eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

พม่า-ไทย 'บวชป่าสาละวิน' ขับไล่หายนะจากเขื่อน

ไทยโพสต์ 1 มิถุนายน 2551    กองบรรณาธิการ

"พุทธกับคริสต์ก็เหมือนกัน ศาสนาไหนก็สอนให้เคารพ รัก และปกป้องธรรมชาติ การสร้างเขื่อนจะทำลายความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ไม่น่าจะสร้างเขื่อนที่แม่น้ำสาละวิน
"ปรีชา  ปัญญาคม ชาวปกากะญอ บ้านท่าตาฝั่ง บอกเล่าเรื่องราวเขื่อนสาละวินในช่วงเช้า วันทำพิธีบวชป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติสาละวิน  อ.แม่สะเรียง  จ.แม่ฮ่องสอน  โดยมีผู้คนจากหลายฝ่าย  ไม่ว่าจะเป็นทางราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน  และองค์กรชาวบ้านหลากชนเผ่า ทั้งปกากะญอ ไทใหญ่ คนเมือง ฯลฯ ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าสาละวินเดินทางมาร่วมงานอย่างคับคั่ง

แม่น้ำสาละวินถือเป็นแม่น้ำนานาชาติสายใหญ่ที่ยังคงไหลอิสระ  จากที่ราบสูงทิเบตถึงอ่าวเมาะตะมะ  สายน้ำสาละวินมีความยาวกว่า  2,820  กิโลเมตร ไหลผ่านภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ของ 3 ประเทศ  คือ  จีน พม่าและไทย แม่น้ำสายนี้ คือ เส้นเลือดใหญ่ที่ให้ชีวิตแก่ชุมชนและระบบนิเวศโดยรวม เราพบเห็นการก่อตั้งชุมชนริมน้ำสาละวิน  เกษตรริมฝั่งสาละวิน การจับปลาในแม่น้ำสาละวิน หรือแม้กระทั่งป่าสาละวินที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและควรค่าแก่การอนุรักษ์

แต่ก็น่าเศร้าใจว่า ขณะเดียวกันขณะนี้รัฐบาลทั้ง 3 ประเทศกำลังวางแผนการสร้างเขื่อนรวมกันได้ทั้งสิ้น  17  แห่ง  จีนวางแผนสร้าง  13 เขื่อนบนแม่น้ำสาละวินตอนบนในประเทศของตน หรือที่จีนเรียกว่า  แม่น้ำนู่ ส่วนไทยกับพม่ามีแผนร่วมมือกันสร้างอีก 4 เขื่อนในประเทศพม่าและบริเวณชายแดนไทย-พม่า  อย่างไรก็ตาม การดึงเอาทรัพยากรน้ำมาใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ก็มีเสียงทักท้วงอย่างกว้างขวางจากสาธารณชน ทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

ริมฝั่งสาละวิน  บริเวณท่าตาฝั่ง  พี่น้องปกากะญอทำพิธีกรรมบวชป่าตามประเพณีของตัวเองด้วยความสำรวม เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์และแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในเรื่องการอนุรักษ์ เมื่อถึงช่วงเวลาในการบวชป่า  ปกากะญอที่นับถือพุทธก็หยิบผ้าเหลืองที่ใช้ทำพิธีไปผูกไว้กับต้นไม้  พี่น้องที่เป็นคริสต์นำผ้าขาวมาผูก  ต่างกันแค่นี้เท่านั้น  งานบวชป่าจึงมีทั้งพิธีพุทธ  ผี และคริสต์ เป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

"การบวชป่าไม่ได้หมายถึงเอาผ้าเหลืองผ้าขาวไปผูกเท่านั้น  แต่ให้บวชจิตใจด้วย  ในความคิดของชาวปกากะญอคิดว่า ต้นไม้สำคัญกับมนุษย์ ผีและวิญญาณจะมาอาศัยอยู่ที่ต้นไม้ เด็กเกิดขึ้นมาจะเอาสายสะดือของเด็กไปผูกติดกับต้นไม้ และดูแลรักษาไม่ให้ใครมาตัดไม้ การบวชป่าจึงเชื่อมโยงจิตวิญญาณคนกับต้นไม้เหมือนแนวคิดปกากะญอ"  พะตีจอนิ  โอ่โดเชา  ปกากะญอนักอนุรักษ์แห่งลุ่มน้ำวาง จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังหลังพิธีกรรมบวชป่าเสร็จสิ้น ซึ่งมีการเปิดเวทีเสวนา "คุณค่าป่าสาละวิน" ริมฝั่งสาละวิน

พะตีจอนิเล่าถึงที่มาของพิธีกรรมบวชป่า  ซึ่งวันนี้มีการบวชป่าเพื่อรักษาป่าว่า  เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2528 เมื่อ จ.พะเยา กรมป่าไม้และบริษัทเอกชนจะสัมปทานป่าพะเยา พระสงฆ์และชาวบ้านในพื้นที่จึงทำพิธีบวชป่าขึ้น ทำให้ทางบริษัทไม้กล้าตัดต้นไม้ เพราะกลัวความเชื่อของชาวบ้าน หลังจากนั้นมีการบวชป่าเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

คงไม่เกินจริงนักถ้าจะกล่าวว่า  วิธีคิดของพะตีจอนิก็ไม่ต่างจากชาวปกากะญอจากบ้านต่างๆ  ที่มาร่วมบวชป่า  เป็นความเชื่อและวิถีชีวิตที่ไม่เอาเปรียบธรรมชาติ  ทำให้ชุมชนลุ่มน้ำสาละวินสามารถรักษาป่าสมบูรณ์ไว้ได้ แต่ก็ไม่อาจหลีกพ้นผลกระทบจากการพัฒนาที่เกิดขึ้นของภาครัฐ ซึ่งช่วงหลังป่าสาละวินถูกทำลายไปมาก

ปรีชา  ปัญญาคม  วัย 60 ปี ตัวแทนชาวบ้านในเขตลุ่มน้ำสาละวิน สะท้อนให้ฟังว่า เดิมป่าสาละวินเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์  มีต้นไม้  สัตว์ป่ามากมาย  ทั้งหมี  เสือ  เก้ง  กวาง  ลิง  ค่าง นกยูง ไก่ป่า ชาวบ้านเห็นบ่อยในอดีต  ปัจจุบันสัตว์ป่าพบน้อยมาก  หายไป และป่าก็เสื่อมโทรม ปลาในลุ่มน้ำสาละวินเมื่อ  20  ปีก่อน มีเยอะและขนาดใหญ่มาก น้ำหนัก 80-90 กิโลกรัมก็จับมาแล้ว แต่ตอนนี้ปลาในแม่น้ำลดลง  ปลาตัวใหญ่ไม่ค่อยมี ความสมบูรณ์ที่หายไปมากเกิดจากสัมปทานป่าไม้ โดยบริษัทเอกชนเข้ามาทำป่าโดยไม่มีวิธีอนุรักษ์  เสียป่าไปจำนวนมาก ไม้ดีๆ ไม้มีคุณค่าสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย เป็นบทเรียนที่คนท่าตาฝั่ง  คนขุมยวม  ต้องเรียนรู้ ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต การบวชป่าวันนี้หวังว่าต้นไม้จะอยู่ให้ใช้ประโยชน์ไปชั่วลูกชั่วหลาน

ในอดีตป่าสาละวินบอบช้ำจากการให้สัมปทานทำไม้  และมีการลักลอบตัดไม้เถื่อนหลายครั้ง แต่ป่าสาละวินก็ยังถือได้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์กว่าผืนป่าอื่นๆ  อย่างไรก็ตาม  แผนการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดมหึมากำลังสั่นคลอน ระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชาวบ้านในบริเวณลุ่มน้ำสาละวิน  ซึ่งแม่น้ำสาละวินที่เป็นพรมแดนไทย-พม่ามีระยะทาง  127  กิโลเมตร  ผ่านเขต  อ.แม่สะเรียง  และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน  พื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินในไทยประกอบด้วยแม่น้ำสาขาหลายสายที่สำคัญ   เช่น แม่น้ำปาย แม่น้ำเงา แม่น้ำยวม  แม่น้ำสุริยะ  และแม่น้ำกษัตริย์ ครอบคลุมพื้นที่ใน จ.ตาก เชียงใหม่ และกาญจนบุรี และพื้นที่ส่วนใหญ่ของ จ.แม่ฮ่องสอน  โดยเขื่อนที่อยู่บริเวณชายแดนไทยพม่า มี 4 เขื่อนด้วยกัน คือ เขื่อนท่าซาง เขื่อนเว่ยจี เขื่อนดากวินและเขื่อนฮัจยี

จากรายงานการศึกษา "สาละวิน บันทึกแม่น้ำและชีวิตในกระแสการเปลี่ยนแปลง" ยืนยันชัดเจนถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนว่า  โครงการเขื่อนจะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นแห่งหนึ่งของโลก  ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สายน้ำ พันธุ์พืช สัตว์ป่า ปลาและสัตว์น้ำต่างๆ  จะจมหายไปใต้เขื่อน  และผลกระทบไม่ได้เกิดเฉพาะบริเวณพื้นที่โครงการเขื่อนเท่านั้น  แต่กระทบลุ่มน้ำสาละวินทั้งระบบ แม่น้ำที่ถูกกั้นด้วยเขื่อน วัฏจักรการไหลของน้ำแปรปรวน ปลาไม่สามารถอพยพไปมาได้  ตะกอนจะถูกเขื่อนกักไว้ คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม น้ำทะเลรุกล้ำสร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร  และการประมงบริเวณปากแม่น้ำ ยิ่งไปกว่านั้นเป็นตัวการสำคัญก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

เพียงแค่เขื่อนสาละวิน 4 แห่งที่ไทยและพม่าวางแผนร่วมกันสร้างนั้น มีชาวบ้านที่จะต้องอพยพละถิ่นฐานในรัฐคะเรนนี 3 หมื่นคน รัฐกะเหรี่ยง 35,000 คน รัฐฉาน 60,000 คน แม้กระทั่งชุมชนริมน้ำปาย  18 ชุมชน และชุมชนชาวไทย-กะเหรี่ยงในเขตไทยอีกกว่า 50 ชุมชน รวมไปถึงชาว "ยินตาเล" ที่อาศัยอยู่ในรัฐคะเรนนี ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรเหลืออยู่เพียง 1,000 คน อาจจะสิ้นเผ่าพันธุ์ไปพร้อมการมาของเขื่อน 

นอกจากนี้  ชาวบ้านในรัฐมอญบริเวณปากแม่น้ำสาละวินอีกกว่า  5 แสนคน จะได้รับผลกระทบไปด้วย  แม้เขื่อนบางเขื่อนยังไม่ลงมือก่อสร้างเป็นทางการ  แต่มีรายงานว่าประชาชนในพื้นที่ถูกทหารพม่าใช้กำลังข่มขู่  ถูกบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่โครงการ ต้องละทิ้งบ้านเรือนและไร่นา บ้างหลบซ่อนอยู่ในป่า บางส่วนอพยพลี้ภัยมาพักพิงในไทย

ศิริ ษมาจิตอาภรณ์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านท่าตาฝั่ง ซึ่งจะถูกน้ำท่วมถ้ามีการสร้างเขื่อนสาละวินล่างที่ชื่อเขื่อนดากวิน  กำลังการผลิต  792 เมกะวัตต์ ตัวเขื่อนสูง 56 เมตร เล่าว่า หมู่บ้านนี้มีอายุกว่า  80  ปี  ชาวบ้านในหมู่บ้านมีอาชีพทำนา ทำสวน จับปลา ถ้าคนที่ไม่มีไร่นาจะจากการจับปลาในแม่น้ำสาละวิน  ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำหาเลี้ยงครอบครัว และปลูกพืชบนหาดทรายริมฝั่งสาละวิน เช่น ข้าวโพด ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม มันเทศ ฟักทอง มะเขือ แตงโม ยาสูบ ซึ่งได้ผลดี เหลือเก็บกินก็ยังขายเป็นรายได้ให้ครอบครัว

"เมื่อรู้ข่าวว่าจะสร้างเขื่อน  ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านก็กลัว  ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัว  จะต้องถูกอพยพ  ที่ทำกินถูกน้ำท่วม คิดว่าคนที่ได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนไม่ใช่ชาวบ้านแน่ๆ เราคัดค้านโครงการกันมาตลอด ไม่ต้องการให้สร้างเขื่อน" ศิริกล่าว

บ้านแม่ดึ  อ.แม่สะเรียง  เป็นอีกพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากเขื่อนดากวิน โซมุ ครูชาวปกากะญอแห่งบ้านแม่ดึ บอกว่า หมู่บ้านนี้มีชาวบ้าน 100 กว่าคน ทุกคนไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน  รู้ข้อมูลมาว่าสร้างเขื่อนแล้วน้ำจะท่วมบ้านแม่ดึ   คิดว่าถึงตอนนั้นเราคงไร้ที่อยู่ เพราะกลับฝั่งพม่าก็ไม่ได้ ฝั่งไทยก็ไม่มีที่ให้อยู่  ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตอยู่กับป่ากับธรรมชาติ ไม่มีเงินก็มีชีวิตอยู่ได้ ของทุกอย่างอยู่ในป่า ลงน้ำก็มีปลาให้จับตลอดปี

"การอนุรักษ์ป่าไม้ คนปกากะญอสอนกันมาแต่โบราณ ถ้าป่าดีเราไม่ต้องไปหากินไกล พระเจ้าสร้างสิ่งแวดล้อม  ป่าเขา แม่น้ำ ขึ้นมาก่อนที่จะสร้างมนุษย์ พระองค์มอบหมายหน้าที่ในการปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า  ตามที่พระเจ้ามีประสงค์ไว้ เราสมควรดูแลรักษาทรัพยากรให้มั่นคง ยืนยาวและยั่งยืน" นี่เป็นเสียงจากคนบนที่สูง

อย่างไรก็ตาม  ในเวทีเสวนาคุณค่าป่าสาละวินในการเปลี่ยนแปลงนั้น หาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.)  กล่าวว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  คือ  การเปลี่ยนจากพื้นที่ป่าสงวนเป็นป่าสัมปทาน จากนั้นประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน  การเร่งรัดประกาศ  ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น  ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องทำงานกับชาวบ้านมากขึ้น  เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่  10  เขียนไว้ว่า หน่วยงานรัฐต้องส่งเสริมให้ชุมชนดูแลทรัพยากรร่วมกัน

แต่ปัจจุบันยังมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งมีแนวคิดเป็นเอกเทศ  ไม่ดูแนวทางในการจัดการทรัพยากรในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่  10  อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่คิดสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาละวินร่วมกับเพื่อนบ้าน  คิดเพียงจัดการแม่น้ำเพื่อพลังงานอย่างเดียว  แม่น้ำที่เกิดขึ้นเป็นหมื่นปีกับความต้องการไฟฟ้าไม่กี่เมกะวัตต์  เพื่อใช้กับเมือง  ห้างสรรพสินค้า ใช้กับอุตสาหกรรม คุ้มค่าหรือไม่กับการทำลายแม่น้ำ  คุณค่าของสาละวินไม่ใช่แค่น้ำ  ปลา  แต่เป็นวัฒนธรรมการดำรงอยู่ของผู้คนหลายชาติพันธุ์ที่สำคัญ  เรามีบทเรียนจากการสร้างเขื่อนในอดีตที่ล้มเหลว  เขื่อนปากมูลถือเป็นโครงการที่สะท้อนให้เห็นผลกระทบและความสูญเสียที่มากับเขื่อนอย่างชัดเจน  การเสนอโครงการเขื่อนสาละวินควรจะเรียนรู้ความผิดพลาดจากปากมูลแทนที่จะซ้ำรอยเดิม

หาญณรงค์กล่าวทิ้งท้ายว่า  สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากมีการสร้างเขื่อนสาละวิน คือ ป่าสาละวินจะหมดไป  การเดินทางตามสายน้ำแบบเดิมจะทำไม่ได้  เรือไม่สามารถเดินทางไปมาได้ แม้จะบอกว่า จะเปิดประตูเขื่อนให้แล่นข้ามไปได้  แต่ต้องเสียค่าผ่านทาง ตรงนี้ชาวบ้านจะมีเงินจ่ายหรือไม่ นอกจากนี้ เขื่อนที่จะสร้างที่สาละวินจะมีอายุสั้น  ไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะด้วยสภาพภูมิประเทศตะกอนหินจะถูกเขื่อนกักไว้หน้าเขื่อน ผลสุดท้ายผลิตไฟฟ้าไม่ได้ เคยมีกรณีศึกษาแบบนี้แล้วที่ประเทศฟิลิปปินส์

สำหรับแนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำสาละวินนั้น  สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอผ่านเวทีดังกล่าวว่า  ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานไม่ทำลายและประชาชนมีส่วนร่วม เริ่มจากกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน  กระบวนการตัดสินใจร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชนในโครงการพัฒนาต่างๆ ชาวบ้านมีสิทธิแสดงความคิดเห็น  ลุ่มน้ำสาละวินควรพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  และป่าสาละวินควรผนวกเป็นป่าที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือผลักดันให้มีการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า แทนที่จะผลักดันโครงการสร้างเขื่อนสาละวิน

ที่ปากห้วยโกแปร่  บริเวณแก่งเว่ยจี  อีกพื้นที่หนึ่งที่จะก่อสร้างเขื่อนเว่ยจีขึ้น  เป็นที่หมายของการบวชป่าสาละวินในวันรุ่งขึ้น  เรานั่งอยู่ในเรือขนควายลำใหญ่พร้อมกับพี่น้องชนเผ่า แล่นทวนสายน้ำสาละวินที่ไหลเชี่ยว  ผ่านโขดหินและแก่งหินขนาดน้อยใหญ่อยู่ตลอด ขนาบด้วยภูเขาเขียวขจีสูงชันทั้งสองฝั่งลำน้ำ  เห็นหาดทรายละเอียดปนโคลนตามสองฝั่ง  บ้านเรือนของชนกลุ่มน้อยในฝั่งพม่าพบเห็นกระจัดกระจาย

ดูเหมือนว่าจะใกล้ถึงพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนเข้าไปทุกที เบื้องหน้านั้นมีป้ายที่เขียนคำว่า "NO DAM" ตั้งอยู่ในดินแดนพม่า  สะท้อนถึงการต่อสู้เพื่อหยุดเขื่อนสาละวินของผู้คนที่พึ่งพาสายน้ำลำนี้  ซึ่งจะต้องได้รับผลกระทบหากมีการสร้างเขื่อน  เรือเทียบหาดทรายบริเวณเว่ยจี  ต.แม่คง  อ.แม่สะเรียง บนฝั่งไทย สายวันนั้นมีคนชนเผ่าต่างๆ ในไทยและพม่าอีกฝั่งน้ำมาร่วมงานบวชป่าสาละวินกันท่วมท้น

โครงการเขื่อนเว่ยจีหรือเขื่อนสาละวินชายแดนตอนบน  ตั้งอยู่บริเวณแก่งเว่ยจีชายแดนไทย-พม่า ทางแม่ฮ่องสอนตรงข้ามกับรัฐกะเหรี่ยง มีกำลังการผลิต 4,540 เมกะวัตต์ ตัวเขื่อนสูง 168 เมตร ซึ่งอ่างเก็บน้ำของเขื่อนแห่งนี้จะท่วมพื้นที่ประมาณ 600,000 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐคะเรนนีและรัฐฉาน ประเทศพม่า ในไทยจะท่วมพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน  ชุมชนละแวกนั้น ในจำนวนนี้มีชุมชนริมน้ำปาย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ด้วย

นุ  ชำนาญไพร ผู้ใหญ่บ้านแม่ก๋อน ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง และประธานเครือข่ายอนุรักษ์สาละวิน กล่าวว่า  การจัดงานบวชป่าเว่ยจีนี้มีชาวบ้านมาร่วมงานทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่า  ทุกคนรู้ถึงคุณค่าของป่าสาละวินและมีความเห็นตรงกันว่า การสร้างเขื่อนจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้สูญหาย พิธีกรรมบวชป่าในวันนี้มีหลายศาสนามาร่วมกัน เป็นการร้อยรัดพลังเพื่อปกป้องป่า  และเป็นครั้งแรกที่บริเวณเว่ยจีมีการบวชป่า  เพราะเป็นหนึ่งในจุดที่มีแผนสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำ  ที่จะส่งผลกระทบพื้นที่ในส่วนของไทยด้วย เราทุกคนจะช่วยกันดูแลป่าและไม่ยอมให้ใครมาทำลาย ที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ของชาวบ้าน

"รัฐบาลหรือกลุ่มนายทุนมองสาละวินแต่เรื่องผลประโยชน์ เงินรายได้ ไม่มองพี่น้องที่พึ่งพาอาศัย ทำมาหากินอยู่ในลุ่มน้ำสาละวิน  ซึ่งมีหลากหลายชนเผ่า  คนทุกคนมีคุณค่า การสร้างเขื่อนบนลำน้ำสาละวินเหมือนเป็นการกวาดล้างชนเผ่า  กวาดล้างทรัพยากร พวกเขาต้องเผชิญปัญหาต่างๆ  ถ้าถามว่า ทำไมเราต้องปกป้องแม่น้ำสายน้ำ  ก็เพราะมันเป็นแม่น้ำแห่งชีวิต" พ่อหลวงนุกล่าวทิ้งท้าย ก่อนกลับไปสมทบกับชาวบ้านหลายร้อยเพื่อร่วมพิธีกรรมบวชป่าอันเรียบง่าย  แต่ละคนเลือกเอาไม้ทั้งเล็ก  กลาง ใหญ่  ริมป่าสาละวิน  แล้วเอาผ้าเหลือง ผ้าขาวพันรอบต้นไม้นั้น หวังว่าต้นไม้ในป่าจะไม่ถูกรบกวนจากโครงการเขื่อน  เป็นสัญญาณเริ่มต้นของการต่อสู้อย่างสันติ ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจไม่เป็นธรรม และเป็นการเรียกร้องสิทธิของชุมชนในการดูแลรักษาป่าและสายน้ำแห่งชีวิตด้วยตนเอง.

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา