฟูแม่น้ำโขงร่วมกันได้อย่างไรด้วย การพัฒนาเศรษฐกิจต้องเป็นไปควบคู่กับการฟื้นฟูดูแลทรัพยากรของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขงด้วย

            ในมุมมองของสมเกรียติ เขื่อนเชียงสาไม่ได้แตกต่างจากมุมมองของ ชัยณรงค์ วงค์สา ชาวเชียงคาน จังหวัดเลยผู้ที่กำลังศึกษาวิจัยเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงในอำเภอเชียงคาน ชัยณรงค์บอกว่า ตอนนี้แม่น้ำโขงเปลี่ยนไปมาก บางช่วงน้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ แน่นอนว่าน้ำที่ขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาตินั้นย่อมส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งโขงในอำเภอเชียงคานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ก็มาจากการสร้างเขื่อนในประเทศจีนเป็นหลัก และตอนนี้เขื่อนไชยบุรีที่กำลังจะเริ่มก่อสร้างในประเทศลาวก็ย่อมส่งผลกับวีถีชีวิตคนริมฝั่งโขงในอำเภอเชียงคานมากขึ้นด้วยในอนาคต เพราะเขื่อนไชยบุรีอยู่ห่างจากอำเภอเชียงคานประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร หากเขื่อนนี้แล้วเสร็จ คนเชียงคานก็คงจะเห็นแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นมากมายกว่านี้แน่นอน เช่นเดียวกับคนเชียงของได้เห็นแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง เพราะการสร้างเขื่อนในประเทศจีนที่ห่างจากเชียงของไปไม่ถึง ๓๐๐ กิโลเมตร

            นอกจากมุมมองของชัยณรงค์แล้ว ลุงเผือกเกษตรกรคนทำเกษตรริมฝั่งโขงชาวบ้านบุฮมยังได้สะท้อนมุมมองของคนทำการเกษตรริมฝั่งโขงให้ฟังว่า ตอนนี้วิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งโขงเปลี่ยนไปมาก น้ำมาเร็ว เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ชาวบ้านที่ปลูกผักพวกพริก มะเขือตามดอนทรายต้องเอาเครื่องตัดหญ้ามาตัดต้นพริก เพราะน้ำท่วม ทั้งที่ปีก่อนๆ ไม่เคยเป็นแบบนี้ ที่เป็นแบบนี้ผมว่าเป็นเพราะเขื่อนในจีน เขื่อนจากจีนทำให้วิถีชีวิตของพวกผมเปลี่ยนไป ผมเองไม่เคยเชื่อว่า เราจะใช้เทคโนโลยีมาควบคุมปริมาณน้ำในธรรมชาติได้ แม้คุณจะสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำก็ตามที หากฝนตกมากมีน้ำมาก คุณก็ต้องปล่อยน้ำออกมาอยู่ดี ผมไม่เคยเชื่อหน่วยงานราชการ และ MRC เลย เพราะบทเรียนที่เกิดกับผมนี่เห็นมากับตา คำถามของผมคือคุณศึกษาในทางวิทยาศาสตร์ แต่ทางเจ้าหน้าที่จะกล้ามาเช่าบ้านอยู่ริมน้ำโขงแล้วมาดูกับผมไหมว่าสิ่งที่ผมพูดมานั้นไม่เกินจริงเลย ระดับน้ำที่มันขึ้นลงไม่เป็นเวลานี่ มันทำให้พวกแพลงตอนในน้ำตายและกลายเป็นพิษ แทนที่คนทำเกษตรริมโขงจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งพวกนี้ แต่มันกลับเป็นพิษ อีกอย่างที่ผมกำลังมองดูอยู่คือ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่มีหน่วยงานใดเลยที่กล้าเสนอตัวมารับผิดชอบ ที่บ้านบุฮมนี่ไม่ได้ปลูกเพียงพริก มะเขืออย่างเดียว คนที่มีที่ดินริมฝั่งโขงยังปลูกยางพาราด้วย กรมวิชาการเกษตรศึกษามาแล้วว่ายางพันธุ์ไหนปลูกที่ริมฝั่งโขงจะได้ผลผลิตที่ดี แต่พอมาเจอระดับน้ำที่มันขึ้นลงไม่เป็นไปตามฤดูกาล และหน้าดินไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนก่อน กรมวิชาการเกษตรก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะให้คนทำคนปลูกยางใช้ปุ๋ยประเภทไหน น้ำยางจึงจะให้ผลลิตที่ดี

            นี่แค่เป็นตัวอย่างผลกระทบจากเขื่อนในประเทศจีนเท่านั้น แต่ตอนนี้กำลังจะมีเขื่อนไชยบุรีในประเทศลาว ซึ่งชาวบ้านยังไม่รู้ข้อมูลมากเท่าไหร่ หากมีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนไชยบุรี ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ แต่ชาวบ้านกำลังถูกหลอกว่าเขื่อนไชยบุรีจะมาเติมการขาดแคลนไฟฟ้าให้กับประเทศไทยในช่วงที่คนใช้ไฟเยอะๆ แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ตอนนี้มันเป็นการเอาเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นของบริษัทที่จะสร้างเขื่อน พอมีข่าวว่าบริษัทจะสร้างเขื่อน หุ้นในตลาดหุ้นของบริษัทก็เพิ่มขึ้นและมีกำไรไปแล้ว นี่ยังไม่นับรวมธนาคารที่ปล่อยกู้เงิน ธนาคารก็มีกำไรไปแล้ว ทั้งที่ตอนนี้เขื่อนยังสร้างไม่เสร็จ ถ้าเขื่อนไชยบุรีเสร็จ เชียงคานบ้านผมนี่ได้รับผลกระทบแน่นอน แก่งคุดคู้จะเป็นอย่างไร บั้งไฟพญานาคที่หนองคายจะเป็นอย่างไร เมื่อน้ำมาไม่เป็นปกติ เรื่องเหล่านี้มันกระทบกับการท่องเที่ยว สำหรับตัวผมพอรู้ข้อมูลแล้ว ผมไม่เอาสักเขื่อน ไม่ต้องมาสร้างเขื่อน ปล่อยให้แม่น้ำได้ไหลอิสระเหมือนเดิมแหละดีแล้ว

            นอกจากจะได้ฟังเรื่องเล่าจากลุงเผือกในเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแม่น้ำโขง และความเป็นห่วงหากมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงแล้ว ฐาปนี เมืองโคตร ชาวบ้านบ้านบุ่งขาม อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหารยังได้เล่าเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบ้านบุ่งขามหนึ่งในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงให้ฟังว่า น้ำในแม่น้ำโขงตอนนี้ขึ้นลงไม่เป็นเวลา ทำให้ชาวบ้านหาปลาลำบากมากขึ้น บางช่วงคนหาปลาจะรู้ว่าช่วงนี้ปลาอะไรจะขึ้นมาก็จะรอจับปลาชนิดนั้นๆ ไปขาย แต่พอถึงเวลา ปลาไม่ขึ้นมา รายได้จากตรงนี้ก็หายไป ปลามันก็ไม่ได้ลดลงมาก แต่มันไม่ขึ้นมาตามฤดูกาล สิ่งหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็คงเพราะ ระดับน้ำมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก อย่างที่บ้านนี่ตรงตลิ่งมีที่วัดระดับน้ำ บางวันน้ำขึ้นมาเป็นสิบเซนติเมตร แต่พอน้ำลงลงไปเกือบจะเป็นเมตร นี่เกิดขึ้นในวันเดียว น้ำบ้านเรากลายเป็นน้ำทะเลไปแล้ว ขึ้นลงในวันเดียว พอเกิดแบบนี้ตลิ่งพังเลย เพราะน้ำเซาะเข้าไปใต้พื้นดิน ตลิ่งพังลงกับตาเลย พอตลิ่งพังลงพื้นที่ในการทำเกษตรก็ลดน้อยลงไป น้ำมันมาเร็วมาแรง ขึ้นเร็วลงเร็วไม่เหมือนก่อน ผลกระทบเกิดกับชาวบ้านริมโขงอย่างเห็นได้ชัดเลย

            ปัญหาตลิ่งพังไม่ได้เกิดขึ้นกับชาวชุมชนบ้านบุ่งขามเพียงทีเดียว แต่ปัญหานี่เคยเกิดขึ้นกับชาวบ้านปากอิงใต้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายมาแล้ว และยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื้อง ซ้ำยังขายวงกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ แต่แนวทางแก้ไขชาวบ้านได้นำทรายมาถมทับลงไป แต่นั่นก็เป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น เพราะไม่นานตลิ่งก็พังลงไปอีก จนตอนนี้คนที่มีบ้านริมฝั่งโขงต้องมองหาที่สร้างบ้านใหม่ เพราะริมฝั่งโขงนั่นเสี่ยงเกินไปที่จะปลูกบ้านพักอาศัย

            หากเรานิ่งฟังเสียงเพรียกเล็กๆ หลายเสียงที่กล่าวมาแล้ว เรายังคงไม่แน่ใจว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านให้มีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ลองมาฟังอีกหลายๆ เสียงเพรียกของคนริมฝั่งโขงดูว่าเสียงเพรียกที่พวกเขากู่ขานบอกเรานั้น เป็นเรื่องเรื่องใดบ้าง

            อาจารย์กระสันต์ ปานมีศรี หนึ่งในสมาชิกสภาองค์กรชุมชนจังหวัดหนองคายผู้มีชีวิตผูกโยงกับแม่น้ำโขงได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมถึงผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง สายน้ำแห่งชีวิตที่แกเคยอาศัยมาแต่เล็กจนโตว่า ตอนนี้ที่หนองคายทุกอำเภอเลยที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ทั้งตลิ่งพัง ระบบนิเวศน์เปลี่ยน วีถีคนทำเกษตรริมโขงก็เปลี่ยน แต่ก่อนแถบหนองคายนี่มีวังปลาบึก ปลาเลิม พอกระแสน้ำมันเปลี่ยนทาง ขึ้นลงจนตลิ่งพัง ตอนนี้วังปลาบึก ปลาเลิมไม่มีแล้ว เพราะตลิ่งมันพังลงทำให้วังปลามันตื้นเขิน บางคนนี่ไม่หาปลาแล้วไปรับจ้างที่อื่น บางคนก็ไปหากินต่างบ้านต่างเมือง โดยเฉพาะคนทำเกษตรนี่ บางคนไม่ได้ทำแล้ว เพราะที่ดินพังลงไปหมด บางช่วงก็น้ำแล้งทั้งที่ไม่เคยเป็นเลยนะ ตั้งแต่เขาสร้างเขื่อนในจีนนี่แหละ ผ่านมา ๒-๓ ปีนี้เห็นผลกระทบชัดเจนเลย กระแสน้ำที่มันเปลี่ยนนี่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ล้วนๆ เลย ธรรมชาติไม่ได้ทำ ปัญหานี่ไม่ได้เกิดกับน้ำโขงอย่างเดียว แต่มันส่งผลถึงแม่น้ำสาขาของน้ำโขงด้วย เพราะปลามันเข้าไปวางไข่ในน้ำสาขาช่วงหน้าฝน พอไข่เสร็จยังไม่ถึงเวลาล่องกลับลงน้ำโขง แต่น้ำลดแล้วปลาก็พากันว่ายกลับมาน้ำโขง คนรอกินปลาในน้ำสาขาก็ไม่ได้กิน เพราะปลาล่องหมดแล้ว ผลกระทบนี่มันส่งผลไปไกลจากริมฝั่งโขงเยอะ ปัญหานี่ก็มีการพูดคุยกันอยู่ว่าจะแก้ไขยังไง แต่มันก็แก้ไขไม่ได้มาก เรามันคนกลุ่มน้อย นี่ก็พยายามแสวงหาพรรคพวกอยู่ เผื่อว่าเสียงของเราจะดังขึ้นบ้าง คนมีอำนาจจะได้ฟังพวกเราบ้าง

            เสียงที่ดังขึ้นมาจากริมฝั่งโขงนั้นเป็นเสียงเล็กๆ ดังนั้นการเกาะเกี่ยวกันเป็นกลุ่มจึงได้เกิดขึ้น ครั้งแล้วครั้งเล่าที่มีเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การวมกลุ่มกันจึงเกิดขึ้น จากเหนือสุดที่เชียงรายจนถึงท้ายสุดคืออุบลราชธานี ในเวทีเรียนรู้แลกเปลี่ยนแต่ละครั้ง หลายคนต่างเสนอให้ยุติการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงอย่างถาวร เพราะการสร้างเขื่อนได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เขื่อนยิ่งมากผลกระทบยิ่งมากขึ้นตามลำดับ แม้ว่าจะอยู่ไกลจนถึงอุบลราชธานี แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ต่างจากที่อื่นๆ เท่าใดนัก แต่เสียงเพรียกจากคนตอนท้ายสายน้ำในประเทศกลับยิ่งทำให้เราผู้ได้ฟังย้ำเตือนความรู้สึกลงไปอีก สุภาษิตที่ว่าเด็ดดอกหญ้าสะเทือนถึงดวงดาวทั้งผองยังคงใช้ได้ดี

            พ่อสมพงษ์ ดางเรืองรัมย์ ชาวบ้านร่องเขย่งน้อย อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดอุบลราชธานีบอกเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงในเขตตอนท้ายที่แม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศไทยว่า ตอนนี้คนริมโขงกำลังประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินริมตลิ่งพังทลาย พื้นที่เสียหายไปมาก เพราะน้ำมันมาเร็วลงเร็ว บางช่วงพอน้ำโขงลงนี่ชาวบ้านจะไปปลูกผัก แต่ก่อนนี่ไม่มีปัญหา ปลูกได้ผลดีด้วย แต่ช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมานี่ น้ำโขงลงไปแล้วก็ท่วมมาทั้งที่ฝนไม่ตก พืชผักปลูกไว้เสียหายมาก ถ้ามีการสร้างเขื่อนไชยบุรีนี่ทางเราแม้จะเป็นท้ายน้ำก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ แน่นอน เพราะขนาดเขื่อนในจีนยังมีผลกระทบกับเรามากถึงเพียงนี้ ตอนนี้ระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงเปลี่ยนไปหมด จนไปถึงน้ำสาขา บางช่วงชาวบ้านปลูกผักไว้คิดว่าน้ำลง แต่น้ำท่วมเข้าไปถึงนาเลย ตอนนี้คนหาปลาก็ลดลง เพราะปลาหายาก น้ำมันเปลี่ยน ปลาไม่อยู่ ตอนนี้ชาวบ้านก็เริ่มลุกขึ้นมาปกป้องแม่น้ำโขงอยู่ ทางเราก็อาศัยไประชุมสร้างเครือข่ายต่างพื้นที่ เพราะเราเองกำลังน้อยต้านทุนใหญ่ไม่ไหวหรอก พูดเรื่องระดับน้ำมันเปลี่ยนไปมาก แต่ก่อนลดลงห้าวัน ตอนนี้วันเดียวลดเลย สมัยพ่อแม่น้ำโขงลดก็คือลดเลย ตอนนี้วิถีมันเปลี่ยนไป แม่น้ำโขงที่เคยพึ่งพาอาศัยก็พึ่งพาไม่ได้เต็มที่เหมือนแต่ก่อน ทุกที่ตอนนี้ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด

            จากคำพูดของพ่อสมพงษ์นั้นก็คงสอดคล้องกับคำพูดของชาวบ้านคนอื่นๆ ที่พวกเขามีวิถีชีวิตที่ผูกติดกับแม่น้ำโขงตั้งแต่เล็กจนแก่ แต่เมื่อวันหนึ่งทุนใหญ่ได้ขายปีกการลงทุนมาลงทุนเรื่องพลังงาน น้ำในแม่น้ำโขงจึงกลายเป็นสินค้าให้กับนักค้ากำไรเหล่านั้น จากข้อมูลเบื้องต้น บริษัทที่เข้าไปสัมปทานสร้างเขื่อนไชยุบรีได้หยิบยกการสร้างเขื่อนไชยบุรีเข้ามาเป็นนโยบายของบริษัท ตัวเลขในตลาดหุ้นของบริษัทแห่งนี้ก็ทำกำไรให้กับนักลงทุนผู้เล่นแร่แปรธาตุค่าเงินในตลาดหุ้นได้จำนวนไม่น้อย

            เมื่อผลกระทบจากเขื่อนในจีนขยายวงกว้างครอบคลุมไปทุกจังหวัดที่แม่น้ำโขงหลายผ่าน ชุมชนริมฝั่งโขงหลายต่อหลายชุมชนจึงร่วมกันเป็นเครือข่าย เพื่อร่วมกันคัดค้านการสร้างเขื่อนอันจะส่งผลกับวิถีชีวิตของพวกเขาในระยะยาว โดยเฉพาะเขื่อนไชยบุรีที่เป็นเขื่อนแห่งแรกในแม่น้ำโขงที่ใกล้ภาคอีสานมากที่สุด การร่วมกันเป็นเครือข่าย เสียงที่พวกเขาสะท้อนออกมาอาจเป็นเสียงเล็กๆ ที่เราผู้ใช้ไฟฟ้าจากหยาดน้ำตาของพวกเขาควรพากันนิ่งฟังด้วยความสนใจ แล้วเราจะพบว่าเสียงเหล่านั้นเป็นเสียงเพรียกเล็กๆ จากคนท้ายน้ำที่นำพาพวกเราเดินทางไปหาแม่น้ำโขง เพื่อร่วมกันปกปักรักษาแม่น้ำแห่งอุษาคเนย์แห่งนี้ให้ได้ไหลอย่างอิสระ ดังคำประกาศเจตนารมณ์ในตอนท้ายของงานสืบชะตาแม่น้ำโขงที่เชียงคานที่หลายต่อหลายองค์กรและหลายชุมชนร่วมกันจัดขึ้น คำประกาศนั้นชัดเจนว่า พวกเขาในฐานะชุมชนริมฝั่งโขงจะทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งการสร้างเขื่อนไชยบุรี เพราะเหตุใดนั้นหรือที่พวกเขาถึงกล้าประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเช่นนั้น เพราะพวกเขาห่วงใยเส้นเลือดใหญ่ที่ได้หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของพวกเขามาตั้งแต่เล็กจนโตนั่นเอง

             แล้วพวกเราละ คนที่ไม่ได้อยู่ริมแม่น้ำโขง เรายังจะปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนไชยบุรีอีกกระนั้นหรือเมื่อเราได้ยินเสียงเพรียกเล็กๆ ของคนท้ายน้ำที่สะท้อนให้พวกเราฟัง...    

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา