eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน (คสข.) จี้นายกฯยิ่งลักษณ์ ทวงถามกฟผ.เซ็นต์สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีที่ สปป.ลาว ผิดหลักธรรมาภิบาล:นายกฯไม่รู้ความคืบหน้าหรือโกหกคำโต

21 กุมภาพันธ์ 2555

วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2555) เวลา 14.00 น. คณะกรรมการเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน (คสข.) โดยนางดวงตา นาคเรไรและแกนนำลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ได้ยื่นหนังสือทวงถามนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ที่จังหวัดเลย กรณีร้องให้ยุติการเสร้างเขื่อนไซยะบุรี ว่า หลังจากที่เครือข่ายฯ ยื่นหนังสือกับนายกฯที่ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา และนายกฯตอบชาวลุ่มน้ำโขงว่า “ไม่ต้องกังวลใจ เพราะเรื่องเขื่อนไซยะบุรียังไปไม่ถึงไหน สบายใจได้” แต่ข้อเท็จจริง กฟผ.มีการธุรกรรมซื้อขายไฟฟ้ากับสปป.ลาวตั้งแต่ วันที่ 29 ตุลาคม 2554 ก่อนมีการประชุม MRC ที่เสียมเรียบ กัมพูชาในวันที่ 8 ธันวาคม 2554  ทำให้ประชาชนชาวลุ่มน้ำโขงสงสัยว่า นายกฯ ไม่รู้ความคืบหน้าหรือมีการโกหกคำโต

แหล่งข่าวรายงานว่า แกนนำคณะกรรมการเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน (คสข.) อันประกอบไปด้วยผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง จากจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานีได้ยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้ากรณีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีต่อนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ที่เดินทางไปพบปะพี่น้องชาวอีสานและร่วมประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดเลยและอุดรธานีในวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2555 ว่า “ ชาวลุ่มน้ำโขงสงสัยว่าคำตอบที่นายกฯให้กับพวกเราชาวลุ่มน้ำโขงคราวที่ไปราชการที่จ.ศรีสะเกษว่าเรื่องนี้ยังไปไม่ถึงไหน นายกฯไม่รู้เรื่อง หรือกฟผ.แอบเซ็นต์สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเอง หรือใครที่โกหกคำโต ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และการกระทำของกฟผ.ดังกล่าว ผิดหลักธรรมภิบาลหรือไม่ ” นางเจนจิรา  คำเงาะ  แกนนำจังหวัดเลย ทวงถามขณะยื่นหนังสือ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีรับว่า “จะตรวจสอบเรื่องนี้ให้”

นอกจากนี้ เครือข่ายฯ คสข. ยังได้ทวงถามถึงจุดยืนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า การสร้างเขื่อนไซยะบุรีได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความมั่นคงทางด้านอาหารของชุมชนกว่า 60 ล้านคนใน 4 ประเทศคือไทย ลาว เขมร เวียตนาม  ต้นเหตุในการสร้างปัญหาคือรัฐบาลไทย ซึ่งชาวลุ่มน้ำโขงได้พยายามนำเสนอข้อกังวล ข้อมูลผลกระทบ แต่รัฐบาลจะยอมรับข้อมูลจากท้องถิ่นได้หรือไม่  การพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้า กับ การทำลายความมั่นคงทางด้านอาหารของชุมชนท้องถิ่น รัฐบาลจะเลือกยืนอยู่ฝ่ายไหน เพราะในเชิงสากล ธนาคารโลก ได้ประกาศยุติการสนับสนุนการสร้างเขื่อนนานแล้ว เนื่องจากเป็นการ สร้างความขัดแย้งภายในสังคมประเทศ  โดยเฉพาะแผ่นดินสุวรรณภูมิ โดยเครือข่ายฯคสข.ร้องขอให้ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาลไทย ได้ตอบคำถามเหล่านี้ภายใน ๓๐ วัน

นอกจากนี้ นายอิทธิพล  คำสุข เลขานุการเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด (รวมจ.เชียงราย)กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในวันเดียวกันนี้ ในนามประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด ได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผ่านนายแพทย์ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีเขื่อนไซยะบุรีของผู้เกี่ยวข้อง อันประกอบด้วย บรรษัทไทย ที่เกี่ยวข้องกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี (กฟผ. บริษัทช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทผลิตฟ้าจำกัด (มหาชน) บริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)และกลุ่มธนาคารไทยที่ให้การสนับสนุนเงินทุนการสร้างเขื่อนไซยะบุรี คือธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพฯ) และยังระบุอีกว่า “วันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2555 นี้ ประชาชนชาวลุ่มน้ำโขงจะประชุมเพื่อดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องในกรณีเขื่อนไซยะบุรี ต่อไป ทั้งนี้เราคาดหวังว่ารัฐบาลจะไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยโดยไม่คำนึงถึงคนส่วนใหญ่ในภูมิภาค คนอีสานคาดหวังและจะรอคอยคำตอบในครั้งนี้ อันเนื่องมาจากถือว่าเป็นรัฐบาลที่คนอีสานอุตส่าห์เทคะแนนให้รัฐบาลเสื้อแดงอย่างสุดจิตสุดใจ”นายอิทธิพล  คำสุข กล่าวทิ้งท้าย

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา