eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“บนแผ่นดินแห่งชายแดน”

โดย สุมาตร ภูลายยาว

- ยามค่ำที่สตรึงเต็ง -

ล้อรถโขยกเขยกไปตามทางดินสีแดงที่ถูกอัดดินทับกันไม่กี่ชั้น ถนนกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ถนนสายนี้บางช่วงได้ผ่านกลางหมู่บ้าน เมื่อรถวิ่งผ่านไปจึงได้เห็นคนในหมู่บ้านออกมาโยกน้ำบาดาลอาบอยู่ข้างถนน

      ถนนสายนี้คือถนนสายพนมเปญ-สตรึงเต็ง ในช่วงแรกถนนที่ทอดตัวออกมาจากจังหวัดพนมเปญเมืองหลวงของประเทศกัมพูชาเป็นถนนลาดยางอย่างดี แต่พอพ้นจังหวัดกำปงจามมาแล้ว ถนนทั้งสายก็เหมือนกับไปสู่อดีตของถนนลาดยาง บางครั้งรถคันเมื่อรถวิ่งด้วยความเร็ว ฝุ่นก็ตลบอบอวลขึ้นมา รถคันที่วิ่งมาตามหลังหรือวิ่งสวนทางมา บางคันต้องจอดรถลงข้างทาง เพื่อรอให้ฝุ่นหายไปเสียก่อนแล้วค่อยไปต่อ

      ทุกครั้งที่รถวิ่งตกหลุมกระแทกอย่างแรง ศีรษะของผู้โดยสารบนรถก็แทบเทกระจาดเข้าไปโขกกับกระจกของประตูรถ เพราะความที่ถนนไม่ค่อยดีนัก รถจึงวิ่งได้ช้า แต่ในที่สุดการเดินทางอันยาวนานกว่า ๗ ชั่วโมงบนรถเก๋งโตโยต้าคัมรี่ก็สิ้นสุดลง เมื่อรถค่อยๆ วิ่งเข้าไปยังประตูของโรงแรม และจอดสงบนิ่งลง

      การเดินทางในวันนี้ได้สิ้นสุดลงที่ระยะทาง ๔๐๐ กว่ากิโลเมตร และสิ้นสุดลงที่โรงแรมเซกอง โรงแรมเก่าแก่อายุ ๑๐๐ กว่าปี ว่ากันว่าโรงแรมนี้เป็นโรงแรมที่ดีที่สุดในสตรึงเต็ง

      “สตรึงเต็ง” เป็นจังหวัดชายแดนจังหวัดหนึ่งของกัมพูชา ยามค่ำแสงไฟกระจัดกระจายไปตามถนน ร้านค้าบางร้านที่เปิดขายในตอนกลางวันได้ปิดประตูร้านไปแล้ว สำหรับร้านค้าที่เป็นร้านอาหาร บางร้านก็กำลังให้บริการลูกค้า แล้วในที่สุดอาหารค่ำอันเร่งรีบของค่ำคืนก็ผ่านไปได้ด้วยดี แม้จะรอนานพอสมควร แต่การเฝ้ารอก็คุ้มค่า แม้ว่าต้มยำปลารสชาติจะไม่เผ็ดซ่านลิ้นสักเท่าใด

      วงสนทนาหลังอาหารเย็นอยู่โยงเนิ่นนานตังแต่ย่ำค่ำจนถึงเกือบเที่ยงคืน ในที่สุดวงสนทนาก็สิ้นสุดลงด้วยนาฬิกาบอกเวลา ๑๒.๐๐ น. ราตรีของเมืองชายแดนก็เดินทางไปสู่ความเงียบงัน

      เมืองชายแดนแห่งนี้เป็นเมืองที่มีความหลากหลายของผู้คนเป็นอย่างยิ่ง ในอดีตเมืองแห่งนี้เป็นหนึ่งในสมรภูมิสู้รบของสงครามกลางเมืองภายในประเทศกัมพูชา เนื่องจากการสู้รบได้ทำให้คนกัมพูชาบางส่วนโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่พอสงครามสงบคนที่โยกย้ายหนีภัยสงครามไปอยู่ที่อื่นก็กลับมาใหม่ จึงไม่แปลกนักที่หมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ภายนอกตัวเมืองจะมีทั้งคนที่พูดภาษาลาว-กัมพูชา-และบางคนซึ่งมีอายุมากแล้วก็พูดภาษาไทยได้ ที่คนแก่บางคนในสตรึงเตร็งพูดภาไทยได้ เพราะยุคสมัยก่อนสยามเคยมีอิทธิพลอยู่ในบริเวณนี้...

      ก่อนการแบ่งแยกดินแดนโดยเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเมื่อราว ๑๐๐ กว่าปีก่อน จังหวัดสต-รึงเต็งมีฐานะเป็นเพียงอำเภอหนึ่งในแขวงจำปาสักของประเทศลาว แต่พอมีการแบ่งแยกดินแดนอีกครั้งภายหลัง สตรึงเต็งก็กลายมาเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศกัมพูชาไปในที่สุด

- ยามเช้าที่สตรึงเต็ง -

      เมื่อยามเช้ามาเยือน แสงแรกแห่งวันเปล่งประกายเหนือผืนน้ำ เสียงผู้คน-รถมอเตอร์ไซค์-รถกระบะ-และอื่นๆ อีกจิปาถะ ดูเหมือนว่าทุกสรรพชีวิตจะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาในยามเช้า ไม่เว้นแม้แต่แม่น้ำที่ทอดตัวนิ่งงันอยู่นั้น

      ไม่แปลกอะไรนักหากในยามเช้าที่ทุกสิ่งยังคงเคลื่อนไหว บนท้องถนนผู้คนที่เดินทางย่ำไป มักจะได้ยินเสียงแตรรถ ทั้งรถยนต์-รถมอเตอร์ไซค์ดังอยู่ตลอดเวลา เนื่องเพราะว่าผู้คนที่นี้ใช้แตรรถเป็นเครื่องหมายในหลายๆ อย่าง เช่น รถมอเตอร์ไซค์กดแตรเพื่อขอทางรถคันที่วิ่งอยู่ข้างหน้า เริ่มแรกเดิมทีเมื่อมาถึงกัมพูชาก็แปลกใจกับเรื่องราวเหล่านี้อยู่บ้าง แต่พอคุ้นชินแล้วก็พบว่า การกดแตรเพื่อบอกกล่าวรถคันที่วิ่งอยู่ข้างหน้าก่อนที่จะขอทางเพื่อแซงรถคันข้างหน้าขึ้นไป มันมีความสำคัญไม่น้อยทีเดียว

      ยามเช้าผู้คนของเมืองชายแดนแห่งนี้ต่างดำเนินไปตามวิถีที่เป็นมา เพราะความที่ตลาดเช้ามีอยู่เพียงแห่งเดียวในสตรึงเต็ง ผู้คนจึงหลั่งไหลไปที่นั้น ทั้งพ่อค้า-แม่ค้าผู้ขาย-ผู้ซื้อ สินค้าอุปโภคนานาชนิด ซึ่งมีตั้งแต่อาหารตามฤดูกาล เช่น ผักหวาน ไข่มดแดง ปลาแห้ง เห็ด หน่อไม้ และที่สำคัญซึ่งจะขาดเสียไม่ได้ในตลาดยามเช้าแห่งนี้คือ ขนมปังฝรั่งเศสหรือที่คนลาวเรียกว่า ข้าวจี่ มีวางขายอยู่ทั่วไป

      ความที่คนในเมืองสตรึงเต็งบางส่วนนิยมออกมานั่งกินอาหารเช้านอกบ้าน ร้านอาหารทั้งในตลาดและนอกตลาดบางร้านคนเต็มจนต้องยืนรอคิวเพื่อที่จะนั่ง โดยเฉพาะร้านที่อยู่ตรงคิวรถโดยสาร ร้านนี้เป็นร้านขายอาหารประมาณว่าอาหารตามสั่ง ร้านนี้คนเต็มทุกโต๊ะตั้งแต่เช้าและ การันตีได้ถึงความอร่อยของอาหาร

      แม่ค้าบางคนสังเกตจากกิริยาท่าทางและผิวสีแล้วบ่งบอกได้ว่า ไม่ใช่คนท้องถิ่นแต่กำเนิด โดยเฉพาะแม่ค้าขายปลาคนนั้น เธอพูดได้ทั้งสองภาษาคือ เวียดนามกับเขมร บางครั้งที่คนเวียดนามมาซื้อปลา เธอก็จะพูดภาษาเวียนนาม หากคนเขมรมาซื้อเธอก็จะพูดภาษาเขมร พรมแดนระหว่างประเทศจึงดูไม่ค่อยมีความหมายมากมายนักสำหรับผู้คนที่นี้ ผู้อยู่ก่อนและผู้มาทีหลังจึงถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน

      บรรดาสินค้าที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขายได้ตลอดทั้งปีในตลาดแห่งนี้นอกจากขนมปังฝรั่งเศสแล้วดูเหมือนว่า ปลาจะเป็นอีกสินค้าหนึ่งที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขายได้ตลอดปี ที่ปลาเป็นสินค้าที่นำมาขายได้ตลอดปีนั้น เพราะในเมืองสตรึงเต็งมีแม่น้ำสายหนึ่งไหลผ่าน แม่น้ำสายนี้คนท้องถิ่นเรียกว่า “เซกอง”

      คำว่า “เซ” เป็นภาษาทางตอนใต้ของประเทศลาวแปลว่า “แม่น้ำ” เซกองจึงหมายถึงแม่น้ำกองนั่นเอง

      เซกองมีต้นกำเนิดมาจากแขวงเซกองไหลผ่านแขวงอัตตะปือของลาว และไหลล่องลงมาเป็นเส้นแบ่งพรมแดนลาว-กัมพูชา บางส่วน และก็วกเข้ามาสู่แผ่นดินของกัมพูชาที่จังหวัดสตรึงเต็ง จนไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขงที่จังหวัดสตรึงเต็งของประเทศกัมพูชา ตรงปากน้ำที่เซกองบรรจบกับแม่น้ำโขง คนกัมพูชาเรียกว่า “ประชุมตอนเล-โตนเล”

      คำว่า “ตอนเล-โตนเล” ในภาษากัมพูชานั้นแปลเป็นภาษาไทยหมายถึงแม่น้ำ เช่น โตนเล-ของ-ตอนเลของ-โตนเลกอง-ตอนเลกอง โตนเลของจึงหมายถึง แม่น้ำของ-โขง

      เพราะความที่แม่น้ำทั้ง ๒ สายนี้ไหลมาจากที่ไกลและหล่อเลี้ยงผู้คนเป็นจำนวนไม่น้อย แม่น้ำทั้ง ๒ สายจึงเป็นเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งความลึกล้ำ ที่กล่าวถึงท่วงทำนองแห่งแม่น้ำผ่านวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งน้ำ

      และท่วงทำนองแห่งแม่น้ำที่แสดงผ่านวิถีชีวิตของคนหาปลา จึงเป็นท่วงทำนองที่เป็นไปด้วยลีลาอ่อนช้อยเนิบช้า-เนิ่นนาน น้ำน้อยปลาก็น้อย-น้ำมากปลาก็มาก-มีน้ำก็มีปลา-มีปลาก็มีน้ำ

      เมื่อในน้ำมีปลา ทุกๆ ยามเช้าที่จำนอตูก--ท่าเรือ จึงมีพ่อค้าแม่ค้านำปลามาซึ่งจับได้จากแม่น้ำทั้ง ๒ สายมาขายเป็นจำนวนมาก ส่วนมากปลาที่บรรดาคนหาปลาที่สวมบทบาทพ่อค้าแม่ค้านำมาขายนั้นจะมีทั้งปลาตัวเล็ก-ตัวใหญ่ แต่ที่ขายดีเป็นพิเศษคงเป็นปลาขนาดเล็ก หากสังเกตจากปลาที่บรรดาคนหาปลานำมาขายนั้นจะบ่งบอกได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำได้เป็นอย่างดี

      นอกจากปลาแล้วสินค้าที่เดินทางมาจากหมู่บ้านรอบตัวเมืองก็จะมีสินค้าทางการเกษตรจำพวกผัก ผลไม้ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลรวมอยู่ด้วย ในช่วงหน้าแล้งแตงโมถือเป็นสินค้าทางงการเกษตรอีกสินค้าหนึ่งที่ได้รับความนิยม นอกจากแตงโมแล้วมะพร้าวอ่อนก็เป็นสินค้าที่พอขายได้ จึงไม่แปลกใจนักเมื่อมะพร้าวพอขายได้ แม่ค้าบางคนจึงเปิดร้านขายมะพร้าวอ่อนอยู่ริมถนนไปพร้อมๆ กับการให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้งทางใกล้-ไกล

      ท่าเรือที่ทอดตัวอยู่เบื้องหน้านั้นเป็นท่าเรือข้ามฝากเพียงแห่งเดียวที่เป็นท่าเรือเชื่อมต่อระหว่างตัวเมืองสตรึงเต็งกับบ้านโคกสวน เมื่อขึ้นฝั่งที่ท่าเรือบ้านโคกสวนแล้วก็สามารถที่จะเดินทางด้วยรถไปตามถนนลูกรังไปสู่ชายแดนลาวได้ เพื่อนชาวกัมพูชาบอกว่า ท่าเรือแห่งนี้เอกชนสัมปทานได้ เมื่อจะข้ามฝากต้องมาข้ามฟากที่ท่าเรือแห่งนี้เพียงที่เดียว เพราะทางเจ้าของท่าเรือไม่อนุญาตให้เรือลำอื่นซึ่งนอกเหนือจากเรือของบริษัทนำเรือเข้ามาจอดเทียบท่า เรียกว่าหากจะข้ามฟากไปยังอีกฝั่งหนึ่งของเซกอง ถ้าไม่ใช้เรือที่ทางบริษัทจัดไว้ให้ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะข้ามไปได้ นอกจากจะมีเรือเป็นของตัวเองหรือว่ายน้ำเก่งๆ เท่านั้นจึงจะข้ามฝั่งของเซกองฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งได้

      แต่ก็ดูเหมือนว่าในอนาคตอีกไม่เกิน ๒ ปีท่าเรือข้ามฟากแห่งนี้ก็จะสูญสลายไป เพราะตอนนี้คนงานก่อสร้าง ซึ่งเดินทางมาจากประเทศจีนกำลังเร่งมือเพื่อก่อสร้างสะพานข้ามเซกองอย่างเร่งรีบ สะพานที่กำลังก่อสร้างนี้ ได้รับเงินกู้ยืมจากประเทศจีน ซึ่งเป็นเงินก้อนเดียวกันที่ได้ตัดถนน จากจังหวัดกำปงจามมาสู่จังหวัดสตรึงเต็ง และจากสตรึงเต็งไปสู่ชายแดนลาว

      เมื่อยามเช้าผ่านพ้นไป พ่อค้าแม่ค้าก็เดินทางด้วยเรือกลับไปสู่บ้าน เพื่อไปผลิตสินค้าของตัวเองออกมาสู่ตลาดในเช้าวันต่อไป ท่าเรือข้ามฟากจึงดูเงียบลงผิดกับยามเช้าที่เพิ่งผ่านไปอย่างสิ้นเชิง

      แสงแดดยามใกล้เที่ยงวันไม่เคยปราณีผู้ใด ตามถนนที่มีต้นไม้พอเป็นร่มเงาได้ จึงมีผู้คนมาอาศัยพักดื่มน้ำมะพร้าว และดื่มน้ำตาลเมา ซึ่งไม่เว้นแม้แต่เหล่าบรรดาทหารชั้นผู้น้อยที่ว่างงานหรือประชาชนทั่วไป ยามเที่ยงที่แดดร้อนเช่นนี้ แม่ค้าขายมะพร้าวก็ขายดี แต่ที่ขายดีกว่ามะพร้าวดูเหมือนว่าจะเป็นน้ำตาลเมา ซึ่งจากการลิ้มลองรสชาติน้ำตาลเมาของชาวสตรึงเต็ง ดูเหมือนว่าน้ำตาลเมาของที่นี้จะหนักกว่าน้ำตาลเมาทางเมืองเพชรบุรีอยู่มากทีเดียว

      ทุกครั้งที่มีคนซื้อน้ำตาลเมา ลุงผู้เป็นพ่อค้าซึ่งบรรทุกน้ำตาลเมาใส่กระบอกไม้ไผ่มาบนรถจักรยานจะมีรอยยิ้มบนใบหน้าให้เห็นอยู่เสมอ พ่อค้าน้ำตาลเมาหลายเจ้าหากสังเกตดูจากใบหน้า-กระบองไม้ไผ่ใส่น้ำตาลเมา-รถจักรยานคู่ชีพแล้ว ก็การันตีได้ถึงรสชาติของน้ำตาลเมาได้ดีพอสมควร

      หลังจากยามร้อนของกลางวันใกล้ผ่านพ้นไป ยามเย็นย่ำก็เวียนกลับมาอีกครั้ง พร้อมๆ กับการอำลาพาจากไปของดวงอาทิตย์ที่ใกล้ลับขอบฟ้าเต็มที

- ยามเย็นที่ริมเซกอง -

      เรือหาปลาบางลำกลับคืนมาสู่ฝั่งอย่างช้าๆ ภาพของยามเย็นค่อยๆ เปิดม่านออกมา ริมฝั่งเซกองน้ำใสเย็นสะท้อนเงาของทะมอ--แก่งหิน ลงสู่แม่น้ำ ภาพของชายหาปลา-ผู้หญิง-เด็กลงอาบน้ำยามเย็นจึงดูเหมือนเป็นสิ่งปกติสำหรับผู้คนที่นี้ แต่หากว่ามันดูมีชีวิตชีวาสำหรับผู้คนแปลกถิ่นที่เพิ่งเดินทางมาถึงได้ไม่กี่วัน

      กลางคืนกำลังจะมาเยือนในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้แล้ว แต่ดูเหมือนกับว่าผู้คนแห่งเมืองไม่ได้เร่งรีบ บางคนก็อาบน้ำดำผุดดำว่ายอย่างสบายอารมณ์

      ในที่สุดนาฏลีลาริมฝั่งน้ำก็ดำเนินผ่านพ้นไปอีกวันหนึ่ง....

      แม่ค้าขายส้มตำซึ่งอพยพมาจากลาวเข้ามาตั้งรกรากในสตรึงเต็งกำลังคิดเงินค่าส้มตำจากลูกค้ากลุ่มสุดท้ายของเธอ ซึ่งก็คือคนแปลกถิ่นที่เพิ่งเดินทางมาได้ไม่นาน ชั่วขณะแห่งการตำส้มตำครกแรกนั้น เธอแทบไม่มั่นใจเอาเสียเลยกับการถูกขอร้องให้ใส่ผงชูรสลงไปในส้มตำแต่เพียงเล็กน้อย แต่ในที่สุดเธอก็ตำส้มตำที่เธอเองไม่ค่อยมั่นใจในรสชาติออกมาจนลูกค้าแปลกหน้าของเธอกินจนหมดจาน พร้อมๆ กับน้ำตาไหลด้วยความเผ็ดซ่านไปทั่วปาก

      ใบหน้าสุดท้ายของจังหวัดสตรึงเต็งในยามเย็นสงบนิ่งลงอีกวันหนึ่งแล้ว.....

      ในที่ไกลออกไปเหนือโตนเลของ อาทิตย์ทั้งดวงอัสดงลับหายไป ทิ้งเพียงแสงสุดท้ายไว้อำลาอาลัยสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งความลึกล้ำ บนท่วงทำนองของเซกองที่ร่ายรำการล่องไหลเคียงคู่แผ่นดินมาเนิ่นนาน

      วิถีของผู้คนแห่งเมืองชายแดนริมฝั่งน้ำนิ่งงันลงอีกครั้ง เพื่อเฝ้ารอการกลับมาในยามเช้าที่จะมาถึง ในยามเช้านั้นแหละที่คนแปลกถิ่นก็จำต้องเดินทางจากไป ทิ้งไว้เพียงรอยอาลัยในห้วงยามแห่งความทรงจำที่ไม่อาจลืมเลือน....

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา