eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

คณะกรรมาธิการ สวล. วุฒิสภาประชุมแก้ไขปัญหาผลกระทบเขื่อนจีน

31 กรกฎาคม 2552

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการด้านการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของสาธารณรัฐประชาชนจีน และพบปะประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่อำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย ณ โรงแรมน้ำโขงริเวอร์ไซต์ จังหวัดเชียงราย

นางจิราวรรณ  จงสุทธนามณี วัฒนศิริธร สว. เชียงราย  กล่าวว่า
วัตถุประสงค์ที่เดินทางมาเข้าร่วมครั้งนี้
จากที่เคยลงพื้นที่ครั้งก่อนและได้มีการนำเสนอปัญหาให้กับทางรัฐบาลเป็นการนำปัญหาของประเทศปลายน้ำคือไทย ลาว พม่า ซึ่งได้รับกระทบหนักจากการสร้างเขื่อนของประเทศจีนโดยการยื่นกระทู้ไปให้กับทางรัฐบาลตั้งแต่เดือนมีนาคมแต่ภาระกิจของรัฐบาลอาจหนัก และมองว่าปัญหาของสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นปัญหาเล็ก แต่จริงๆแล้วปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่  ครั้งนี้จึงมีการพาทางคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมและอนุกรรมการน้ำ ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในเขตอำเภอเชียงแสน เชียงของและเวียงแก่น ซึ่งวันนี้มีตัวแทนชาวบ้าน  กำนัน ผูใหญ่บ้าน ได้ให้เกียรติมาเข้าร่วมเพื่อนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในลุ่มน้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ในครั้งนี้ เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอให้กับรัฐบาลต่อไปเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว (ครูตี๋)
สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นและผลกระทบที่ได้รับของชุมชน จากที่ได้ศึกษาและเก็บข้อมูลมาจะมีปัญหาหลักๆ ประมาณ 6 เรื่อง คือ เขื่อน ระเบิดแก่ง การเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ การประมงผิดวิธี เกษตรและสารเคมี และการบุกรุกพื้นที่ชุมน้ำ (wetland)

             เรื่องเขื่อน ปัญหานั้นเกิดมาตั้งแต่ปี 2539 จะเห็นความเปลี่ยนแปลงคือการขึ้น-ลง ของระดับน้ำไม่ปกติ มีปัญหากับคนหาปลา  ปัญหาของเรื่องตลิ่ง  ปี46 เป็นปีที่แล้งมาก และหลังจากนั้นที่ได้มีการสร้างเขื่อนจินหง ขึ้นเป็นข้อวิตกกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรงและก็เกิดขึ้นจริง จากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อเดือนสิงหาคม 2551 ที่ผ่านมาสรุปได้ว่าสาเหตุนั้นมาจากการสร้างเขื่อนแน่นอนตั้งแต่วันที่13-15 สิงหาคม 2551 ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอีกอย่างที่เป็นข้อวิตกกังวลของชาวบ้านคือโครงการการสร้างเขื่อนทั้ง 11 เขื่อนในลำน้ำโขงตอนล่าง

            เรื่องของการระเบิดแก่ง เป็นการทำลายระบบนิเวศและที่อยู่อาศัยของปลา การเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ การเอาพื้นที่สันดอนออก  การสร้างท่าเรือน้ำลึก การช็อตปลาโดยเครื่องมือของประเทศจีนที่มีความรุนแรงมาก การประมงที่ผิดวิธีของชาวบ้าน  การใช้สารเคมีกับพื้นที่การเกษตร การบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำ

            และจากเหตุการณ์ผลกระทบที่ได้เกิดขึ้นมานั้นอยากให้มีการจัดตั้งสภาลุ่มน้ำโขงเพื่อจะได้หาแนวทางความร่วมมือ การจัดการร่วมของแม่น้ำโขง การแก้ไขปัญหาร่วมโดยให้ประเทศจีนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และการร่วมมือของชุมชน องค์กร หน่วยงานของรัฐต้องมีการประสานงานด้วยกันและได้มีการเฝ้าระวังวัดระดับน้ำเพื่อป้องกันและแจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุการณ์ เช่น กรณีน้ำจากเขื่อนท่วมพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ท้ายน้ำจากการเปิดปิดเขื่อน

ท่านสุรจิตร  ชิรเวทย์  สว. สมุทรสงคราม คณะอนุกรรมาธิการน้ำ
คำถาม:            จากสถานการณ์เมื่อมีการสร้างเขื่อนและเริ่มกักเก็บน้ำหรือการระบายน้ำออกทางตอนบนของแม่น้ำโขงนั้น ได้มีการประสานงานมาทางประเทศท้ายเขื่อน ชุมชนหรือไม่ มีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลหรือไม่อย่างไร

เครือข่ายในพื้นที่ได้มีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลความเสียหายหรือการเปลี่ยนแปลงไว้บ้างหรือเปล่า ถ้าหากมีอยากจะให้ส่งข้อมูลเหล่านั้นมาให้ทางคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะได้ส่งไปให้ทางจังหวัดเพื่อที่จะได้ประสานไปยังหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดหางบประมาณเข้ามาช่วย และให้หน่วยงานต่างๆรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้กับหน่วยงานเบื้องบนเพื่อให้รับทราบถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น

สิ่งที่อยากให้หาข้อมูลคือ มลพิษที่อยู่ในพื้นที่  สิ่งที่เปลี่ยนแปลง สามารถประสานกับหน่วยงานอื่นๆได้อย่างไร  การสร้างท่าเรือจะส่งผลกระทบอย่างไร   

อยากให้เห็นว่าสมาชิกวุฒิสภานั้นเป็นทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนต้องเข้าไปใช้งานและให้สมาชิกวุฒิสภาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

นายสุชาติ  ศิริจังสกุล ตัวแทน MRC ประเทศไทย
ความร่วมมือทาง MRC นั้นได้มีการตั้งสถานีวัดระดับน้ำ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปพูดคุยกับตัวแทนของประเทศจีน และตามนโยบายของMRC นั้นจะชวนให้ประเทศจีนเข้าร่วมประชุมด้วยเพื่อให้ประเทศจีนได้รับรู้ถึงสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น และประเทศจีนจะจัดการอย่างไรกับระดับน้ำ โดยจะต้องมีแรงจูงใจให้ประเทศจีนเข้าร่วมอย่างไร

นายชริช  แก้วจินดา
จะมีการจัดการกับท่าเรือที่เชียงแสนอย่างไรและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะสามารถควบคุมได้หรือเปล่า(เรื่องของการทิ้งขยะต่างๆลงในแม่น้ำ) การบุกรุกพื้นที่ลุ่มน้ำจะสามารถยับยั้งไม่ให้เพิ่มบริเวณได้หรือไม่โดยจะจัดทำเขตลำน้ำอย่างไร และถ้าหากจะมีการสร้างหรือพัฒนาในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงจะต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียด ดูในหลายๆด้านว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างไม่ใช่มองแต่ด้านเดียว และจากปัญหาที่เกิดขึ้นคงสุดวิสัยที่จะไปขอให้ประเทศจีนทำอะไรมากมายอยู่ที่ว่าประเทศจีนจะมีการควบคุมระดับน้ำอย่างไร การไหลของน้ำเปลี่ยนไปควรจะมีการปรึกษารับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

การควบคุมระดับน้ำของประเทศจีนจะขึ้นอยู่กับ 1.รักษาระดับน้ำให้เรือขนาดใหญ่สามารถเดินได้ 2.ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า

สว.จิรวรรณ 
ปัญหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นได้มีการจดบันทึกและรับฟังปัญหาของชาวบ้านโดยมีการดำเนินการผ่านทางรัฐเพื่อให้ทางรัฐเข้ามามีส่วนร่วม และปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาประชุมและปรึกษา มีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลด้วย ในหน่วยงานของ สว.จิรวรรณเอง ก็จะรับฟังความคิดเห็นในทุกๆด้าน อยากให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม จะมีงบประมาณส่งเสริมให้กับเยาวชนในเรื่องของการตระหนักถึงทรัพยากรธรรมชาติ

และท้ายนี้ตามกำหนดการช่วงบ่ายจะมีการลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน บ้านปากอิงที่ได้รับผลกระทบเรื่องตลิ่งพัง และชาวบ้านห้วยลึกที่มีปัญหาเรื่องการปักปันเขตแดน และเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนปากแบง ด้วยการลงเรือเพื่อดูสองฝั่งลำน้ำโขงจากเชียงของถึงบริเวณ อ.เวียงแก่น และในวันพรุ่งนี้จะไปดูเรื่องเหตุการณ์น้ำท่วมที่ อ.แม่สายต่อไป

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา