eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ชาวเชียงของสุดทน ประท้วงจีนเขื่อนทำ"โขง"แห้ง
แฉปลาสูญพันธุ์น้ำลด-ขุ่นใช้ไม่ได้เรือ50ลำหยุดวิ่งสถาบันเอเชียจี้วิจัยระบบนิเวศ

ข่าวสด วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2547 ปีที่ 13 ฉบับที่ 4835

แห้งขอด- ชาวบ้านเชียงของ จ.เชียงราย พากันตกปลาแทนการใช้เรือทำประมงเนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงแห้งขอดจนเรือแล่นไม่ได้ ล่าสุดกลุ่มสตรีเชียงของเตรียมยื่นประท้วงจีนที่สร้างเขื่อนขวางแม่น้ำ

ชาวเชียงของสุดทน เตรียมยื่นหนังสือประท้วงรัฐบาลจีน ตัวการทำให้แม่น้ำโขงเหือดแห้ง จนชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก ขณะที่เรือประมง 50 ลำหยุดวิ่ง หลังจากน้ำลด เรือได้รับความเสียหาย เนื่องจากใบพัดชนกับหิน เนินทราย สถาบันเอเชียระบุจากการลงสำรวจพื้นที่เมื่อปลายเดือนม.ค. พบปลาสูญพันธุ์จำนวนมาก น้ำลด ขุ่น นำมาใช้ดื่มกินไม่ได้ แนะประเทศลุ่มแม่น้ำโขงก่อนตัดสินใจสร้างเขื่อนจะต้องลงทุนศึกษาวิจัยระบบนิเวศให้มาก วอนทุกชาติร่วมกันอนุรักษ์ ไม่ทำลายระบบนิเวศ

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 23 ก.พ. ที่ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเอเชียศึกษา จัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "โขงนทีที่เปลี่ยนไป : ข้อมูลล่าสุดว่าด้วยการสำรวจแม่น้ำโขงตอนบน"

นายเขียน ธีระวิทย์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวว่า ประเด็นที่ประเทศจีนสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงตอนบน ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากในวงกว้าง ตนเห็นว่าก่อนการตัดสินใจที่จะสร้างเขื่อนใดๆ ควรจะมีงานวิจัยจากวงวิชาการนำมาเป็นข้อมูลเพื่อการพิจารณา เพราะหากสร้างโดยไม่มีข้อมูลการสร้างเขื่อนอย่างถูกต้องจะเกิดผลเสียหายอย่างมาก ดังนั้นการวิจัยควรจะมีการลงทุนในส่วนนี้ อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของการลงทุนสร้างเขื่อนแต่ละแห่งที่มีมูลค่ามหาศาลเป็นพันๆล้านบาท ที่ผ่านมามูลค่าของเงินที่ใช้เพื่อการศึกษาวิจัยเรื่องเขื่อนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 จากมูลค่าของโครงการสร้างเขื่อนเท่านั้น

นายเขียนกล่าวต่อว่า ขณะนี้ปัญหาการก่อสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง ถือเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันขบคิดให้มาก เนื่องเพราะเกี่ยวพันไปถึงเรื่องความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ เดิมครั้งที่มีการปฏิรูปโครงสร้างคณะกรรมการแม่น้ำโขงใหม่ในสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี พยายามจะเจรจาให้จีน และพม่าเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย เพราะประเทศทั้งสองถือว่าอยู่ในส่วนของต้นน้ำ สามารถดำเนินการใดๆโดยไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญและสนใจต่อประเทศท้ายน้ำ แต่หากเข้ามาอยู่ในรูปกรรมการร่วมต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ซึ่งเวลานั้นเวียดนามไม่ประสงค์จะให้จีนเข้ามาร่วมเป็นกรรมการด้วย ท้ายที่สุดกลับมีการเซ็นสัญญาโดยให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นน้ำ ไม่นำจีนและพม่ามาเข้าร่วม โดยมีคำตอบจากทางราชการว่าต่อไปจีนจะมาเข้าร่วม จนถึงวันนี้ก็ยังมองไม่เห็นว่าจีนจะมาเข้าร่วมได้อย่างไร นี่คือเรื่องที่ตนเสียใจและคิดว่าการตัดสินใจดังกล่าวทำให้เกิดความผิดพลาดมาก

ด้านนางสุภางค์ จันทวานิช ผอ.สถาบันเอเชียศึกษา กล่าวว่า เป็นหนึ่งในคณะที่เดินทางไปสำรวจแม่น้ำโขงตอนบนระหว่างวันที่ 25-30 ม.ค.ที่ผ่านมา ช่วงที่ลงเรือล่องไปตามแม่น้ำโขง เห็นสภาพของแม่น้ำโขงบางตอนเริ่มมีปัญหาระดับน้ำลดลงอย่างมาก ทั้งที่ยังไม่เข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง เห็นสภาพเรือใหญ่ที่ไม่สามารถเดินทางได้ในบางจุดเพราะเกาะแก่งที่โผล่ขึ้นมา กรณีที่ประเทศจีนสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงย่อมเกิดผลกระทบกับการสัญจรทางน้ำของเรือขนส่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของประเทศจีน อย่างแน่นอน

นางสุภางค์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ปัญหาเรื่องการระเบิดแก่งต่างๆ เพื่อทำร่องน้ำสำหรับการสัญจรทางเรือนั้น แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลดีผลเสียจากการดำเนินการดังกล่าว แต่อย่างน้อยหากมองเรื่องสิ่งแวดล้อม ยิ่งมีการระเบิดแก่งต่างๆในลำน้ำ สถานการณ์ก็จะยิ่งแย่ไปอีก เรื่องนี้เรามีข้อมูล เพราะที่คณะลงไปศึกษา ช่วงที่เราลงพื้นที่ไม่เคยมีโอกาสกินปลาจากแม่น้ำโขงเลยสักตัวเดียว สอบถามจากชาวบ้านที่เป็นไทลื้อ เขาบอกว่าไม่มีปลาเหลืออีกแล้ว ดังนั้นน่าจะมีการศึกษาและวิจัยเรื่องผลกระทบอย่างแท้จริงเสียที

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจ.เชียงราย กรณีชาวบ้านจำนวนมากที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง ได้รับผลกระทบเนื่องมาจากระดับน้ำแม่น้ำโขงลดลงมากกว่าทุกปี สืบเนื่องมาจากประเทศจีนมีการปิดเขื่อนที่ใกล้กับเมืองอวนเหลยว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่พื้นที่ปลายน้ำได้รับผลกระทบแผ่เป็นวงกว้าง มีกลุ่มชาวบ้านที่ประกอบอาชีพขี่เรือหางยาวบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ต้องหยุดเดินเรือ จำนวนเกือบ 50 ลำ เนื่องจากเรือได้รับความเสียหายจากการที่ใบพัดไปปั่นกับหินและทราย บ้างก็เรือติดเนินทราย

นอกจากนี้กลุ่มชาวประมงที่หาปลาในแม่น้ำโขงก็ประสบบัญหาเนื่องจากน้ำในแม่น้ำโขงเริ่มขุ่นมากขึ้นทำให้จับปลาได้ยาก อีกทั้งปลาก็ลดจำนวนลงมาก รวมทั้งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำก็ไม่สามารถนำน้ำมาดื่มกินได้ และใช้ซักล้างได้เหมือนเมื่อก่อนเพราะน้ำมีทรายลอยปนมาเยอะมาก จะใช้ได้ก็เพียงนำมารดพืชผักที่ปลูกตามริมแม่น้ำโขงเท่านั้น

ด้านนางฉวีวรณ พวงสมบัติ อายุ 50 ปี ประธานกลุ่มสตรีเชียงของ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มสตรีเชียงของ ร่วมกับกลุ่มรักษ์เชียงของ จัดเวทีเสวนาเรื่องสถานการณ์แม่น้ำโขง ขึ้นที่บ้านเมืองกาญจน์ ม.2 ต.ริมโขง อ.เชียงของ โดยมีสมาชิกเข้าร่วมจำนวน 60 คน หลังจากที่ได้มีการประชุมหารือถกถึงบัญหาสภาพปัจจุบันที่ชาวบ้านและสมาชิกกำลังประสบอยู่นั้น มีข้อตกลงกันว่ากลุ่มสตรีเชียงของจะทำหนังสือประท้วงไปยังประเทศจีนเกี่ยวกับเรื่องระเบิดแก่งหินและการปิดเปิดน้ำของเขื่อนแม่น้ำโขง โดยจะส่งผ่านไปทางรัฐบาลไทย และจะผลักดันให้จีน รวมทั้งประเทศที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกันอนุรักษ์ สภาพเดิมของแม่น้ำโขงเอาไว้ อยากจะผลักดันให้มีการขนส่งทางบก มากกว่าจะมาใช้แม่น้ำโขงเพียงเส้นเดียว เนื่องจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการขึ้นลงที่ไม่เหมือนเดิม น้ำขุ่น ปลาหลายพันธุ์เริ่มหายไป ส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำโขงก็เริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีด้วย เพราะระบบนิเวศถูกทำลายลงไป นอกจากนี้เตรียมหาแนวร่วมจากชาวบ้านในเขตอำเภอเชียงของ อ.เชียงแสน มาร่วมกันเรียกร้องอีกด้วย

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา