eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เขื่อนสาละวิน :  โศกนาฏกรรมสองแผ่นดิน

ดาวน์โหลดหนังสือได้ที่นี่

สรุปเขื่อนสาละวิน :  โศกนาฏกรรมสองแผ่นดิน

                สาละวิน  หรือ “น้ำคง” สายน้ำที่ใหญ่และยาวที่สุดเป็นอันดับสองในอุษาคเนย์ที่ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลลงมหา สมุทรอินเดีย ในวันนี้คือสายน้ำบริสุทธิ์สายล่าสุดที่พลุกพล่านไปด้วยนักสร้างเขื่อน                 ปัจจุบัน แม่น้ำสาละวินถูกวางแผนให้เป็นที่ตั้งของเขื่อนชุดมากกว่า ๑๐ เขื่อน และโครงการผันน้ำที่ประเทศไทยมีส่วนร่วมด้วย ทั้งๆ ที่เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันประเทศไทยมีพลังงานเหลือใช้ในระบบมากกว่าร้อยละ ๔๐ ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากเขื่อนสาละวินแม้แต่น้อย โครงการเขื่อนสาละวินที่กำลังถูกผลักดันในขณะนี้คือ ๑          โครงการเขื่อนท่าซาง 

เขื่อนท่าซางเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ มีกำลังผลิตติดตั้ง รวม ๓,๓๐๐ เมกะวัตต์  สันเขื่อนมีความสูง ๑๘๘ เมตร คาดว่าจะมีพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมอย่างต่ำนับร้อยตารางกิโลเมตร  ตัวเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินบริเวณท่าเรือท่าซาง  ในรัฐฉานตอนใต้ ประเทศพม่า งบประมาณเฉพาะค่าก่อสร้างอย่างต่ำ ๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท โครงการเขื่อนนี้ริเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ โดยบริษัทนิปปอน โคอิจากญี่ปุ่น ซึ่งสร้างเขื่อนบาลูชองในแม่น้ำสาขาของสาละวินมาก่อน ต่อมาในปี ๒๕๔๑ บริษัทจีเอ็มเอส พาวเวอร์ ร่วมกับ เมียนมาร์ อีโคโนมิค คอร์ปอเรชั่น ศึกษาศักยภาพของโครงการ และในวันที่๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ บริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) กับรัฐบาลทหารพม่า

๒          โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า                 มีชื่อเป็นทางการว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินชายแดนประเทศไทย-เมียนม่าร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกอบด้วย ๒ โครงการ คือ

·        โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนตอนบน (เว่ยจี)

                                เขื่อนมีความสูง ๑๖๘ เมตร กำลังผลิตติดตั้ง  ๔,๕๔๐ เมกะวัตต์

·        โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนตอนล่าง (ดา-กวิน/ท่าตาฝั่ง)

                                เขื่อนมีความสูง ๔๙ เมตร กำลังผลิตติดตั้ง ๗๙๒ เมกะวัตต์

ทั้งสองเขื่อนตั้งอยู่บริเวณชายแดนประเทศไทย-พม่า อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรงข้ามกับรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า เป็นอ่างเก็บน้ำ ๒ อ่างที่เชื่อมต่อกัน อ่างเก็บน้ำของเขื่อนตอนบนท่วมพื้นที่ยาวไปตามลำน้ำ ๓๘๐ กม. เป็นพื้นที่ ในเขตชายแดนประเทศไทยและรัฐกะเหรี่ยง ๕๖ กม. และพื้นที่ในเขตรัฐกะเหรี่ยงต่อขึ้นไปถึงรัฐคะยา ประเทศพม่าอีก ๓๒๔ กม. ปัจจุบัน การเปิดเผยข้อมูลโครงการ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่น้ำท่วมยังขาดความชัดเจน กฟผ. เปิดเผยข้อมูลพื้นที่อ่างเก็บน้ำเฉพาะในส่วนของประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งนับเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมในเขตรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะยา และกฟผ. ทั้งยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำที่จะเอ่อท่วมเข้าไปยังลำน้ำปาย ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน อันเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อนสาละวินชายแดน

ประเด็นที่ต้องตระหนัก

๑. ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า

พม่าเป็นประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก  รัฐบาลทหารพม่าได้ทำการกดขี่ข่มเหงประชาชนหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ชาวบ้านโยกย้ายถิ่นฐานจากหมู่บ้านในชนบทเข้าอยู่ในแปลงอพยพภายใต้การควบคุมของทหารพม่า  การบังคับใช้แรงงาน  การบังคับให้เป็นลูกหาบกระสุน  เสบียง  รวมทั้งทำหน้าที่เป็น “โล่มนุษย์” ยามมีการสู้รบกับกองกำลังกู้ชาติกลุ่มต่างๆ เมื่อดำเนินโครงการพัฒนาใดๆ รัฐบาลทหารพม่าไม่เคยเปิดเผยข้อมูลผลกระทบต่อประชาชน อีกทั้งทำการคุกคามเสรีภาพของประชาชนในท้องถิ่นมาโดยตลอด ต้นตอสำคัญของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า มาจากการเพิ่มขึ้นของกองกำลังทหารพม่าในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนา อาทิ โครงการสร้างถนน โครงการท่อก๊าซ โครงการเขื่อน ฯลฯ ทหารพม่าจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่มีโครงการเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงตามมา

การบังคับโยกย้ายถิ่นฐาน

รัฐบาลพม่าได้บังคับโยกย้ายถิ่นฐานประชาชนในเขตพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มาโดยตลอด โดยบังคับให้ประชาชนตามหมู่บ้านในชนบทย้ายเข้ามาอยู่ในเขตควบคุม  เพื่อป้องกันการส่งเสบียงให้กับกองกำลังกู้ชาติกลุ่มต่างๆ ทำให้ชาวบ้านเหล่านี้จำต้องละทิ้งไร่นาโดยไม่ได้รับค่าชดเชย และเมื่อถูกอพยพแล้วชาวบ้านไม่สามารถกลับไปที่อยู่ชุมชนเดิมหรือกลับไปทำการเกษตรได้ ชาวบ้านที่ถูกอพยพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารและเป็นแรงงานพร้อมใช้สำหรับทหาร เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างรายได้ให้กับกองทัพ

            โครงการเขื่อนท่าซางและเขื่อนสาละวินชายแดน เป็นโครงการที่จะซ้ำเติมความทุกข์ให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งของกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่รัฐบาลทหารพม่าดำเนินนโยบายบังคับโยกย้ายถิ่นฐาน  เขื่อนจะทำให้ชาวบ้านดังกล่าวไม่สามารถกลับไปใช้ประโยชน์จากสายน้ำและผืนดินเดิมของตนได้อีกต่อไป                   นโยบายบังคับโยกย้ายถิ่นฐานก่อให้เกิดปัญหาผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่าและผู้ลี้ภัยในประเทศไทยจำนวนมาก   รายงานของ BBC (Burmese Border Consortium) เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๕ เปิดเผยจำนวนผู้พลัดถิ่นในเขตรัฐฉาน รัฐคะยา และรัฐกระเหรี่ยง รวมทั้งหมด กว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน                 สำหรับจำนวนผู้ลี้ภัยในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนกระทรวงมหาดไทยเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ มีจำนวนทั้งหมด ๑๑๑,๐๓๑ คน  ตัวเลขนี้ยังไม่รวมผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่อีกนับแสนคนที่อาศัยอยู่ตามชายแดนไทย – พม่าด้านจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนเป็นจำนวนมากเนื่องมาจากประเทศไทยไม่อนุญาตเปิดค่ายผู้ลี้ภัยให้ชาวไทยใหญ่  

การบังคับใช้แรงงาน

รัฐบาลทหารพม่ามีชื่อเสียงในการบังคับใช้แรงงานและใช้ความรุนแรงต่างๆ ในการดำเนินโครงการพัฒนา ตัวอย่างโครงการพัฒนาในอดีตที่ผ่านมาจึงทำให้คาดการณ์ได้ว่าโครงการเขื่อนท่าซางและเขื่อนสาละวินชายแดนจะซ้ำรอยเดิม การบังคับใช้แรงงานในพม่าเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โหดร้าย และเป็นระบบ ซึ่งเป็นเหตุให้องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization-ILO) เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทบทวนความสัมพันธ์กับรัฐบาลผเด็จการทหารพม่า หากมองจากการตัดสินใจขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนที่จะสร้างร่วมกับรัฐบาลทหารพม่า ควรระงับโครงการจนกว่าสถานการณ์ด้านการบังคับใช้แรงงานในพม่าจะดีขึ้น

การข่มขืนผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ 

จากรายงาน “ใบอนุญาตข่มขืน” (License to Rape) ของ กลุ่มปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ เมื่อปี ๒๕๔๕ และรายงาน “No Safe Place” ของ Refugees International เมื่อปี ๒๕๔๖ ยืนยันได้ว่า การเพิ่มขึ้นของทหารพม่าในแต่ละพื้นที่ได้นำไปสู่การข่มขืนรวมทั้งการใช้ความรุนแรงหลายรูปแบบกับผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากยิ่งขึ้น  ดังนั้น หากสร้างเขื่อน กำลังทหารพม่าในพื้นที่จะต้องเพิ่มขึ้น โอกาสที่ผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในรัฐฉาน รัฐคะยา และรัฐกะเหรี่ยงจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วย ๒. การทำลายสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม แม่น้ำสาละวินไหลผ่านใจกลางของรัฐฉาน รัฐคะยาและรัฐกะเหรี่ยง และเป็นหัวใจของชนพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ แม่น้ำสาละวินทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรม การประมง และวัฒนธรรมของประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ เขื่อนบนแม่น้ำสาละวินจะกั้นระบบนิเวศของแม่น้ำ และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อ่างเก็บน้ำและตลอดลำน้ำ การเก็บน้ำจะทำให้เกิดโรคระบาด และการทำลายป่าไม้ น้ำหนักของมวลน้ำในอ่างเก็บน้ำทำให้เกิดความเสี่ยงด้านแผ่นดินไหว ผลกระทบด้านสังคมและวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แม้ตอนนี้จะอยู่ในช่วงแรกของการ ดำเนินโครงการสร้างเขื่อน  แต่รัฐบาลทหารพม่าก็ได้ส่งกำลังทหารเข้ามาควบคุมการเคลื่อนไหวของชุมชนที่พึ่งพาแม่น้ำมากขึ้นเรื่อยๆ นโยบายบังคับโยกย้ายถิ่นฐานยังมีส่วนสำคัญในการทำลายวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชนพื้นถิ่นลงอย่างถอนรากถอนโคน ๓. การไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจ การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนในการตัดสินใจในประเด็นสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และไม่มีประโยชน์ภายใต้อำนาจเผด็จการของรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งทำให้การคัดค้านอย่างเปิดเผยสร้างอันตรายให้แก่ผู้คัดค้าน โครงการนี้ยังไม่มีการปรึกษาหารือกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ  กฎหมายในประเทศพม่าไม่ได้รับการปฏิบัติ รัฐบาลทหารมีอำนาจตัดสินเอง โดยไม่โปร่งใส มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของพม่านั้นล้าหลังเป็นอย่างมาก และประชาชนไม่มีโอกาสเรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมาย แม้แต่ประเทศไทยเองที่ปกครองด้วยประชาธิปไตย แต่เท่าที่ผ่านมาโครงการพัฒนาต่างๆ กลับไม่มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

            ๔. การให้เงินทุนเพื่อส่งเสริมทารุณกรรม ความสัมพันธ์เชิงทำลายกับพม่า

รายงาน Destructive Engagement ของ EarthRights International เมื่อปี ๒๕๓๙ ระบุว่าประเทศพม่ายังคงอยู่ในวิกฤติ นับตั้งแต่ทหารพม่าขึ้นปกครองประเทศในปี ๒๕๓๑ ประเทศก็ขาดซึ่งธรรมาภิบาล และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งทำให้หยุดการพัฒนา และทำลายความกินดีอยู่ดีของประชาชนในประเทศ ผลของวิกฤตินี้ได้ทำลายภาคต่างๆ ต่อๆ กันไป ภาคการศึกษาหยุดนิ่งและแย่ลง สาธารณสุขก็เลวร้ายลง ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อและความยากจนกลับเพิ่มขึ้น ไม่มีการปกป้องสิ่งแวดล้อม ไม่มีเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ทุกแห่ง หลายข้อที่กล่าวมานี้อยู่ภายใต้สิ่งที่รัฐบาลทหารพม่าเรียกว่า นโยบาย “การพัฒนา” การลงทุนจากต่างประเทศยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น ในช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมาที่มีการลงทุนจากต่างประเทศ ได้กลายเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนของ “ความสัมพันธ์เชิงทำลาย” ผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากการลงทุนคือบรรดานายพลและพันธมิตรผู้ใกล้ชิด นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ เมื่อรัฐบาลทหารเปิดประเทศรับการลงทุน ยังไม่มีการปรับปรุงใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สาธารณสุข หรือความยากจน แทนที่การลงทุนเหล่านี้จะช่วยพัฒนาประชาชนในประเทศ รัฐบาลทหารกลับขยายกองทัพอีกเท่าตัว และจัดซื้อยุทโธปกรณ์ซึ่งสร้างแรงบีบคั้นให้กับประชาชนมากขึ้น การลงทุนเน้นที่อุตสาหกรรมที่ดึงทรัพยากรมาใช้ เช่น การทำไม้ อัญมณี และก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลถูกขายเป็นสินค้า ระลอกคลื่นของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพที่หนีออกนอกประเทศเพื่อไปให้พ้นจากการถูกทำร้ายและปัญหาทางเศรษฐกิจ อาจเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความสัมพันธ์โดยการลงทุนกับประเทศพม่าไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชนในพม่า      การลงทุนภายใต้บริบททางการเมืองของเผด็จการทหาร ซึ่งไม่มีความโปร่งใสและไม่เข้มงวดในการตรวจสอบกิจกรรมของภาคธุรกิจเพื่อป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตประชาชน ไม่เพียงแต่ทำร้ายประชาชนทั่วทั้งประเทศด้วยการช่วยให้บรรดาเผด็จการทหารดำรงอำนาจอยู่ได้ตลอดไปเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยตรงซึ่งนักลงทุนชาวต่างชาติมีส่วนร่วม

ประเด็นที่ควรตระหนัก สำหรับประเทศไทย

๑. ความจำเป็น และความคุ้มทุนของโครงการ : กำไรเป็นของ กฟผ. แต่หนี้เป็นของสาธารณะ

๑.๑) ความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ รายงานของ กฟผ.ระบุว่าเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า มีมูลค่าการก่อสร้างกว่า ๒ แสนล้านบาท มูลค่าลงทุนรวมดอกเบี้ย ๓.๗ แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่สูงมาก ต้นทุนการสร้างเขื่อนสาละวินอาจจะสูงกว่าที่วางแผนไว้มากเนื่องจากเขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่บน รอยเลื่อนของเปลือกโลกขนาดใหญ่ ที่ยังไม่ตาย เป็นรอยเลื่อนที่มีสถิติแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ที่ผ่านมาพบว่าเขื่อนที่สร้างบนแนวแผ่นดินไหวด้านตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งอยู่บนรอยเลื่อนที่ต่อเนื่องกันกับรอยเลื่อนที่ตั้งเขื่อนสาละวิน มีค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นภายหลังการอนุมัติสูงมาก เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ (กาญจนบุรี) งบประมาณที่อนุมัติ ๑,๘๐๐ ล้านบาท แต่ค่าก่อสร้างจริงสูงถึง ๔,๖๐๐ ล้านบาท ค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากการปรับปรุงฐานรากและการอัดฉีดหินปูน ข้อมูลล่าสุดก็คือ การออกแบบเขื่อนสาละวินต้องออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว ๐.๗ จี ซึ่งเท่ากับว่าค่าก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นอีกเพื่อให้เขื่อนแข็งแรงรองรับแผ่นดินไหวได้ ข้อมูลข้างต้นชี้ว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยว่าค่าไฟฟ้าจะต่ำดังที่ กฟผ. อ้าง

           ๑.๒) ความจำเป็นด้านพลังงาน และผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศไทย

เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๖ กฟผ.ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองสูงถึงร้อยละ ๔๐ ถึงกระนั้นก็ยังเสนอโครงการเขื่อนสาละวิน จึงเกิดคำถามว่าโครงการมีความจำเป็นจริงหรือไม่  ประเด็นเรื่องต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์อาจไม่ใช่สิ่งที่ กฟผ. ต้องคำนึงถึง เนื่องจากไม่ว่าจะต้องลงทุนโดยกู้เงินมาสร้างเขื่อนมากเท่าไหร่ เงินจำนวนนั้นก็เป็นหนี้สาธารณะที่ชดใช้โดยภาษีของคนไทยทุกคน หนี้สาธารณะนี้จะถูกรวมอยู่ในต้นทุนการคำนวณค่าไฟฟ้าแบบผันแปรตามต้นทุน (ค่าเอฟที) ซึ่งท้ายที่สุดก็คือผู้ใช้ไฟฟ้าชาวไทยทุกคนที่ต้องแบกรับภาระนี้ ในทางกลับกันเมื่อมีกำไรจากการผลิตและขายไฟฟ้า กำไรนั้นก็ตกเป็นของ กฟผ. จึงไม่แปลกที่ กฟผ. ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าและเขื่อนต่างๆ อยู่ตลอดมา แม้ว่าเขื่อนจำนวนมากไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เลย หรือผลิตได้น้อยกว่าที่วางแผนไว้ก็ตาม ๑.๓) ต้นทุนด้านอื่นๆ ที่ไม่ถูกนำมาพิจารณา การสร้างเขื่อนมีต้นทุนด้านอื่นๆ อีกมาก เช่น ความเสี่ยงของชีวิตผู้คนโดยเฉพาะในประเทศพม่า ที่จะต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดการสูญเสียทางสังคม วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในลุ่มน้ำสาละวิน รวมทั้งความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อมและแหล่งประวัติศาสตร์ ต้นทุนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยังไม่ถูกนับรวมเป็นต้นทุนของโครงการเขื่อน ต้นทุนอีกประการที่ดูเหมือนว่า กฟผ. ไม่ต้องจ่ายก็คือ การอพยพผู้คน เนื่องจากป่าสาละวินชายแดนเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยมานาน ชาวบ้านเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ป่ามาก่อนการประกาศเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า และเขตอุทยานแห่งชาติ หากมีการสร้างเขื่อนก็จะต้องถูกอพยพโยกย้ายโดยไม่ได้ค่าชดเชยใดๆ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน

๒. สูญเสียแหล่งกำเนิดไม้สักของโลก

นักนิเวศวิทยาจัดให้ลุ่มน้ำสาละวินเป็นศูนย์กลางของการกระจายพันธุ์ไม้สักของโลก การสร้างเขื่อนเว่ยจี จะทำให้เกิดน้ำท่วมป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ขณะที่เขื่อนดากวิน/ท่าตาฝั่ง จะทำให้เกิดน้ำท่วมป่าเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน ทางฝั่งไทย ทั้งสองเขื่อนยังทำให้เกิดน้ำท่วมผืนป่าฝั่งรัฐกะเหรี่ยงและคะยะซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าสักเช่นกัน ผืนป่านี้จะถูกทำลายอย่างถาวรหากมีการสร้างเขื่อนสาละวินทั้งสองเขื่อนทั้งจากการถูกน้ำท่วมและกิจกรรมอื่นๆ ที่จะตามมาเป็นลูกโซ่

๓. สูญเสียแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เขื่อนท่าซางและเขื่อนบริเวณพรมแดนไทย-พม่าทั้งสองแห่งจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่ป่า ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของคนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าบริเวณสองฝั่งแม่น้ำนั้นนับว่าเป็นหัวใจของผืนป่าในเขตลุ่มน้ำสาละวินซึ่งในทางนิเวศวิทยา พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่ความหลากหลายทางชีวภาพสูง การสร้างเขื่อนบนลุ่มน้ำสาละวินจะทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำสาละวินที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ โดยเฉพาะบริเวณพรมแดนไทย-พม่า ซึ่งรัฐบาลไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ 

ข้อเสนอแนะ

หลักการพื้นฐานที่สังคมไทยควรร่วมกันผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายที่สถาบันการเงิน รัฐไทย นักสร้างเขื่อน บริษัทอุตสาหกรรมเขื่อน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตระหนักและปฏิบัติ ก็คือ

๑. พม่าต้องเป็นประชาธิปไตยและสิทธิของชนพื้นถิ่นได้รับการรับรอง ๒. โครงการต้องได้รับการยอมรับจากสาธารณะ

                เขื่อนสาละวินจะสร้างได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานว่า โครงการนี้ได้รับการยินยอมจากผู้ได้รับผลกระทบทั้ง ๒ ประเทศที่เกิดจากการเจรจาตกลงในกระบวนการที่โปร่งใสและเปิดเผย  โดยต้องได้รับทราบข้อมูลที่เป็นอิสระและล่วงหน้า

            การตัดสินใจกรณีเขื่อนและผันน้ำสาละวินต้องให้ความสำคัญต่อระบบนิเวศ และประเด็นทางสังคมและสุขภาพในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญยิ่งของโครงการ

๓. การจัดการแม่น้ำสาละวินต้องยั่งยืนและเป็นธรรม

                ทุกฝ่ายจำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงหน้าที่ คุณค่า และความจำเป็นของแม่น้ำสายนี้ รวมทั้งวิถีชีวิตและชุมชนที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำสายนี้ โครงการใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของผู้คนและแม่น้ำสาละวินจึงต้องตั้งอยู่บนการเคารพสิทธิและ ตระหนักถึงความมั่นคงของวิถีชีวิตและชุมชนที่พึ่งพิงแม่น้ำสายนี้เป็นหลัก

๔. ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐

โดยเฉพาะมาตรา ๕๖ วรรค ๒ ที่ระบุว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้องค์กรอิสระที่ประกอบด้วยองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินการดังกล่าว”

๕. ต้องมีการประเมินทางเลือกอย่างรอบด้าน

                ก่อนที่จะมีการพิจารณาโครงการ จะต้องมีการประเมินทางเลือกที่รอบด้านทั้งในเรื่องพลังงานและน้ำโดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็น ประเทศหลักที่คาดว่าจะรับไฟฟ้าจากเขื่อนท่าซางและสาละวินชายแดนไทย-พม่า รวมทั้งน้ำจากการผันน้ำสาละวินลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา

              การจัดการพลังงานและน้ำควรมีการศึกษาเพื่อเป็นทางเลือกควบคู่กันไปดังนี้

            ด้านพลังงานได้แก่ การปรับปรุงและใช้ประโยชน์จากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ ปัจจุบัน ยังมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่สร้างไปแล้วในประเทศไทยอีกมากที่ยังไม่ได้ผลิตไฟฟ้าตามที่วางแผนไว้เมื่อก่อสร้างโครงการ

อีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน คือการจัดการด้านความต้องการ โดยส่งเสริมให้ผู้บริโภค รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมลดการใช้ไฟฟ้าลง และใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอื่น ที่ไม่ใช่โครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ด้วยระบบรวมศูนย์

คือโครงการขนาดเล็กที่ไม่รวมศูนย์ เพื่อขยายโอกาสให้คนในชนบทได้ใช้ เช่น พลังงานพลังงานแสงอาทิตย์                 การจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ปรับปรุงระบบชลประทานที่มีอยู่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และส่งเสริมการจัดการน้ำขนาดเล็กแบบไม่รวมศูนย์ เช่น ระบบเหมืองฝาย ข้อเสนอแนะและทางเลือกเหล่านี้ เป็นความจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจในกรณีโครงการเขื่อนสาละวินทั้งบริเวณท่าซางและบนพรมแดนไทย-พม่า รวมไปถึงโครงการผันน้ำจากสาละวินลงสู่ลุ่มเจ้าพระยา ทั้งนี้เพื่อให้การตัดสินใจไม่ก่อให้เกิดหายนะทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษชนของชนพื้นถิ่นในลุ่มน้ำสาละวิน  

-----------------------------------------------------------------------------

ติดตามอ่านรายละเอียดได้ในหนังสือ เขื่อนสาละวิน โศกนาฏกรรมสองแผ่นดิน จัดพิมพ์โดยความร่วมมือ ขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมพม่า-ไทย  c/o เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทรศัพท์ ๐๕๓-๒๗๘๓๓๔

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา