25 ปท. ค้านระเบิดแก่งแม่น้ำโขงชี้ 'ปลาบึก' สูญพันธุ์
เอ็นจีโอ 25 ประเทศร่วมคัดค้านระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินเรือสินค้า เผย 75 องค์กรจาก 25 ประเทศทำหนังสือยื่น 'จิ๋ว' หยุดการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจนกว่าจะศึกษาผลกระทบเสร็จ ระบุแม่โขงมีพันธุ์ปลากว่า 1.2 พันชนิด หวั่นจะได้รับผลกระทบไม่วางไข่ตามฤดูกาล หรืออาจจะส่งผลกระทบต่อการสูญพันธุ์ของ 'ปลาบึก' อีกด้วย
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 31 ก.ค. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยมีการจัดเสวนาเรื่อง "ระเบิดแก่งแม่โขงกับผลกระทบที่เกิดขึ้น" โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ร.ต. ปรีชา เพชรวงศ์ ผอ.กองตรวจการขนส่งทางน้ำกรมเจ้าท่า นายปกรณ์ ประเสริฐวงษ์ หัวหน้ากลุ่มสิ่งแวดล้อมกรมเจ้าท่า นายชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการด้านทรัพยากรน้ำจืด นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผอ.เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้ประสานกลุ่มรักษ์เชียงของ เพื่อศึกษาถึงผลกระทบจากการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงช่วง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อเปิดเส้นทางการเดินเรือขนาดใหญ่
นายปกรณ์กล่าวว่า พื้นที่ที่ต้องระเบิดแก่งมีความยาวแค่ 1.6 กม. เท่านั้น โดยปริมาณหินที่ระเบิดใต้น้ำทั้งหมด 1.3 หมื่นลูกบาศก์เมตร ส่วนหินเหนือน้ำที่จะระเบิดมีปริมาณ 800 ลูกบาศก์เมตร ส่วนผลกระทบจากการระเบิดแก่งเรามีการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว ซึ่งเป็นการทำอีไอเอร่วมกันของ 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว พม่า และจีน ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่เราก็ยอมรับว่าอีไอเอที่เราทำไม่ได้ครอบคลุมทุกด้าน อย่างเรื่องปลาบึก จากข้อมูลที่เรามีอยู่เราไม่สามารถบอกได้ว่าถิ่นอาศัยแหล่งเพาะพันธุ์ของปลาบึกอยู่แถวไหน อย่างไรก็ตาม เพื่อลดอันตรายต่อปลาจากการระเบิดหิน เราจะทำการระเบิดเล็กๆ ก่อนเพื่อให้ปลาหนีไปก่อนทำการระเบิดใหญ่ ซึ่งรัศมีที่ปลาจะได้รับผลกระทบจากแรงระเบิดประมาณ 120 เมตร
ร.ต.ปรีชากล่าวว่า จากการตกลงร่วมกันของ 4 ประเทศ เราจำเป็นต้องกำจัดอุปสรรคในการเดินเรือคือเกาะแก่งต่างๆ ซึ่งช่วงที่ต้องระเบิดในประเทศไทยมีแค่ 1 จุด โดยในปี 2546 เราต้องปรับปรุงร่องน้ำให้เรือขนาด 100-150 ตันเดินเรือได้ไม่ต่ำกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ต่อปี มีความกว้างของร่องน้ำ 30 เมตร ลึก 1.5 เมตร และในปี 2550 ต้องปรับปรุงร่องน้ำให้เรือขนาด 300 ตันผ่านได้ ซึ่งผลประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการระเบิดแก่งคือเรื่องการค้าที่ไทยจะได้จากการส่งสินค้าไปขายที่คุนหมิง ซึ่งมีประชากรถึง 65 ล้านคน เท่ากับประเทศไทย โดยสินค้าหลักที่เราส่งไปขายมีลำไยแห้ง ยางพารา น้ำมันเชื้อเพลิง ปีกไก่แช่แข็ง
นายชวลิตกล่าวว่า ในแม่น้ำโขงมีพันธุ์ปลาอย่างน้อย 1,200 ชนิด และในช่วง อ.เชียงของที่จะมีการระเบิดแก่งมีพันธุ์ปลากว่า 200 ชนิด ซึ่งแก่งดังกล่าวยังเป็นแหล่งวางไข่ของปลาบึก ถ้าแก่งหายไปกระแสน้ำก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่ากระแสน้ำจะแรงขึ้นหรืออ่อนลง จะทำให้ปลาเปลี่ยนเส้นทาง อาจไม่วางไข่หรือผสมไม่ติด ซึ่งในอีไอเอไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมีปลาอีกจำนวนมากที่อาศัยแก่งเป็นแหล่งหากินที่จะได้รับผลกระทบ ก็อยากถามว่า ถ้าระเบิดแก่งแล้วเราต้องสูญเสียปลาบึกไปจะคุ้มหรือไม่
นายไชยณรงค์กล่าวว่า ในวันนี้ทางกลุ่มเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มองค์กรต่างๆ อีก 75 องค์กรจาก 25 ประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส อินเดีย อิตาลี เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ร่วมกันลงนามยื่นจดหมายถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ให้หยุดโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจนกว่าการศึกษาจะสมบูรณ์ เพราะโครงการดังกล่าวไม่มีการตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรอบคอบ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย จีน พม่า และลาวหยุดการดำเนินโครงการดังกล่าวทันที จนกว่าจะทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสม รวมทั้งต้องมีความโปร่งใสให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบร่วมศึกษาด้วย