eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

โลกขาดแคลนน้ำ หรือไร้ความเป็นธรรม
อินไซต์จากเวทีน้ำโลก 2009

ธาดา พัฒน์สัจจา โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
มติชนรายวัน 3 พฤษภาคม 2552

เมื่อวันที่ 16-22 มีนาคมที่ผ่านมา การประชุมเวทีน้ำโลกครั้งที่ 5 ( the 5th World Water Forum) ได้จัดขึ้นที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยมีสภาน้ำโลก (World Water Council) เป็นเจ้าภาพจัดประชุมทุก 3 ปี งานประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 25,000 คนจากนานาประเทศทั่วโลก ประกาศเป้าประสงค์ว่าเพื่อแก้ไขปัญหาของพลเมืองโลกที่ยังขาดแคลนน้ำสะอาดถึง 1 พันล้านคน ส่วน 2.5 พันล้านคนไม่มีน้ำประปาใช้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนทางการเงินในส่วนนี้ให้มากยิ่งขึ้น

แต่เพียงช่วงเช้าของวันเปิดงาน ความไม่เป็นประชาธิปไตยของเวทีดังกล่าวก็ถูกเผยให้เห็น เมื่อนักอนุรักษ์ 2 คน จากองค์กรสิ่งแวดล้อมแม่น้ำนานชาติ ชูป้ายที่เขียนว่า “No Risky Dams-หยุดเขื่อนที่สร้างความเสี่ยง” ในพิธีเปิดงาน จากนั้นทั้ง 2 ก็ถูกจับกุมตัวโดยตำรวจ และส่งกลับประเทศทันที ขณะที่ด้านนอกของที่ประชุม ตำรวจหลายพันนายได้ฉีดน้ำเข้าประท้วงเขื่อนชาวตุรกีขณะที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศา

เหตุการณ์ดังกล่าวตกเป็นข่าวไปทั่วโลก ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดเวทีสำคัญเช่นนี้จึงไม่เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง

หากวิเคราะห์อย่างเท่าทัน จะพบว่าแล้วการประชุมนี้นับเป็นการรวมตัวของผู้ทรงอิทธิพล ด้านน้ำที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก เนื่องจากบุคคลากรที่มาเข้าร่วมประชุมเป็นตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ 150 ประเทศ บริษัท และองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกที่สถาปนาตนเองเข้ามาเป็นผู้ควบคุมจัดการ และแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำทั่วโลก โดยใช้วิธีการพัฒนาแบบรวมศูนย์

ผู้ร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายการจัดการน้ำจากหน่วยงานพัฒนา  ชลประทาน และพลังงาน รวมทั้งผู้แทนจากบรรษัทข้ามชาติที่ทำงานเกี่ยวกับน้ำ อาทิ  งานด้านวิศวกรรม และงานก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่   โดยพยายามประชาสัมพันธ์ว่านโยบายที่พวกตนพยายามผลักดันอยู่นั้นมาจากความเป็นห่วงประชาชนที่มีฐานะยากจน   แต่หากพิจารณาผลประโยชน์ที่เกิดจากการกำหนดนโยบายเหล่านี้จะพบว่า ผู้ที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุด คือ หน่วยงาน  บริษัท  และองค์กรขนาดใหญ่ที่บรรดากลุ่มคนเหล่านี้สังกัดอยู่ รวมทั้งเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจ นักการเมืองของประเทศต่างๆ มากกว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน

นังสือพิมพ์ดิอีคโนมิสต์ วิเคราะห์ว่านี่เป็นการเปิดศักราชใหม่ของการสร้างเขื่อนอีกครั้ง ดังที่ประธานกรรมการเขื่อนขนาดใหญ่นานาชาติ กล่าวในงานว่า “โลกต้องเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำ และเขื่อนก็คือคำตอบ” นำมาสู่เวทีต่างๆ ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ดูคล้ายเป็นตลาดนัด หรืองานจับคู่ระหว่างรัฐบาลที่ต้องการขายโครงการ บริษัทจากอุตสาหกรรมเขื่อนและน้ำ และแหล่งทุนต่างๆ    

สำหรับตุรกี เจ้าภาพมีโครงการใหญ่ภูมิใจเสนอและพยายามมองหาแหล่งทุน คือ โครงการเขื่อนอิลีซู ที่จะกั้นแม่น้ำไทกริส แหล่งอารยธรรมโบราณกว่าพันปีแห่งเมโสโปเตเมียรอยต่อระหว่างตุรกี-ซีเรีย-อีรัก แม้จะเป็นโครงการเก่าเก็บกว่า 10 ปี แต่เขื่อนแห่งนี้ก็ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง เนื่องจากถูกคัดค้านโดยชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงนักอนุรักษ์จากประเทศต่างๆ ในยุโรป เช่น เยอรมัน และออสเตรีย ที่ล้อบบี้สกัดรัฐบาลหรือบริษัทจากประเทศของตนที่จะร่วมโครงการ ทำให้มหาโครงการดังกล่าวยังเป็นเพียงกระดาษ

 หนึ่งในหน้าใหม่ของงาน ก็คือกลุ่มบริษัทจากประเทศจีนที่สยายปีกออกไปลงทุนอุตสาหกรรมเขื่อนและน้ำในทวีปต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในแอฟริกาและเอเชีย ในงานประชุมครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาและบริษัทก่อสร้างจากจีนกว่า 30 แห่ง ร่วมกันออกบูธโฆษณาผลงานและหาโครงการกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน  

นับว่าจีนได้ขยับขึ้นมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลระดับนานาชาติด้านน้ำและเขื่อนไปอย่างเรียบร้อย โดยปัจจุบันบริษัทจีนมีโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กว่า 100 โครงการ ใน 39 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น คองโก ซูดาน แซมเบีย พม่า และลาว ซึ่งจะมีเขื่อนฝีมือจีนอย่างน้อย 13 โครงการ รวมทั้งเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงด้วยเช่ยกัน

งานประชุมปิดฉากลงในวันที่ 22 มีนาคม ซึ่งเป็น “วันน้ำโลก” ประกาศโดยสหประชาชาติ ในขณะที่กลุ่มอนุรักษ์และองค์กรภาคประชาสังคมพยายามผลักดันให้น้ำ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่สินค้าที่จะสร้างกำไร แต่หนึ่งในวาระประชุมสำคัญกลับเป็นการแปรรูปกิจการน้ำให้เป็นของเอกชน

ประสบการณ์ชี้ให้เห็นว่าการแปรรูปกิจการน้ำให้เอกชนเข้ามาจัดการและควบคุมไม่สามารถแก้ไขปัญหาของผู้คนส่วนใหญ่ที่ยังขาดแคลนน้ำได้ เนื่องจากประชาชนกว่า ๔ ใน ๕ ของผู้ที่ไม่มีน้ำใช้อย่างพอเพียงเป็นประชาชนในเขตชนบท และบรรษัทข้ามชาติมักไม่สนใจที่จะลงทุนในพื้นที่ห่างไกลเขตเมือง เพราะบริษัทไม่สามารถหากำไรจากคนจนและผู้คนอาศัยในเขตชนบทได้นั่นเอง

ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นธรรมและครอบคลุมถึงคนจนก็คือ การจัดการน้ำขนาดเล็กแบบไม่รวมศูนย์ อาทิ ระบบเหมืองฝายชุมชนขนาดเล็ก ระบบกักเก็บน้ำฝน  และการเพิ่มน้ำใต้ดิน เพราะลงทุนต่ำ และเหมาะสมสำหรับการจัดหาน้ำให้ประชาชนในชนบท สามารถดำเนินการได้โดยชุมชน แต่องค์กรจากภายนอกไม่สามารถเข้ามาหาผลประโยชน์ทั้งทางการเงินและการเมืองได้ง่ายๆ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับน้ำที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีแนวคิดส่งเสริมการจัดการน้ำขนาดเล็กเหล่านี้เลย

ปิดตัวด้วยแถลงการณ์อิสตันบูลของบรรดารัฐมนตรีทั้งหลาย แต่กลับเป็นแถลงการณ์ที่ว่างเปล่า ไม่มีมาตรการร่วมจัดการน้ำอย่างเป็นธรรม หรือยอมรับว่าน้ำคือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน และเวทีน้ำโลก 2009 ก็จบลงเหมือนตลาดวาย  

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา