eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
"ไทย-เทศ"รุมต้าน! เขื่อนขวาง"สาละวิน" ชี้ต่ออายุ"รบ.หม่อง"

มติชน 2006/07/03

รุมต้านเอ็มดีเอ็กซ์-กฟผ.สร้างเขื่อนขวางแม่น้ำสาละวิน 2.4 แสนล้านบาท หวังกระแสไฟฟ้าขนาด 7,000 เมกะวัตต์ โจมตีเป็นการต่อชีวิตให้กับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า "กรีนพีซ"ระบุ ทำลายแหล่งพืชกว่า 7,000 ชนิด

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ว่า จากการที่ทางการไทยพยายามแสวงหาแหล่งพลังงานราคาถูก โดยเฉพาะกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำส่งผลให้กลายเป็นเป้าโจมตีจากหลายฝ่าย เมื่อประกาศโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำสาละวินในพม่า เป็นเขื่อนใหญ่มูลค่าของโครงการไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 240,000 ล้านบาท โดยนอกจากจะโจมตีว่าเป็นผู้ต่อชีวิตทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลเผด็จการทหารของพม่าที่ถูกแซงก์ชั่นจากหลายประเทศแล้ว กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมโจมตีว่าโครงการดังกล่าวจะทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์หายากเป็นจำนวนมาก

รายงานข่าวระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับกลุ่มบริษัท เอ็มดีเอ็กซ์ บริษัทด้านพลังงานของไทยฝ่ายหนึ่ง รัฐบาลพม่าและบริษัท ไชน่า ซิโนไฮโดร คอร์ป บริษัทก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำใหญ่ที่สุดของจีนอีกฝ่ายหนึ่ง และถือเป็นโครงการร่วมมือในการสร้างเขื่อนแห่งแรกจากทั้งหมด 5 เขื่อนภายใต้โครงการเดียวกันนี้ ซึ่งลงนามในความตกลงกันไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

เขื่อนดังกล่าวจะสร้างขึ้นขวางลำน้ำสาละวิน เป็นลำน้ำสายเดียวที่ยังไม่มีการก่อสร้างเขื่อนและไม่มีสิ่งปลูกสร้างอื่นใดบุกรุกเข้าไปในแนวลำน้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีต้นน้ำอยู่ในทิเบตและไหลผ่านจีนสู่ประเทศพม่า รวมระยะทาง 2,800 กิโลเมตร ขณะที่ กฟผ.เตรียมสร้างเขื่อนขนาดย่อมขวางลำน้ำสาละวินขึ้นอีกแห่งมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ตามข้อตกลงเอ็มดีเอ็กซ์จะได้รับไฟฟ้าจากเขื่อนแรก เป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในพม่าราว 85 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนกระแสไฟฟ้าทั้งหมด 7,000 เมกะวัตต์ ส่วน กฟผ.จะได้รับกระแสไฟฟ้า 60 เปอร์เซ็นต์ จากเขื่อนฮัทกะยี สำหรับเขื่อนของเอ็มดีเอ็กซ์นั้นกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2555 ในขณะที่เขื่อนฮัทกะยีซึ่ง กฟผ.ว่าจ้างให้บริษัทจีนก่อสร้างนั้น ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการสำรวจศึกษาความเป็นไปได้ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปีหน้า

เจ้าหน้าที่ของ กฟผ.ผู้หนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวอ้างว่า ไฟฟ้าที่ได้จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำถือเป็นพลังงานราคาถูกกว่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จแล้วก็จะไม่ต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไปอีกแต่อย่างใด เพราะได้จากพลังน้ำที่เป็นของฟรี เจ้าหน้าที่ผู้นี้ยืนยันว่าไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานให้หลากหลายมากขึ้น จะรอใช้จากก๊าซธรรมชาติซึ่งต้องนำเข้ามากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เพียงอย่างเดียวไม่ได้

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวนอกจากจะถูกต่างประเทศจับตามองว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่รัฐบาลทหารพม่า กำลังอยู่ระหว่างถูกสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาแซงก์ชั่น ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศและการกักบริเวณนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพที่ดำเนินมาเป็นเวลายาวนานแล้ว ยังถูกกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติคัดค้านโดยระบุเป็นการทำลายระบบนิเวศในพื้นที่ของลำน้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของพืชราว 7,000 ชนิด และมีสัตว์ป่าและปลาหายากหรือใกล้สูญพันธุ์อยู่อีกไม่น้อยกว่า 80 ชนิด

นายธารา บัวคำศรี ผู้บริหารกลุ่มกรีนพีซ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศของพื้นที่แม่น้ำ นอกจากนั้น ยังเกรงกันว่ารัฐบาลทหารพม่าที่ได้ชื่อว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานและบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาสอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว จะอาศัยโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าวบังหน้าเพื่อปฏิบัติการกวาดล้างชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่ดังกล่าว หรือไม่ก็บังคับให้ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่เมืองฮัทกะยีและพื้นที่ใกล้เคียงกับจุดสร้างเขื่อนอพยพออกไปโดยไม่เต็มใจ

นายธารากล่าวว่า พื้นที่สร้างเขื่อนของ กฟผ.นั้นอยู่ในเมืองฮัทกะยีในรัฐกะเหรี่ยงทางตะวันออกของประเทศ และเป็นจุดที่กองกำลังทหารพม่ากวาดล้างกองกำลังกะเหรี่ยงอิสระครั้งใหญ่มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พื้นที่ดังกล่าวจึงเต็มไปด้วยกับระเบิด จนถึงกับพนักงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตผู้หนึ่งซึ่งเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเคยเหยียบกับระเบิดเสียชีวิตมาแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม

สำหรับสถานที่ตั้งเขื่อนของบริษัท เอ็มดีเอ็กซ์นั้นอยู่ในเขตรัฐฉานมีกองกำลังติดอาวุธรัฐฉานก่อกบฏแข็งข้อต่อรัฐบาลทหารพม่าอยู่เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ตามรายงานล่าสุดขององค์การนิรโทษกรรมสากลเกี่ยวกับพม่าระบุว่า ปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่าส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงและไทยใหญ่ใน 2 พื้นที่ดังกล่าวต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่น ไร้ที่อยู่อาศัยแล้วหลายแสนคน ทางเจ้าหน้าที่ของบริษัท เอ็มดีเอ็กซ์ยอมรับว่าจำเป็นต้องมีชาวบ้านในพื้นที่ก่อสร้างอพยพออกไป แต่จะเป็นการอพยพออกไปภายใต้โครงการจัดหาแหล่งที่อยู่ให้ใหม่ซึ่งจะเป็นไปตามมาตรฐานสากล และปฏิเสธว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสภาวะแวดล้อมและเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นายพอล เส่ง ทวา นักเคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างเขื่อนที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มกะเหรี่ยงริเวอร์ วอตช์ ตั้งข้อสงสัยรัฐบาลทหารพม่าต้องการใช้โครงการสร้างเขื่อนเพื่อจัดการกับชนกลุ่มน้อยตามแนวริมฝั่งสาละวิน เพราะการสร้างเขื่อนนอกจากทำรายได้มหาศาลให้กับรัฐบาลทหารแล้วยังใช้เป็นเครื่องมือในการกดขี่ กวาดล้างชนกลุ่มน้อยด้วย ในขณะที่ผู้ได้ประโยชน์นั้นจะเป็นรัฐบาลทหารและบริษัทของไทยไม่ใช้ชนกลุ่มน้อยอย่างแน่นอน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา