eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ชาวเหนือทำพิธีขอขมา"แม่น้ำโขง" นักวิชาการถล่มจีนทำกลุ่มชนวิบัติ

มติชน วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547     

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01p0108281147&show=1&sectionid=0101&day=2004/11/28

"คนเชียงราย-ชาวไทลื้อ-ส.ว.-กสม." ร่วมขอขมาแม่น้ำโขง นักวิชาการประวัติศาสตร์รุมถล่มจีนสร้างเขื่อนกั้นทำลายความเป็นตะวันออก สร้างความวิบัติความเป็นกลุ่มชน แนะต่อรองทุนนิยม เผยไทลื้อตระกูลธรรมวงศ์ยกหมู่บ้านกว่าพันคนเดือดร้อนปัญหาสัญชาติ

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย กลุ่มอนุรักษ์เชียงของและเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงาน "รวมพลคนรักน้ำโขง" ขึ้นเป็นวันที่ 2 โดยตั้งแต่ช่วงเช้าผู้แทนองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนางเตือนใจ ดีเทศน์ ส.ว.เชียงราย คุณหญิงอัมพร มีศุข นางสุนีย์ ไชยรส นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) รวมทั้งกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) จากหลายประเทศ และประชาชนราว 200 คน รวมตัวกันที่ศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการครู เพื่อล่องเรือไปตามลำน้ำโขงและทำพิธีสงฆ์ "ขอขมา" แม่น้ำ บริเวณหาดผาฟ้า และเดินทางต่อไปทอดผ้าป่าที่วัดหาดบ้าย ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่เป็นชาวไทลื้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการขอขมาแม่น้ำโขงเป็นไปอย่างคึกคัก หาดผาฟ้าเป็นเกาะอยู่กลางลำน้ำโขง หลังจากเสร็จพิธีสงฆ์ บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่และผู้มาร่วมงานได้โปรยดอกไม้ เพื่อแสดงความรักต่อแม่น้ำโขง จากนั้นช่วงบ่ายเสวนาแลกเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไทลื้อ โดยนายสมศักดิ์ ทิยะธะ ผู้อำนวยการโรงเรียนริมโขงวิทยา กล่าวว่า จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าบรรพบุรุษอพยพมาจากดินแดนสิบสองปันนา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนทั้งหมดกว่า 1,600 คน ร้อยละ 90 นามสกุลธรรมวงศ์เหมือนกันเพราะเป็นเครือญาติเดียวกัน นับถือผีปู่ผีย่าเดียวกัน และมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมไม่เหมือนที่อื่น

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า บ้านหาดบ้ายยังมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบเดิม แตกต่างจากวัฒนธรรมตะวันตกที่มุ่งเรื่องปัจเจกบุคลทำลายความเป็นอยู่ของมนุษย์ และทำลายความเป็นกลุ่มชน เช่น การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน ได้ทำลายความเป็นตะวันออก ถือว่าเป็น "ขึด" (การกระทำต้องห้าม) ทั้งๆ ที่ในอดีตคน 2 ฝั่งโขงอยู่กันโดยไม่มีความขัดแย้งเพราะเป็นวัฒนธรรมในกลุ่มเดียวกัน แต่ปัจจุบันถูกทำลายยับเยิน อาจทำให้แม่น้ำโขงวิบัติเหมือนกับที่เกิดขึ้นบริเวณปากมูล ที่รัฐเข้ามายุให้คนทะเลาะกัน แต่ความวิบัติของน้ำโขงเกิดจากจีนที่รุกรานเข้ามา

"เชียงรายจะวิบัติถ้าปล่อยให้คนขึดอยู่ แม่น้ำโขงต้องเจอเขื่อน ทำให้ชาวบ้านถูกแย่งน้ำ เราต้องมีอำนาจต่อรองกับทุนนิยมที่เข้ามา เพื่อให้เกิดความสมดุล เราต้องระวังการยุแยกระหว่างคนไทย ทั้งในครอบครัวและในชุมชน อารยธรรมลุ่มน้ำโขงที่มีมานับพันปีและอยู่กันอย่างราบรื่นอาจถูกทำลายโดยทุนนิยมที่เข้ามาแย่งชิงทรัพยากร" ศ.ศรีศักรกล่าว

รศ.ศรีศักดิ์กล่าวถึงกรณีประชาชนที่บ้านหาดบ้ายส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ ทั้งๆ ที่มีจำนวนมากเข้ามาอยู่ประเทศไทยนานแล้วว่า ในสมัยโบราณเมื่อจะให้สัญชาติจะให้ทั้งหมู่บ้านและผู้นำจะดูแลกันเอง แต่ปัจจุบันรัฐบาลคิดแบบปัจเจกชน ถือว่าทำบาปมากคือเปลี่ยนชื่อสยามประเทศที่มีคนหลากหลายชาติพันธุ์มาเอาชื่อเชื้อชาติเป็นชื่อประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวไทลื้อตระกูล "ธรรมวงศ์" ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องสัญชาติ ได้ร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่อมาคุณหญิงอัมพร และ รศ.พันธ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอนุกรรมการศึกษาปัญหาชาติพันธุ์เดินทางไปสอบถามข้อเท็จจริงในพื้นที่

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา