eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ข้อมูลพื้นฐานระบบนิเวศน์-สังคมลุ่มน้ำสาละวิน

(สาละวิน…จากธิเบตถึงอันดามัน สายธารแห่งชีวิตของคนเอเชีย)

          แม่น้ำสาละวินมีต้นกำเนิดจากการละลายของหิมะบริเวณที่ราบสูงธิเบตเหนือเทือกเขาหิมาลัย ที่ระดับความสูงมากกว่า 4,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แม่น้ำสาละวินได้ไหลลงสู่พื้นที่ลาดชันที่เต็มไปด้วยภูเขาทางด้านทิศใต้ ผ่านมลฑลยูนนาน ประเทศจีน ไหลต่อเข้าสู่แผ่นดินเขตประเทศพม่าผ่านรัฐฉาน(Shan State) รัฐคะยา(Kayah State)  และลดระดับลงมาเหลือต่ำกว่า 300 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ก่อนที่จะกลายเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่าที่แม่ฮ่องสอน หลังจากไหลกั้นพรมแดนไทยกับพม่า 118 กิโลเมตร และน้ำเมยที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรี (Tenasserim Range) ไหลลงมาบรรจบที่สบเมย แม่น้ำสาละวินก็ไหลวกกลับเข้าประเทศพม่าอีกครั้ง และค่อยๆ ลดระดับลงจนใกล้เคียงกับระดับน้ำทะเลปานกลางก่อนไหลเข้าสู่เขต     ตะนาวศรี (Tenesserim Division) ก่อนที่จะไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะ (Mataban Gulf) บริเวณที่ตั้งเมืองเมาะลำเลิงหรือมะละแหม่ง (Moulmein) รวมระยะทางที่ไหลจากชายแดนไทยจนถึงทะเลอันดามัน 200 กิโลเมตร

          ตลอดระยะทางที่ไหลผ่านแผ่นดินของชนต่างๆ แม่น้ำสาละวินถูกเรียกด้วยชื่อแตกต่างกันไป แม่น้ำทางตอนบนที่ไหลผ่านยูนนานถูกเรียกว่า “นู เกียง” (Nu Giang) ขณะที่แม่น้ำทางตอนกลาง ชาวไตเรียกว่า “น้ำคง” (Nam Kong) เช่นเดียวกับชนพื้นเมืองอื่นๆ ในล้านนา นับแต่คนลัวะ ไตลอง ไตลื้อ ดาระอั้ง รวมทั้งคนปกากะญอ ล้วนออกชื่อแม่น้ำสาละวินในสำเนียงใกล้เคียงกันว่า “คง” ส่วนคนพม่าเรียกว่า “ตาลวิน” (Talween) ซึ่งชาวอังกฤษเพี้ยนเป็นสาละวิน

          แม่น้ำสาละวินนับเป็นแม่น้ำสายใหญ่และยาวสายหนึ่งของโลก U.S. Geological Survey (1964)       ระบุว่า แม่น้ำสาละวินมีปริมาณน้ำที่เติมน้ำให้กับมหาสมุทรถึง 53 ลูกบาศก์ฟุตต่อวินาที นับเป็นแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำมากเป็นลำดับที่ 40 ของโลก  ขณะที่ World Atlast, Encyclopedia Britanica ระบุว่า แม่น้ำสาละวินมีความยาว 1,750 ไมล์ หรือ 2,800 กิโลเมตร นับเป็นแม่น้ำสายที่ยาวอันดับที่ 26  ของโลก สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำสาละวินจะเป็นรองก็แต่แม่น้ำโขงเท่านั้น

ลุ่มน้ำสาละวิน ถิ่นชนพื้นเมือง

          สองฟากฝั่งลุ่มน้ำสาละวิน ตั้งแต่ใต้เทือกเขาหิมาลัยลงมาจนจรดอ่าวเมาะตะมะ นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่มากมาย จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นลุ่มน้ำที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ชนพื้นเมืองมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  ไม่ต่ำกว่า 13 เผ่า เช่น ไต(ไทยใหญ่) ว้า(ลั๊วะหรือละว้า) คะยา(คะเรนนีหรือกะเหรี่ยงแดง หรือบะแว) อาระดัน(ยะไข่) ปะโอ ปะหล่อง(ดาระอั้ง) ปะด่อง อะข่า ลิซู อินเล ฯลฯ เป็นต้น กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ล้วนแต่อยู่รวมกันเป็นสังคม มีการตั้งชุมชนตามที่ราบเล็กๆ กลางหุบเขา และที่ราบเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำสาละวินอันเกิดจากแม่น้ำ หรือลำห้วยไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน

          ด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นเทือกเข้าสลับซับซ้อนยากต่อการเข้าถึงของสังคมภายนอก ทำให้ชุมชนที่ตั้งอยู่บนลุ่มน้ำสาละวินยังมีการสืบทอดวิถีชีวิต ตามแนวทางของบรรพชน คือ การดำเนินชีวิตแบบการเกษตรและพึ่งพิงธรรมชาติ จากการสำรวจในเขตลุ่มน้ำสาละวินช่วงที่ผ่านประเทศไทย บางส่วนในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเมย และน้ำยวมในช่วงปี 2536 พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ดำรงชีวิตด้วยการหาอาหารจากป่า จับปลาในแม่น้ำ และปลูกพืชโดยอาศัยพื้นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำที่มีลักษณะแคบและยาว แต่เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดที่มีในเขตนี้ ริมฝั่งแม่น้ำสาละวินที่มีชายหาดสลับกับหน้าผาและบริเวณที่ราบเล็กๆ บริเวณที่ลำห้วยบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน มีการปลูกพืชกันบ้างในฤดูน้ำลดที่ผืนดินอุดมสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยธรรมชาติที่แม่น้ำพัดพามาทับถมในฤดูน้ำหลาก

          บริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำสาละวินซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลากครอบคลุมพื้นที่หลายล้านไร่ เป็นเขตที่มีการตั้งชุมชนหนาแน่นที่สุด ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ด้วยการอาศัยปุ๋ยธรรมชาติจากแม่น้ำสาละวินที่นำมาทับถมในช่วงฤดูน้ำหลาก แม่น้ำสาละวินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลา ทำให้เกิดอาชีพการประมงน้ำจืดทั้งเพื่อการดำรงชีวิตและการค้า นอกจากนี้พื้นที่ของลุ่มน้ำสาละวินในเขตนี้ยังมีการจัดระบบกรรม สิทธิ์การถือครองที่ดินโดยเริ่มในสมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครองพม่าเช่นเดียวกับพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน เช่น ปากแม่น้ำอิระวดี และเจ้าพระยา(ข้อมูลจากการสัมภาษณ์กะเหรี่ยงที่เคยอาศัยบริเวณปากแม่น้ำสาละวิน เมื่อปี 2536)

 

สาละวิน.....แหล่งประวัติศาสตร์โลก

          แม่น้ำสายใหญ่แทบทุกสาย มักจะเป็นถิ่นอาศัยของมนุษย์มาแต่โบราณ แม่น้ำสาละวินก็เช่นเดียวกับแม่น้ำสายใหญ่อื่น ๆ ของโลกที่มีแหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน

          มีหลักฐานที่กล่าวได้ว่า สาละวินเป็นลุ่มน้ำที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งต่อประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติใน แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และของโลกจากการค้นพบแห่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในเขตนี้ แหล่งประวัติศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักของนักประวัติศาสตร์และมีชื่อเสียงที่สุด คือ “ถ้ำผี” (Spirit Cave) ซึ่งพบอยู่ในพื้นที่ภูเขาสลับซับซ้อนทางฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำสาละวิน บริเวณที่ปัจจุบันเป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินในเขตจังหวัดแม่ฮ่อนสอน ถ้ำแห่งนี้ Charoenwongsa (1989) กล่าวว่า เป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์ที่เริ่มเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตจากการท่องเที่ยวล่าสัตว์และเก็บหาพืชผลในธรรมชาติมาใช้ ชีวิตแบบทำการเกษตร จากการขุดพบเครื่องมือหินกะเทาะในชั้นดินที่ 1 ซึ่งมีอายุ 12,000-8,000 ปี มาแล้ว ขณะนั้นยังเป็นการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิม และจากหลักฐานที่พบในชั้นดินที่ 2 มีอายุระหว่าง 8,000-7,000 ปีที่ผ่านมา ได้พบเครื่องปั้นดินเผา มีการนำเส้นใยจากพืชมาทำเชือกและข่ายจับปลา และยังได้นำสิ่งดังกล่าวไปสร้างลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผาอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนั้นยังพบขวานหินขัดและเศษเหลือของพืชต่างๆ จากการศึกษาของ Gorman (1970) พบว่ามนุษย์สมัยนั้นรู้จักการเพาะปลูกพืชแล้ว เนื่องจากมีการค้นพบพืชตระกูลต่าง ๆ รวมทั้งพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ ด้วย แต่อย่างไรก็ตามมนุษย์ที่ถ้ำผีก็ยังออกป่าล่าสัตว์ป่ามาเป็นอาหารด้วยเช่นกัน Charoenwongsa (1989) กล่าวถึงชนิดพืชให้น้ำมันบางชนิดซึ่งมีพิษที่พบที่ถ้ำดังกล่าวอาจนำมาเพื่อการจุดไฟให้สว่างในเวลานั้น ขณะที่ Solheim II (1972) ได้กล่าวสรุปเกี่ยวกับหลักฐานซึ่งพบที่ถ้ำผีว่า เป็นสิ่งแสดงให้ทราบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการดำเนินชีวิตในรูปแบบของการเกษตรกรรมเริ่มแรกสุดแห่งหนึ่งของโลก ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นรูปแบบของการเกษตรอย่างในปัจจุบัน (อ้างในศูนย์วิจัยป่าไม้,2534:90-91)

          ในทัศนะของนักวิชาการประวัติศาสตร์แล้ว การค้นพบแหล่งโบราณคดีถ้ำผีที่ลุ่มน้ำสาละวินนั้นมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ความเป็นมา ของสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นหลักฐานที่ถูกยกเป็นตัวอย่างที่จะลบล้างความเชื่อ เดิมที่ว่า “ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนนั้นยังล้าหลัง ต้องอาศัยวัฒนธรรมชั้นสูงจากจีนและอินเดีย ก่อนที่จะยกระดับความเจริญเป็นบ้านเมือง” (กฤช,2536)

          นอกจากนั้น ยังมีการพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันหลายชิ้นที่น่าสน ใจตามแนวเขาริมแม่น้ำสาละวินที่มีหน้าผาหินปูนและถ้ำหลายแห่ง บริเวณถ้ำแห่งหนึ่งเหนือเขาสบแงะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินเป็นที่เก็บซ่อนสิ่งของ และคำภีร์ใบลานจารึกด้วยอักขระมอญ หรือล้านนาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ได้ถูกทำลาย โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของนักหาของมีค่า (ศูนย์วิจัยป่าไม้,2534:91)

         จากหลักฐานข้างต้นกล่าวได้ว่าลุ่มน้ำสาละวินเป็นลุ่มน้ำที่มีคุณค่าทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทยและของโลก ไม่แพ้ลุ่มน้ำอื่นๆ แต่อย่างใด เพียงแต่ว่าบริเวณลุ่มน้ำสาละวินไม่ได้เป็นที่สนใจของนักโบราณคดีมากเท่าที่ควร ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าการไม่ให้ความสำคัญ หรือไม่ก็เป็นเพราะในเขตนี้มีการสู้รับกันมานานเกือบครึ่งศตวรรษ เชื่อแน่ว่าน่าจะมีหลักฐานต่างๆ มากกว่านี้ถ้านักโบราณคดีได้มีโอกาสศึกษากันอย่างเต็มที่และครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำ  

ระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวิน

          แม่น้ำสาละวิน นับเป็นแม่น้ำสายใหญ่ของโลกที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ทั้งพรรณพืช สัตว์ป่า และสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง จากเหตุผลของสงครามในพม่า การศึกษาเกี่ยวกับนิเวศวิทยาในเขตลุ่มน้ำสาละวินก็เช่นเดียวกับด้านประวัติศาสตร์ที่ยังไม่สามารถทำได้อย่างละเอียด และทั่วถึงตลอดลุ่มน้ำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินที่มีแม่น้ำสาละวินไหลผ่านและเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุด ของลุ่มน้ำและจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสาละวินตอนบนคือ พื้นที่ที่มีการศึกษาด้านนิเวศวิทยาที่ละเอียดมากที่สุด น่าจะเป็นตัวแทนในการอธิบายความสำคัญของระบบนิเวศของแม่น้ำสาละวินได้ดีที่สุด

          เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินตั้งอยู่ติดกับบริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำหรือทางฝั่งไทย นับแต่จุดที่แม่น้ำสาละวินไหลเป็นพรมแดนไทย-พม่า เป็นสภาพพื้นที่อันต่อเนื่องระหว่างเขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินโดจีน (Indo-Chinese Subregion) กับพื้นที่ต่อเนื่องจากชีวภูมิศาสตร์สิโนหิมาลายัน หรือ เขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินเดีย (Sino-Himalayan or Indian Subregion) พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้จึงได้รับอิทธิพลทางด้านการกระจายชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่า จากแถบเทือกเขาหิมาลัยลงมาตามเทือกเขาสูงที่ขนาบแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขง จนบรรจบกับเทือกเขาสูงทางภาคเหนือของไทย เช่น เทือกเขาแดนลาว เทือกเขาถนนธงชัย และเทือกเขาผีปันน้ำตะวันตก (เขาขุนตาล) ชนิดพืชพรรณ และสัตว์ป่าที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินจึงคล้ายคลึงกับชนิดพันธุ์ที่พบแถบเทือกเขาหิมาลัย แคว้นอัสสัมของประเทศอินเดีย และประเทศสหภาพพม่า นอกจากนั้นชนิดพืชพันธุ์และสัตว์ป่า อีกส่วนหนึ่งเป็นชนิดที่พบทางอินโดจีนด้วยเช่นกัน(ศูนย์วิจัยป่าไม้,2534:42)

          ในทางภูมิศาสตร์ พื้นที่ป่าที่ต่อเนื่องจากป่าแถบลุ่มน้ำสาละวินลงไปตามลำน้ำเมย จนจรดปลายเทือกเขาตะนาวศรี ครอบคลุมผืนป่าขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกของไทยทั้งหมด ซึ่งมีเขตอนุรักษ์ที่มีความสำคัญระดับประเทศและระดับโลกหลายแห่ง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อันเป็นเขตมรดกทางธรรมชาติของโลก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ อุทยานแห่งชาติอีกหลายแห่ง เช่น อุทยานแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติไทรโยค อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ฯลฯ ตลอดจนถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะนาวศรีที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกที่รัฐกะเหรี่ยงได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ นักชีววิทยาถือว่าพื้นที่ในเขตนี้ทั้งหมดเป็นเขตภูมิศาสตร์เดียวกัน Diegnan(1945) เรียกพื้นที่ส่วนที่อยู่ทางด้านตะวันตกติดชายแดนพม่า ตั้งแต่บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ลงมาถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า “มณฑลอินโดพม่า” (Indo-Burmese Province) ซึ่งถือว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเขตภูมิศาสตร์ย่อยอินโดจีน (อ้างในศูนย์วิจัยป่าไม้,2534:42)

          ทางด้านพรรณพืช พื้นที่ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินมีสังคมพืชที่มีความแตกต่างจากพื้นที่ส่วนอื่นของประเทศอยู่ไม่น้อย เป็นแหล่งพันธุกรรมของสังคมพืชมากมายหลายชนิด เป็นแหล่งภูมิพฤกษ์ที่เป็นตัวแทนภูมิพฤกษ์แบบอินโดเบอร์มา(Indo­Burma) ซึ่งปรากฏอยู่ในเมืองไทย พรรณพืชในพื้นที่ส่วนนี้ได้รับอิทธิพลมาจากเทือกเขาหิมาลัยเป็นสำคัญ   โดยเฉพาะพันธุ์ไม้เขตหนาวจำนวนมากมายหลายชนิดปรากฏอยู่ นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้จากภูมิพฤษ์แบบอินโดมาลายา(Indo­Malaya) กระจายขึ้นมาตามเทือกเขาตะนาวศรีบ้างแต่มีประมาณค่อนข้างน้อย พื้นที่ส่วนนี้จึงนับได้ว่าเป็นแหล่งอนุรักษ์พรรณพืชที่สำคัญของสังคมพืชผลัดใบเขตมรสุม(Monsoon      Deciduous       forest) (ศูนย์วิจัยป่าไม้,2534:25)

          ส่วนด้านพันธุ์สัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด 20 ชนิด สัตว์ป่าที่หายาก เช่น เสือโคร่ง เสือไฟ กระทิง และกวางผา มีสัตว์ปีกหรือนก 122 ชนิด เป็นนกที่ประจำพื้นที่ (Resident) จำนวน 108 ชนิด ที่เหลือ 14 ชนิดอพยพเข้ามาในช่วงฤดูหนาว (Winter Visiting) นกที่หายากบางชนิดในประเทศไทย แต่สามารถพบได้ในผืนป่าเขตนี้ก็คือ นกยูงไทย นกแว่นสีเทา ไก่ฟ้าหลังเทา และเหยี่ยวภูเขาซึ่งอพยพเข้ามาในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้ ในเขตรักษาพันธุ์ ฯ ยังพบนกน้ำ และนกประเภทที่ชอบหากินอยู่ใกล้ชายน้ำปรากฏอยู่หลายชนิด เช่น นกยางเขียว นกยางดำ นกกระแต นกกระเต็นในวงศ์ Alcedinidea นกกาน้ำ นกอ้ายงั่ว นกเป็นน้ำในวงศ์ Anatidae เป็นต้น Round (1987) เชื่อว่าน่าจะพบนกเป็ดหงส์ได้ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ด้วย ส่วนสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกพบรวมกันไม่น้อยกว่า 38 ชนิด ในจำนวนนี้มีเขียดแลว หรือกบภูเขา ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานหายากรวมอยู่ด้วย (ศูนย์วิจัยป่าไม้,2534:43-61)

          สำหรับปลาในแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำสาขายังไม่มีรายงานที่ละเอียด มีแต่รายงานที่ทำมาก่อนหน้านี้นานแล้ว ศูนย์วิจัยป่าไม้(2534) อ้างรายงานของ smith(1945) และ Suvatti(1981) ว่าในบริเวณแม่น้ำสาละวินและลำสาขามีปลาน้ำจืดมากกว่า 35 ชนิด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่และยาวมาก ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านปลาจึงเชื่อว่า จำนวนชนิดปลาที่มีอยู่จริงอาจจะมากถึง 200 ชนิด

          ปลาที่สำคัญและน่าสนใจก็คือปลาไหลหูดำหรือปลาตูหนา ซึ่งเป็นปลาที่หากินอยู่ตามแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย ในช่วงวางไข่จะว่ายออกไปวางไข่ในทะเล นอกจากพบปลาชนิดนี้ในแม่น้ำสาละวินแล้วยังพบในแม่น้ำแม่กะสะของ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เนื่องจากแม่น้ำแม่กะสะไหลลงสู่อ่าวเมาะตะมะที่เมืองเมาะลำเลิง เช่นเดียวกับแม่น้ำสาละวิน(ศูนย์วิจัยป่าไม้,2534:67 อ้างจากรายงานของ Smith(1945) และ Suvatti(1981)

          จากการสำรวจภาคสนามเมื่องปี 2535 พบว่าเคยมีชาวนาในเขตลุ่มน้ำปายซึ่งมีที่นาที่มีลำน้ำเชื่อมต่อ กับลำน้ำปายเคยจับปลาตูหนาในที่นาได้ เช่นเดียวกับที่ชาวบ้านในเขตลุ่มน้ำเงาซึ่งเป็นลำน้ำที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำสาละวิน โดยน้ำเมย และน้ำยวมแคยจับปลาชนิดนี้ได้บ่อยครั้งในฤดูหนาวและฤดูน้ำหลาก  ในทางชีววิทยาเชื่อกันว่าเหตุที่ปลาตูหนาเดินทางกลับสู่ทะเลเนื่องจากการที่เกลือในร่างกายหมด ทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้เดินทางกลับมาสู่ทะเล อีกครั้ง

          ปลาอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญก็คือปลาสะดือ ซึ่งมีขนาดเท่าปลากรายแต่ไม่มีจุด จัดเป็นปลาที่หายากพบในแม่น้ำแควน้อย แควใหญ่ และแม่น้ำตาปี รวมทั้งแหล่งน้ำจืดบนเกาะบอร์เนียวและเกาะสุมาตรา เพิ่งมีรายงานล่าสุดว่าพบที่แม่น้ำสาละวินด้วยเช่นกัน(ศูนย์วิจัยป่าไม้,2534:67)

          ส่วนบริเวณปากแม่น้ำสาละวิน ในปัจจุบันยังมีพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์เหลืออยู่มาก มีสัตว์ป่าที่สำคัญเช่น          นกเงือก และช้างป่า อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ตามลำน้ำสาละวินบริเวณปากแม่น้ำยังพบว่ามีจระเข้เป็นจำนวนมาก และเคยพบในลำน้ำสาละวินช่วงที่กั้นชายแดนไทยกับพม่าเหนือบ้านแม่สามแลบขึ้นไป (ข้อมูลจากการสัมภาษณ์กะเหรี่ยงที่เคยอาศัยบริเวณปากแม่น้ำสาละวิน เมื่อปี 2536)

          เชื่อแน่ว่า ถ้าหากมีการสร้างเขื่อนสาละวินและโครงการผันน้ำสาละวิน-ภูมิพล  โครงการเหล่านี้จะทำให้เกิดการทำลายระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวินอย่างสิ้นเชิง  ทั้งเนื่องมาจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อน  ถนน การสร้างหัวงาน  สายไฟฟ้าแรงสูง ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ บนลุ่มน้ำสาละวินก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการได้รับผลกระทบนี้ได้  อาจจะเกิดการอพยพครั้งใหญ่ตามมาอันเนื่องมาจากการพัฒนา  และนั่นหมายถึงการจบสิ้นของสาละวิน-แม่น้ำอันเป็นมรดกของชนพื้นเมืองบนผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ 

________________

เอกสารอ้างอิง

กฤช  เหลือลมัย (2536), “บ้านเชียง ตำนานคนขุดคนของโบราณคดีแอ่งสกลนคร” สารคดี ปีที่ 9 ฉบับที่ 97 (มีนาคม) 93-94.

ศูนย์วิจัยป่าไม้ (2534), รายงานการจัดทำแผนปฏิบัติการเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำสาละวิน.

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา