eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

มาเฟียน้ำโลก ผู้อยู่เบื้องหลัง ประชุมสุดยอดน้ำโลก 

(the 3rd World Water Forums)

เพียรพร ดีเทศน์ เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Ma-fia: a group of people likened to the Mafia; especially: a group of people of similar interests  or background prominent in a particular field or enterprise [Merriam-Webster Dictionary]

            ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๓ มีนาคมนี้มีการประชุมสุดยอดน้ำโลก (World Water Forums) ครั้งที่ ๓ ที่ประเทศญี่ปุ่น การประชุมครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการรวมตัวของมาเฟียน้ำทั่วโลก (world water mafia) เนื่องจากบุคคลากรที่มาเข้าร่วมประชุมเป็นตัวแทนจากหน่วยงาน บริษัท และองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกที่สถาปนาตนเองเข้ามาเป็นผู้ควบคุมจัดการ และแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำทั่วโลก โดยใช้วิธีการพัฒนาแบบรวมศูนย์

            กลุ่มมาเฟียน้ำที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายการจัดการน้ำจากหน่วยงานพัฒนา  ชลประทาน และพลังงาน รวมทั้งผู้แทนจากบรรษัทข้ามชาติที่ทำงานเกี่ยวกับน้ำ อาทิ  งานด้านวิศวกรรม และงานก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่   กลุ่มคนเหล่านี้พยายามประชาสัมพันธ์ให้คนภายนอกเห็นว่า นโยบายที่พวกตนพยายามผลักดันอยู่นั้นมาจากความเป็นห่วงประชาชนที่มีฐานะยากจน   แต่หากพิจารณาผลประโยชน์ที่เกิดจากการกำหนดนโยบายเหล่านี้จะพบว่า  ผู้ที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุด คือ หน่วยงาน  บริษัท  และองค์กรขนาดใหญ่ที่บรรดากลุ่มคนเหล่านี้สังกัดอยู่ รวมทั้งเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจ นักการเมืองของประเทศต่าง ๆ มากกว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในประเทศนั้น

            เป้าหมายของการประชุมครั้งนี้ บรรดากลุ่มมาเฟียน้ำต้องการผลักดันให้  “แนวทางแก้ไขปัญหา” ของพวกตนได้รับการยอมรับในการประชุม ผ่านการนำเสนอรายงานการจัดสรรเงินเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรน้ำ และแถลงการณ์ผลการประชุมรัฐมนตรีของรัฐบาลต่างๆ โดย “แนวทางแก้ไขปัญหา” ของคนกลุ่มนี้ทำให้ต้องเกิดการพึ่งพาองค์กรการเงินระหว่างประเทศ ในฐานะแหล่งทุน เพราะแนวทางดังกล่าวต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมาก  อาทิเช่น การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่  และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรน้ำอื่นๆ รวมทั้งยังต้องการการรับรองทางการเงิน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดกับนักลงทุนเอกชน  แนวทางเหล่านี้จึงกลายเป็นเครื่องมือบังคับให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องเปิดทางให้นักลงทุนเอกชนเข้ามา ดำเนินกิจการจัดสรรทรัพยากรน้ำ 

            สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ขณะที่แนวทางการจัดสรรทรัพยากรน้ำมีอยู่หลายแนวทาง ซึ่งใช้เงินทุนน้อยกว่า อาทิ การจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝายขนาดเล็กโดยชุมชน  หรือการจัดการด้านความต้องการและผู้บริโภค (demand-side management) การกักเก็บน้ำฝน และการใช้เทคโนโลยีสุขอนามัยที่ใช้น้ำน้อยลง แต่กลุ่มมาเฟียน้ำกลับแทบไม่มีแผนงานนำเสนอแนวทางเหล่านี้ในที่ประชุมแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่แนวทางเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทั่วถึง ยั่งยืน และเป็นธรรมยิ่งกว่าการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่  การเสนอแนวทางจัดการน้ำของกลุ่มมาเฟียน้ำจึงดูจะเป็นเพียงการมุ่งหาเงินก้อนโตเพื่อเข้ากระเป๋าตนเอง  มากกว่าการแสวงหาหนทางแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

            องค์กรซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวโจกของมาเฟียกลุ่มนี้ คือ สภาน้ำโลก (World Water Council) ซึ่งประกาศเกียรติคุณของตนเองว่าเป็น “หน่วยงานชั้นมันสมองที่ทำงานเกี่ยวกับนโยบายน้ำและอุทิศตัวให้แก่การเสริมสร้างการเคลื่อนไหวด้านน้ำทั่วโลก เพื่อปรับปรุงการจัดการทรัพยากรน้ำของโลกให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ขณะที่ในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้คือนักล็อบบี้ตัวยงที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับบริษัทก่อสร้าง หน่วยงานสร้างเขื่อนของรัฐ และบริษัทน้ำประปา

            หลังจากการประชุมผ่านไปได้เพียง ๒ วัน  เราก็ได้เห็นความสำเร็จของกลุ่มมาเฟียน้ำ เมื่อมีรายงานข่าวออกมาจากที่ประชุมว่า  ธนาคารโลกได้ตัดสินใจเสนอให้เงินทุนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งๆ ที่ธนาคารโลกเองก็เคยได้รับบทเรียนจากความผิดพลาดของตนเองมานับครั้งไม่ถ้วนแล้วก็ตาม โดยเฉพาะบทเรียนจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และวิถีชีวิตชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติมากอย่างถอนรากถอนโคน  ดังเช่น กรณีเขื่อนปากมูล เป็นต้น

โลกไม่ได้ขาดน้ำ แต่ขาดการจัดการที่ดี

            สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการจัดการน้ำก็คือ คนจำนวนมากในโลกถูกทำให้เข้าใจว่าเรากำลังอยู่ใน “วิกฤติน้ำ” เพราะโลกกำลังขาดแคลนน้ำ แต่ในความเป็นจริง โลกไม่ได้ขาดแคลนน้ำ แต่ขาดการจัดการที่ดี และการจัดการน้ำที่ผิดพลาดมาโดยตลอด  

            การจัดการที่ผิดพลาดต่างๆ ทำให้ประชาชนกว่าหนึ่งพันล้านคนไม่มีน้ำสะอาดใช้ และผู้คนอีกกว่าสองพันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงสุขอนามัยที่ดีพอ นักวิเคราะห์น้ำบางคนประมาณว่าหากไม่มีการปรับปรุงการบริการน้ำและสุขอนามัยตั้งแต่ระดับรากฐาน อีก ๒๐ ปีจะมีผู้คนกว่า ๑๓๕ ล้านคนต้องเสียชีวิตเนื่องจากโรคที่เกี่ยวกับน้ำ

            ธนาคารโลกเองมักจะหยิบยกการคาดการณ์เกี่ยวกับความต้องการน้ำของสภาน้ำโลก ว่าการที่จะสนองความต้องการน้ำในประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน จากปัจจุบันประมาณ ๓,๐๗๕ พันล้านบาท เป็นประมาณ ๗,๓๘๐ พันล้านบาท ต่อปี

            การจัดการน้ำที่ผิดพลาดเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำซึ่งเป็นระบบนิเวศน์น้ำจืดที่สำคัญของโลก และน้ำซึ่งถูกกักเก็บไว้ในเขื่อนจำนวนมากถูกนำไปใช้ในระบบชลประทานที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นธรรม รวมทั้งบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย

            แม้ว่าทุกวันนี้กว่า ๒ ใน ๓ ของน้ำทั่วโลกที่มาจากแม่น้ำ ทะเลสาบ และแหล่งน้ำอื่นถูกนำไปใช้ในระบบชลประทาน แต่ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในการเกษตร เนื่องจากนโยบายการเกษตรที่ผิดพลาดที่ส่งเสริมให้ปลูกพืชที่ต้องการน้ำสูง หรือที่เรียกว่า “พืชหิวน้ำ” เช่น อ้อย และฝ้าย ในเขตแห้งแล้ง นอกจากนี้ยังพบว่าระบบชลประทานหลายแห่งไม่สามารถส่งน้ำได้ตามที่วางแผนไว้ และก่อให้เกิดปัญหาดินเค็ม  

            ปัญหาการบริโภคน้ำฟุ่มเฟือยและการรั่วไหลของระบบน้ำประปาในเมืองนับเป็นอีกสาเหตุของการสูญเสียน้ำ ปริมาณน้ำกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ที่ใช้เพื่ออุปโภคบริโภคทั่วโลกต้องสูญเสียไปเนื่องจากการรั่วไหลและการขโมยน้ำไปใช้ ดังเช่น เมื่อปี ๒๕๔๓ รัฐเซลังงอ ประเทศมาเลเซียต้องสูญเสียน้ำกว่าหนึ่งพันล้านลิตรต่อวันเนื่องจากการรั่วไหลและถูกขโมย ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่เพียงพอสำหรับความต้องการพื้นฐานของคนถึง ๒๕ ล้านคน

            ปัญหาที่ผู้คนทั่วโลกกว่าหนึ่งพันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงน้ำที่สะอาดเพียงพอจึงไม่ใช่เพราะว่ามีน้ำน้อยเกินไป แต่เป็นเพราะความล้มเหลวในการจัดหาน้ำให้แก่ประชาชน หากมีการจัดการน้ำที่ดีกว่านี้  ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับความต้องการพื้นฐานก็จะลดลง  เพราะปริมาณน้ำที่นำมาใช้ในโลกทุกวันนี้เพียงแค่ ๑ เปอร์เซ็นต์ก็มีปริมาณมากพอในการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วโลก ซึ่งต้องการน้ำใช้ประมาณ ๔๐ ลิตรต่อวันเท่านั้น

ความล้มเหลวของการจัดการน้ำโดยภาคเอกชน 

            กว่าหนึ่งทศวรรษแล้วที่ธนาคารโลกและหน่วยงานเพื่อการพัฒนาอื่นๆ ได้กระตือรือร้นส่งเสริมให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้น้ำในเขตเมือง แต่จนถึงขณะนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า วิธีการดังกล่าวประสบความล้มเหลว เนื่องจากการแปรรูปกิจการน้ำให้เป็นของภาคเอกชนเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ผู้บริโภค รวมทั้งไม่สามารถดำเนินงานได้โดยบรรษัทน้ำข้ามชาติ ซึ่งกำลังมีปัญหาหนี้สิน

            ทางออกของการแก้ปัญหาการจัดส่งน้ำจึงไม่ได้อยู่ที่การแปรรูปกิจการน้ำให้เป็นของภาคเอกชน  แต่ควรอยู่ที่การกำหนดนโยบายของรัฐ  โดยสนับสนุนองค์กรที่มีความเป็นสาธารณะที่จะเข้ามาดูแลทรัพยากร รวมทั้งองค์กรของรัฐและรัฐวิสาหกิจซึ่งจะให้ผลคุ้มค่ากว่า แต่เนื่องจากที่ผ่านมาองค์กรของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่ดูแลเรื่องน้ำมักดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพ ไม่รับผิดชอบ  และไม่ครอบคลุมความต้องการของคนจน รวมทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรของรัฐและรัฐวิสาหกิจจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กร โดยเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น การปรับปรุง ดังกล่าวมีแนวโน้มว่าทำได้จริง รวมทั้งมีหลักฐานยืนยันว่าองค์กรที่มีความเป็นสาธารณะที่เข้ามาดูแลทรัพยากร (องค์กรของรัฐและรัฐวิสาหกิจ) หลายแห่งสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาการจัดการทรัพยากรโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของสาธารณะ จะช่วยให้การปรับปรุงองค์กรของรัฐและรัฐวิสาหกิจดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยองค์กรที่ดำเนินกิจการได้ดีจะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านการจัดการและด้านเทคนิค

            การแปรรูปกิจการน้ำให้เอกชนเข้ามาจัดการและควบคุมในทุกกรณีไม่สามารถแก้ไขปัญหาของผู้คนส่วนใหญ่ที่ยัง ขาดแคลนน้ำได้ เนื่องจากประชาชนกว่า ๔ ใน ๕ ของผู้ที่ไม่มีน้ำใช้อย่างพอเพียงเป็นประชาชนในเขตชนบท และบรรษัทข้ามชาติที่ทำกิจการน้ำมักไม่สนใจที่จะลงทุนในระบบน้ำดื่มในพื้นที่ห่างไกลเขตเมือง เพราะบริษัทไม่สามารถหากำไรจากคนจนและผู้คนอาศัยในเขตชนบทได้

ระบบการจัดการน้ำขนาดเล็กไม่รวมศูนย์ ทางออกที่ยั่งยืนของการจัดการน้ำ

             การแก้ไขปัญหาข้างต้นมีหลายทางด้วยกัน หนึ่งในทางออกที่มีความเป็นไปได้สูงคือการปรับปรุงระบบชลประทานเดิมที่มีอยู่ซึ่งสามารถช่วยประหยัดน้ำได้มากขึ้น  เพราะหากเราลดการใช้น้ำจากระบบชลประทานที่มีอยู่ในขณะนี้ลงเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เราก็จะมีน้ำเพิ่มขึ้นอีก ๑ เท่าสำหรับใช้ในครัวเรือนทั่วโลก วิธีการลดการใช้น้ำในระบบชลประทาน อาทิเช่น ในพื้นที่แห้งแล้งขาดแคลนน้ำ ควรเปลี่ยนจากการปลูก “พืชหิวน้ำ”  มาปลูกพืชที่ต้องการน้ำน้อย ลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง หรือเปลี่ยนมาเป็นระบบชลประทานแบบรักษาน้ำ เช่น ติดตั้งระบบน้ำหยด ซึ่งจะสามารถประหยัดน้ำลงได้ถึง ๔๐ เปอร์เซนต์ของปริมาณน้ำสำหรับเกษตรกรรมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

            ส่วนการแก้ปัญหาโดยจัดการด้านความต้องการและผู้บริโภค สามารถลดการใช้น้ำในเขตเมือง โดยใช้เงินทุนเพียงเสี้ยวเดียวของทุนที่ใช้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาใหม่มาส่งเสริมให้ครัวเรือนหันมาใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ  ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมลดปริมาณน้ำเสียลง หรือกำหนดราคาน้ำในอัตราก้าวหน้าให้ผู้บริโภคที่ต้องการใช้น้ำมากจ่ายมากกว่าผู้ต้องการใช้น้ำน้อย

            นอกจากนี้การยกระดับและปรับปรุงระบบจ่ายน้ำก็สามารถช่วยลดปริมาณการสูญเสียน้ำที่รั่วไหลและถูกขโมย รวมทั้งทางเลือกอื่นๆ เช่น บำบัดน้ำเสียมาใช้ประโยชน์ กักเก็บน้ำฝน จะสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนหรือก่อสร้างท่อประปาที่ใช้ทุนมหาศาล

            ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นธรรมและครอบคลุมถึงคนจนก็คือ การจัดการน้ำขนาดเล็กแบบไม่รวมศูนย์ อาทิ ระบบเหมืองฝายขนาดเล็ก ระบบกักเก็บน้ำที่อาศัยน้ำฝน  และการเพิ่มน้ำใต้ดิน เพราะลงทุนต่ำ และเหมาะสมสำหรับการจัดหาน้ำให้ประชาชนในชนบท (ซึ่งต้องการน้ำสำหรับการเกษตร สัตว์เลี้ยง และใช้ในครัวเรือน)

            เพราะระบบการจัดการน้ำขนาดเล็กเหล่านี้ สามารถดำเนินการได้โดยชุมชน องค์กรจากภายนอกจึงไม่สามารถเข้ามาหาผลประโยชน์ทั้งทางการเงินและการเมืองได้จากหน่วยงานของรัฐในประเทศกำลังพัฒนา นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บรรดามาเฟียน้ำโลกหรือองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับน้ำที่เข้าร่วมประชุม ครั้งนี้ไม่ได้มีแนวคิดส่งเสริมการจัดการน้ำเหล่านี้เลย

ผลิตอาหารให้แก่ประชาชนที่หิวโหย ข้ออ้างของกลุ่มมาเฟียน้ำ

            องค์กรที่ดำเนินการเกี่ยวกับน้ำมักจะแย้งว่าสาเหตุที่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่  เพราะเราต้องการน้ำมาใช้สำหรับระบบชลประทาน เพื่อผลิตอาหารมาเลี้ยงผู้คนที่กำลังหิวโหย  แต่หากพิจารณาปัญหาความอดอยากอย่างถ่องแท้แล้วจะพบว่า ภาวะความอดอยากไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโลกนี้ขาดแคลนอาหาร เราผลิตได้มากเกินต้องการด้วยซ้ำ แต่ผู้คนหลายร้อยล้านคนต้องอดยากเพราะมีฐานะยากจนเกินกว่าจะซื้ออาหารได้  ดังเช่น ปัจจุบันประเทศอินเดียผลิตอาหารจำพวกข้าวและถั่วได้มากมาย  และในโกดังมีอาหารหนึ่งในสี่ของอาหารทั้งโลก แต่มากกว่าครึ่งของเด็กในประเทศอินเดียกลับมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน

            ประสบการณ์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นแล้วว่าการสร้างเขื่อนไม่ช่วยแก้ปัญหาความหิวโหยในโลก เทคโนโลยีที่ใช้ทุนสูงเหล่านี้อาจให้ผลผลิตสูง (อย่างน้อยก็ในระยะสั้น) แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์คือเกษตรกรรายใหญ่ที่มีที่ดินและเงินลงทุนมาก และเกษตรกรรายย่อยที่บังเอิญมีที่ทำกินอยู่ในเขตชลประทานซึ่งมีอยู่จำกัด ส่วนชาวนาส่วนใหญ่ที่ยากจนก็ยังไม่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้เช่นเดิม    

            วิธีแก้ปัญหาข้างต้นจึงไม่ได้อยู่ที่การสร้างเขื่อน หากอยู่ที่การวางนโยบายปฏิรูปที่ดิน พัฒนาวิธีการเกษตรพื้นบ้านที่มีความยั่งยืน และสอดคล้องกับระบบนิเวศ รวมทั้งเน้นการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงคนในท้องถิ่นมากกว่าเน้นการส่งออก

            จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าปัญหาน้ำของโลกสามารถแก้ไขได้โดยใช้เงินทุนไม่สูง ปัญหาสำคัญนั้นอยู่ที่สถาบันหลักของประเทศที่ต้องพยายามมองปัญหาความขาดแคลนน้ำของ ประเทศตนเองอย่างเข้าใจถึงต้นเหตุแห่งปัญหา ด้วยเหตุนี้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาจึงต้องช่วยกันโน้มน้าวให้รัฐบาลหยุดฟังและหยุดรับเงิน จากกลุ่มมาเฟียน้ำที่เห็นแก่ประโยชน์ของกลุ่มบริษัทของตน รวมทั้งระมัดระวังนักล็อบบี้ที่กำลังพยายามผลักดันให้เกิดการแปรรูปกิจการน้ำให้เอกชนเข้ามาจัดการและควบคุมในการประชุมครั้งนี้

            สิ่งที่เราทุกคนต้องตระหนักก็คือ เราอย่าหลงเพลิดเพลินไปกับมายาคติที่มาเฟียน้ำโลกกำลังพยายามทำให้คนทั้งโลกรวมทั้งคนไทยเห็นว่าโลกของเรา กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติขาดแคลนน้ำ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการลงทุนจำนวนมากเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานราคาแพง เช่น เขื่อนขนาดใหญ่ ระบบชลประทานแบบรวมศูนย์ และโครงการผันน้ำ  ซึ่งรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาย่อมไม่มีทุนมากพอที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้  และผู้ที่จะเป็นวีรบุรุษเข้ามาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำที่กล่าวอ้างนี้ก็คือ บรรดากลุ่มมาเฟียน้ำที่มาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้เอง

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา