eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

สัญจรสู่สาละวิน : เยือนถิ่นแม่น้ำตะวันตก

สุมาตร ภูลายยาว  searin   เสาร์สวัสดีกรุงเทพธุรกิจ วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

ลมหนาวพัดข้ามมาจากเบื้องหลังแห่งขุนเขาที่เริ่มแห้งแล้งลงเพราะฤดูหนาวมาเยือนมีบางคนบอกว่า ลมหนาวพัดมาจากไซบีเรีย บางคนก็บอกว่า ลมหนาวพัดมาจากเทือกเขาสูงของประเทศจีน เมื่อลมหนาวมาเยือนเพียงต้นฤดูหนาวเช่นนี้ความหนาวก็สามารถสัมผัสได้ทางผิวกายที่เริ่มแห้งลงเรื่อยๆ และป่าเริ่มเปลี่ยนสีจากเขียวสดเป็นสีเหลืองและน้ำตาลพร้อมกับผลัดใบไปกับลมแล้ง

“สบเมย” หมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำเมยและแม่น้ำสาละวิน สบเมยนอกจากจะเป็นชื่อของหมู่บ้านแห่งนี้แล้วยังได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของอำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกด้วย สบเมยในที่นี้หมายถึงบริเวณปากน้ำเมยที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวินหรือ “แม่น้ำคง” ซึ่งเป็นชื่อเรียกแม่น้ำสายนี้ของคนท้องถิ่น

หมู่บ้านริมน้ำแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของพี่น้องชนเผ่าพื้นถิ่นที่เรารู้จักกันในนามของ “ปะกาเกอะญอ” ซึ่งอยู่อาศัย ณ ดินแดนผืนนี้มาหลายชั่วอายุคน ดินแดนบริเวณนี้ในอดีตไม่เคยสงบเงียบ และในปัจจุบันก็ดูเหมือนว่ายังคุกรุ่นอยู่เช่นเดิม ในอดีตหลายปีมาแล้วแม่น้ำสาละวินในแถบนี้เคยเป็นทั้งสนามรบ และเป็นที่หลบภัยของผู้คนเผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่แตกต่างกันทางความเชื่อซึ่งถูกผลักดันเข้าสู่สนามรบทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

เราคนแปลกถิ่นได้มีโอกาสมาเยือนที่นี่ ในบ่ายวันหนึ่งซึ่งแสงแดดของเวลากลางวันยังคงร้อนแรง เรือหางยาว ๒ ลำบรรทุกสัมภาระและผู้คนกว่า ๓๐ ชีวิตออกเดินทางจากท่าเรือบ้านแม่สามแลบเอาเมื่อเวลาบ่ายโมงกว่าๆ เสียงเครื่องยนต์เริ่มดังขึ้น เรือเลี้ยวโค้งออกจากท่าเรือ แล่นเรื่อยๆ มาตามน้ำสาละวินซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากดินแดนอันไกลโพ้น แม่น้ำสายนี้มีความยาวตลอดลำน้ำ ๒,๘๐๐ กิโลเมตร ไหลจากที่ราบสูงในธิเบตผ่านประเทศจีนเข้าสู่ประเทศพม่าที่รัฐฉาน ไหลผ่านพรมแดนไทย-พม่า ก่อนที่จะเข้าเขตพม่าอีกครั้งที่บริเวณบ้านสบเมย

คนขับเรือบอกว่า “เรือจะล่องลงไปตามลำน้ำสาละวินเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ ๔๐ นาทีก็จะถึงที่หมายปลายทาง“ การเดินทางในแม่น้ำนี้แทบจะไม่ได้ใช้การวัดระยะทางด้วยหลักกิโลแต่จะใช้เวลาเป็นตัวชี้วัดว่าระยะทางใกล้ไกลประมาณกี่ชั่วโมง

เรือออกเดินทางโดยมีคนขับเรือที่คุ้นชินกับแม่น้ำสายนี้เป็นอย่างดีเป็นผู้พาเราออกสู่แม่น้ำ เมื่อเราลงเรือแล้วจำเป็นว่า เราต้องไว้ใจคนขับเรือ เพราะชีวิตของเราได้ฝากไว้กับคนขับเรือแล้วในขณะนั้น การเดินทางในแม่น้ำสาละวินในหน้าแล้งคนขับเรือบอกว่า “น่ากลัวกว่าในหน้าฝน” เพราะในช่วงหน้าแล้งน้ำในแม่น้ำสาละวินจะลดลงแก่งต่างๆ ที่จมอยู่ใต้น้ำก็จะโผล่พ้นน้ำ ซึ่งถ้าคนขับเรือไม่คุ้นชินกับเส้นทางก็มีสิทธิที่จะชนกับแก่งหินเล่านั้นได้ สองฝั่งของลำน้ำประติมากรรมหินที่ธรรมชาติสร้างขึ้นตั้งโดดเด่นท้าทายสายตาตลอดข้างทางงดงามยิ่งนัก แก่งหินพ้นน้ำขึ้นมาทักทายผู้คนที่มาเยือน หน้าแล้งอย่างนี้สายน้ำที่เคยเต็มปริ่มเมื่อหน้าฝนลดระดับลงมามาก อวดโขดหินรูปทรงแปลกตาให้เราชื่นชม

เราผู้ไปเยือนพยายามทำตัวเป็นนักสำรวจด้วยการบันทึกสิ่งที่พบเห็นผ่านกล้องตัวเล็กที่พกพาไปด้วย ผู้คนริมฝั่งน้ำยามบ่ายคล้อยผู้คนบางกลุ่มกำลังต้อนควายลงกินน้ำ บางคนเพาะปลูกพืชผักบนหาดทรายริมน้ำ บางคนกำลังหาปลา

ภาพที่บันทึกได้โดยบังเอิญในระหว่างการเดินทางในวันนั้นคือบนฝั่งประเทศพม่ามีคนหาปลาที่กำลังปล่อยตาข่ายดักปลาลงในน้ำ โดยมีคนอีกคนหนึ่งยืนอยู่บนฝั่งแบกปืนคาร์บิ้นคุมอยู่ใกล้ๆ พี่ที่นั่งเรือไปด้วยกันซึ่งคุ้นชินกับพื้นที่บอกกับเราว่า “ทหารพม่ากำลังบังคับลูกหาบให้หาปลา ที่เขาต้องถือปืนก็เพราะกลัวลูกหาบจะหนีไปได้” คนที่เป็นลูกหาบนั้นก็มาจากชนกลุ่มน้อยที่โดนบังคับมา บ้างก็โดนทหารพม่าจับมาเป็นเชลย ลูกหาบเหล่านี้มีหน้าที่แบกเสบียงอาหารบ้าง แบกลูกปืนบ้าง สุดแล้วแต่ทหารพม่าจะให้ทำ เราซึ่งนั่งอยู่บนเรือครุ่นคิดอย่างเงียบงันถึงคนสองคนบนฝั่ง “ไม่มีความปลอดภัยที่แท้จริงในที่ซึ่งมีสงคราม”

เมื่อเรือผ่านโค้งจุดหมายปลายทางปรากฏอยู่เบื้องหน้า เรือจอดเทียบท่าเป็นครั้งแรกที่ฐานทหารพรานซึ่งทำหน้าที่ดูแลความสงบและคอยตรวจตราเรือที่ล่องขึ้นลงในแม่น้ำสาละวิน คนขับเรือขึ้นไปบนฝั่งเพื่อลงรายชื่อกับทหารพรานคนนั้น ซึ่งมารู้ภายหลังว่าเป็นคนมาจากภูมิภาคเดียวกัน เมื่อมาเจอคนบ้านใกล้เรือนเคียงห้วงคำนึงคิดถึงบ้านจึงปรากฏขึ้นในใจ

ชั่วอึดใจต่อมาเรือจึงค่อยๆ วิ่งออกจากท่า ก่อนที่หัวเรือจะถูกเบนจากลำน้ำสาละวินเพื่อเข้าสู่แม่น้ำเมยซึ่งเป็นสายน้ำที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนของรัฐไทยกับรัฐกระเหรี่ยง เรือวิ่งทวนน้ำเมยขึ้นไปสักพักก็ถึงที่จอด หาดทรายขาวยาวเรื่อยไปตามลำน้ำสะท้อนแสงแดดสีขาวจับตา หาดทรายแห่งนี้ในอดีตที่สงบเงียบไม่มีสงครามมันเคยเป็นที่ทำมาค้าขายของผู้คนสองฝั่ง แต่ในปัจจุบันมันกลายเป็นหาดทรายร้างไม่มีการค้าขายอีกแล้ว นี่คือผลพวงหนึ่งจากการทำสงครามอันไม่สิ้นสุดของผู้คน “กี่ชีวิตแล้วหนอที่พลีร่างลงบนสายน้ำทั้งสองสายนี้”

หลังจากพักเหนื่อยจากการเดินทางและการขนของแล้ว หลายคนที่ไปด้วยกันต่างเดินลงสู่ท่าน้ำเพื่อดูความเป็นไปของแม่น้ำ ภาพคนกำลังเรือพายลำเล็กอยู่ในแม่น้ำ และเรืออีกหลายลำที่จอดสงบนิ่งอยู่ตามตลิ่งริมน้ำ คนหาปลาที่พบนั้นเป็นชาวกะเหรี่ยงซึ่งกำลังใจแหน่งที่ใส่ไว้ (เก็บตาข่ายที่วางดักปลาไว้) ในขณะที่เรือลำหนึ่งอยู่บนลำน้ำ เรืออีกลำก็กำลังกลับคืนสู่ฝั่งพร้อมปลาที่หาได้เพื่อเป็นอาหารของครอบครัว

ภาพของคนหาปลาได้เปิดมุมมองใหม่ให้กับเราซึ่งเราผู้ไปเยือนเคยแต่ได้รับรู้มาว่า คนกระเกรี่ยงส่วนมากทำแต่ไร่หมุนเวียนบนภูเขา แต่ภาพที่เราเห็นนั้นคือภาพของคนหาปลาที่เป็นคนกระเหรี่ยง จึงไม่น่าแปลกใจนักที่เราจะเห็นคนที่อยู่ตามริมน้ำได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากแม่น้ำ

เรือลำหนึ่งที่เดินทางกลับเข้าฝั่ง เมื่อเจ้าของเรือลงจากเรือแล้วกำลังจะเดินทางกลับสู่บ้าน หนึ่งคนในกลุ่มของเราก็ร้องถามเป็นภาษาท้องถิ่นว่า ได้ปลาหรือไม่ ชายเจ้าของเรือก็ร้องตอบกลับมามาพร้อมกับชูปลาเพี้ยขึ้นให้เราดู คนหาปลาบอกเราว่าปลาเพี้ยถ้าขายที่นี้กิโลละ ๔๐ บาท แต่ในวันนั้นเราได้เห็นพี่ที่ไปด้วยกันซื้อปลามาหลายตัวในราคากิโลละ ๕๐ บาท ปลาเหล่านี้ถ้าเดินทางไปขายถึงแม่สามแลบราคาจะเพิ่มขึ้นกว่านี้มากเลยทีเดียว “อยากกินปลาพายเรือออกจากฝั่งลงไปในน้ำ หว่านแหใส่แหน่งก็ได้กินปลา อยากกินข้าวเดินขึ้นไปบนไร่ก็ได้กิน” พะตี (ลุง) คนหนึ่งบอกกับเรา

แสงแดดแสงสุดท้ายลับเหลี่ยมเขาลงไปแล้ว นกกระยางขาวโผบินกลับรังเพื่อพักผ่อน คนหาปลากลับคืนสู่บ้าน สายน้ำไหลเอื่อยเงียบสงบ แต่แผ่นดินที่ฝั่งตรงข้ามใยเต็มไปด้วยกับดักแห่งการเข่นฆ่า บนยอดดอยที่เห็นอยู่เบื้องหน้าที่ทางฝั่งพม่าโน้นครั้งหนึ่งเคยมีคนอาศัยอยู่ แต่ด้วยผลพวงแห่งสงคราม ดอยแห่งนี้จึงกลายเป็นดอยร้างและเต็มไปด้วยกับระเบิดมากมาย ซากเจดีย์เก่าสีขาวยังคงปรากฏให้เห็นในความมืดยามพลบค่ำ เหมือนเตือนย้ำให้ผู้คนคิดถึงความหลัง

ค่ำคืนเงียบสงบลมหนาวมาเยือน ดาวบนท้องฟ้ารายระยิบมากมาย สัญญาณแห่งวันใหม่กำลังจะเริ่มขึ้นอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ขุนเขาทะมึนดำที่วันนี้เงียบสงบจากเสียงปืน สงครามแห่งเผ่าพันธุ์ยังไม่เริ่มต้นขึ้นเพราะกองกำลังของชนกลุ่มน้อยผ่ายแพ้แล้ว ฐานทัพใหญ่ในอดีตถูกตีแตกย่อยยับมานานแล้ว สบเมยยามนี้จึงไม่มีเสียงปืนและไม่มีสงคราม แต่ใครจะรู้ได้ว่า เมื่อฤดูแล้งมาถึงเสียงปืนจะดังขึ้นอีกครั้งหรือไม่ เพราะที่ใดมีการกดขี่ ย่อมมีการต่อต้าน สาละวินวันนี้ไม่มีศพของนักรบลอยมาตามน้ำ ไม่มีเสียงปืน จะมีก็เพียงแต่คนหาปลาที่ดำรงชีวิตอยู่กับลำน้ำที่เงียบสงบสายนี้เท่านั้นเอง

เราถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาตั้งแต่เช้า แม้ว่าความหนาวยังไม่จางหายแต่จำเป็นต้องตื่นขึ้นมา เพราะเป้าหมายข้างหน้าในวันนี้คือการเดินทางไปไร่ทั้งที่อยู่ริมฝั่งและบนดอย

ยามสายบนหาดหาดทรายริมแม่น้ำเมยที่บ้านสบเมย พะตีคนหนึ่งกำลังนั่งเลือกใบยาสูบที่ปลูกไว้ริมฝั่ง “ใบยาสูบจากบ้านสบเมยนี้ถือว่าเป็นใบยาสูบที่มีชื่อเสียงมากในแถบนี้” พะตีคนที่กำลังเลือกเก็บใบยาสูบบอกกับเรา

ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี เมื่อแม่น้ำเริ่มลดระดับลง ริมฝั่งจะเต็มไปด้วยพื้นทรายซึ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ผืนทรายทอดขนานไปกับลำน้ำตลอดสองฝั่งสามารถมองเห็นได้แต่ไกล เมื่อเรือวิ่งผ่าน แต่เมื่อเข้ามาใกล้ๆ จะเห็นได้ว่าบนหาดทรายนั้นเต็มไปด้วยต้นพืชน้อยๆ สีเขียวที่กำลังออกดอกออกผล พืชเหล่านี้ก็มีทั้งเมล็ดถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง ฟัก ใบยาสูบ และพืชผักอีกนานาพันธุ์ โดยเฉพาะใบยาสูบนั้นเก็บไปตากไว้ไม่นานก็นำมาหั่นสูบหั่นขายได้แล้ว

คงไม่แปลกนักหากเราจะกล่าวว่าการทำสวนแบบนี้เป็นการทำสวนของคนขี้เกียจ เพราะการทำสวนบนพื้นทรายริมฝั่งแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำเมยนั้นบางแปลงก็เป็นเพียงการหว่านเมล็ดพันธุ์ลงบนพื้นดินเฉยๆ ไม่ต้องกลบฝัง แต่บางแปลงเจ้าของก็ขุดหลุมฝังเมล็ดพันธุ์อย่างดี ในช่วงก่อนที่จะลงมือโปรยหว่านเมล็ดพันธุ์ลงบนพื้นดิน ชาวบ้านจะลงสำรวจพื้นที่ดูว่าพื้นทรายนั้นแห้งดีพอที่จะปลูกได้แล้วหรือยัง หากทรายยังอุ้มน้ำไว้มากก็จะยังไม่โปรยหว่านเมล็ดพันธ์ลงสู่พื้นดิน เพราะเมล็ดพันธุ์ที่โปรยหว่านลงไปนั้นจะเน่าเสียได้

การทำสวนบนพื้นทรายนั้นแทบไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องรดน้ำพรวนดิน ไม่ใส่ต้องปุ๋ยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง เพราะตะกอนดินอันอุดมที่ถูกน้ำพัดพามายามหน้าน้ำได้เติมปุ๋ยธรรมชาติให้ผืนทรายไว้แล้ว

ผืนทรายนี้คือพื้นที่หน้าหมู่ ที่ใช้ร่วมกันในชุมชน เมื่อน้ำลดระดับลงชาวบ้านก็ลงไปจับจองพื้นที่ได้ แต่คนที่มาทีหลังก็สามารถขอแบ่งกันได้ บางปีหาดทรายก็มีน้อย แต่ชาวบ้านที่นี่ก็แบ่งกันได้พอเพียงกันทุกครัวเรือน

เมื่อเมล็ดพันธุ์เหล่านี้หยั่งรากฝากใบลงสู่พื้นดิน ประมาณ ๒-๓ เดือนถัดจากนั้นก็เริ่มฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยวผลผลิต ยามเย็นมื้อก้า (ป้า) และลูกๆ ต่างพากันเก็บผักและถั่วใส่ตะกร้าสะพายหลังสำหรับเป็นอาหาของครอบครัว แตงโมที่โตช้าสุดจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนเมษายน ช่วยดับร้อนในฤดูที่แดดแผดเผาได้ดีเยี่ยมเป็นอย่างยิ่ง

เสียงเครื่องยนต์เรือแว่วมาทางโค้งน้ำ สัญญาณแห่งการเดินทางกลับมาถึงแล้ว เราออกเดินทางกลับลงมาตามลำน้ำอีกครั้ง เราได้แต่ตั้งใจไว้ว่า “สักวันหนึ่งเราจะกลับมาเยือน” ก่อนเดินทางกลับเข้าฝั่งเมื่อเรือจอดเทียบท่าที่ท่าเรือบ้านแม่สามแลบ พ่อเฒ่าแห่งแผ่นดินสูงที่เดินทางมาด้วยบอกกับเราด้วยคำพูดที่คนเก่าคนแก่สอนลูกสอนหลานสืบต่อกันมานานแล้วเป็นภาษาแห่งเผ่าพันธุ์ว่า “คนกินน้ำต้องรักษาน้ำ คนอยู่ป่าต้องรักษาป่า”

เราบอกกับพ่อเฒ่ากลับไปเช่นกันว่า “ใช่แล้วพะตี เมื่อเรากินน้ำ เราก็ต้องรักษาน้ำ เมื่อเราอยู่ป่า เราก็ต้องรักษาป่า”

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา