eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เครือข่าย 8 จ.ลุ่มน้ำโขง ร้อง กมธ.วุฒิสภา ให้ยกเลิกสร้างเขื่อนไซยะบุรี

สำนักข่าวไทย 7 ธ.ค. 54

รัฐสภา 7 ธ.ค.- เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดแม่น้ำโขง ร้อง 2 กรรมาธิการ วุฒิสภา ขอให้ยกเลิกการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในลาว ระบุส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศ ขณะที่ ส.ว.ชี้บริษัทที่สร้าง สนับสนุน ล้วนเป็นคนไทย และยังผลิตไฟมาขายให้ไทยด้วย ยกรัฐธรรมนูญให้เปิดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียก่อน พร้อมแนะให้ดูคำสั่งศาลปกครองเพื่อประกอบการฟ้องต่อศาล

นายอิทธิพล คำสุข เลขานุการเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ได้ยื่นหนังสือต่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เพื่อให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพราะผลการศึกษาจำนวนมากชี้ว่า เขื่อนไซยะบุรีจะมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อพันธุ์ปลากว่า 41 ชนิด ในแม่น้ำโขง การหาปลา ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของประชาชนในลุ่มน้ำโขง ขณะที่ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่พิสูจน์ได้ว่าจะสามารถบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ได้จริง และจากประสบการณ์ตรงของชุมชนริมน้ำโขง จึงขอเสนอให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว ซึ่งกลุ่มเครือข่ายฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาทบทวนและยกเลิกโครงการดังกล่าวแล้ว

ด้านนายสุรชัย กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะอยู่ท้ายเขื่อนก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่นับรวมประเทศเวียดนามและกัมพูชาที่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่าการดำเนินโครงการใดก็ตามที่มีผลกระทบต่อชุมชน ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องได้รับการศึกษาและประเมินผลกระทบและต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความ คิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน ซึ่งถือเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

นายสุรชัย กล่าวว่า แม้เขื่อนจะอยู่นอกประเทศ แต่มีความเกี่ยวข้องกับคนไทย เนื่องจากผู้รับเหมาเป็นบริษัทของคนไทย (ช.การช่าง) และผู้สนับสนุนการก่อสร้างเป็นทุนของธนาคารขนาดใหญ่ของไทย นอกจากนี้ 100% ของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ ยังเป็นการขายตรงต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงกล่าวได้ว่าทุกอย่างเกี่ยวข้องกับประเทศไทย เรื่องนี้ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ก่อน ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะใช้กระบวนการของวุฒิสภาเชิญนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง โดยจะเสนอให้ทบทวนโครงการตามที่มีกระบวนการศึกษาผลกระทบต่อระบบ นิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 4 ประเทศ ที่ประกอบด้วย ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา

ด้าน น.ส.รสนา กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตที่ข้าราชการกระทรวงพลังงานมักจะชงโครงการทุกครั้งที่บ้าน เมืองเกิดวิกฤตื โครงการนี้ก็เช่นกัน ข้าราชการไทยถูกตั้งคำถามเรื่องระบบธรรมาภิบาล ทั้งนี้ การสร้างเขื่อนต้องผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายหลายฉบับ เนื่องจากมีผลกระทบตามมาหลายอย่างโดยเฉพาะระบบนิเวศ ขออย่าได้มองการพัฒนาบนความโลภ ส่งเสริมในเรื่องของปลอมและตัวเลขผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) เพียงอย่างเดียว เรื่องนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถตรวจสอบคำสั่งศาลปกครองในเรื่องสิทธิ ชุมชน เพื่อนำมาประกอบการดำเนินการฟ้องต่อศาลได้. - สำนักข่าวไทย

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา