บ้านอาฮง : สะดือแม่น้ำโขง
นิเวศวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลง
สายฝนที่ตกโปรยปรายไม่ขาดสายแทบทุกชั่วโมง สายน้ำโขงไหลแรงสีแดงขุ่นขลัก เสียงกระแสน้ำดังกระทบหินใต้น้ำตูมๆ คล้ายปลาใหญ่ม้วนตัวเล่นน้ำไม่ขาดสาย แรงไหลหลากของน้ำ หมุนเป็นวนเป็นวงกว้าง กลายเป็นคลื่นใต้น้ำที่มีแรงปะทะกับแก่งหินด้านล่าง ทำให้กระแสน้ำเกิดการหมุนวนเป็นวงเล็กวงใหญ่ คล้ายกับสะดือ ความลึกที่ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ เมตร และความอุดสมบูรณ์และเป็นจุดที่ลึกที่สุด จึงถูกเรียกว่า “สะดือแม่น้ำโขง” เป็นลักษณะพิเศษของระบบนิเวศแม่น้ำโขงแห่งนี้
ตำนานบ้านอาฮง ชาวบ้านอาฮง เป็นกลุ่มลาวพวน ที่อพยพโยกย้ายข้ามน้ำโขงมาจากบ้านนาเยีย เมืองหอ เมืองโฮง จากแถบบ้านสองคอน บ.กล้วย ในบริเวณฮูน้ำเงี้ยบ แถบเมืองหมอกเมืองเชียงแสน เมืองเชียงรุ้ง เมืองเชียงตุง เมืองเชียงคำ และเมืองต่าง ๆ ตำบลลำแม่น้ำโขง และลำน้ำซัน จากแขวงบริคำไซยประเทศลาวในปัจจุบัน เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๗ ครอบครัวของ ท้าวคำพา ลูกชายของเจ้าเมืองหมอก (ประเทศลาว)ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณแก่งอาฮง ติดกับปากห้วยอาฮงในปัจจุบัน เพราะเห็นว่าบริเวณนี้มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ มีปลาชุกชุม และมีพื้นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชไร่ พืชสวน และการทำนา ต่อมามีญาติพี่น้องเดินทางกันมาอยู่มากขึ้น จึงตั้งหมู่บ้านชื่อว่า “บ้านอาฮง” โดยสันนิฐานว่าคงจะเรียกชื่อบ้านตามแหล่งที่อยู่เดิม คือภูโฮง (1) ส่วนอีกตำนานหนึ่งเล่าว่า หลักศึกปราบฮ่อที่เมืองหนองคาย มีจีนฮ่อสองพี่น้องล่องแพหนีมาตามลำน้ำโขง พอมาถึงบริเวณแก่อาฮงนี้ แพเกิดแตกผู้เป็นน้องชายเสียชีวิต จึงเรียกชื่อนี้ว่า อาฮง เช่นกัน ชาวบ้านอาฮง ประกอบอาชีพสำคัญคือ การทำสวนยางพาราและนาข้าว มีการปลูกยางพารามากถึง 95 % ของประชากรในหมู่บ้านทั้งหมด แต่ก่อนชาวบ้านจะทำนาและปลูกมันสำปะหลัง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงยางพาราและข้าว หมู่บ้านแห่งนี้จึงถือว่ามีเศรษฐกิจที่ดีมากอีกแห่งหนึ่ง และมีอาชีพประมงควบคู่ไปด้วย หมู่บ้านตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง มีจุดเด่นคือ มีก้อนหินขนาดใหญ่วางระเกะระกะอยู่บริเวณทั่วไปบริเวณวัดอาฮง ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในเขตริมโขงแห่งนี้นับตั้งแต่แม่น้ำโขงวกเข้าวกเข้าเขตภาคอีสานของไทยที่มีระยะทางกว่าเจ็ดร้อยกิโลเมตร พ่อเฒ่าผัน หนูกล้วย อายุ ๘๘ ปี เล่าตำนานความเชื่อของคนแถบนี้ให้ฟังว่า มี “ท้าวยิ้น(ริน)ทอง “ และ “ท้าวกาฬสา” เป็นคนบ้านเดียวกันเมืองเดียวกัน เมื่อเติบใหญ่จึงได้ออกไปเรียนวิชาอาคมจากข้างนอก พอกลับมาจากเรียนวิชา ท้าวยิ้นทองซึ่งไปเรียนทางวิชาธรรมและชอบม้า ก็กลับมาเลี้ยงม้าและได้สร้างคอกม้าอยู่ในเมือง ซึ่งชาวบ้านสันนิษฐานว่า เป็นลานหินขนาดใหญ่มีเสาหินเป็นคอก ในบริเวณวัดอาฮง (ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นที่ตั้งของวิหารหลังใหญ่) ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ถ้ำคอกม้า” ส่วนหนองน้ำที่เป็นบริเวณเลี้ยงม้าของท้าวยิ้นทอง อยู่ในบริเวณบ้านอาฮง ชาวบ้านเรียกว่า “หนองหญ้าม้า” เช่นกัน (2) ส่วนท้าวกาฬสาผู้เป็นเพื่อนพอเรียนวิชากลับมา ก็กลายเป็นยักษ์ เพราะไปเรียนวิชายักษ์ เรียนจบก็กลับมาอยู่บ้านเมืองเดียวกัน มีอยู่วันหนึ่ง ท้าวกาฬสาได้ขอให้ท้าวยิ้นทองแปลงกายเป็นม้าพาไปเที่ยว เมื่อเหาะเหินเดินอากาศไปเที่ยวบนฟ้าจนเหน็ดเหนื่อย พอเหนื่อยแล้วก็เกิดความหิว จึงฉีกเนื้อของท้าวยิ้นทองที่เป็นม้ากินจนหมดแม้กระทั่งเชือกที่ผูกคอม้าก็ไม่เหลือ จากนั้นท้าวกาฬสาก็ไปกินน้ำที่หนอง ชิ้นเนื้อที่ติดซอกฟันหลุดลงไปในน้ำก็กลายเป็นปลาเข็ง จึงกลายเป็น “หนองเข็ง” อยู่ทุกวันนี้ อยู่ติดริมโขง ห่างออกไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เมื่อท้าวยิ้นทองกลายเป็นปลาเข็ง ก็ได้กลายร่างเป็นคนอีกครั้ง และได้กลับมาสู้รบกับท้าวกาฬสาอีกครั้งหนึ่งเพื่อแย่งชิงเมืองกัน การต่อสู้กันใช้ระยะเวลายาวนานมาก ท้าวยิ้นทองใช้ดาบฟันแขนของท้าวกาฬสาขาด แต่ก็ท้าวกาฬสากลับไม่ตาย แขนนั้นกลับงอกออกมาอีกเป็นสองท่อน เมื่อเป็นเช่นนั้น ท้าวยิ้นทองจึงให้เมียมาช่วยสู้รบ และให้ผู้เป็นเมียฟันคอของท้าวกาฬสาจนขาดตาย คอนั้นไปตกในหนองน้ำใหญ่ จึงมีชื่อเรียกว่า “บึงกาฬ” หรือบึงกาฬสา นั่นเอง (3) ส่วนก้อนหินที่เป็นก้อนๆ วางอยู่บริเวณวัด พ่อเฒ่าและผู้ใหญ่บ้านไม่แน่ใจว่าเกิดมาได้อย่างไร แต่สันนิษฐานว่า อาจจะเกิดจากการสู้รบกันของท้าวยิ้นทองกับท้าวกาฬสา ใช้ดาบฟาดฟันกันไปถูกหิน จึงเกิดเป็นหินแตก หินมากมาย และอีกความเชื่อหนึ่งคือ เป็นทางแล่นม้าของท้าวสีทน ในตำนานเรื่อง สีทน มโนราห์ ซึ่งเป็นกลุ่มหินแบบนี้ออกไปจนถึงภูทอก นี่เป็นตำนานความเชื่อของชาวบ้านแถบนี้ที่ได้บอกต่อเล่ากันมาซึ่งเชื่อมถึงสภาพของระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่บริเวณบ้านอาฮงถึงตัวเมืองบึงกาฬ บริเวณแก่งอาฮง นับเป็นจุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง ด้วยเป็นช่วงที่แม่น้ำโขงไหลและตีโค้งเป็นเวิ้งกว้าง ก่อนที่จะไหลตรงเป็นช่องแคบทำให้น้ำไหลดัน รวมถึงเป็นบริเวณที่ลำน้ำสาขาหลายแห่งไหลลงลงมาเช่น ปากน้ำฮง ปากห้วยเต่า จึงทำให้กระแสน้ำแรงมากขึ้น ก่อนที่จะไหลเข้าช่วงที่แม่น้ำโขงเริ่มกว้างขึ้น และมีดอนอยู่ห่างออกไปประมาณ ๑ กิโลเมตร ทำหน้าที่ชะลอกระแสน้ำที่ไหลหลากมา ประกอบกับสภาพนิเวศใต้น้ำที่มีความลึกมากถึง ๒๐๐ เมตรและเป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดกระแสน้ำวนเป็นวงกว้าง เศษซากไม้ต่างๆ ที่ไหลมากับแม่น้ำโขง จึงลอยวนมาติดอยู่บริเวณนี้เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเล่าว่า หากมีคนตายบริเวณทางตอนเหนือของน้ำ ก็ต้องมารอรับศพบริเวณนี้ได้เลย พอถึงฤดูแล้งน้ำลดลง แก่งหินขนาดใหญ่ต่างๆ ก็จะโผล่พ้นน้ำขึ้นมา แต่ไม่สามารถที่จะเดินข้ามไปยังฝั่งทางประเทศลาวได้ เพราะน้ำที่ลึกมากนั่นเอง มีคนเฒ่าคนแก่เคยวัดโดยใช้เชือกผูกกับก้อนหินหย่อนลงไปวัดได้ ๙๘ วา ชาวบ้านเชื่อว่า บริเวณใต้น้ำที่แก่งอาฮงมีถ้ำขนาดใหญ่รูทะลุถึงที่ฝั่งลาวด้านหลังภูงู ในประเทศลาว เป็นภพหรือเมืองหลวงของพญานาค บางวันคนเฒ่าคนแก่บอกว่า บริเวณ แก่งอาฮง จะมีลักษณะเหมือนงูขนาดใหญ่ว่ายข้ามมาจากฝั่งไทยไปยังฝั่งลาว ในลักษณะตรงน้ำแตกเป็นฟอง ส่วนฝั่งตรงข้ามกับแก่งอาฮงในเขตประเทศลาว มีพระธาตุพระนอน ซึ่งเป็นวัดป่าของหมู่บ้านฝั่งลาว พ่อใหญ่ผัน เล่าว่า สมัยก่อนมีชาวบ้านจะนำของดีและพระไปร่วมสร้างพระธาตุพนม และเดินทางมาถึงบริเวณนี้ แต่ได้ยินข่าวว่า พระธาตุพนมสร้างเสร็จแล้ว จึงเอาของดีและพระวางไว้บนโขดหินริมโขงแห่งนั้น โดยเอาหินมาวางทับไว้ จนกลายเป็นพระธาตุ ต่อมาจึงมีการสร้างพระธาตุครอบไว้ และมีเรื่องเล่าว่า มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่องค์หนึ่งริมแม่น้ำโขงและในวันขึ้น 15 ค่ำ จะมีเหล่าวิญญาณต่าง ๆ มาทำเสียงไม่เหมือนเสียงมนุษย์มาชุมนุมกันทำพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนอีกตำนานที่คล้ายกันคือ ผู้เฒ่าผู้แก่ทางลาวในสมัยโบราณ เคยมุดน้ำลงไปใต้บาดาล ไปเจอเมืองพญานาค ที่มีพญานาคสององค์เป็นผู้ปกปักรักษาเมืองและพระพุทธรูปสวยงามมากมายอยู่ใต้น้ำ และบอกว่าห้ามให้ใครลงมาลักขโมยไปเพราะจะมีอันเป็นไป ส่วนผู้ใหญ่เทิดศักดิ์ ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันเล่าว่า เมื่อสามปีก่อนเคยฝันว่า เดินลงจากบริเวณดอนปู่ตาของหมู่บ้านซึ่งอยู่ริมน้ำลงไปใต้น้ำโขง ที่นั่นมีเมืองมีหมู่บ้านที่สงบมาก ลักษณะบ้านเป็นหลังคามุงจาก แต่ไม่ค่อยพบเจอคน แต่มีพระพุทธรูปมากมายสีทองเหลืองอร่ามมากเช่นกัน บริเวณสะดือแม่น้ำโขง มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนเคารพบูชาคือ เทพธิดาสะดือแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ จากคำบอกเล่าว่า เมื่อประมาณปี ๒๕๑๔ มีผู้ปั้นรูปผู้หญิงสี่มือล่องแพลอยมาตามลำน้ำโขงพอมาถึงบริเวณสะดือแม่น้ำโขงแห่งนี้ ก็ลอยวนอยู่ถึง ๕ วัน ชาวบ้านและพระที่วัดจึงได้อัญเชิญรูปปั้นดังกล่าวขึ้นมาตั้งไว้และสร้างศาลให้ที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ในบริเวณวัด และตั้งชื่อว่า เทพธิดาสะดือแม่น้ำโขง เพื่อให้ผู้คนได้กราบไว้บูชาต่อไป นอกจากนี้ บริเวณแก่งอาฮงแห่งนี้เป็นจุดชมบั้งไฟพญานาคที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเขตจังหวัดหนองคายในช่วงออกพรรษา และที่กล่าวว่าเป็นเมืองหลวงของพญานาค เนื่องจากว่า มีดวงไฟสีเขียวที่ขึ้นจากน้ำโขง ชาวบ้านเรียกว่า แก้วเสด็จ ขึ้นเมื่อนานมาแล้ว ส่วนบั้งไฟพญานาคก็ขึ้นมากเช่นเดียวกับหลายๆแห่งในช่วงวันออกพรรษาของทุกปี บริเวณและหมู่บ้านอาฮงจะเต็มไปด้วยผู้คนที่ศรัทธามารอชมบั้งไฟเป็นจำนวนมาก พ่อเขียน นิกรเทพ พ่อค้าปลาแห่งบ้านอาฮง ผู้เห็นความเป็นไปของแม่น้ำโขงแห่งนี้เล่าว่า ตนเองเป็นพ่อค้าปลามาสามสิบกว่าปีแล้ว โดยได้รับซื้อปลาจากชาวประมงในบ้านอาฮง บ้านไคสี บ้านท่าสะอาด บ้านห้วยเซือม บ้านหนองแวง บ้านพันลำ จนถึงบึงกาฬ สมัยก่อนก็จะล่องเรือไปรับซื้อปลาจากตามท่าปลาต่างๆ หมู่บ้านริมโขงและนำไปขายตลาดหนองคายและอุดรธานีเป็นหลัก ในอดีตเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง จึงซื้อปลาได้วันละประมาณ ๒๐๐ กิโลบาท โดยใช้เงินวันละประมาณ ๒๐,๐๐๐ - ๓๐,๐๐๐ บาท สมัยนั้นปลาสะงั่วกิโลกรัมละ ๑๒๐ บาทเท่านั้น ราคาปลาก็ยังไม่สูงมาก ปลาที่จับได้ก็มากมายจนนับไม่ถ้วน และมีชนิดปลาที่หลากหลายกว่า ๔๐ – ๕๐ ชนิด การรับซื้อปลาก็จะมีมากเป็นช่วงๆ ตามฤดูกาลขึ้นลงของปลา เช่น ช่วงต้นฝนต้นฤดูน้ำแดง ช่วงพฤษภาคม – กันยายนนี้ ปลายอนจะขึ้นมากินแมงปอมาก ก็เป็นช่วงที่จับปลายอนได้มากเป็นพิเศษนอกจากนั้นก็มี ปลานางหนู ปลาเผาะ เป็นต้น ส่วนปลาที่แพงที่สุดในตอนนี้คือ ปลาสะงั่ว กิโลกรัมละประมาณ ๒๘๐ – ๓๐๐ บาท รองลงมาคือ ปลาคัง ปลาแค้ ในปีนี้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พ่อเขียนใช้เงินรับซื้อปลาไปแล้วประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท(พฤษภาคม – กันยายน ๕๔) ในบ้านอาฮง ยังพอมีคนลงหาปลาประมาณ ๒๐ – ๓๐ คน ซึ่งถือว่าน้อยกว่าในอดีตมาก แต่ก่อนมีคนหาปลามากกว่านี้เกือบทุกหลังคาเรือน และสามารถจับปลาได้ปริมาณมากแทบทุกคน หากเปรียบเทียบกับปัจจุบันแล้ว แม้จะมีคนหาปลาลดน้อยลงเนื่องจากเปลี่ยนอาชีพไปปลูกยางพารามากขึ้น แต่จะมีคนได้ปลาจริงๆ เพียง ๑๐ คนเท่านั้น และจับได้ปริมาณที่น้อยมากกว่าเดิม บริเวณที่ถือว่าปลาชุกชุมมากที่สุดคือ บริเวณท่าวัด – ดอนไข่ อยู่กลางน้ำ มีระยะทางประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร ในช่วงเดือนสาม บรรดาพรานปลาแถบบ้านไคสี ประมาณ ๓๐ ลำ จะนำหัวหมู เลี้ยงรวง โดยยาแม่จ้ำของหมู่บ้าน ไปเลี้ยงผีรวงที่บริเวณดอนไข่ คนหาปลาเช่นพ่อก็จะช่วยออกเงินเพื่อทำพิธีร่วมกันเช่นกัน เป็นพิธีกรรมที่ชาวประมงแถบนี้ได้ทำกันมาตลอดเป็นประจำ ปัจจุบันในบ้านอาฮงมีพ่อค้ารับซื้อปลาในหมู่บ้าน ประมาณ ๓ คน โดยส่งปลาที่ได้ไปขายที่ตลาดบึงกาฬและร้านอาหารตามริมโขงเป็นหลัก นอกจากนี้บริเวณเขตตำบลไคสีนี้ นับเป็นเขตรับซื้อปลาที่สำคัญของเขตบึงกาฬที่ส่งปลาให้กับร้านอาหารและแม่ค้าตลาดในเขตตัวจังหวัดหนองคายและอุดรธานีอีกด้วย การเปลี่ยนแปลงสำคัญ พ่อเขียน เล่าว่า ในระยะสิบปีที่ผ่านมานี้ แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปมาก สังเกตจากคนหาปลาก็จับปลาได้น้อยลง แต่ก็ยังคงใช้เงินเท่าเดิมในการซื้อปลา คือ วันละ ๒๐,๐๐๐ บาท แต่ซื้อปลาได้เพียง ๕๐ กิโลกรัมเท่านั้น กระแสน้ำไหลแรงเชี่ยวกรากมากขึ้นกว่าเดิมในช่วงน้ำหลาก ส่วนหน้าแล้ง น้ำก็แห้งลงมากผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณแก่งอาฮงนี้ก้อนหินที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ก็ปรากฏให้เห็นในฤดูแล้ง กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางไปมาก และคิดว่า สภาพระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป ทำให้ปลาหนีไปหมด นอกจากนี้ในอดีตบริเวณแก่งอาฮงนี้ เคยมีปลาบึกชุกชุมมาก แต่ปัจจุบันนี้หายไปแล้ว เพราะว่าช่วงสงครามทหารลาวได้มีการระเบิดแม่น้ำโขง จึงทำให้ปลาบึกหายไป สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นเหตุสำคัญคือ มีการประมูลท่าหิน ท่าทราย ทำให้ปลาไม่มีที่วางไข่และอยู่อาศัย ตลิ่งทรุด ต้นไม้ริมตลิ่งก็พังลงไป สมัยก่อนยามแล้ง ปลา หอย มีมากมาย ปลามากินหอย เทา บริเวณบุ่ง เวินในน้ำโขง แต่ปัจจุบันไม่มีหายหมดแล้ว ยกตัวอย่างเช่น หัวดอนไค เคยเป็นโนนเดิม พื้นที่เคยมีประมาณ ๓๐๐ – ๔๐๐ ไร่ ตอนนี้สภาพเปลี่ยนไป พื้นที่หายไปหมดอาจจะเหลือเพียง ๑๐๐ – ๒๐๐ ไหร่ ส่วนชนิดปลาที่หายไปแล้ว เช่น ปลาพอน ปลาคูณ ปลาเม่น ปลากวง ปลาซวย ปลาซวยหน้าด่าง ปลาลิง ปลาค้าว เป็นต้น และปลาที่ยังหาได้มากคือ ปลายอน ปลานางหนู ปลาโจก เป็นต้น นอกจากนี้พ่อเขียนยังเล่าว่า สมัยก่อนนั้นมีคนหาปลาได้มากมาย และเข้าไปรับซื้อถึงฝั่งลาวที่อยู่ตรงข้าม ตอนนี้หายากมากขึ้น และไม่ได้ซื้อปลาจากท่าปลาฝั่งลาวแล้ว เนื่องจากราคาปลาแพงกว่าทางฝั่งไทยมาก และทางฝั่งลาวก็มีพ่อค้าปลาที่มารับซื้อเพื่อส่งไปขายยังตัวเมืองเวียงจันทร์มากขึ้น ปัจจุบันนี้พ่อเขียนใช้เงินซื้อเพียงวันละ ๑,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ บาท เท่านั้นในการรับซื้อปลา เพราะคนหาปลาได้น้อยมาก และที่สำคัญยังเห็นว่า สภาพการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงยังทำให้บั้งไฟพญานาคที่เคยขึ้นมากมายช่วงออกพรรษาของทุกปี ก็เริ่มขึ้นน้อยลงมากกว่าเดิมในระยะ ๕ ปีที่ผ่านมา และอีกสาเหตุหนึ่งชาวบ้านแถบนี้เชื่อว่า เมื่อสองปีก่อน ทางจังหวัดได้มีการจัดงานบวงสรวงพญานาคบริเวณวัดอาฮงแห่งนี้ จึงทำให้บั้งไฟพญานาคไม่ขึ้นมากเช่นเดิม แต่เกิดฝนตกฝนลมห่าใหญ่ ชาวบ้านจึงเชื่อว่า พญานาคไม่ชอบ จึงไม่มีบั้งไฟพญานาคขึ้นมานั่นเอง นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วกับวิถีชีวิตของคนหาปลาและความเชื่อของคนแถบนี้ ที่วิถีชีวิตและความเชื่อของคนน้ำโขงกำลังเผชิญกับกระแสการพัฒนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในอนาคตข้างหน้า ปลา แก่งอาฮง และบั้งไฟพญานาค ก็อาจจะเป็นเพียงตำนานเล่าให้ลูกหลานฟังก็เป็นได้ หากแม่น้ำโขงได้ถูกพัฒนาอย่างเต็มขั้นต่อไป ---------------------------------------------------------------- 1. นายเฒ่าผัน หนูกล้วย อายุ 88 ปี ม.๓ บ.อาฮง ต.ไคสี อ.เมือง จ.บึงกาฬ, สัมภาษณ์ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๔ 2. นายเทิดศักดิ์ ผู้ใหญ่บ้านอาฮง หมู่ ๓ ต.ไคสี อ.เมือง จ.บึงกาฬ, สัมภาษณ์ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๔. 3. นายเขียน นิกรเทพ พ่อค้าปลา อายุ ๖๐ ปี บ้านเลขที่ ๑๒ บ.อาฮง ม.๓ ต.ไคสี อ.เมือง จ.บึงกาฬ, สัมภาษณ์วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๔ 4. ตำนานพญานาค, เว็บไซด์. |
|