100 กม.กับครึ่งเดือนที่ลุ่มน้ำมูล:
ภารกิจแห่งการเตือน"ปัญหาดินเค็ม"หายนะภัยของคนอีสานในวันหยุดเขื่อนโลก

fas fa-pencil-alt
สุภาพร นิภานนท์-เครือข่ายแม่น้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
fas fa-calendar
30 มีนาคม 2543

ในบรรดาขบวนการเคลื่อนไหวของชุมชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมมิให้ประสบกับภัยพิบัติอัน เนื่องมาจาก "เขื่อน"ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกนั้น กล่าวได้ว่าการต่อสู้ของชาว บ้านลุ่มน้ำมูลที่ราษีไศลนั้นคือขบวนการหนึ่งที่สามารถจัดได้ว่ายืนอยู่ในแถว หน้าของขบวนการชาวบ้านในระดับโลก ไม่แพ้การต่อสู้ของชาวบ้านอินเดียที่ปกป้องหุบเขานาร์มาดา หรือการต่อสู้ของชาวบ้านที่ซานรอกกิว ในฟิลิปินส์ หรือปกป้องชุมชนของชาวบ้านเลโซโทในแอฟริกา เหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าตลอด 7 ปีของการต่อสู้ของชาวบ้านที่เดือดร้อน จากการสร้างเขื่อนราษีไศลนั้น พวกเขามิได้ย่อท้อต่อชะตากรรมทื่ก่อขึ้นมาจากนักสร้างเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดยุทธการขี้ขลาดปิดน้ำใน เขื่อนให้ท่วมหมู่บ้านเมื่อปลายปีที่แล้ว หรือการนำเอาความเดือดร้อนของชาวบ้านราษีไศลมาเป็นเกมส์การเมืองระหว่างพรรคประชาธิปัติย์ และความหวังใหม่โดยมีชาวราษีไศลเป็นหญ้าแพรกที่ไม่มีโอกาสลุกขึ้นมาชี้แจงข้อเท็จจริง แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ตาม

            กระนั้นก็ตาม นับวันชาวราษีไศลกลับเข้มแข็งมากขึ้นและได้ยืนหยัดต่อสู้มิใช่เพื่อสิทธิของตนเองในฐานะเจ้าของทรัพยากรเท่านั้น แต่พวก เขายังก้าวไปสู่การต่อสู้เพื่อให้รัฐและสังคมไทยตระหนักถึงหายนะภัยของเขื่อนตัวใหม่ที่นักสร้างเขื่อนของไทยมิเคยตระหนัก มาก่อนด้วย การเดินทัพไกลเพื่อรณรงค์เป็นระยะทางร่วม 100 กิโลเมตร ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลในช่วงครึ่งเดือน ซึ่งเปรียบได้กับการเดินรณรงค์ ของชาวอินเดีย เพื่อปกป้องหุบเขานาร์มาดาที่เรียกกันว่า "Rally for the Valley"

            หากย้อนหลังไปก่อนปี 2535 หรือนับถอยหลังไป 7 ปี ชาวบ้านอ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด และ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ย่อมคาดไม่ถึงกับชะตาชีวิตที่ผกผันภายหลังการมีเขื่อนราษีไศล

            “ถึงจะเหนื่อยก็ต้องทน เดินเป็นร้อยกิโลไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ ไหนจะต้องไปนอนกลางดินกินกลางทรายอีก ก็ท่องคำว่าอดทนนั่น แหละ เราอยากให้เค้ารู้อันตรายข้อนี้ จะได้ช่วยกันแก้ไขดีกว่าปล่อยให้มันลุกลามต่อไป“

            สำลี ถุงน้ำคำ บ้านโดนสังข์ ต.ด่าน อ.ราษีไศล บอกเล่าความรู้สึกจากการเดินรณรงค์เผยแพร่ปัญหาเรื่องดินเค็มจากเขื่อนราษีไศล ตั้งแต่วันที่ 7-21 มีนาคมที่ผ่านมาให้ฟัง ท่ามกลางแสงแดดแรงจัดของฤดูร้อนภาคอีสาน และใบหน้าที่อิดโรย แต่สองเท้ายังก้าวเดินต่อไป พร้อมกับเพื่อน ร่วมเดินอีกกว่า 800 ชีวิต เพื่อภารกิจแห่งการเผยแพร่หายนะภัยครั้งใหม่แก่สังคม

            ภาพขบวนเดินเท้าที่ยาวกว่า 2 กม. ก้าวเดินออกจากหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2และ 3 อ่างเก็บน้ำราษีไศล ย่ำเท้าเข้าสู่ตัวจังหวัดศรีษะเกษ และย้อนกลับยังอีกเส้นทางเข้าสู่หมู่บ้าน ได้สร้างความสนใจให้กับผู้คนตามรายทางหยุดซักถาม และรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น

            ด้วยเวลาครึ่งเดือน ในระยะทางกว่า 100 กม. กับการรณรงค์เผยแพร่"หายนะดินเค็ม"ที่เกิดจากเขื่อนราษีไศล หายนะตัวใหม่ที่จะมา พร้อมกับความล่มสลายของผืนดินอีสาน หากยังขาดการเหลียวแลแก้ไขปัญหาจากฝ่ายรัฐ

            7 ปีของการมีเขื่อนราษีไศลนับแต่ปี 2535 เป็นต้นมา เป็นเวลา 7 ปี ของการเผยโฉมความเลวร้ายซึ่งเกิดจากเขื่อนราษีไศลตลอดมา ล่าสุด จากข้อเท็จจริงซึ่งถูกละเลยและเพิกเฉยจากกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน หน่วยงานที่สร้างเขื่อน "พบว่าใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล มีบริเวณที่มีชั้นหินเกลือรองรับอยู่ไม่น้อยกว่า 10 ตารางกิโลเมตร"

            ผลจากการที่เขื่อนและพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลตั้งอยู่บนโดมเกลือนั้น ทำให้เกิดปัญหาดินเค็มตามมา เนื่องจากว่าการกักเก็บน้ำ ทำให้มีการยกระดับน้ำใต้ดิน(Water table) สูงขึ้น และไปละลายเกลือออกมา ทำให้ความเค็มของน้ำในอ่างเก็บน้ำสูงขึ้น ดังปรากฏว่าใน ปัจจุบันน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลมีความเค็มจนไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตรได้

            การยกระดับของน้ำใต้ดินยังทำให้พื้นที่รอบๆอ่างเก็บน้ำที่เคยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเกิดเกลือโผล่ขึ้นมาเหนือผิวดินอีกด้วย ดังปรากฏว่า ชาวบ้านรอบอ่างพบว่าได้ปรากฏเกลือผุดขึ้นรอบพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลในฤดูแล้งและปัญหานี้ก็ขยายวงมากขึ้นทุกขณะทั้ง ๆ ที่ไม่เคย เกิดปัญหาเหล่านี้มาก่อน

        ไม่เพียงแต่ชาวบ้านที่อยู่รอบอ่างเก็บน้ำเท่านั้นที่ประสบกับปัญหานี้ ปัจจุบันยังปรากฏว่าชาวบ้านที่อยู่ทางท้ายเขื่อนก็ประสบกับปัญหา ดินเค็มเนื่องจากระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้นและละลายเกลือขึ้นมาบนผิวดินจนกระทั่งพวกเขาไม่สามารถทำการเกษตรได้"(เขื่อนราษีไศลและปัญหา ดินเค็ม : หายนะของคนอีสาน เครือข่ายแม่น้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ,2543)

            นี่จึงเป็นที่มาของการเดินเท้าร่วม 100 กม. กว่าครึ่งเดือนในครั้งนี้

            "เราพยายามจะบอกกับสังคมว่า เราซึ่งเป็นคนที่ได้รับความเดือดร้อนมาก่อนจากการมีเขื่อนราษีไศล ทั้งจากการท่วมที่ทำกินของพวก เราและท่วมป่าบุ่งป่าทามซึ่งเป็นแหล่งอาหารและสมุนไพรของพวกเรานั้น รู้ซึ้งดีว่าผลกระทบนี้สร้างความทุกข์ยากให้กับพวกเรามากขนาด ไหน เมื่อเรารู้ว่าขณะนี้ปัญหาดินเค็มจากอ่างเก็บน้ำกำลังจะแพร่ระบาดสร้างความเสียหายให้กับพี่น้องอื่นๆต่อไป ทำให้พวกเราคิดที่จะเผย แพร่ให้ทุกคนรับทราบภัยตัวนี้และร่วมกันคิดหาวิธีการแก้ไขต่อไป เราจึงเดินรณรงค์ครั้งนี้"สมเกียรติ เจือจาน หนึ่งในคนไทยผู้ได้รับความ เดือดร้อนจากเขื่อนราษีไศล บ้านเพียมาตร ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ บอกเล่าถึงที่มาของการเดินเท้ากว่าร้อยกม.ในครั้งนี้

            เวลากว่าครึ่งเดือนเพื่อที่จะเผยแพร่ภัยตัวใหม่ให้สังคมรับรู้ไม่ใช่เรื่องง่ายของการทำความเข้าใจ หลายครั้งที่เสียงสะท้อนจากคนใน เมืองบอกปัดกับปัญหาที่เกิดขึ้น

            “พอพวกเราไปเล่าเรื่องนาข้าวตายเพราะใช้น้ำจากเขื่อนราษีไศลให้ฟัง เค้าก็ย้อนถามมาว่า เกี่ยวอะไรกับผมล่ะ ผมค้าขายไม่ได้ทำนา ก็ต้องอธิบายกันใหม่ ชี้แจงให้เห็นว่าแล้วทุกวันนี้คุณกินข้าวเป็นอาหารหลักหรือเปล่า”

            นอกจากนั้น ผลของการเรียกร้องสิทธิในการจัดการดูแลชุมชนและท้องถิ่นของตัว สิทธิตามรัฐธรรมนูญกลับถูกหน่วยงานรัฐขัดขวาง กระบวนการนี้ เพียงแค่วันที่สองของการเดินทาง

            "อำเภอฉีดน้ำที่สนามหญ้า ห้ามพวกเราเข้าไปใช้ บอกว่าจะเอาไว้แข่งกีฬา แต่ตอนเย็นมีหมอลำมาเล่นที่สนามหญ้า” แม่ผา กองธรรม บ้านดอนสำราญ ต.ยางคำ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น

            “ถ้ามาบอกพวกเราดีๆก็ไม่ว่าอะไรหรอก ทำไมต้องมาโกหกกัน เห็นพวกเราเป็นคนจนรังเกียจไม่อยากให้ใช้ แต่พอเป็นพวกมีเงิน กลับให้ใช้ได้ แล้วพวกเราไม่ใช่เป็นคนไทยเหมือนๆกันหรอกหรือ”

            กว่าครึ่งเดือนของการเดินทางในครั้งนี้ ไพรจิตร ศิลารักษ์ บ้านผึ้ง ต.หนองแค อ.ราษีไศล สะท้อนบทเรียนของการเดินทางไกลในครั้ง นี้ว่า “แน่นอนว่าในส่วนของชาวบ้านทั้งหมด เรามีความเสียสละ มีความอดทนกันมากขึ้น และเรามีความกล้าหาญที่จะพูดถึงปัญหาของตัว เองให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งปัญหาเรื่องดินเค็มจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล ก็ไม่ใช่ปัญหาของตัวเองเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของทุกคน ซึ่งสังคม ไทยรับรู้ปัญหานี้น้อยมาก นี่จึงเป็นภารกิจของเราที่จะต้องเดินทางอธิบายกันต่อไป”

            ถึงแม้ว่าการเดินทางรณรงค์ในครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยมในการทำความเข้าใจเรื่องปัญหาดินเค็มกับคนไทยทั่วไป แต่สิ่งที่ ได้มากกว่านั้นจากการเดินทางคือ

            “การเดินทาง 15 วัน สอนให้เราเข้าใจถึงภาระหน้าที่ของเรา สอนให้เราเข้าใจสิทธิการมีส่วนร่วมในสังคม ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่คน ไทยทุกคนมี การเดินทางครั้งนี้คุ้มค่ามาก”

            การเดินเท้าเพื่อรณรงค์ครั้งนี้ของคนไทยที่ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนราษีไศล ไม่ได้มาเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์อย่างที่คนใน สังคมเข้าใจผิดมาตลอด แต่เป็นการมาเพื่อเตือนให้สังคมตระหนักถึงหายนะภัยดินเค็มที่จะเกิดขึ้นกับแผ่นดินอีสาน ซึ่งมีต้นตอมาจาก เขื่อนราษีไศล

            หายนะดินเค็มจากเขื่อนราษีไศล จนเป็นที่มาของการเดินทางไกลครั้งนี้ คือกระจกสะท้อนถึงความพยายามของการเรียกร้องสิทธิการ มีส่วนร่วมการจัดการทรัพยากรของประชาชนในท้องถิ่นสังคมไทย และสะท้อนถึงความล้มเหลวของการจัดการทรัพยากรจากหน่วยงานรัฐ ได้เป็นอย่างดี

            "แน่นอนว่า ปัญหาดินเค็มจากเขื่อนราษีไศลไม่ใช่ปัญหาของพวกเราที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง แต่มันเป็นปัญหาของคนอีสาน ทั้งหมด ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นกับพวกเราอย่างเดียว มันแพร่กระจายไปทั่วแผ่นดินอีสาน แต่เราลองคิดกันดูสิว่า ถ้าหากเราซึ่งเป็นผู้รู้ปัญหา เพิกเฉยกับปัญหานี้ รังแต่จะเรียกร้องเอาผลประโยชน์ของตัวเองอย่างเดียว แล้วลูกหลานของพวกเรา จะเป็นอย่างไร เพราะรุ่นเค้าคือผู้ที่จะ ได้รับความทุกข์ยากปัญหานี้ไปเต็มที่ หากเรายังไม่ช่วยกันแก้ไขเสียแต่ต้นมือของปัญหา"ไพรจิตร ศิลารักษ์ ตัวแทนชาวบ้านสะท้อนถึง เจตนาแท้จริงของการเดินขบวนในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลครั้งนี้

            แม้ว่าการเดินทางไกลครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 ที่ผ่านมา และชาวบ้านกว่า 800 คนได้กลับคืนสู่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 และ 3 ซึ่งพวกเขาตั้งเป็นหมู่บ้านกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2542 ที่ผ่านมา แต่การต่อสู้ของชาวราษีไศลก็มิได้สิ้นสุดแต่ อย่างใด แต่แท้ที่จริงเป็นแค่การเริ่มต้นของการต่อสู้ครั้งใหญ่ที่ท้าทายนักสร้างเขื่อนยิ่งกว่าที่ผ่านมา

            "การรณรงค์ปัญหาดินเค็มของพวกเราครั้งนี้ ไม่ว่ารัฐจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม แต่ปัญหาดินเค็มก็ได้เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ และปัญหานี้ก็จะ หนักหน่วงยิ่งกว่าปัญหาทุกปัญหาที่เขื่อนราษีไศลเคยสร้างมา แน่นอนว่ารุ่นพวกเราอีกหน่อยก็ต้องตายกันไป แต่เราก็ต้องทำเพื่อลูกเพื่อ หลานของเรา และเพื่อคนอีสานรุ่นต่อไปทุกคน" ไพรจิต ศิลารักษ์ แกนนำชาวบ้านกล่าวทิ้งท้าย

  

ลำดับการเดินทางรณรงค์ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล วันที่ 7-21 มีนาคม 2543 ระยะทาง 100 กม.

7 มีนาคม หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2,3 อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล ยังที่ว่าการอำเภอราษีไศล ระยะทาง 10 กม.

8 มีนาคม ย่ำเท้าไปยังบ้านยาง ต.เมืองแคน อ.ราษีไศล 4 กม.

9 มีนาคม เดินเท้ายังสถานีสูบน้ำเขื่อนหัวนา บ้านแสนแก้ว ต.หนองหมี อ.ราษีไศล 14 กม.

10 มีนาคม พักผ่อน

11 มีนาคม ไปบ้านหญ้าปล้อง ต.หญ้าปล้อง อ.เมือง 17 กม.

12 มีนาคม พักแรง

13 มีนาคม บ้านกุดหวาย ต.กุดหวาย อ.เมือง 7 กม.

14 มีนาคม เดินรณรงค์ในตัวเมือง

15 มีนาคม เดินรณรงค์ในตัวเมือง ช่วงบ่ายเวทีเสวนา "เขื่อนราษีไศลและปัญหาดินเค็ม"

16 มีนาคม เดินรณรงค์ในตัวเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเรียนเชิญขอเข้าพบตัวแทนชาวบ้าน

17 มีนาคม เดินไปบ้านสระกำแพงน้อย ต.สระกำแพงน้อย 7 กม.

18 มีนาคม กรป.กลาง สี่แยกส้มป่อย อ.อุทุมพรพิสัย 13 กม.

19 มีนาคม รณรงค์ภายในตัวอ.อุทุมพรพิสัย และกิ่งอ.โพธิ์ศรีสุวรรณ

20 มีนาคม บ้านคล้อ อ.บึงบูรพ์ 23 กม.

21 มีนาคม ยึดสันเขื่อนราษีไศล กิจกรรมส่งท้าย "FREE THE RIVER" ปลดปล่อยแม่น้ำสู่อิสระ และเดินทางกลับหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนใน อ่างเก็บน้ำราษีไศลเป็นระยะทาง 5 กม. เพื่อเตรียมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ครั้งต่อไป

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง