eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

 

 

 

 

คลิกภาพเพื่อขยาย

ทุ่งสีทองของชาวบ้านสาละวิน

เพียรพร ดีเทศน์
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          สายลมหอบเม็ดฝนมาปะทะใบหน้า พวกเราต่างเร่งฝีเท้าวิ่งฝ่าไร่ข้าวอย่างระมัดระวัง เกรงจะไปเหยียบต้นข้าวที่กำลังออกรวงงาม มาถึงกระท่อมกลางไร่ก่อนจะเปียกปอน นอกชายคามองเห็นฝนโปรยลงมาเป็นสาย ไร่ข้าวและผืนป่าสักถูกคลุมด้วยม่านฝนสีเทา ตอนนี้เราอยู่ในไร่บนยอดดอยที่บ้านซีวาเดอ

          หนึ่งในชุมชนมากมายที่อยู่กระจัดกระจายตามลำห้วยสาขาของแม่น้ำสาละวินในผืนป่าแห่งนี้ สายฝนไหลอาบหลังคาลงมารวมกันอยู่ในรางไม้ไผ่ที่ชาวบ้านทำไว้รองฝน เพราะไร่อยู่บนยอดดอยสูง ลงไปตักน้ำในห้วยก็ไกล เก็บน้ำฝนไว้ใช้ล้างมือล้างหน้าเล็กๆ น้อยๆ เป็นวิธีใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเรียบง่าย

          เปิบข้าวที่ห่อมาด้วย กับข้าวในชามไม้ไผ่สำหรับเที่ยงวันนี้คือน้ำพริกกะเหรี่ยงแท้ๆ (เผ็ดจัด) จิ้มด้วยยอดผักต่างๆ ที่เก็บติดมือมาระหว่างทาง เห็นพวกเราเผ็ดกันจนน้ำตาคลอ มื้อก้า (ป้า) เลยปาดแตงดอยลูกโตเนื้อฉ่ำให้เรากินชื่นใจ เหนื่อยๆ แบบนี้อะไรก็อร่อยไปทุกอย่าง

          ไม่นานนักฝนก็ซา แดดทอแสงทั่วไร่ข้าวจนกลายเป็นสีทอง ข้าวบางส่วนพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวแล้ว พะตี้สิโพ ผู้นำทีมวันนี้บอกเราว่า ที่ไร่แห่งนี้ปลูกข้าว ๔ ชนิด ข้าวที่มองเห็นเป็นแปลงสีเหลืองจัดสุกก่อนเพื่อน ชาวบ้านบางครอบครัวที่ข้าวเปลือกสำหรับบริโภคในครอบครัวใกล้จะ หมดเลือกปลูกข้าวพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวได้เร็ว เพื่อที่จะได้มีข้าวกินระหว่างรอเก็บเกี่ยวข้าวชนิดอื่นๆ

          เราขอให้พี่น้องที่มาด้วยกันบอกชื่อพันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านในชุมชนบ้านซีวาเดอปลูก คนถามต้องทึ่งเมื่อรู้ว่าชุมชนปากะญอขนาด ๗๐ ครัวเรือนแห่งนี้ปลูกข้าวด้วยกันทั้งหมดถึง ๒๑ ชนิด มีทั้งข้าวไร่ และข้าวนา แบ่งเป็นข้าวเจ้าและข้าวเหนียว โดยเจ้าของไร่และนาแต่ละแห่งเลือกพันธุ์ข้าวที่ปลูกแตกต่างกันไป ไร่นาที่นี่จึงมีความหลากหลายและไม่มีแมลงรบกวน

          เนื่องจากพื้นที่ราบสำหรับทำนาริมห้วยมีไม่มากนัก ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงทำไร่ไปด้วย โดยทำไร่หมุนเวียน มีที่ดินครอบครัวละ ๖ แปลง เวียนแปลงละปีไปจนครบ และกลับมาทำที่เก่าในปีที่ ๗ และเวียนไปเรื่อยๆ ชาวบ้านจะทำไร่รวมกันเป็นกลุ่มๆ และย้ายไปแปลงใหม่ด้วยกัน แต่ละครอบครัวในกลุ่มแบ่งสรรที่ดินตามความจำเป็น ครอบครัวที่มีสมาชิกเยอะก็ทำแปลงใหญ่กว่า ชาวบ้านบอกว่า “ทำแค่พอกิน” ฟังแล้วเอมใจในวิถีชีวิตและวิธีคิดอันเรียบง่ายและงดงามของชาวบ้าน ที่ใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นด้วยความเคารพในคุณค่าของธรรมชาติ

            การถางไร่ของชาวบ้านไม่ได้ถางต้นไม้ทิ้งทั้งหมด แต่เว้นต้นไม้ใหญ่ไว้ ดังนั้นปีถัดไปที่ชาวบ้านย้ายไปแปลงอื่น ต้นไม้ก็เติบโตขึ้นมาใหม่ กลายเป็นป่าอีกครั้ง

          ในการทำไร่ ชาวบ้านในชุมชนจะมาช่วยกัน “เอาวัน” เป็นการแลกเปลี่ยนแรงงาน ตั้งแต่ถาง ใส่ข้าว (หว่านเมล็ด) เก็บเกี่ยว และตีข้าว ไม่มีการว่าจ้างเป็นเงิน ในวันที่มาช่วยกันทำไร่ เจ้าของไร่จะทำอาหารไว้เลี้ยงทุกคนที่มาช่วย ในช่วงใส่ข้าวนั้น เจ้าของต้องเตรียมอาหารพิเศษเลี้ยง โดยจะเป็นอาหารประจำตระกูล เป็นพิธีซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ข้าวขึ้นงามดี อาหารต่างๆ มีเช่น หมู ไก่ ปลา ปลาร้า อ้น แลน เต่า หากหายากจริงๆ ก็ขอให้มีสัก ๑ ตัวพอเป็นพิธี นอกจากนั้นก็เป็นอาหารอื่นๆ ตามแต่จะหาได้

          เมื่อเกี่ยวข้าวและตีข้าวแล้ว ก่อนขนข้าวกลับบ้าน มีพิธีเลี้ยงผี แสะพือโคะ เพื่อภาวนาขอให้ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้นั้นหมดช้าๆ และพอกินจนสุดปี สำหรับเลี้ยงผีนี้ เจ้าของไร่ทำแกงใส่ อ้น หนู เขียด หน่อหวาย มัน เผือก หัวปลี และที่ขาดไม่ได้คือ ปู เพราะปูไม่กินข้าว เป็นเคล็ดว่าข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จะไม่หมดเร็วแน่นอน

          ข้าวที่เก็บไว้กินที่บ้าน ชาวบ้านจะเอาใส่ในบื้อพ้อ (ยุ้งข้าว-เป็นไม้ไผ่สานทรงกลม) ใส่ทั้งข้าวนาและข้าวไร่ สำหรับชาวบ้านที่นี่แล้ว ข้าวไร่กินอร่อยกว่าข้าวนา การเก็บข้าวไว้กินตลอดปีจึงมีวิธีการพิเศษ คือใส่ข้าวไร่อร่อยๆ ไว้ด้านล่างบื้อพ้อ และส่วนข้าวนาที่ไม่อร่อยนักเอาไว้ข้างบน เพื่อไว้กินก่อน

          มื้อก้า (ป้า) เจ้าของไร่เสริมว่า เมื่อผ่านไปได้สักครึ่งปี ข้าวในบื้อพ้อเริ่มพร่องลงและอาจอับชื้นมีราขึ้น ชาวบ้านก็จะทำพิธี ชู้ลอบอโค้ เลี้ยงอาหารทุกคนในบ้าน และมัดข้อมือสมาชิกในครอบครัว พิธีนี้จัดเพื่อให้มีข้าวพอกินไปจนกว่าจะเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ อาหารที่เลี้ยงในพิธีนี้คือ แกงข้าวเบอะ ใส่หัวปลี แกงไก่และเต่า ด้วยเคล็ดที่ว่า เต่าเดินช้า ข้าวก็จะได้หมดช้าๆ ไปด้วย พวกเราฟังแล้วอมยิ้มไปตามๆ กัน

          นอกจากข้าวแล้ว ไร่ของชาวบ้านยังมีพืชผักอื่นๆ อีกหลายชนิดที่ชาวบ้านปลูกเป็นอาหาร โดยผสมเมล็ดพืชเหล่านี้รวมกับพันธุ์ข้าวและหว่านไปด้วยกัน ดังนั้นในไร่ข้าวจึงมีพืชอื่นๆ ขึ้นแซมมากมาย อาทิ มันฟัก ถั่ว ข้าวโพด มะเขือ และแตงนานาชนิด ข้าวฟ่าง ขิง ยาสูบ หอม ตระไคร้ โหระพา รวมทั้งผักพื้นบ้านอื่นๆ ที่เราไม่รู้จัก และที่ขาดไม่ได้คือ พริก แถมยังมีอ้อยเล็กๆ รสชาติอมเปรี้ยวอมหวานไว้เคี้ยวดับกระหายยามทำงานในไร่

          สำหรับชาวบ้านที่นี่แล้ว ใครจะกินอะไร ในไร่มีปลูกไว้แทบทุกอย่างเลยก็ว่าได้ รวมแล้วพืชอาหารที่ชาวบ้านซีวาเดอปลูกในไร่มีถึงกว่า ๘๐ ชนิด เฉพาะฟักอย่างเดียวก็มีถึง ๑๒ ชนิดแล้ว ซึ่งนอกจากอาหาร ในไร่ยังมีฝ้ายสำหรับปั่นด้ายทอเสื้อตัวสวยอีกด้วย จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมไร่ข้าวที่นี่จึงไม่ค่อยมีแมลงรบกวน เพราะพืชพันธุ์ในไร่หลากหลายจนแมลงอาจจะงงไปเลย

          สายเย็นลมพัดผ่านชายป่าเข้ามาในกระท่อม ช่วยคลายร้อนของยามบ่ายปลายฤดูฝน ดอกไม้หลากชนิดที่ขึ้นแซมต้นข้าวพลิ้วไหวล้อสายลมอยู่กลางแสงแดดจ้า ชาวบ้านบอกว่าปลูกดอกไม้ไว้กันผีร้ายที่จะเข้ามาทำอันตรายเจ้าของไร่ ตามนิทานที่เล่าว่า

          นานมาแล้ว สองสาวพี่น้องทำไร่อยู่กลางป่าตามลำพัง พ่อออกไปล่าสัตว์ในป่า
ขณะทำไร่อยู่นั้นมีผีป่าจะเข้ามาจับสองพี่น้องกินเป็นอาหาร ทั้งสองวิ่งหนีเตลิดไป จนมีนกตัวหนึ่งบินมาบอกให้ทั้งสองเข้าไปหลบในไร่แห่งหนึ่งซึ่งปลูกดอกไม้ไว้ สองพี่น้องก็เข้าไปหลบในกระท่อมกลางไร่แห่งนั้น เมื่อผีตามมา แสงจ้าจากดอกไม้ส่องตาผีร้าย ทำให้มันไม่สามารถมองเห็นเหยื่อได้ มันจึงกลับไป สองพี่น้องจึงรอดมาได้อย่างปลอดภัย

          นอกจากความสวยงามประดับไร่ให้ชื่นใจ และใช้ในพิธีกรรมต่างๆ แล้ว ดอกไม้เหล่านี้ยังมีความสำคัญต่อความเชื่อของชาวบ้านไม่น้อยทีเดียว
พวกผู้ใหญ่นั่งคุยกันเพลิน เสียงของเด็กๆ ลูกเจ้าของไร่ก็ดังเข้ามาใกล้ เด็กๆ สะพายป่าคา (ตระกร้าใส่ของ) กลับมาที่กระท่อม ในมือน้อยถืออ้อยจิ๋วที่เคี้ยวอยู่ในปาก ส่งเสียงหัวเราะกันสนุกสนาน ในป่าคาที่เด็กๆ ขนกลับมาเต็มไปด้วยผักต่างๆ ที่ปลูกในไร่ สำหรับเป็นอาหารของครอบครัว

          ตะวันคล้อยลงเกือบลับเหลี่ยมเขา พวกเราเดินเลาะสันเขากลับหมู่บ้านไปพร้อมกับเด็กๆ มองเห็นหมู่บ้านตั้งอยู่ริมห้วยข้างล่างไกลลิบๆ ตั้งใจว่ากลับไปจะวิ่งลงห้วยให้เย็นฉ่ำ พรุ่งนี้เราจะตามชาวบ้านไปจับปลาในลำห้วย เดินไร่วันนี้เราได้เรียนรู้มากทีเดียวว่า สายฝน แสงแดด ลำห้วย และผืนดินอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้มีความหมายต่อชีวิตของคนแห่งลุ่มน้ำสาละวินมากมาย

 

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา