eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ภาคอีสานจี้ กฟผ. เปิดข้อมูลสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนไชยะบุรี จาก สปป.ลาว

4 ก.พ. 55

บรรพต  ศรีจันทร์นิตย์
รายงานจากริมแม่น้ำโขง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

   

วันนี้ (4 ก.พ.) เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ภาคอีสาน ได้จัดเวทีผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลัก กรณีเขื่อนไชยะบุรีใน สปป.ลาว ของ บริษัท ช.การช่าง (มหาชน) จำกัด โดยมีตัวแทนจาก คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ลงมาร่วมรับฟังข้อมูล และศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

การจัดเวทีได้นำเสนอข้อมูลผลการวิจัยไทบ้าน 10 หมู่บ้านในตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลักในช่วงหลังปี 2535 เป็นต้นมา โดย นายอำนาจ  ไตรจักร นักวิจัยไทบ้านตำบลพระกลางทุ่งสรุปให้ฟังพอคร่าวๆ จากผลการวิจัย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงหลังจากการสร้างเขื่อนในจีนได้ส่งผลกระทบ และสร้างความเสียหายแก่ชุมชนลุ่มน้ำโขงที่สำคัญ คือ จากการสำรวจข้อมูล 47 ครัวเรือน ทำให้พื้นที่การเกษตรกรรมริมฝั่งแม่น้ำโขงที่เกษตรกรปลูกพืชผักในช่วงฤดูแล้ง มีมูลค่าความเสียหายในปี 2553/54 กว่า 800,000 บาท และครัวเรือนที่ทำการประมงพื้นบ้าน 20 ครอบครัวได้รับผลกระทบมีมูลค่าความเสียหาย 700,000 บาท/ปี จากการไม่สามารถจับปลาได้ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงที่ขึ้นลงไม่ปกติตามฤดูกาล นอกจากนี้ กระแสน้ำจากการปล่อยน้ำไม่สม่ำเสมอทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง และกัดเซาะตลิ่งพังทำให้พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่เพาะปลูกถูกทำลาย 31 ไร่ มูลค่าเสียหาย 3.7 ล้านบาท โดยไม่ได้รวมมูลค่าการเสียโอกาสที่เกษตรกรไม่ได้ทำมาหินในพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า 20 ปี หากรวมพื้นที่เสียหายจากการ

ต่อมา นายสุรจิต  ชิรเวทย์ สว. และรองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้กล่าวถึงรายงานผลการตรวจสอบจากคณะกรรมาธิการฯ ว่า การก่อสร้างอะไรลงไปในลำน้ำสายหลัก ตัวน้ำโขง เราได้มีข้อตกลงภายใน 4 ประเทศ ที่ได้ลงนามกันไว้เมื่อปี 2538 ข้อตกลงนี้เป็นการบังคับว่า ถ้าจะทำอะไรลงไปจะต้องได้รับฉันทามติเป็นเอกฉันท์จากสี่ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และโครงการสร้างเขื่อนไชยะบุรี เป็นหนึ่งใน 12 โครงการ และโครงการนี้เป็นโครงการแรกที่มีกระบวนการตรวจสอบข้อมูล ซึ่ง กรรมาธิการฯ วุฒิสภา หลังจากได้รับการร้องเรียนจากพี่น้อง จึงลงมาศึกษาข้อมูล ตรวจสอบข้อเท็จจริง กระบวนการขั้นตอน ความโปร่งใส และไดกระทำไปชอบด้วย หรือไม่ ดังนั้น ทั้งสี่ประเทศนี้ให้เป็นบรรทัดฐานร่วมกันในการทำงาน งานนี้เป็นงานแรกใครจะละเมิดก็เป็นที่วิตกกังวล โดยเฉพาะข้อวิตกกังวลในเรื่องถ้ามีผลกระทบข้ามพรมแดนใครจะรับผิดชอบ เพราะการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงมีผลกระทบข้ามพรมแดนแน่ โครงการนี้เริ่มต้นกันมาหลายรัฐบาล และการสร้างเขื่อนไชยะบุรีเป็นการลงทุนของเอกชนเข้าไปตกลงกับรัฐบาลลาวเข้าไปลงทุนศึกษาข้อมูล ต่อมาในปี 2553 ลาวมีความประสงค์จะสร้างเขื่อนนี้ ก็มีคณะกรรมการร่วม และมีตัวแทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปร่วมในกระบวนการ ในกรณีประเทศไทยต้องใช้กฎหมายไทยที่ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น แต่สามารถขยายเวลาได้ตามความเหมาะสม จึงมีเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนแค่ 3 เวที แต่ผลกระทบต่อลำน้ำสาขา เช่น ลำน้ำสงคราม มูล ชี ไม่ได้มีเวทีครอบคลุม จึงมีข้อกังวลต่อผลกระทบในด้านต่างๆ ภายหลังจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง แต่รัฐบาลลาวยืนยันจะสร้างแม้ว่าชาติอื่นๆ ไม่เห็นด้วย และให้ยืดระยะเวลาออกไป เพื่อศึกษาผลกระทบให้รอบด้านก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ผ่านกระบวนการที่เป็นมติเอกฉันท์ 4 ชาติที่ประชุมเมื่อวันที 8-9 ธันวาคม 2554 ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ที่ผ่านมา

ในระหว่างการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ปรากฏว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ไปทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนไทยที่เข้าไปลงทุนในลาว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2554 ที่ สปป.ลาว ทั้งๆ ที่ มติ ครม. เมื่อปี 2553 ให้ทำสัญญาได้ภายใต้เงื่อนไข และกระบวนการตามมติของชาติทั้ง 4 ตามข้อตกลงปี 2538 จึงมีคำถามจากเครือข่ายภาคประชาชน 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขงต่อ กฟผ. ที่ไปทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเอกชนไทยในลาวได้อย่างไร โดยไม่ปรึกษาขอความเห็นจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐาน เลขาฯ ของ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ที่กระบวนการ ขั้นตอน การทำงานยังไม่ถึงที่สุด เหตุไฉนทาง กฟผ. จึงไปเซ็นต์สัญญาก่อนได้อย่าง ทั้งที่กระบวนการของ MRC ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการอยู่ สว.สุรจิต ชิรเวทย์ กล่าวทิ้งท้าย

ดร.โอภาส ปัญญา อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนนักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความเห็นต่อโครงการเขื่อนไชยะบุรี ว่า ผมต้องยกย่องชมเชยชาวบ้านที่ทำการศึกษาปัญหาผลกระทบนี้ และเราต้องยกระดับการต่อสู้ ความรู้ คือ อำนาจ โลกสมัยใหม่การต่อสู้ต้องต่อสู้ด้วยการตั้งคำถามให้ถูก อย่าไปติดยึดเทคนิคเล็กๆ ให้ตั้งคำถามหลักให้คนฟังใหญ่ๆ ไปคิด คำถามข้อที่หนึ่ง กระบวนการลงนามเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล หรือไม่ การเป็นมาของโครงการไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวข้องทางนโยบาย เช่น รัฐบาล MRC ธนาคาร และ ช.การช่าง ข้อที่สองผลกระทบเชิงนิเวศทั้งระบบ ข้อที่สอง ท่านจะยอมรับข้อมูลจากท้องถิ่นได้หรือไม่ที่เป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ข้อที่สาม ผลกระทบวิถีชีวิต ความมั่นคงทางด้านอาหารของชุมชนที่เป็นประเด็นสำคัญของโลก ข้อสี่ การพัฒนา (ไฟฟ้า) กับ การทำลายความมั่นคงทางด้านอาหารของชุมชนท้องถิ่น รัฐจะเลือกยืนอยู่ฝ่ายไหน ข้อสุดท้าย ในเชิงสากล ธนาคารโลก ได้ประกาศยุติการสนับสนุนการสร้างเขื่อน เพราะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตมนุษย์ และสร้างความขัดแย้งภายในสังคมประเทศนั้นๆ เพราะฉะนั้นชาวบ้านเราต้องยกระดับการต่อสู้ให้เขาตอบโจทย์เรา และคำถามเหล่านี้เป็นคำถามเชิงยุทธศาสตร์

ในขณะเดียวกัน คุณมนตรี  จันทวงศ์ อนุกรรมาธิการฯ มีคำถามไปยัง กฟผ. คือ ทำไมต้องเร่งรีบลงนามในวันที่ 29 ตุลาคม 2554 ทั้งที่น้ำท่วม กทม. และเป็นวันหยุด ยังไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน และมติ ครม. เองก็ไม่ได้มีความชัดเจนในการอนุญาตให้ลงนามซื้อ-ขายไฟฟ้าจากเอกชนไทยในลาวได้ เพราะกระบวนการยังไม่สิ้นสุดตามมติของ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ความเร่งรีบเพราะประโยชน์ทับซ้อนในการลงทุนในลาว หรือไม่ เนื่องจากการร่วมลงทุนในบริษัทลูกของ กฟผ.

ทางด้าน นายสมภพ  เนตรไลย์ ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ได้กล่าวปิดท้ายเวทีเสวนาว่า ผมคิดว่าวันนี้ชาวบ้านเราถูกหลอก พากเราทำงานนี้สู้เพื่อสาธารณะ ไม่ได้สู้เพื่อเรา ทาง กฟผ. ทำเช่นนี้สร้างความแตกแยก และกระแสการต่อต้านรุกทวีคูณมากขึ้น งานนี้ต้องมีการตายเกิดขึ้นถึงจะยุติ เราต้องต่อสู้เพื่อลูกเพื่อหลานเราต่อไป... นั่นคือเสียงกร้าวของแกนนำเครือข่ายฯ ทิ้งท้ายงานเสวนาวันนี้

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา