eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

 

 

 

 

 

 
ก่อนจะถึงวันสุดท้าย
เมื่อสายน้ำสาละวินจะถูกล่ามโซ่

เรื่องและภาพ อาทิตย์ ธาราคำ
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รถบัสคันเล็กพาพวกเราเดินทางลัดเลาะไปตามถนนที่คดเคี้ยวทอดไปตามฝั่งน้ำสีเขียวสด เบื้องหน้าที่เห็นไกลๆ คือ ภูเขาหิมะมากมายที่ค่อยๆ ละลายลงมาเติมน้ำให้แม่น้ำสายนี้ วันนี้เรามาอยู่ที่แม่น้ำสาละวินในยูนนาน ประเทศจีน
จากต้นกำเนิดบนที่ราบสูงทิเบต สายน้ำสามสาย คือ จิงสา (แยงซี) ลานชาง (แม่โขง) และ นู่เจียง (สาละวิน) ไหลขนานใกล้ชิดกันในเขตมณฑลยูนนาน ทั้งสามแม่น้ำไหลห่างกันใกล้ที่สุดเพียง ๖๖ กิโลเมตร ช่วงที่แม่น้ำโขงและสาละวินใกล้กันที่สุดเพียง ๑๘ กิโลเมตรเท่านั้น บางคนถึงกับบอกว่า น้ำห้วยสาขาบางแห่งของน้ำโขงและสาละวินอยู่ใกล้กันจนปลากระโดดข้ามห้วยไปมาได้ แม่น้ำทั้งสามไหลเคียงกันเป็นระยะทาง ๑๗๐ กิโลเมตร ก่อนที่จะแยกจากกันไปสู่ทะเลตามทิศต่างๆ
ชาวยูนนานมีเรื่องเล่าว่า...
บนที่ราบทิเบตมีสามสาวพี่น้อง สามสาวงามเมื่อเติบโตเจริญวัย แม่ก็บอกให้ลูกๆ ออกเดินทางไปยังทะเลทางทิศตะวันออก จิงสา พี่สาวคนโตซึ่งเชื่อฟังแม่ก็มุ่งหน้าไปฝั่งตะวันออกตามคำบอกของแม่อย่างเคร่งครัด แต่สาวงามคนสุดท้องแสนดื้อคือ นู่เจียง กลับมุ่งหน้าลงใต้ไปยังเขตประเทศพม่าไปหาเจ้าชายแห่งพม่าคนรักของเธอ ลานซางคนกลางจึงกระวนกระวายใจ อยากตามลงไปดูแลน้อง แต่ก็ไม่อยากขัดคำสั่งแม่ ชวนพี่ใหญ่จิงสาก็ไม่ยอมไป เธอจึงอยู่ตรงกลางระหว่างสองพี่น้อง
พี่น้องทั้งสามก็ได้กลายมาเป็นสายน้ำสามสาย ที่ไหลเคียงกัน แต่ไหลลงทะเลห่างไกลกันหลายพันกิโลเมตร โดยแม่น้ำแยงซี ลงทะเลเหลือง แม่น้ำโขงลงทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม และแม่น้ำสาละวิน ลงสู่ทะเลอันดามันที่รัฐมอญ ประเทศพม่า
เขตสามแม่น้ำไหลเคียง (Three Parallel Rivers) ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ (World Natural Heritage) โดย ยูเนสโก เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยเขตดังกล่าวเป็นพื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ โดดเด่นทางลักษณะภูมิศาสตร์ มีความสำคัญทางวิทยาศาสตร์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพันธุ์พืช ดอกไม้ และสัตว์ท้องถิ่นหายากและใกล้สูญพันธุ์มากมาย จึงเป็นพื้นที่อนุรักษ์อย่างเข้มงวดเพื่อให้คงสภาพเดิมทางธรรมชาติไว้ ในเขตป่าสมบูรณ์บางแห่ง ทางการจีนถึงกับไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปเลยทีเดียว นอกจากนี้ เขตแม่น้ำสามสายยังเป็นที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม
ในด้านภูมิศาสตร์ ในเขตสามแม่น้ำไหลเคียง มีลักษณะสวยงามโดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มียอดเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเล ๕,๐๐๐ เมตรขึ้นไปถึงกว่าร้อยยอด มีโตรกเขาลึกที่บางแห่งหน้าผาตั้งตระหง่านสูงกว่าระดับแม่น้ำถึง ๔,๐๐๐ เมตร เรียกว่าหากไปยืนริมน้ำแหงนมองดูหน้าผาคงแหงนหน้าตั้งบ่ากันเลย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ ทะเลสาบหิมะละลาย และที่ราบริมน้ำ
และภาพสุดฮิตที่เห็นกันในหนังสือท่องเที่ยวและโปสการ์ดคงหนีไม่พ้นโค้งน้ำของทั้งสามแม่น้ำ ที่สายน้ำไหลโค้งอ้อมแผ่นดินจนแทบเป็นวงกลม ทำเอาคณะเรารุมกันกดชัตเตอร์เก็บภาพยอดนิยมกันอยู่เกือบชั่วโมง

แม่น้ำนู่เจียง สำหรับคนจีนก็คล้ายกับประเทศไทย คือเป็นสายน้ำลึกลับสุดแดนตะวันตกที่คนทั่วไปในเมืองหลวงไม่ค่อยรู้จัก ต่างจากชนกลุ่มน้อยในพม่าที่สายน้ำแห่งนี้ไหลผ่านใจกลางแผ่นดินรัฐฉาน ผ่านรัฐคะยา กะเหรี่ยง และไหลลงสู่ทะเลที่รัฐมอญ
สาละวินถือเป็นสายน้ำแห่งกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแท้จริง เฉพาะในเขตหุบเขาสาละวินที่จีน มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ประมาณ ๑๔ กลุ่ม โดยส่วนใหญ่เป็นชาวนู ลีซู และตู๋หลง กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มีภาษา ตัวอักษร วรรณคดี ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีที่งดงาม ตลอดจนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันและเคารพในธรรมชาติ
ในเขตพม่า ลุ่มน้ำสาละวินเป็นที่อาศัยของชนกลุ่มน้อยอีกกว่า ๑๓ กลุ่ม อาทิ ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ปะโอ คะยา (กะเรนนี) และมอญ ชาวไทใหญ่เรียกสายน้ำแห่งนี้ว่า น้ำคง
สำหรับเขตพม่า อาจเรียกได้ว่าสายน้ำและป่าสาละวินมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นความตายของผู้คนมากที่สุด โดยเฉพาะเขตที่ยังคงมีสงครามระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและกองกำลังกู้ชาติชนกลุ่มน้อย เช่นในรัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง ชาวบ้านผู้หนีภัยสงครามเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน (Internally Displaced Persons) นับแสนคนได้อาศัยผืนป่าหนาทึบซ่อนตัวหลบหนีทหารพม่า อาศัยน้ำและทรัพยากรป่าสาละวินนี้เองประทังชีพให้อยู่รอดได้
ผู้พลัดถิ่นคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “เวลาหุงข้าวทำอาหารต้องก่อกองไฟใต้ต้นไม้ใบหนาๆ เพราะถ้าควันลอยขึ้นฟ้าทหารพม่าเห็นจะยิงระเบิดมา เราเก็บผักในป่า จับปลา กินน้ำห้วย”
ป่าสาละวินในฝั่งไทย เป็นเขตป่าสักอุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นแหล่งไม้สักของโลกเชื่อมต่อไปยังพม่าถึงเขตอินเดีย ในป่าแห่งนี้มีชุมชนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงมากมายอาศัยอยู่ตามริมน้ำสาละวินและที่ราบเล็กๆ ริมห้วยสาขา ชาวบ้านเหล่านี้อยู่ร่วมกับป่ามาหลายชั่วอายุคน แต่ภายหลังป่าผืนนี้ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน การที่ชาวบ้านเหล่านี้อาศัยอยู่ถึงเป็นเรื่องผิดกฎหมายข้อหา “บุกรุกพื้นที่อุทยาน”
พะตีนุ ชำนาญคีรีไพร ชาวบ้านสาละวินแห่งห้วยแม่ก๋อน ที่ฟังนามสกุลก็รู้แล้วว่าเชี่ยวชาญเรื่องป่ากว่าใคร บอกเราว่า “จะให้เฮาย้ายไปไหน เฮาอยู่นี่ป่าบ่เคยหาย ผู้เฒ่าปกากะญอ (กะเหรี่ยง) สอนลูกหลานไว้ กินน้ำต้องรักษาน้ำ อยู่ป่าต้องรักษาป่า ถ้าไม่ดูแลป่าหมู่เฮาจะอยู่ได้จะใด ไม่มีผักในป่า ไม่มีปลาในห้วย หมู่เฮาก็ตายกันหมด”

ถนนสายเล็กพาเราเลาะสายน้ำเริ่มจากเมืองลิ่วคู่ เมืองใหญ่ที่มีประชากรกว่าหมื่นคนในที่ราบแคบๆ ริมแม่น้ำแห่งนี้ ใกล้ๆ เมืองมีน้ำพุร้อนธรรมชาติอยู่ริมน้ำ ชาวบ้านแถวนี้โดยเฉพาะพี่น้องชาวลีซูจะมาอาบน้ำร้อนในช่วงปีใหม่ เพื่อชำระร่างกายละจิตใจให้สะอาดก่อนปีใหม่จะมาเยือน “ช่วงปีใหม่คนจะมาอาบน้ำกับเต็มไปหมด เต้นรำเฉลิมฉลองกัน” ยูยิ่น เพื่อนชาวจีนของเราเล่าให้ฟัง
เหนือบ่อน้ำร้อน ดอกงิ้วร่วงหล่นลงริมน้ำ ดอกงิ้วสีแดงจัดเหมือนกันกับที่ริมน้ำสาละวินที่ชายแดนไทย-พม่า ที่ไกลลงไปหลายร้อยกิโลเมตร
เดินทางมากว่าครึ่งวัน มองดูตามลำน้ำไม่ค่อยเห็นใครลงมาจับปลาเหมือนที่ชายแดนไทย-พม่า แต่ก็เห็นเบ็ดปักอยู่ตามริมน้ำเป็นระยะ ชาวบ้านบอกว่าช่วงนี้อากาศเย็น น้ำเย็น ไม่มีใครลงไปจับปลาในน้ำ มีแต่ปักเบ็ดไว้
จากเมืองลิ่วคู่ตามสายน้ำขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ มีชุมชนเล็กๆ กระจายอยู่ริมน้ำและบนภูเขาสูงชัน ไร่ข้าวและพืชผลต่างๆ ไต่ขึ้นไปอยู่บนดอยสูงเสียดฟ้า เนื่องจากไม่มีที่ราบมากนัก “อยู่บนดอยเรามีน้ำห้วยไหลมาจากภูเขา ทำไร่เราต้องรอฝน ถ้ามีเสียงฟ้าผ่าดัง ปีนั้นเราจะได้ข้าวเยอะ เพราะฝนจะตกมาก” เฉียวหลี่ น้องชายชาวลีซูเล่าให้ฟัง
ระหว่างทาง แม่น้ำสาละวินมีสะพานที่รถข้ามได้เพียง ๓-๔ แห่ง นอกจากนั้นเป็นสะพานแขวนที่ใหญ่พอให้คนและสัตว์เดินข้ามได้เท่านั้น ส่วนหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่มีสะพานแขวนก็ไม่มีปัญหา ชาวบ้านที่นี่ทำสายสลิงพาดข้ามหุบเขา แล้วนั่งบนตระกร้าคล้องรอกโหนข้ามน้ำได้เร็วกว่าสะพานไหนๆ ในโลก เล่นเอาคนต่างถิ่นอย่างเราเห็นแล้วเสียวไส้ไปตามๆ กัน พวกเราพากันส่ายหัวปฏิเสธเมื่อพี่น้องชวนให้ลองข้ามน้ำแบบผาดโผน
รถแล่นมาเรื่อยๆ ก็ต้องหยุดชะงักกับตลาดนัดที่หมู่บ้านผี่เหอ อยู่ๆ ถนนก็กลายมาเป็นกลางตลาด พวกเราเลยถือโอกาสลงเดินเล่น ชาวบ้านเอาหมู ไก่ อ้อย และพืชผักหลากชนิดมาวางขายสองข้างถนนจนรถกลายเป็นส่วนเกิน รถทั้งหลายต้องค่อยๆ เคลื่อนผ่านกลางตลาดไปด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัว สาวๆ แต่งชุดประจำเผ่าสีสันสดใสนั่งขายเสื้อ กระโปรง และย่ามปักด้วยมือรอลูกค้า อีกฝั่งถนนชาวบ้านกำลังเลือกเมล็ดพันธุ์พืชผักหลากชนิดสำหรับปลูกในฤดูฝนที่จะมาถึง
ระหว่างทางไม่ค่อยมีรถมากนัก จะมีก็แต่รถบรรทุกซุงขนาดใหญ่แล่นสวนมาเป็นระยะๆ เพราะที่บ้านลิซาตี่ มีสะพานข้ามแม่น้ำตัดช่องเขาไปรัฐคะฉิ่นได้ จากแม่น้ำสาละวินเข้าไปเขตรัฐคะฉิ่นในพม่าเพียง ๓๕ กิโลเมตรเท่านั้น ซุงจากพม่าเหล่านี้จะถูกนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่โรงงานผลิตในเมืองใหญ่ๆ ของจีน เห็นซุงขนาดยักษ์วางไว้เป็นกองสูงรอรถมาขนแล้วใจหาย บางท่อนมีขนาดใหญ่เท่าๆ กับรถสิบล้อเลยทีเดียว นึกไม่ออกว่าป่าในพม่าจะเหลือรอดไปได้แค่ไหน สงสารประชาชนประเทศพม่าที่ไม่มีโอกาสปกป้องทรัพยากรของตัวเอง ต้องปล่อยให้ผู้มีอำนาจตักตวงประโยชน์โดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย
เรามากันถึงเกือบสุดแดนยูนนาน ห่างจากชายแดนทิเบตเพียง ๑๐ กิโลเมตร ถนนเลาะเลียบสาละวินสิ้นสุดลงที่เมืองปี่จงล่อ เมืองเล็กๆ ที่รายล้อมไปด้วยยอดเขาหิมะ ยอดเขารูปพิระมิดที่มองเห็นไกลๆ คือเขตทิเบต
ลมปลายฤดูหนาวพัดมาเย็นผิว คืนนี้เราขออาศัยค้างคืนกับครอบครัวชาวนูผู้โอบอ้อม เพราะที่นี่ไม่มีโรงแรม บ้านของชาวนูที่นี่มีลักษณะพิเศษ คือหลังคามุงด้วยหินแผ่นที่สกัดออกมาจากภูเขาหินรอบๆ ช่วยกันหนาวได้อย่างดีในฤดูที่หนาวเหน็บ
ค่ำคืนเย็นเยียบ พี่น้องชาวนูชวนเราเต้นรำ เหล้าข้าวรสนุ่มถูกเทลงจอกต้อนรับเพื่อนจากต่างถิ่น เสียงดนตรีจากซอพื้นบ้าน เสียงร้องเพลงเคล้ากับเสียงกระทืบเท้าเป็นจังหวะ เสียงเพลงร้องถึงแม่น้ำนู่เจียงและภูเขาที่ให้ชีวิตแก่ชนเผ่านู ดาวสกาวเต็มฟ้า คืนนี้แม้อากาศจะหนาวแต่เราทุกคนกลับรู้สึกอบอุ่นด้วยไมตรีของเพื่อนร่วมสายน้ำ
วันต่อมาพวกเราเดินออกมาจากเมืองปี่จงล่อลงไปที่แม่น้ำ Stone Gate หรือ ประตูผา ผาสูงตั้งตระหง่าน ช่องเขาใหญ่เปิดทางให้สายน้ำไหลผ่านสงบเงียบ พวกเราเดินเลาะแม่น้ำไปจนถึงหมู่บ้านสุดท้ายของหุบเขานู่เจียงซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลถึง ๑,๘๐๐ เมตร คุณแม่ยังสาวทอเสื้อใหม่หลากสีให้ลูกน้อยอยู่หน้าบ้านริมน้ำ เบื้องบนแสงสุดท้ายของวันทาบทอภูเขาหิมะเป็นสีทอง คุณปู่ชาวนูอุ้มหลานไว้บนหลัง เดินกลับจากไร่ก่อนตะวันจะสิ้นแสง

จากยูนนาน แม่น้ำไหลเคียง ๓ พี่น้องเมื่อออกเดินทางข้ามพ้น “เขตปลอดภัย” ในพื้นที่อนุรักษ์ที่ถูกจัดให้เป็นมรดกโลกไปตามทิศต่างๆ พี่ใหญ่และน้องกลางก็เผชิญกับชะตากรรมไม่ต่างกัน
แม่น้ำแยงซี อันได้รับการขนานนามว่า มหามาตุธารแห่งแผ่นดินจีน ถูกทำให้เป็นเส้นทางขนส่งทางน้ำที่สำคัญ แก่งหินที่ “เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ” ถูกระเบิดกำจัดทิ้งไปตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๐๑ หลังจากนั้นเธอก็ถูกปิดกั้นด้วยเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ เขื่อนซานเซียะ (ไตรโตรก) หรือเขื่อนทรีกอร์เจส ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างใหญ่ที่สุดอันดับต้นๆ ของจีน และเป็นโครงการที่มีการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดเช่นกัน อ่างเก็บน้ำขนาดมหึมาของเขื่อนไตรโตรกท่วมพื้นที่ไพศาล รวมทั้งพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ผู้คนต้องอพยพเพื่อหลีกทางให้แก่เขื่อนนี้กว่า ๑.๙ ล้านคน
แม่น้ำโขง อันเป็นหัวใจของคนในภูมิภาคอุษาคเนย์ ที่มีผู้คนกว่า ๖๐ ล้านคน ที่พึ่งพาสายน้ำแห่งนี้ตลอดสายนับจากจีนเรื่อยลงมาพม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ปัจจุบันก็กำลังอยู่ในภาวะถูกรุมโทรมโดยโครงการพัฒนามากมาย
เขื่อน ๒ แห่งแรก ได้ปิดกั้นสายน้ำที่ยูนนนาน อีก ๒ แห่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และอีกหลายแห่งกำลังรอการอนุมัติ ปิดกั้นความอุดมสมบูรณ์ที่เธอได้พัดพามาเพื่อหล่อเลี้ยงผืนดินและผู้คน
นอกจากนี้ยังมีโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ๔ ประเทศตอนบน เพื่อทำให้แม่น้ำกลายเป็นเพียงซุปเปอร์ไฮเวย์สำหรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ การระเบิดแก่งและขุดลอกแม่น้ำได้ทำลายระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะของน้ำโขงตอนบน ที่เป็นแหล่งวางไข่ขยายพันธุ์ของปลาอพยพ รวมทั้งปลาบึก ปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ และวิถีชีวิตอันผูกพันกับสายน้ำของชาวบ้านริมน้ำโขงและน้ำสาขา
สำหรับน้องสุดท้องสาละวิน แม้แต่ในเขตมรดกโลก ก็ใช่ว่าจะเป็นเขตปลอดภัยสำหรับเธอ สายน้ำแห่งนี้กำลังถูกจับจองโดยโครงการเขื่อน ในเขตจีนหลังการประกาศพื้นที่มรดกโลกเพียง ๑ เดือน บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งได้รับ “สิทธิในการพัฒนา” แม่น้ำสายนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมายหลังจากที่จีนแปรรูปกิจการพลังงานแก่บริษัทเอกชน ก็ได้เสนออภิมหาโครงการเขื่อน ๑๓ แห่งนับตั้งแต่ทิเบตลงมาในเขตยูนนาน
หากเขื่อนสาละวินในจีนก่อสร้าง ชนเผ่าในหุบเขาสาละวินที่มีจำนวนกว่า ๕ แสนคน ต้องสูญเสียบ้านและที่ทำกิน และผลกระทบท้ายน้ำก็ลามไปถึงไทยและพม่า เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในลุ่มน้ำโขง
ตามน้ำลงมาก็มีโครงการเขื่อนท่าซาง ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ที่จะผลิตไฟฟ้าขายให้กับประเทศไทย และเขื่อนสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า และอีกหลายสิบโครงการเขื่อนในพม่าที่มีการศึกษาไว้หลายสิบปีก่อนและรอวันปัดฝุ่น
หากเขื่อนท่าซางและเขื่อนบนพรมแดนได้รับการอนุมัติก่อสร้าง ทหารพม่าจะสามารถขยายกำลังเข้ามาในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยเพื่อคุ้มกันการสร้างเขื่อน การละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบต่างๆ อาจสาหัสกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้แรงงาน ใช้กำลังข่มขู่ทำร้าย บังคับอพยพ ข่มขืนผู้หญิงชนกลุ่มน้อย และกับระเบิด
หากเขื่อนก่อสร้างแล้วเสร็จ พื้นที่มหาศาลของรัฐฉาน คะยา และกะเหรี่ยง จะจมอยู่ใต้น้ำตลอดกาล แล้วผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะไปอาศัยผืนดินที่ไหน นอกจากหลั่งไหลเข้ามาพึ่งพิงประเทศไทย
สาวน้อยสาละวิน หรือเธอจะต้องเผชิญชะตากรรมที่ไม่ต่างไปจากพี่ทั้งสอง ?

Running water never disappointed...
น้ำที่ไหลอิสระมิเคยเผชิญความโศกสลด
กวีนิรนามชาวไอริช

แม่น้ำสีมรกตยังคงไหลเอื่อย ไม่ว่าจะเรียกว่านู่เจียง น้ำคง หรือสาละวิน สายน้ำแห่งนี้ก็ได้หล่อเลี้ยงชีวิตมากมายตลอดลุ่มน้ำตลอดความยาวกว่า ๒,๘๐๐ กิโลเมตร แม้จะเป็นแม่น้ำชายแดนที่ไม่มีใครรู้จัก แต่สำหรับคนในลุ่มน้ำ สายน้ำแห่งนี้เปรียบเป็นเหมือนเส้นเลือด อีกนานแค่ไหน ที่สาละวินจะได้ไหลอย่างอิสระ หรือใกล้แล้วที่จะถึงวันสุดท้ายแห่งอิสรภาพของเธอ

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา