eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แถลงการณ์

ของขวัญถึงรัฐบาลจีน หมายเลข 2

27 เมษายน 2552

ก่อนจะเป็นของขวัญ

เรา-ประชาชนริมฝั่งโขงประเทศไทยและท่าน-รัฐบาลจีนซึ่งมีประชาชนในมณฑลยูนนานและเขตปกครองพิเศษธิเบตต่างอยู่ร่วมลุ่มน้ำโขงเดียวกัน แม้จะใช้ชื่อต่างกันว่าหลานซางหรือแม่น้ำของหรือโขง แต่ก็เป็นแม่น้ำเดียวกันที่ไหลถึงกันด้วยความสัมพันธ์ที่ดีตลอดมา เราและท่านก็รู้ว่า แม่น้ำโขงคือแม่น้ำนานาชาติของ 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียตนาม และต่างก็รู้ว่า ทุกประเทศมีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่ริดรอดสิทธิของประเทศอื่น อีกทั้งมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาดูแลแม่น้ำโขงให้สามารถใช้ร่วมกันอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ในเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา หลังจากท่านได้เปิดประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจการตลาดแบบสังคมนิยม ท่านได้มุ่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้ประเทศของท่านเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากจนนับว่าเป็นผู้นำของโลกอีกประเทศหนึ่ง ท่านเพิ่มการขยายระบบเศรษฐกิจการตลาดมุ่งสู่ภาคตะวันตกคือมลฑลยูนนานให้เจริญทัดเทียมกับภาคตะวันออก โดยเฉพาะการพัฒนาในแม่น้ำโขง ท่านได้ลงทุนในการพัฒนาเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างมหาศาลในสายน้ำโขง แม้ท่านจะมองว่า แม่น้ำโขงตอนบนอยู่ในพื้นที่ของประเทศท่าน เป็นอธิปไตยของประเทศจีนที่จะสามารถกระทำการใดๆ ก็ได้ ทว่าเมื่อท่านก็รู้ว่าสายน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ สายน้ำโขงไหลเชื่อมต่อกันจนถึงประเทศของเราและประเทศอื่นๆ ท้ายน้ำ การที่ท่านมีแผนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนจำนวน 8 เขื่อน (ทราบว่าสร้างเสร็จและเปิดใช้แล้ว 3 เขื่อน) ท่านเคยคิดบ้างไหมว่า คนท้ายน้ำได้รับผลกระทบรุนแรงเพียงใด?

นอกจากนี้ โครงการระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ลงมาค้าขายทางตอนล่างซึ่งมีท่านเป็นผู้ผลักดันหลักนั้น แม้จะชะลอโครงการไว้เพียงแค่สามเหลี่ยมทองคำ ทว่าผลกระทบที่ตามมาต่อเราก็มีมากมายมหาศาลในปัจจุบัน ดังที่เราเคยส่งของขวัญไปถึงท่านครั้งหนึ่งแล้วในวันที่ 24 เมษายน 2547 กับทีมสำรวจแม่น้ำโขงของท่าน  ทั้งนี้หากนับรวมโครงการเขตการค้าเสรีอาเชียน-จีน และโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงตอนล่างซึ่งกำลังพัฒนาอยู่อีก 11 แห่ง ฯลฯ  ก็นับได้ว่า ความทุกข์ยากที่เกิดมีของคนประเทศท้ายน้ำจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

โครงการพัฒนาเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นริมฝั่งแม่น้ำโขงอย่างมหาศาล  กระแสน้ำในลำน้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปเพราะการเปิดปิดเขื่อนของท่านเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ขึ้นลงมาค้าขาย ทั้งเพื่อการปล่อยน้ำจากเหตุน้ำท่วมในเขตหน้าเขื่อนของจีน  นอกจากนี้กระแสน้ำที่เปลี่ยนทิศทางหลังจากระเบิดเกาะแก่งเหนือสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไปยังทำให้สายน้ำไหลแรงจนผืนดินสองฝั่งโขงพังทลายไปปีละหลายสิบไร่ อีกทั้งปริมาณพันธุ์ปลาลดลง พื้นที่เกษตรริมฝั่งโขงถูกน้ำท่วม จนความมั่นคงทางอาหารและผืนดินริมฝั่งสูญสลาย บางชุมชนผู้คนต้องอพยพไปหากินต่างถิ่น หลายชุมชนต้องเปลี่ยนอาชีพ ทั้งหมดนี้ทำให้วิถีชีวิตคนริมฝั่งโขงแทบล่มสลาย

กล่าวสำหรับ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 9-15 สิงหาคม 2551 เกิดน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบสี่สิบปีในเขตแม่น้ำโขง-อิงและกกตอนปลาย สาเหตุหลักมาจากการเปิดเขื่อนในประเทศของท่านเป็นสำคัญ เพราะน้ำท่วมหนักหน้าเขื่อนจนมีรายงานข่าวของทางการจีนว่า มีผู้เสียชีวิต 40 คน และผู้คนหลายแสนคนต้องอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย เราเข้าใจดีว่า ท่านก็รักประชาชนของท่านเช่นเดียวกับที่เราก็รักพี่น้องท้ายน้ำของเรา ทว่าการปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาอย่างฉับพลัน โดยไม่ยอมบอกข่าวกันล่วงหน้า มันได้ทำให้คำกล่าวอ้างที่ท่านมักอ้างเสมอว่า เขื่อนช่วยป้องกันน้ำท่วมในหน้าน้ำหลากและจะปล่อยน้ำไม่ให้แม่น้ำแห้งขอดในหน้าแล้งนั้นไม่เป็นความจริง

เพราะด้วยเหตุการณ์ครั้งนี้น้ำได้ท่วมฉับพลันเพียงในวันเดียวเกือบสองเมตร น้ำโขงหนุนเข้าสู่แม่น้ำอิงและกกซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาลึกเข้าไปเกือบ 30 กิโลเมตร ส่งผลให้พื้นที่การเกษตร สัตว์เลี้ยง บ้านเรือนและผืนแผ่นดินชายฝั่งเสียหายอย่างมหาศาล หลังน้ำลดลงในวันที่ 15 สิงหาคม 2551 สำรวจผลกระทบประเมินค่าความเสียหายเบื้องต้นเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 85 ล้านบาท เราไม่แน่ใจว่า ท่านจะชดใช้ค่าเสียหายเหล่านี้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม หลังจากน้ำท่วมใหญ่แล้วเครือข่ายชาวบ้านในแม่น้ำอิง-กก ตอนปลายและชายฝั่งโขงได้ร่วมกันฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นริมน้ำโขงตามกำลังที่พอมี ทั้งการฟื้นฟูอาชีพ กองทุนเมล็ดพันธุ์และสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตาม สำหรับแผ่นดินไทย-ผืนดินริมฝั่งโขงได้สูญเสียไปกับกระแสน้ำโขงเป็นอย่างมาก เช่นที่บ้านห้วยลึก และบ้านปากอิงใต้  ด้วยความกังวลและด้วยความรักผูกพันที่มีต่อแม่น้ำโขงซึ่งเปรียบเหมือนแม่ผู้หล่อเลี้ยงชีวิต จึงทำให้เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำอิง-กก ตอนปลายและชายฝั่งโขง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ได้รวมพลังปักหลัก เสริมดิน ป้องกันตลิ่งพังริมฝั่งโขง ณ บ้านปากอิงใต้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 25 – 27 เมษายน 2552 นี้

วันเดียวกันนี้ เราทั้งหลายจาก เครือข่ายชาวบ้านจากเครือข่ายรักทะเลกรุงเทพฯ และสิ่งแวดล้อมบางขุนเทียน เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น จ.ระนอง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เครือข่ายสิทธิคนจน จ.ภูเก็ต เครือข่ายชุมชน จ.พังงา เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองพิจิตร เครือข่ายฟื้นฟูลุ่มน้ำทะลสาบสงขลา เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม เครือข่ายฟื้นฟูเกาะลันตา กลุ่มฮักบ้านเฮาพะเยาเมืองน่าอยู่ เครือข่ายชุมชนศรัทธาจ.ชายแดนใต้ เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองเชียงใหม่ เครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองอุบล กลุ่มรักสิทธิลุ่มน้ำโขง และโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้มาร่วมแรงร่วมใจกันในการสร้างแนวป้องกันตลิ่งพังริมฝั่งโขง เพื่อเป็นพลังการพึ่งตนเองของคนเล็กคนน้อยและเป็นการตอบแทนความรักต่อสายน้ำโขง ต่อทรัพยากรธรรมชาติว่า ชุมชนท้องถิ่นริมฝั่งโขงและเครือข่ายองค์กรชุมชนของไทยที่ได้อยู่ได้กินได้อาบใช้จากแม่น้ำโขงจะร่วมแรงกันพิทักษ์รักษาให้แม่น้ำโขงเป็นสายน้ำนานาชาติ ไม่ใช่แม่น้ำของประเทศใหญ่ประเทศใด และเพื่อให้ยั่งยืนสืบไปชั่วลูกหลาน  

ของขวัญถึงองค์การสหประชาชาติ หมายเลข 2

ของขวัญที่ได้มอบแด่ท่าน-รัฐบาลจีนในครั้งนี้ ขอมอบให้เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจีนต้องตระหนักและหันกลับมาทบทวนแนวนโยบายของตนในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ต้องรับฟังเสียงของคนท้ายน้ำ เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนและเป็นธรรม อย่าคิดแต่เพียงว่า แม่น้ำในบ้านของฉัน ฉันสามารถทำอะไรก็ได้ 

เราขอย้ำอีกครั้งว่า การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตประชาชนเพื่อกลุ่มนายทุนธุรกิจ โดยการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจากมลฑลยูนนานไปให้คนรวยในภาคตะวันออกของประเทศท่าน เป็นการทรยศต่อหลักการอันยิ่งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ของท่าน ที่มีหัวใจอยู่ที่ประชาชนผู้ยากไร้ และประชาชนของท่านกับประชาชนในประเทศท้ายน้ำก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน การทำร้ายแม่น้ำโขงซึ่งเป็นที่พึ่งพาของคนจนกว่าร้อยล้านคนในภูมิภาคนี้มานับพันปี เพื่อกลุ่มนายทุนหรือชนชั้นนำ ย่อมเป็นการตอกย้ำว่า หลักการความเท่าเทียมกันของมนุษย์ในอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ของท่านไม่มีอีกต่อไป

เราขอกล่าวย้ำอีกว่า ประชาชนคนยากคนจน คนชุมชนท้องถิ่นเป็นรากฐานความมั่นคงของประเทศในลุ่มน้ำโขงและของโลก หากแผ่นดินและวิถีชีวิตคนชายขอบริมฝั่งแม่น้ำโขงล่มสลายแล้วทุกประเทศในลุ่มน้ำโขงจะอยู่ได้อย่างไร หากท่าน-รัฐบาลจีนยังไม่ทบทวนการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมในลุ่มน้ำโขงที่ผ่านมาและปล่อยให้ดำเนินไปเช่นปัจจุบันนี้ แล้วใครจะรับประกันได้ว่า สักวันหนึ่งจะไม่เกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติขึ้นในลุ่มน้ำโขงอย่างหนักก็เป็นได้  การเคารพในสิทธิและไม่ริดรอนสิทธิ์ของประเทศต้นน้ำและปลายน้ำ รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม คือสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลจีนและรัฐบาลในประเทศลุ่มน้ำโขงต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้การอยู่ร่วมกันของคนในลุ่มน้ำโขงและคนในโลกเกิดสันติสุข

นอกจากนี้ ของขวัญชิ้นนี้มอบให้เพื่อเตือนสติว่า หากท่านยังไม่ทบทวนนโยบายการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อคนท้ายน้ำ บนหลักการการพัฒนาที่เคารพธรรมชาติและศรัทธาในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เพื่อความสงบสุขของคนในลุ่มน้ำโขง เราทั้งหลายจะเดินทางกันไปเยี่ยมเยียนสถานฑูตของท่านในทุกประเทศ

                                    เคารพธรรมชาติและศรัทธาในความเท่าเทียมกันของมนุษยชาติ
 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา