eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
จากแม่น้ำเหือง แม่น้ำโขงสู่แม่น้ำสองสี
สายสัมพันธ์ของคนสองแผ่นดิน      
    

โดย จันทรา  ใจคำมี
๒ เมษายน ๒๕๔๙

               แม่น้ำเหืองมีต้นกำเนิดมาจากภูเมี่ยงในประเทศลาว แล้วไหลเป็นเส้นกั้นพรมแดนไทยกับลาว ผ่านอำเภอนาแห้ว ด่านซ้าย ท่าลี่ จังหวัดเลย ซึ่งแม่น้ำเหืองนี้จะไหลอยู่ในเขตประเทศไทยยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร และเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาวอีกประมาณ ๑๑๐ กิโลเมตร แล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “ปากน้ำเหือง แม่น้ำสองสี”

               ที่มาของชื่อแม่น้ำสองสองสีนั้นมาจากแม่น้ำเหือง ที่มีสีของน้ำเป็นสีขุ่นหรือสีน้ำตาล  เนื่องจากเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ไหลผ่านตลิ่งสูงชัน ทำให้กระแสน้ำกัดเซาะตลิ่งที่เป็นดินสีแดงทำให้น้ำขุ่นเป็นสีน้ำตาล ส่วนแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายยาวมีสีเขียวใส ที่มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาสูงในทิเบต ไหลผ่านสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างไทยกับลาว  พม่ากับลาว ผ่านลาว กัมพูชา และไหลสู่ทะเลจีนใต้ในเขตประเทศเวียดนาม ซึ่งมีความยาวประมาณ ๔,๕๙๐ กิโลเมตร นับว่าเป็นแม่น้ำนานาชาติในภูมิภาคนี้ เมื่อแม่น้ำสองสายนี้มาบรรจบกันจึงทำให้เป็นแม่น้ำสองสีขึ้น

               ริมฝั่งน้ำเหืองของทั้งดินแดนของประเทศไทยและประเทศลาว ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกันนั้นก็คือ มีการหาปลาและปลูกพืชผักริมตลิ่ง ไว้เป็นอาหารและขายสร้างรายได้ให้ครอบครัว และมีการไปมาหาสู่กันมาช้านาน ดังคำบอกเล่าของพ่อสวน ทองสุข ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงแห่งนี้ว่า “ญาติพี่น้องส่วนหนึ่งในหมู่บ้านมาจากฝั่งลาว คนหนุ่มคนสาวฮักแพงกัน ก็สร้างครอบครัวด้วยกัน ทำให้ไปมาหาสู่กันตลอด จนมีคำเว้าติดปากกันว่า กินเหล้าบ้านเฮา กินลาบบ้านเขา” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ความเป็นพี่น้องกันของทั้งสองแผ่นดินที่มีมาอย่างยาวนาน แม่น้ำเหืองและแม่น้ำโขงเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการแบ่งแยกกันทางภูมิประเทศเท่านั้น แต่มิอาจแบ่งแยกสายสัมพันธ์ของความเป็นพี่น้องของชาวบ้านได้

               ริมฝั่งปากน้ำเหืองหรือบริเวณแม่น้ำสองสีแห่งนี้มีเครื่องมือหาปลาหลายชนิดวางทิ้งไว้ มีทั้งมอง ไซลั่น กะตั้ม ด่างกุ้ง ส่วนในน้ำโขงอันสงบนิ่งของทั่วบริเวณนี้ก็มีการวาง เครื่องมือหาปลาไว้หลายชนิดเช่นเดียวกัน

               กลางลำน้ำกว้างใหญ่ของแม่น้ำโขงมีเรือหาปลาลอยลำอยู่ลำหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ให้เจ้าของอาศัยเข้าไปยามหรือเข้าไปดูว่ามีปลาติดมองที่ตนวาง ดักปลาไว้หรือไม่ สักพักเจ้าของของหันหัวเรือเข้าฝั่ง เมื่อเรือเคลื่อนเข้าใกล้ฝั่งแววตาสีหม่นของผู้เฒ่าก็เต็มไปด้วยคำถาม เมื่อเห็นผู้มาเยือนยืนส่งยิ้มให้อยู่ริมตลิ่ง หากแต่ผู้เฒ่าก็ยังส่งยิ้มตอบพร้อมเอื้อนเอ่ยทักทายด้วยไมตรีจิต เราต้องสร้างความคุ้นเคยสักพักก่อนจะป้อนคำถามที่อยาก รู้ให้ผู้เฒ่าถ่ายทอดภูมิความรู้ที่มีอยู่ให้เราฟัง

               พ่อลา โพธิ์ไทร ผู้เฒ่าวัย ๗๐ ปี  คือชื่อของชายชราผู้นี้ได้เล่าให้เราฟังว่า “พ่อหาปลามาตั้งแต่วัยรุ่น ลวงไหนที่มีคนจับจองแล้วเราก็จะไม่ไปก้าวก่าย ออกหาที่ใหม่ที่เหมาะกับการวางเครื่องมือหาปลา คนอื่นเห็นเราวางเครื่องมือไว้แล้วก็จะไม่เข้ามายุ่งเหมือนกัน”

               จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าทำให้รู้สึกว่าชาวบ้านในถิ่นนี้มีการเคารพในสิทธิของผู้อื่น และมีความซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งในระหว่างที่ได้นั่งคุยกับผู้เฒ่านั้นมีปลาติดมองของคนอื่นอยู่ ผู้เฒ่าก็ได้แต่มองดูเท่านั้น และบอกกับเราว่ามองนั้นมิใช่ของตน ที่นี่ไม่มีใครแอบเอาปลาที่ติดเครื่องมือของคนอื่น ทำให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกันอย่างสงบมาโดยตลอด  แม้จะมีแพของทหารลาวที่ลอยลำอยู่ริมน้ำ และค่ายของทหารไทยบนเขาตั้งเผชิญหน้ากันอยู่ก็ตาม หากแต่พวกเขาก็ใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านอย่างสงบสุข ทำให้สภาพและบรรยากาศเต็มไปด้วยความเรียบง่ายและเงียบสงบ

               วิถีการทำมาหากินของชาวบ้านที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันบริเวณปากน้ำเหือง บ้านท่าดีหมีนั้นมีชาวบ้านทั้งคนไทยและคนลาวออกหาปลาร่วมกันมีการวางเครื่องมือหาปลาต่างๆ เช่น มอง ไซ เบ็ด ตรงบริเวณนี้กันมากและปะปนกันไป ซึ่งชาวบ้านทั้งสองฝั่งมีการจับจองวางเครื่องมือหาปลาร่วมกัน

               จริงอย่างที่คนส่วนใหญ่พูดกันว่าคนเราเมื่ออายุมากเข้าก็จะมีความทรงจำแต่เรื่องในอดีต พ่อเฒ่าวัย ๗๐ ผู้นี้ก็เช่นเดียวกันที่ได้เล่าเรื่องราวในอดีตของที่นี่ให้เราฟังอย่างภาคภูมิใจแม้ผู้มาเยือนจะเป็นคนแปลกหน้าก็ตาม และพ่อลายังได้เล่าถึงตำนานของหมู่บ้านฝั่งลาวที่อยู่ติดบ้านท่าดีหมี ซึ่งเป็นแขวงไชยะบุรี ของประเทศลาวที่เล่าสืบต่อกันมาว่า “ มีฮุ้งหรือเหยี่ยวที่มีขนาดใหญ่กว่าคนอาศัยอยู่ในถ้ำที่บ้านฮุ้งทางฝั่งไทยแล้วบินมาจับคนในหมู่บ้านกินเกือบหมด เหลือชาวบ้านไม่กี่คนจึงพากันเข้าไปหลบอยู่ในกลองใบใหญ่ในวัดจึงทำให้รอด มาได้ทำให้หมู่บ้านนี้ไม่ร้างจนมีลูกหลานสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ “ เมื่อถามถึงที่มาของตำนานว่าได้ยินมาจากที่ใด ผู้เฒ่าก็ตอบว่า “ คนที่นี่ก็เป็นญาติพี่น้องกันทั้งนั้นไปมาหาสู่กันตลอด  ไม่ได้แบ่งประเทศเขา ประเทศเรา อย่างที่คนข้างนอกเข้าใจกันดอก”

               เมื่อได้สนทนากับเราสักพักใหญ่ผู้เฒ่าก็ขอตัวกลับบ้าน และแนะนำให้เราเดินขึ้นเขาไปสักการบูชาพระใหญ่ภูคกงิ้ว หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระพุทธนวมินทรมงคลลีลาทวิน คราภิรักษ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่บนภูคกงิ้วบริเวณปากน้ำเหืองแห่งนี้ที่มีทหารของไทย ปฏิบัติหน้าที่อยู่และเป็นพระพุทธรูปปางลีลาประธานพรที่ชาวบ้านท่าดีหมีร่วมกับกองทัพภาคที่ ๒ สร้างถวายเป็นราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

               เมื่อเราฟังผู้เฒ่าที่เสนอตัวเองเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นกล่าวความเป็นมาให้ฟังพร้อมกับเชิญชวนให้เดินขึ้นไปกราบไหว้บูชา พวกเราจึงกล่าวคำอาลาผู้เฒ่าก่อนจะเตรียมตัวเดินขึ้นเขาสูงชันที่มีบันไดทอดตัวขึ้นไปบนเขาสูงนั้น ส่วนผู้เฒ่าได้เดินทอดน่องข้ามแม่น้ำสองสีไปทางฝั่งลาว เราจึงเอ่ยถามว่าด้วยความฉงนว่าข้ามไปฝั่งนั้นได้ด้วยหรือ ผู้เฒ่าบอกกับเราว่าเป็นทางลัดกลับบ้านที่ไม่ต้องเดินขึ้นเขาเข้าสู่บ้านท่าดีหมี และนี่คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยืนยันคำบอกเล่าของผู้เฒ่าว่าสายสัมพันธ์ของ คนสองแผ่นดินในถิ่นนี้นั้นแน่นแฟ้นต่อกันเพียงใด แม้ทางการจะมีการแบ่งแยกดินแดนกันอย่างชัดเจน แต่มิอาจแบ่งแยกความเป็นพี่น้องของคนสองแผ่นดินนี้ได้

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา