eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

 

ผลิตผลต่างๆ จากไร่ข้าวคืออาหารสำหรับ ครอบครัวตลอดทั้งปี

 

 

 

ในไร่กลางป่าแห่งนี้ นักเรียนจากในเมืองได้เรียนรู้วิถีชีวิต

ของชาวกะเหรี่ยง

 

 

 

มื้อก้าผู้เชี่ยวชาญเรื่องพันธุ์ข้าว คุณครูของเรา

 

 

 

ภาพบนและล่าง ฝนที่ตกลงมาไม่ขาดสาย ทำให้ลำห้วยน้อย กลายเป็นแม่น้ำเชี่ยวกราก ก่อนที่จะไหลลงสู่สาละวินสายใหญ่

 

 

 

 

ไร่ข้าวกลางป่าใหญ่ อีกไม่นานต้นไม้ก็ฟื้นขึ้นมาเป็นป่า อีกครั้ง

 

 

 

หมู่บ้านน้อยซ่อนตัวอยู่ริมห้วย กลางป่าอย่างกลมกลืน

 

 

โรงเรียนแม่น้ำ กลางป่าสาละวิน 

เพียรพร ดีเทศน์เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"อ่อ ที กะต่อ ที อ่อ ก่อ กะต่อก่อ    กินน้ำรักษาน้ำ อยู่ป่ารักษาป่า"

คำผู้เฒ่าสอนลูกหลานกะเหรี่ยง

สายฝนกระหน่ำลงมาตั้งแต่เช้า ป่าใหญ่อาบฝนชุ่มฉ่ำ ท้องฟ้าครึ้มทะมึน รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ ๓ คันบรรทุกผู้โดยสารจากในเมืองกว่า ๓๐ ชีวิต วิ่งบนถนนลูกรังคดเคี้ยวตามไหล่เขา ปลายทางคือหมู่บ้านห้วยแห้ง บ้านกะเหรี่ยงริมห้วยในหุบเขากลางป่าสาละวิน จัวหวัดแม่ฮ่องสอน โรงเรียนแม่น้ำของเรา

“ตามสบายเน่อ อยู่ดอยไม่สะดวกเหมือนในเมือง” พ่อหลวงธวัชชัย พูดกับพวกเราผู้มาเยือนพร้อมจัดการให้แยกย้ายเข้าพักกับชาวบ้านหลายหลัง

สามวันต่อไปนี้ พวกเราทุกคนคือนักเรียนน้อย มาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงแห่งป่าสาละวิน

...........................................

ค่ำนั้นที่วัดห้วยแห้ง พี่น้องชาวบ้านเกือบหมดหมู่บ้าน กว่า ๒๐๐ คน มารวมกันพูดคุยกับพวกเรา มีตั้งแต่ตัวน้อยแรกเกิดนอนดูดนมอยู่ในอ้อมแขนแม่ ไปจนถึงมื้อก้า (ป้า) วัยชรา แทบทุกคนยังคงใส่เสื้อกะเหรี่ยงที่ทอกันเอง

“ในป่านี้ไม่มีไฟฟ้า แต่มีอะไรเยอะแยะ คนที่อยากจะมาพัฒนา จะมาสร้างเขื่อนบอกว่าที่นี่ไม่มีคน ชาวบ้านก็อยากให้คนข้างนอกรู้ว่าในป่านี้มีคน คนกะเหรี่ยงอยู่กับป่าอย่างไร ชาวบ้านเลยทำงานวิจัยไทบ้าน เก็บข้อมูลกันเองเลยว่า ป่า แม่น้ำ ห้วย มันมีอะไร สำคัญกับชาวบ้านแค่ไหน

“เราอยากให้คนข้างนอกรู้ว่าปกากะญอ กะเหรี่ยงอยู่กับป่าอย่างไร ก็คิดให้มีโรงเรียนแม่น้ำสาละวิน ให้คนในเมืองมาเรียนรู้เรื่องแม่น้ำ เรื่องป่า เรื่องที่ชาวบ้านทำวิจัยกัน” พ่อหลวงนุ ชำนาญครีรีไพร หัวเรือใหญ่ของงานวิจัยไทบ้าน อธิบายให้ฟัง

“พรุ่งนี้ตื่นเช้าน่อยเน่อ ชาวบ้านนักวิจัยจะพาไป ๓ ที่ ไปไร่ ดูไร่หมุนเวียน ไปป่า เก็บหน่อ เก็บเห็ด ยาสมุนไพร แล้วก็ลงห้วยจับปลา ใครอยากไปกลุ่มไหนเลือกเอาเต๊อะ” พ่อหลวงนุชี้แจง ทำเอาบรรดานักเรียนเลือกไม่ถูกว่าจะไปไหนดี

เปลวไฟจากตะเกียงสะบัดไหวตามแรงลม เสียง เตหน่า พิณพื้นบ้านแว่วมากับลำนำเพลง ทา ที่ศิลปินหนุ่มในหมู่บ้านขับร้อง

เกอะตอ เส่ เลอะ ทีโพคี เกอะตอ หว่า เลอะ ทีโพคี

เรารักษาไม้ที่ขุนน้ำ เรารักษาไผ่ที่ขุนน้ำ

เกอะตอ ฉ่าโพ อะหล่อมี เกอะตอ ก่อโพ อะหล่อมี

ให้เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า ให้เป็นที่นอนของสัตว์ป่า

..........................

ตุ๊บ ตุ๊บ ตุ๊บ ตุ๊บ... เสียงครกตำข้าวที่ก้องดังประสานกันปลุกเราให้ตื่น อาทิตย์สาง เราก็มารวมกันอยู่ที่หน้าโรงเรียน ชาวบ้านนักวิจัย คุณครูของพวกเรามาพร้อมแล้ว ฉันเลือกไปไร่ กับจ้อ (พี่ชาย) มื้อก้าและพะตี (ลุง) และคณะครูนักเรียนกว่า ๔๐ คน เดินลัดเลาะตามห้วยแม่สะเกิบไปเป็นขบวนใหญ่

“ห้วยแม่สะเกิบไหลลง โคโหละโกล -แม่น้ำสาละวิน ห้วยนี้ห้วยเดียวก็มีหมู่บ้านอยู่หลาย ทั้งป่าสาละวินนี่ก็มีเป็นร้อยหมู่บ้าน อยู่ตามห้วยเล็กห้วยใหญ่ พี่น้องกันทั้งนั้น” จ้อโพดาอธิบาย ก่อนพาคณะเลี้ยวขึ้นดอยตามทางเดินเล็กๆ มีกล้วยป่าต้นน้อยออกดอกแดงแซมสะพรั่งไปทั้งโตรกเขา

ก่อนที่พวกเราจะเดินถึงไร่ ฤดูฝนก็ทำหน้าที่ของมัน ไม่นานทั้งครูทั้งนักเรียนก็มานั่งหลบฝนกันอยู่ในกระท่อมกลางไร่—ไร่ที่หนังสือเรียนของประเทศไทยเรียกว่า “ไร่เลื่อนลอย”

“ชาวบ้านที่นี่ทำไร่ทุกบ้าน มีไร่บ้านละ ๘ ที่ อยู่รอบๆ หมู่บ้าน หมุนเวียนไปทุกปี ครบ ๘ ปีก็เวียนกลับมาทำที่เดิม เราเวียนไปป่าก็โตขึ้นมาใหม่ เพราะเราไม่ตัดต้นไม้ทั้งหมด เหลือต้นไม้ใหญ่ไว้ให้ป่าฟื้น พ่อแม่สอนไว้

เส่กลอ เหน่ กลอ เหลอะ เตอะเก ปะ เหน่ บิเบโหม่ จ่อ เก

ตัดไม้อย่าตัดหมด เหลือไว้ให้นกพญาไฟมาเกาะ” หน่อพ้อกอ เล่าให้พวกเราที่นั่งฟังกันอย่างตั้งใจ

ไร่ข้าวกลางป่าแบบนี้ “ผู้บริหารประเทศ” นั่งเครื่องบินตรวจการณ์แลลงมาคงเห็นป่าหายไปเป็นหย่อมๆ ไม่ได้ลงมาเดินดูใกล้ๆ ว่ามีต้นไม้ใหญ่อยู่กลางไร่มากมาย และไม่รู้ว่าอีกไม่นานป่าก็คืนสภาพได้เอง จึงมีคำสั่งมิให้ชาวบ้าน “ตัดไม้ทำลายป่า” และ “ทำไร่เลื่อนลอย” อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าเขตต้นน้ำและป่าอนุรักษ์

“ช่วงแล้งปีนี้ที่ชาวบ้านถางไร่ มีเจ้าหน้าที่เข้ามาจับ ไม่ให้เราฟันไร่ ชาวบ้านตกใจหนีวิ่งเข้าป่าหายไปหลายวันกว่าจะตามกันเจอ ตกใจสิ ก้มฟันหญ้าอยู่ดีๆ หันมาเห็นเจ้าหน้าที่ใส่ชุดดำถือปืน บอกว่าเราทำผิดกฎหมาย” จ้อพะดิดีเล่าเรื่องที่เพิ่งเกิดกับชาวบ้านสดๆ ร้อนๆ โดยหลังจากนั้นชาวบ้านก็ยังยืนยันกับทางการว่าไร่หมุนเวียนไม่ได้ทำลายป่า แต่กลับเป็นการใช้ป่าอย่างยั่งยืน และชาวบ้านก็จะยังคงทำไร่กันต่อไป

“ไม่ให้ทำไร่แล้วจะให้กินอะไร?” คือคำถามของชาวบ้าน

ในบางพื้นที่ทางการก็มีการผ่อนผันให้ทำไร่ได้ แต่กำหนดว่าไม่ให้ทำเกินครัวเรือนละ ๓ แปลง นั่นหมายความว่า ๓ ปีก็ต้องกลับมาทำที่เดิมอีก

“เวลาเราทำไร่แล้ว หลายๆ ปีป่าก็โตขึ้นมา ผีป่ากลับมาอยู่ เราเวียนกลับมาทำใหม่ข้าวก็ออกงาม ถ้าทำซ้ำที่เดิมทุกปี หรือเว้นแค่ ๒-๓ ปี หญ้าจะขึ้นรก ดินไม่ดี ข้าวไม่งาม ต้องเว้นนานๆ

“ชาวบ้านนับถือผี ทุกๆ ที่ในป่ามีผีอยู่ ก่อนทำไร่เราเลี้ยงบอกผีก่อน บอกว่าเราจะทำไร่ที่นี่เน่อ เสี่ยงทายกระดูกไก่ ถ้าดีก็ทำ ถ้าทายว่าไม่ดีก็เปลี่ยนที่ ตอนเผาไร่ก็เลี้ยงผีไฟ ข้าวออกใหม่แบบนี้ก็เลี้ยงเรียกขวัญข้าว ให้ออกงามๆ ให้พอกิน

“เกี่ยวข้าวเสร็จชาวบ้านจะเลี้ยงผีไร่อีก เลี้ยงขอบคุณดิน น้ำ ป่า ที่ให้ข้าวเรากิน ก่อนขนข้าวกลับบ้านก็ทำพิธี แสะพ้อโค้ เลี้ยงผี ทำแกงใส่มัน เผือก หัวปลี หน่อหวาย แกงใส่ ปู เพราะว่าปูไม่กินข้าว ข้าวจะได้หมดช้าๆ” ฟังจ้อพะดิดีเล่าแล้วเราก็อมยิ้มไปตามๆ กัน

งานวิจัยไทบ้าน พบว่าชาวบ้านในเขตป่าสาละวินปลูกข้าวทั้งหมด ๕๕ พันธุ์ ทั้งหมดเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมือง แต่ละครอบครัวปลูกข้าวจ้าวและข้าวเหนียวในไร่ประมาณ ๓-๔ พันธุ์ โดยครอบครัวที่แยกออกมาใหม่จะได้รับพันธุ์ข้าวเชื้อจากพ่อแม่ หรืออาจแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านในชุมชน ชาวบ้านปลูกข้าวหลายพันธุ์ไว้ในไร่เดียวกัน โดยแต่ละชนิดเก็บเกี่ยวไม่พร้อมกัน ครอบครัวที่ข้าวหมดก่อนก็จะเลือกปลูกข้าวพันธุ์สุกเร็วไว้ด้วย เพื่อจะได้มีข้าวกินขณะรอเกี่ยวข้าวพันธุ์อื่นๆ

นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่า ในไร่ข้าวนั้นมีพืชอื่นๆ ที่ชาวบ้านปลูกไว้อีกกว่า ๑๕๐ พันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟัก บวบ แตง พริก ข้าวโพด งา ผักกาด และพืชอาหารอื่นๆ อีกนานาพันธุ์ รวมทั้งฝ้ายสำหรับทอผ้า และดอกไม้หลากชนิด ไร่ของชาวกะเหรี่ยงจึงนับเป็นแหล่งเก็บรักษาความหลากหลายของพันธุ์พืชมากมาย โดยต้องพึ่งพาปุ๋ย หรือยาฆ่าแมลงแต่อย่าใด

เรียกได้ว่าอยากกินอะไร ในไร่มีให้แทบทุกอย่างที่ต้องการ

สำหรับชาวบ้าน พืชมากมายที่อยู่ในไร่มิใช่เป็นเพียงอาหาร ดอกไม้มิใช่เบ่งบานเพียงเพื่อความสวยงาม แต่ยังเป็นเพื่อนกับข้าว ให้ข้าวอยู่ในไร่และให้ผลผลิตงาม มือก้าหน่อที เล่านิทานให้ฟัง

“ข้าวที่ปลูกทุกที่มี บื้ออะกะลา -ขวัญข้าว อยู่กับไร่ ปลูกข้าวต้องปลูก พ้อ -ดอกไม้ ปลูกเผือกปลูกมันอื่นๆ ด้วย ให้อยู่ด้วยกัน

นานมาแล้วมีไร่ที่ไม่ปลูกดอกไม้ไว้ ข้าวก็ไม่มีขวัญ ข้าวก็ไม่อยากอยู่ไร่แล้ว อยากไปอยู่ที่อื่น ข้าวจะหนีไปจากไร่ เค้อ -หัวมันใหญ่ก็บอกข้าวว่าอย่าไป หัวมันใหญ่อ้วนไปด้วยไม่ได้ ขื่อ -หัวเผือกก็บอกว่าอย่าไป เรามีลูกเยอะ ตามไปลำบาก ข้าวหนีไปแล้วจะอยู่กับใคร ให้อยู่ด้วยกันในไร่นี่แหละ ข้าวก็เลยอยู่ในไร่ต่อไปกับเพื่อนๆ และออกเมล็ดเต็มรวงให้คนได้กิน”

นั่งคุยกันจนบ่ายคล้อย สายฝนยังคงสาดสายลงมาไม่มีท่าทีว่าจะซา น้ำป่าไหลลงตามร่องดอยเป็นสายใหญ่ขึ้นทุกที ชาวบ้านบอกว่าคงไม่หยุดตกง่ายๆ กลัวน้ำห้วยจะใหญ่เดินกลับหมู่บ้านไม่ได้ พวกเราจึงพากันเดินกลับกลางฝนกระหน่ำ

จริงดังคาด ห้วยแม่สะเกิบสายน้อยที่เราเดินตัดข้ามไปมาเมื่อเช้า บัดนี้กลายเป็นแม่น้ำเชี่ยว มีซุงและเศษไม้ลอยมาเป็นที่หวาดเสียว พวกเราเดินลงจากไร่ไปเจออีกกลุ่มที่ลงห้วยเรียนเรื่องจับปลากำลังพยายามหาทางกลับอยู่เหมือนกัน

“เดินเลาะไปก่อน ถ้าไม่ได้ก็ขึ้นดอย” พะตีบอวอ บอกบรรดานักเรียน พร้อมนำทางพาเลาะริมน้ำ บางช่วงที่ต้องข้ามห้วยเล็ก ชาวบ้านหนุ่มๆ ก็ไปยืนอยู่กลางน้ำจับมือให้พวกเราเกาะข้ามน้ำไปครบกันทุกคน

แล้วก็เดินมาจนถึงโค้งน้ำเชี่ยว ไม่มีที่ให้เดินเลาะน้ำไปได้ ทุกคนจึงต้องขึ้นดอยสูงชัน ชาวเมืองอย่างพวกเราดูงุ่มง่ามไปในทันทีเมื่อมาเดินป่าแบบนี้ บางคนพยายามเกาะต้นไม้ก็ไปเกาะต้นหนามเข้าเต็มฝ่ามือ ชาวบ้านต้องเดินประกบนำให้เกาะต้นไม้ที่ควรเกาะ และคอยจับไว้ไม่ให้ลื่นไหลลงดอยลอยตามน้ำไปเสียก่อน จนทุกคนกลับมาถึงหมู่บ้านอย่างปลอดภัยในสภาพสะบักสะบอม

สายฝนซึมผ้าเปียก ลมพัดมาวูบก็เย็นเข้าไปถึงกระดูก แต่ตลอดทางก็ยังคงอุ่นด้วยไอมิตรภาพ

...............................................................

คืนนั้นชาวบ้านมารวมกันคับคั่ง แต่ละกลุ่มนำเสนอสิ่งที่เรียนรู้กันจากโรงเรียนแม่น้ำ

ตัวแทนกลุ่มปลารายงาน “วันนี้ไปทอดแห แต่จับปลาได้แค่ ๖ ชนิด เพราะฝนตกลงมาน้ำใหญ่เสียก่อน” งานวิจัยไทบ้านเก็บข้อมูลพันธุ์ปลาน้ำสาละวินและปลาห้วยได้แล้วกว่า ๘๐ ชนิด พบว่ามีปลาหลายชนิดจากน้ำสาละวินขึ้นมาวางไข่ในห้วยยามหน้าฝนแบบนี้ แก่งหินและต้นไม้ริมน้ำที่จมอยู่ใต้น้ำยามน้ำหลากคือแหล่งวางไข่อย่างดีแก่ปลา

ส่วนกลุ่มที่ไปป่า เก็บเห็ด หน่อ ผักป่า และยาสมุนไพรได้หลายชนิด งานวิจัยไทบ้านพบว่าในเขตป่าสาละวินมีพืชอาหารและยาสมุนไพรรวมกันกว่า ๓๐๐ ชนิดชาวบ้านจึงมีอาหารกินกันตลอดทั้งปี และมียาสมุนไพรจากป่ารักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ

“เราอยู่ในป่า เรารักษาป่า เรามีทุกอย่าง ถึงเราไม่มีเงิน แต่ไม่ต้องใช้เงิน ถึงไม่มีไฟฟ้าใช้ พี่น้องยังมีความสุข” พะตีซีทุ พูดมองหน้าทุกคนในแสงตะเกียง

หากมีการก่อสร้างเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า ตามที่รัฐบาลไทยเสนอ น้ำจะเอ่อไหลเข้าท่วมหมู่บ้านต่างๆ ที่ตั้งอยู่ตามลำห้วยสาขาน้อยใหญ่ทั้งฝั่งพม่าและไทย ซึ่งรวมถึงบ้านห้วยแห้งแห่งนี้ด้วย

“รัฐบาลบอกว่าอยากรักษาป่า ไม่ให้ชาวบ้านทำไร่ บอกว่าชาวบ้านทำลายป่า จริงๆ เราทำไร่ ต้นไม้ไม่ตาย ปีหน้ามันก็โตใหม่

แต่ถ้าสร้างเขื่อน ป่าไม้ก็หมด ตอไม้ก็ไม่ได้เห็น

ดิน น้ำ ป่า เป็นของทุกคน เราใช้ เรารักษา ถ้าสร้างเขื่อนต่อไปนี้สาละวินก็ไม่มีกะเหรี่ยงแล้ว”

........................................................

วันสุดท้ายมาถึง เราอำลาพี่น้องทุกคน รถแล่นสู่ยอดดอยอีกครั้ง มองลงมา ป่าฉ่ำฝนสีเขียวครึ้ม ลำห้วยสีโคลน และหมู่บ้านไม้ไผ่มุงหลังคาใบตองตึง ทุกสิ่งต่างกลมกลืนเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่มีสิ่งใดแปลกแยก เสียงลำนำเพลง ทา ที่ได้ฟังเมื่อคืนยังดังแว่วมา

อ่อ ที กะต่อ ที เหม่ เก อ่อ ก่อ กะต่อ ก่อ เหม่ เก

ใช้ผืนน้ำให้รักษาไว้ ใช้ผืนดินให้รักษาไว้

แพะ คึ ขุ ซี เส่ เตอะ เก แพะ คึ ขุ ซี หว่า เตอะ เก

ถางไร่อย่าฟันไม้ให้ตาย ฟันไร่อย่าถางไผ่ให้ตาย

เส่ หว่า เมะ ลอตุ ลอเช เปอะ บะ กอวี บะ กอเจ

หากไม้และไผ่หมดไป เราจะอดน้ำอดข้าวตาย

เปอะ โอะ ฮี่ เลอ โหม่ แดลอ เปอะ โอะ ฮี่ เลอ ป่า แดลอ

หมู่บ้านที่เราแม่เคยอาศัย หมู่บ้านที่เราพ่อเคยอาศัย

สะสวีส่า เลอ โหม่ สู่ ลอ มะแงส่า เลอ ป่า สู่ ลอ

ส้มโอที่แม่ปลูกไว้ มะนาวที่พ่อปลูกไว้

เปอะอ่อกะต่อ อ่อกะต่อ กุ อ่อ ปกา เล ตื่อ เล ตอ

เรากินไปเรารักษาไป เราจึงมีกินตลอดไป

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา