eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับปลาบึก

โดย ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้( SEARIN)

๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๗

ข้อมูลทั่วไปและความสำคัญของปลาบึก

          ปลาบึกเป็นปลาน้ำจืดอพยพที่ใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก มีถื่นกำเนิดเฉพาะในลุ่มน้ำโขงเท่านั้น โดยปลาบึกขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้คือมีน้ำหนัก ๒๘๒ กิโลกรัมและยาวสุด ๓ เมตร

         การที่ปลาบึกเป็นปลาหนังอพยพที่ใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลกและมีถิ่นอาศัยเฉพาะแม่น้ำโขง ทำให้ปลาบึกเป็นสัญญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำโขง การลดลงของจำนวนประชากรปลาบึกตามธรรมชาติ (Wild Giant Catfsih) จึงสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงที่ประชาชนมากกว่า ๖๐ ล้านคนได้พึ่งพาโดยเฉพาะการทำประมงทั้งเพื่อการยังชีพและเชิงพาณิชย์

          ปัจจุบัน การศึกษาเรื่องปลาบึกยังไม่เป็นระบบ ในประเทศไทย จะเน้นไปที่การผสมเทียมและการเพาะเลี้ยง เป็นหลัก ส่วนการศึกษาวงจรชีวิตตามธรรมชาติของปลาบึกในแม่น้ำโขงนั้นยังไม่มี โครงการที่ศึกษาธรรมชาติของปลาบึกที่กำลังดำเนินการในปัจจุบันคือ การเฝ้าติดตามการอพยพของปลาบึกที่ทะเลสาบเขมรโดย Zeb Horgan ซึ่งมุ่งไปที่การศึกษาการอพยพของปลาบึกควบคู่ไปกับการศึกษาปลาหนังชนิดอื่นๆ(Catfish) ที่มีการอพยพและมีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจ
หากมีการศึกษาธรรมชาติของปลาบึกซึ่งเป็นปลาหนังอพยพที่ใหญ่ที่สุดยังจะทำให้เป็นข้อมูลฐานที่สำคัญในการศึกษา เพื่อทำความเข้าใจปลาหนังอพยพชนิดอื่นๆ ในแม่น้ำโขง เพราะปลาหนังอพยพมีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจของชุมชนประมงในลุ่มน้ำโขงเป็นอย่างสูง

สถานภาพของปลาบึก

         ในอดีตประมาณ ๑๐ ถึง ๕๐ ปี มีรายงานว่าสามารถจับปลาบึกได้ตามแหล่งน้ำหลายแห่งในเขตลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เช่น ทะลเสาบเขมร จังหวัดต่างๆ ริมแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ทางภาคอีสาน แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาวทางภาคเหนือ และแม่น้ำสาขาขนาดใหญ่ของแม่น้ำโขง เช่น แม่น้ำศรีสงคราม จ.นครพนม และแม่น้ำมูน จ.อุบลราชธานี

          แต่จำนวนปลาบึกได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ในหลายพื้นที่ไม่สามารถจับปลาบึกได้ ยกเว้น ๒ ที่ ที่ปัจจุบันยังสามารถจับปลาบึกได้ แห่งแรก คือทะเลสาบเขมร แต่ปลาบึกที่จับได้มีจำนวนน้อยมาก และแห่งที่สองคือ แม่น้ำโขงพรมแดนไทยลาวบริเวณลวงปลาดอนแวง ที่มีชาวบ้านจากบ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และบ้านห้วยทราย สปป.ลาว ลงจับ

          การจับปลาบึกที่บ้านหาดไคร้และห้วยทรายเป็นการจับโดยใช้การไหลมองดักจับปลาบึกในปลายฤดูร้อนถึงต้นฤดูฝนหรือ ประมาณกลางเดือนเมษายนถึงมิถุนายนของทุกปีซึ่งเป็นช่วงปลาบึกเดินทางอพยพไปวางไข่ในแม่น้ำโขงตอนบน

          สถิติการจับปลาบึกในช่วงฤดูวางไข่ที่บ้านหาดไคร้ได้ชี้ให้เห็นว่าจำนวนพ่อแม่พันธุ์ปลาบึกตามธรรมชาติถูกจับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ จนถึงปี ๒๕๓๓ โดยในปี ๒๕๒๙ มีปลาบึกถูกจับ ๑๘ ตัว และเพิ่มขึ้นเป็น ๖๙ ตัวในปี ๒๕๓๓ หลังจากนั้นเป็นต้นมาจำนวนปลาบึกได้ลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี ๒๕๔๔ ถึง ๒๕๔๖ ไม่สามารถจับปลาบึกได้เลย เพิ่งในปี ๒๕๔๗ ที่ปลาบึกถูกจับ ๗ ตัว

          การที่ในช่วงแรกๆ ปลาบึกถูกจับเพิ่มมากขึ้นเพราะจำนวนเรือประมงปลาบึกได้เพิ่มขึ้นโดยก่อนปี พ.ศ.๒๕๐๐ มีเรือประมงปลาบึก ๕ ลำ ในปี ๒๕๒๙ ได้เพิ่มขึ้นเป็น ๑๘ ลำ และเพิ่มเรื่อยๆ จนสูงสุดในปี ๒๕๓๕ ซึ่งมีจำนวนเรือประมงปลาบึก ๘๐ลำ

          สาเหตุหนึ่งที่จำนวนเรือประมงปลาบึกเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการที่ปลาบึกมีราคาแพงเพราะเป็นที่ต้องการบริโภคของนักท่องเที่ยว เนื่องมาจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ยสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เชียงของเมื่อต้นทศวรรษ ๒๕๒๐ โดยยกกรณีการล่าปลาบึกที่บ้านหาดไคร้มาส่งเสริมและส่งเริมให้นักท่องเที่ยวต้องการบริโภคปลาบึกโดยระบุว่า ใครได้ลิ้มลองปลาบึกแล้วผู้นั้นจะเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลมและอายุยืนยาวตรงกับความเชื่อของคนจีนที่เรียกปลาชนิดนี้ว่าปลาขงเบ้ง

          การที่จำนวนปลาบึกที่จับได้น้อยลง ทำให้ในปี ๒๕๓๙ สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) จัดให้ปลาบึกอยู่ในบัญชีแดง (Red list) โดยถูกจัดเป็น Endagered หรือชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์

          ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๖ สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) เลื่อนสถานภาพปลาบึกในบัญชีแดงจาก Endangered เป็น Critically Endagered หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด เนื่องจากปริมาณปลาบึกที่ถูกจับลดน้อยลงซึ่งชี้ให้เห็นว่าจำนวนปลาบึกธรรมชาติลดลงมากกว่าร้อยละ ๘๐ ในช่วง ๑๓ ปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากการจับปลาเกินขนาดและถิ่นอาศัยถูกทำลายจากปัญหาตะกอน ในแม่น้ำโขงที่เพิ่มมากขึ้นจากการทำลายป่าไม้ในอดีตและเส้นทางการอพยพถูกทำลายจากการสร้างเขื่อนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

          สำหรับปลาบึก ๗ ตัว ที่ถูกจับได้ที่เชียงของในปีนี้นั้น ยังไม่สามารถรับประกันได้ว่ามีจำนวนปลาบึกเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มของกราฟปลาบึกที่ถูกจับนับแต่ปี ๒๕๓๓ นั้น ยังคงดิ่งลง

การคุกคามปลาบึก         

นอกจากสาเหตุที่สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ระบุดังกล่าวข้างต้นแล้ว ปัจจุบันปลาบึกยังถูกคุกคามจากสาเหตุอื่นๆ อีกหลายประการ สามารถสรุปได้ดังนี้

๑) ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในจีน

         จีนได้มีการวางแผนสร้างเขื่อนชุดกั้นแม่น้ำโขงหรือล้านซาง ๑๕ เขื่อน ในจำนวนนี้มี ๘ เขื่อนที่คาดว่าจะดำเนินการแน่นอน ปัจจุบัน จีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนเสร็จแล้ว ๒ เขื่อนคือเขื่อนมาวานและเขื่อนด้าเฉาชานที่เริ่มเดินเครื่องเมื่อปลายปีที่แล้ว และกำลังก่อสร้างเขื่อนเซี่ยวหวาน และเขื่อนจิงหง

          การสร้างเขื่อนตอนบนทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ท้ายน้ำมาจนถึงแม่น้ำโขงในประเทศไทยแถบ จ.เชียงราย ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งวางไข่ของปลาบึก

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรน้ำระบุว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำไหลต่ำสุด (minimum discharg) ที่เชียงแสนในช่วง ๑๐ ปีก่อนการกักเก็บน้ำของเขื่อนมานวานเท่ากับ ๘๑๕ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่หลังสร้างเขื่อนได้ลดลงเหลือ ๕๗๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

เป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนปลาบึกที่จับได้ที่บ้านหาดไคร้ที่ลดลงนั้น สัมพันธ์กับการกักเก็บน้ำของเขื่อนมานวานที่เริ่มกักเก็บในปี ๒๕๓๕

ความรุนแรงของปัญหาผลกระทบท้ายน้ำจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าของเขื่อนด้าเฉาชาน และจะยิ่งทวีความรุนแรงหากว่าเขื่อนจิงหงสร้างเสร็จเพราะเขื่อนดังกล่าว ตั้งอยู่ล่างสุดและใกล้เชียงแสนมากที่สุด

๒) โครงการปรับปรุงแม่น้ำล้านช้าง/แม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือเชิงพาณิชย์

         โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างจีน พม่า ลาว และไทย เพื่อพัฒนาแม่น้ำล้านช้างหรือแม่น้ำโขงทางตอนบนให้สามารถเดินเรือขนาดใหญ่ได้ ๕๐๐ ตัน จากยูนนานลงมาจนถึงเชียงของและห้วยทราย สปป.ลาว

          โครงการนี้ไม่เพียงแต่มีการระเบิดแก่งเท่านั้น แต่ยังมีการปรับปรุงแม่น้ำโขงให้เป็นคลอง (channellization) จนถึงปัจจุบัน จีนได้ระเบิดแก่งบริเวณพรมแดนพม่าลาวเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งมีการสร้างคันกั้นน้ำที่แก่งบางแก่งบริเวณพรมแดนพม่าลาว ทำให้เรือขนาด ๓๐๐ ตันสามารถเดินทางจากยูนนานลงมายังเชียงแสนในฤดูแล้งได้

          โครงการนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อปลาบึกและปลาอื่นๆ ในแม่น้ำโขง เนื่องจากระหว่างการดำเนินโครงการมีการปิดเขื่อน ๓ วัน และเปิด ๑ วัน ทำให้ระดับน้ำโขงในฤดูแล้งต่ำกว่าปกติมาก นอกจากนั้น ระดับน้ำยังผันผวนคือมีการขึ้นลงผิดธรรมชาติ

          สำหรับแก่งคอนผีหลงและแก่งอื่นๆ ตามพรมแดนไทยลาวระหว่างเชียงแสนและเขียงของนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยรัฐบาลไทย

          แม่น้ำโขงบริเวณดังกล่าวนั้น ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญปลาและชาวบ้านในท้องถิ่นระบุว่า เป็นแหล่งวางไข่ของปลาบึกที่อพยพผ่านเชียงของขึ้นมา การระเบิดแก่งบริเวณดังกล่าวจึงเป็นการทำลายแหล่งวางไข่แหล่งเดียวที่พบในแม่น้ำโขงในปัจจุบัน

          การควบคุมน้ำและระเบิดแก่งทางตอนบน ยังทำให้ตะกอนทรายไหลลงมาทับถมแม่น้ำโขงแถบเชียงเแสนและเชียงของ ซึ่งรวมถึงวังปลาที่มีน้ำลึก ซึ่งจะกระทบต่อการวางไข่ของปลาบึกและปลาอื่นๆ

          ขณะที่การเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่จะคุกคามการอพยพของปลาบึกในฤดูวางไข่ เนื่องจากการควบคุมกระแสน้ำในฤดูแล้งจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีนให้อัตราการไหลของน้ำต่ำสุดเฉลี่ย ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยตามธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเดินเรือขนาดใหญ่ในฤดูแล้งได้ ซึ่งทำให้วัฏจักรของน้ำเปลี่ยนไปและจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ระยะยาว

          คลื่นจากการเดินเรือขนาดใหญ่และปริมาณการสัญจรทางน้ำที่เพิ่มยังจะรบกวนการอพยพและวางไข่ของปลา

          ในระยะยาว ปลาบึกยังจะถูกคุกคามจากการทับถมของตะกอนทรายหลังโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงทางตอนบน รวมถึงโครงการสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ ๒ และการพัฒนาอุตสาหกรรมในบริเวณดังกล่าว

๓) การผสมเทียมปลาบึก

         โครงการผสมเทียมปลาบึกโดยกรมประมงเริ่มเมื่อประมาณปี ๒๕๒๖ โดยกรมประมงทำการรีดไข่และน้ำเชื้อจากพ่อแม่พันธุ์ปลาบึกจากธรรมชาติที่ถูกจับได้ที่บ้านหาดไคร้และบ้านห้วยทราย สปป.ลาว
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการว่า การผสมเทียมประสบผลสำเร็จ เนื่องจากปลาบึกที่ได้จากการผสมเทียม (F1) ยังไม่สามารถสืบพันธุ์จนได้ลูกปลาบึกในรุ่นที่ ๓ หรือ (F3) ปลาบึกจีงไม่ถูกจัดให้เป็นปลาเศรษฐกิจ

          ความไม่สำเร็จของการผสมเทียมปลาบึกยังจะเห็นได้จากมีการอนุญาตให้มีการล่าปลาบึกธรรมชาติในฤดูวางไข่ทุกปี โดยที่กรมประมงมีหน่วยงานผสมเทียมเคลื่อนที่เพื่อรอตรวจสภาพเพื่อนำไข่และน้ำเชื้อจากพ่อแม่พันธุ์ธรรมชาติมาผสมเทียม โดยที่ปีนี้มีความคืบหน้าแค่การผสมเทียมระหว่างปลาบึกที่ได้จากการผสมเทียมรุ่นแรกกับแม่พันธุ์ธรรมชาติเท่านั้น

          แม้ว่าตามหลักแล้ว การผสมเทียมจะทำให้ลูกปลามีโอกาสรอดมากขึ้น แต่ก็เป็นการตัดโอกาสที่พ่อแม่พันธุ์จะสามารถสืบพันธุ์ในปีต่อๆ ไป เนื่องจากหลังการรีดไข่และน้ำเชื้อ ปลาบึกจะเสียชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น ยังปรากฏว่า ปลาบึกจำนวนมากที่ถูกจับแต่ไข่และน้ำเชื่อยังไม่พร้อมผสมเทียม ก็ต้องเสียชีวิตเช่นกัน ดังปีนี้มีปลาบึกถึง ๕ ตัวจาก ๗ ตัวที่ถูกชำแหละแม้ว่าไม่สามารถให้ไข่และน้ำเชื้อมาผสมเทียมได้ก็ตาม โดยที่ปลาบึกไม่ว่าผสมเทียมได้หรือไม่ก็ตามจะถูกชำแหละขายในกิโลกรัมละ ๕๐๐ บาท

          ยิ่งไปกว่านั้น ยังปรากฏว่า ลูกปลาบึกที่ได้จากการผสมเทียมซึ่งปกติแล้วจะต้องมีไว้เพื่อการศึกษาแต่กลับ ปรากฎว่าลูกปลาบึกที่ได้จากการผสมเทียมกลับตกไปอยู่ในบ่อเลี้ยงปลาของเอกชน ซึ่งก็คือปลาบึกที่มีการวางขายตามท้องตลาดนั่นเอง

          การคุกคามปลาบึกธรรมชาติ ยังมาจากการปล่อยลูกปลาบึกที่ได้จากผสมเทียมลงแม่น้ำโขงโดยไม่ มีการศึกษาข้อมูลฐานก่อนการปล่อย การปล่อยปลาบึกจากการผสมเทียมจึงเสี่ยงต่อความสมดุลย์ของระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงและปลาบึกธรรมชาติ ลูกปลาบึกที่ปล่อยลงไปนั้น อาจจะทำให้พฤฒิกรรมของปลาบึกเปลี่ยนไป หรือยากต่อการมีชีวิตรอดเนื่องจากต้องปรับตัวให้เข้าต่อสภาพแวดล้อม

๔) การค้าปลาบึกข้ามพรมแดน

                  ปลาบึกอยู่ในบัญชีประเภท ๒ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าพืชและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ระหว่างประเทศหรือ CITES แต่การที่ราคาปลาบึกในประเทศไทยสูงเนื่องจากความต้องการของตลาด ทำให้ที่ผ่านมาได้มีปลาบึกจำนวนหนึ่งที่ถูกจับโดยชาวประมงลาวและเขมรถูกส่งมาขายยังประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณเชียงแสนและเชียงของ
การปล่อยให้มีการค้าปลาบึกข้ามพรมแดน ยังไม่ได้มีการพิจารณากันอย่างจริงจังว่าขัดต่อกฎหมายและอาจสร้างความเสียต่อประเทศอย่างไร

นโยบายรัฐเกี่ยวกับปลาบึก

         สำหรับนโยบายของรัฐบาลไทยนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีประกาศกระทรวงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๓ ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงปลาบึกในแม่น้ำโขงท้องที่จังหวัดหนองคาย เลย มุกดาหาร นครพนม อุบลราชธานี และเชียงรายโดยเด็ดขาด อย่างไรก็ตามประกาศนี้มีข้อยกเว้นว่า “เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมงหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อธิบดีกรมประมงมอบหมาย”

         แต่การที่กรมประมงต้องการไข่และน้ำเชื้อจากปลาบึกธรรมชาติในช่วงฤดูวางไข่มาผสมเทียมดังที่กล่าวไปแล้ว กรมประมงจึงได้ออกระเบียบว่าด้วยการอนุญาตให้ทำการประมงปลาบึกในแม่น้ำโขง พ.ศ.๒๕๓๓ อ้างตามประกาศกระทรวงฯ กำหนดให้จับปลาบึกในแม่น้ำโขงนับแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายนของทุกปี โดยสามารถขออาชญาบัตรเพื่อการล่าปลาบึกได้จากพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานประมงอำเภอหรือจังหวัด และต้องแจ้งรวมทั้งยินยอมให้เจ้าหน้าที่ประมงทำการตรวจสภาพและผสมเทียมปลาบึกที่จับได้

         เป็นที่น่าสังเกตุว่า ในช่วง ๓ ปีก่อนหน้านี้ซึ่งไม่สามารถจับปลาบึกได้เลย ทำให้จำนวนเรือประมงปลาบึกลดลงมาก แต่ในปีนี้หน่วยงานรัฐได้มีการสนับสนุนทุนให้ชาวประมงจากที่อื่นมาจับปลาบึก (การลงทุนเครื่องมือประมงปลาบึกประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท ไม่รวมน้ำมันเชื้อเพลิง) การสนับสนุนนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชียงของและความต้องการไข่และน้ำเชื้อมาผสมเทียมด้วย และเมื่อมีการจับปลาบึกได้ จำนวนชาวประมงปลาบึกก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งยิ่งทำให้ปลาบึกมีโอกาสรอดไปวางไข่ยากยิ่งขึ้น

ข้อเสนอเชิงนโบบาย

๑.  เปลี่ยนนโยบายการผสมเทียมจากการล่าปลาบึกธรรมชาติมารีดไข่หรือน้ำเชื้อ เป็นการติดตามปลาบึกที่มีการผสมเทียมได้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากขณะนี้กรมประมงได้เพาะเลี้ยงปลาบึกได้แล้วไม่ต่ำกว่า ๓ ล้านตัว จำนวนปลาบึกนี้น่าจะพอเพียงสำหรับการศึกษาเพื่อพัฒนาการผสมเทียมต่อไป

๒.  ดำเนินโครงการศึกษาธรรมชาติของปลาบึก โดยการกำหนดโควต้าปลาบึกในแต่ละปีให้เหมาะสมสำหรับการศึกษาธรรมชาติของปลาบึก เพื่อให้ทราบถึงพฤฒิกรรมและวงจรชีวิต เช่น วงจรการอพยพ ที่วางไข่ และ stock

การศึกษานี้ควรดำเนินการควบคู่กันไปการศึกษาธรรมชาติของปลาอพยพอื่นๆ ที่มีความสำคัญทั้งในเชิงการอนุรักษ์และเชิงเศรษฐกิจ

การดำเนินการนี้ จะทำให้ชาวบ้านยังคงสามารถหาปลาได้ แต่ต้องมีการปรับปรุงการจับไม่ให้ปลาช้ำ และหากดำเนินการได้ก็จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สำหรับท้องถิ่น
การดำเนินการนี้ ควรมีการประสานความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ทั้งในท้องถิ่นและระดับประเทศ และประสานกับรัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการในประเทศลุ่มน้ำโขง

๓.  เร่งหาทางร่วมมือกับประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อหาทางอนุรักษ์แหล่งอาศัย หากกิน และวางไข่ของปลาบึก โดยเฉพาะบริเวณแก่งคอนผีหลงซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของปลาบึกแหล่งเดียวที่พบในปัจจุบัน

๔.  ต้องมีการควบคุมมิให้มีการค้าปลาบึกระหว่างประเทศ โดยเฉพาะบริเวณเชียงของ เชียงแสน และอรัญประเทศ
เอกสารอ้างอิง

ชมรมปลาบึกเชียงของ. บันทึกสถิติการจับปลาบึก. เอกสารอัดสำเนา.

มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถมัภ์ (๒๕๓๘). “ปลาบึก ปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุด ในโลกที่กำลังจะสูญพันธุ์ และข้อเสนอเบื้องต้นในการอนุรักษ์ปลาบึก”. มิถุนายน. เอกสารอัดสำเนา.

Hogan, S. Z. (2003). “Interim Giant Catfish Study and Community Fisheries Survey Final Report”. May

Hogan, S. Z., Moyle, P., Jake M. V. Anf Baird. G. I. “The Imperiled Giants of the Mekonng”
American Scientist, Volume 92

hppt://www.iucn.org/themes/ssc/RedList2003/English/profilesEn.htm#

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา