eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

6 เขื่อนสาละวิน ย่ำยีลุ่มน้ำ-ชนกลุ่มน้อย

ณัฐพงษ์ บุณยพรหม   ข่าวสด  4 พย 50
http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNVEEwTVRFMU1BPT0=&sectionid= TURNeE53PT0=&day=TWpBd055MHhNUzB3TkE9PQ==

เมื่อล่องเรืออยู่ในแม่นํ้าสาละวินห้ามเอ่ยชื่อของแม่นํ้าโขง เพราะในตำนาน แม่นํ้าสาละวินและแม่นํ้าโขงเป็นศัตรูกัน" เป็นหนึ่งในตำนานความเชื่อของชาวบ้านที่มีต่อแม่นํ้าสาละวิน ตั้งแต่อดีตมาชาวบ้านที่อาศัยสัญจรล่องแม่นํ้าสาละวิน จะยึดถือความเชื่อที่ให้ความเคารพต่อสายนํ้าแห่งนี้

แม่นํ้าสาละวินมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัยในทิเบต เป็นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่าก่อนมาบรรจบกับแม่นํ้าเมยที่อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ก่อนจะไหลออกสู่ทะเลอันดามันที่เมืองมะละแม่ง รวมความยาว 2,400 กิโลเมตร

มีความพยายามที่จะสร้างเขื่อนกั้นแม่นํ้าสาละวิน และผันนํ้าในเขตลุ่มแม่นํ้าสาละวินมานานกว่า 2 ทศวรรษ นับตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มมีแผนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำที่ไหลรอบเทือกเขาหิมาลัยในปี 2520

และเริ่มจะชัดเจนมากขึ้น ภายหลังจากที่รมว.พลังงานของไทย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลพม่า เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนบนแม่นํ้าสาละวินและตะนาวศรี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2548

จากการลงนามในครั้งนั้น มีข้อมูลระบุว่าโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าทั้งลุ่มนํ้าสาละวินและตะนาวศรี จะถูกผลักดันให้สร้างมากที่สุด 6 แห่ง คือเขื่อนท่าซาง เขื่อนยวาติ๊ด เขื่อนเว่ยจี เขื่อนดากวิน เขื่อนฮัตจี และเขื่อนตะนาวศรี

โดยโครงการเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า และในประเทศพม่าระบุว่า แม่นํ้าสาละวินช่วงที่ไหลผ่านพม่าและไทย มีแผนสร้างเขื่อนอีก 4 เขื่อนด้วยกัน ได้แก่ เขื่อนท่าซาง เขื่อนเว่ยจี เขื่อนดากวิน และเขื่อนฮัตจี

เขื่อนท่าซาง อยู่ในเขตรัฐฉานประเทศพม่า ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 130 กิโลเมตร ตัวเขื่อนสูง 228 เมตร จะทำให้เกิดอ่างเก็บนํ้าขนาด 960 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดบนลุ่มนํ้าสาละวิน และสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเมินค่าก่อสร้างไว้ที่ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 120,000 ล้านบาท

ปัจจุบันสร้างถนนจากชายแดนไทยด้านจ.เชียงใหม่ เข้าสู่จุดที่จะก่อสร้างเขื่อนแล้ว คาดว่าเขื่อนแห่งนี้จะสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2565 โดยไทยจะเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ของโครงการนี้

เขื่อนเว่ยจี (เขื่อนสาละวินชายแดนตอนบน) ตั้งอยู่บริเวณแก่งเว่ยจี ระหว่างชายแดนไทย-พม่า เขตจ.แม่ฮ่องสอน ตรงข้ามกับรัฐกะเหรี่ยง มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 4,540 เมกะวัตต์ เกิดอ่างเก็บนํ้าที่มีความยาวถึง 380 กิโลเมตร พื้นที่ที่จะได้รับนํ้าท่วม 600,000 ไร่ อยู่ในเขตรัฐคะเรนนี และรัฐฉานในพม่า น้ำจะท่วมพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน รวมไปถึงชุมชนที่ริมนํ้าแม่ปาย ในอ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ด้วย

เขื่อนดากวิน (เขื่อนสาละวินชายแดนตอนล่าง) ตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 792 เมกะวัตต์

เขื่อนเว่ยจีและเขื่อนดากวิน เป็นโครงการที่เสนอโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้ง 2 เขื่อนมีมูลค่าการลงทุนรวมกันประมาณ 270,000 ล้านบาท

ถ้าเขื่อนดากวินสร้างเสร็จ จะก่อให้เกิดพื้นที่นํ้าท่วมเฉพาะในฝั่งประเทศไทย ประมาณ 3,540 ไร่ ท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหมู่บ้านท่าตาฝั่ง บ้านแม่ดึ และบ้านแม่สามแลบ อ.แม่สะเรียง

หมู่บ้านท่าตาฝั่งจะเป็นหมู่บ้านแรกที่จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนดากวิน พื้นที่ของหมู่บ้านครึ่งหนึ่งจะถูกนํ้าท่วม ชาวบ้านบ้านท่าตาฝั่งมีอยู่ประมาณ 600 คน ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายกะเหรี่ยงและชาวพม่าอพยพ มีอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์ และค้าขายภายในหมู่บ้าน รวมถึงท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์

ห่างจากชายแดนไทยด้านอ.สบเมย ไปประมาณ 47 กิโลเมตร จะเป็นที่ตั้งของเขื่อนฮัตจี อยู่บริเวณแก่งฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยงของพม่า มีลักษณะเขื่อนแบบ "run of river" เช่นเดียวกับเขื่อนปากมูล จ.อุบลราช ธานี ผลิตไฟฟ้าได้ 1,200 เมกะวัตต์

เขื่อนฮัตจีเป็นโครงการที่ถูกผลักดันมากที่สุดในขณะนี้ โดยกฟผ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง กับกรมไฟฟ้าพลังนํ้าพม่า ล่าสุดได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ร่วมกับบริษัท Sinohydro รัฐวิสาหกิจของจีน และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2551

บ้านสบเมยจะเป็นหมู่บ้านแรกที่จะได้รับผลกระทบ ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านทำไร่และประมง ชาวสบเมยมีความเชี่ยวชาญหาปลาเป็นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้หลักให้ครอบครัว และเมื่อระดับนํ้าของแม่นํ้าสาละวินลดลงในช่วงเดือนตุลาคม ชาวบ้านจะใช้หาดทรายริมฝั่งแม่นํ้าเมย เป็นแหล่งเพาะปลูกถั่วและพริก

นายมนตรี จันทวงศ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเผยแพร่มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ บอกว่า สิ่งที่เราได้ยินคือไทยจะซื้อไฟฟ้าได้ในราคาถูก และบอกว่าโครงการนี้อยู่ในพม่า จึงไม่มีการชี้แจงให้ประชาชนที่อยู่ใกล้แม่นํ้าสาละวินทราบ การลงทุนนี้พม่าจะนำเงินไปซื้ออาวุธ และน้อยมากที่เงินจะตกถึงมือของประชาชน

"ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนในแม่นํ้าสาละวิน เช่น ให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาเรื่องไฟฟ้า หรือทำสัญญาซื้อขายโรงไฟฟ้าเอง และควรรักษาแม่นํ้าสาละวินไว้ดีกว่า เพราะไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะสร้างเขื่อนกั้น" นายมนตรี กล่าว

ขณะที่พ่อหลวงชวลิต คงเพชรศักดิ์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านสบเมย เล่าว่า กฟผ.เข้ามาสำรวจพื้นที่ โดยเอาข้าวของมาแจกให้ชาวบ้าน แต่ไม่ได้บอกว่าจะสร้างเขื่อน ถ้าสร้างเขื่อนขึ้นจริงจะเกิดการอพยพจากฝั่งพม่าเข้ามาแย่งที่ทำกินของพวกเรา ปลากับการเกษตรริมนํ้าเป็นรายได้สำคัญของชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้จะได้รับการชดเชยอย่างไรเพื่อให้ชาวบ้านอยู่ดี บ้านเราได้รับผลกระทบ หมู่บ้านใกล้เคียงก็ไม่ต่างกัน ถ้าจะให้เราไปอยู่ที่อื่นก็ต้องลำบากเหมือนกัน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา